ขอ เขียนจดหมายเปิดผนึกมั่ง ถึงท่านนายกฯ อานันท์ที่ผมชื่นชม จำได้ว่าสมัยที่เคยสัมภาษณ์ท่าน ผมงี้แสนปลื้ม จนถึงวันนี้ก็ยังขอเรียกท่านว่านายกฯ อานันท์ เพราะท่านยังเป็นนายกฯ ในดวงใจคนชั้นกลางอย่างผม (แบบเดียวกับชวนยังเป็นนายกฯ ในดวงใจของคนใต้ ทักษิณเป็นนายกฯ ในดวงใจของเสื้อแดง)
ได้อ่านที่นายกฯ อานันท์ชี้แจงนักข่าวต่างประเทศเรื่องมาตรา 112 แล้วมองเห็นทั้งด้านที่มีความหวังเล็กๆ และด้านที่ผิดหวัง...เยอะหน่อย
ด้าน ที่มีความหวังเล็กๆ คือนายกฯ อานันท์ยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา เนื่องจากใครก็ได้มีสิทธิกล่าวโทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนใช้ประโยชน์จากตัวกฎหมายและสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผล ประโยชน์ของตนเอง หากแก้ปัญหาดังกล่าวได้ก็คงจะลดปัญหาที่เกิดขึ้น
นั่นแสดงว่านายกฯ อานันท์เห็นด้วยกับข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 อย่างน้อยก็ให้มีหน่วยงานกลางหน่วยเดียวเป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษ (ซึ่งนิติราษฎร์เสนอให้เป็นสำนักราชเลขาธิการ)
เรื่อง นี้ต้องแก้ไขกฎหมายนะครับ ไม่ว่าจะให้หน่วยงานใดก็แล้วแต่ เพราะถ้ามาตรา 112 ยังเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ที่ยอมความไม่ได้ (ไม่เหมือนหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา) ใครๆ ก็แจ้งความได้ ถ้าไม่ต้องการให้นาย ก. นาย ข.แจ้งความกล่าวโทษได้ ก็ต้องเพิ่มข้อจำกัดเข้าไปในตัวบทกฎหมาย
ซึ่ง เมื่อท่านพูดกับสากลโลกเช่นนี้แล้ว ก็หวังว่าในฐานะที่ท่านเป็น Royalist ที่มีเครดิตสูงในหมู่ชนชั้นนำ จะช่วยผลักดันให้เกิดการแก้ไข เพื่อช่วย “ลดปัญหา” ไม่เพียงแค่พูดลอยๆ แล้วหายไปกับสายลม
และหวังว่าท่านจะ แสดงท่าทีคัดค้านการ “ใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่มีการออกหมายเรียกหมายจับอย่างมากมายโดยส่อนัยไล่ล่ากวาดล้างกันทางการ เมือง ไม่ใช่ท่านพูดแล้ววางเฉย ปล่อยให้ “ใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์” กันต่อไป ในฐานะผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริง ท่านควรจะต้องช่วยยับยั้งกลั่นกรองเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
อย่าง ไรก็ดี ส่วนที่น่าผิดหวังในคำให้สัมภาษณ์คือ ท่านบอกว่า “การดำรงอยู่ของกฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการบังคับใช้ และเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้”
นั่นหมายความว่าท่านอานันท์ไม่เห็นว่าการกำหนดโทษจำคุก 3-15 ปีเป็นปัญหา แค่เป็นปัญหาที่ใครก็กล่าวโทษได้
อ้าว แล้วปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในแง่ที่ผู้ต้องหามักไม่ได้ประกันตัวละครับ สาเหตุที่ไม่ให้ประกันเพราะศาลท่านอ้างว่าคดีนี้มีโทษสูง จำเลยอาจหลบหนี จำเลยจำนวนหนึ่งก็เลยหนีจริงๆ เพราะผิดไม่ผิดยังไม่รู้ แค่ถูกกล่าวโทษก็ขังยาว
ฉะนั้นที่ท่านนายกฯ อานันท์บอกว่าตัวบทกฎหมายไม่มีปัญหา มีเพียงปัญหาการบังคับใช้ จึงผิดตรรกะ เพราะทั้งสองด้านเกี่ยวเนื่องกัน
ปัญหา การบังคับใช้ไม่ได้มีเพียงเรื่องที่ใครก็กล่าวโทษได้ แต่ยังมีกรณีที่กล่าวโทษมั่ว และเมื่อผู้ต้องหามอบตัวแล้วมักไม่ได้รับประกันตัวตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการวินิจฉัยและตีความของศาล ซึ่งท่านนายกฯ อานันท์ไม่ได้พูดหมด
ผมยกตัวอย่างนะครับ ปัญหาการบังคับใช้เช่นกรณีจีรนุช เปรมชัยพร กับกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกออกหมายจับโดยไม่รู้ตัว เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่เคยแจ้งให้ทราบ จีรนุชถูกจับที่ ตม.เมื่อกลับจากต่างประเทศ สมยศถูกจับที่ ตม.เมื่อจะเดินทางเข้าเขมร ผลคือสมยศไม่ได้ประกันตัว เพราะศาลมองว่าจะหลบหนี ทั้งที่สมยศถูกออกหมายจับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เมื่อวันที่ 20-22 ก.พ.เขายังนำคณะทัวร์ไปเขมร และยังขึ้นเวทีปราศรัย แถลงข่าว เคลื่อนไหว อยู่ตามปกติ กระทั่งจะไปเขมรอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 เม.ย.จึงถูกจับ
ปัญหาการบังคับใช้ยังมีเรื่องของการกล่าวโทษได้ครอบ จักรวาล ไม่ว่าจะพูดหรือเขียนอย่างระมัดระวังแค่ไหน เช่นกรณีของ อ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งผมเคยอ่านข้อความที่เขาถูกกล่าวหาแล้ว เซอร์ไพรส์มาก เพราะเป็นข้อความที่ปกติธรรมดา พูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่ อ.สมศักดิ์เคยพูดและเขียนมา ยังน่าจะ “โดน” ยิ่งกว่านี้ เช่นเดียวกับกรณีจักรภพ เพ็ญแข ข้อความที่จักรภพพูด ที่มีสื่อถอดความมาเผยแพร่ให้อ่านกันทั้งประเทศ เป็นข้อความที่นักวิชาการมากมายเคยพูดมาก่อน หลังจักรภพก็ยังมีคนพูด
การกล่าวโทษตามมาตรา 112 จึงเป็นเรื่อง “ลมเพลมพัด” แล้วแต่ลมจะพัดไปทางใคร คุณก็ซวย
นอก จากนั้นยังมีการเลือกปฏิบัติ ดังเช่นคดีของ “อากง” วัย 61 ผู้ถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS หมิ่น DSI อ้างข้อมูล กอ.รมน.ว่าถูกขึ้น “บัญชีดำ” ในฐานะเสื้อแดงฮาร์ดคอร์
จะหมิ่นหรือไม่หมิ่น ว่ากันไปตามพยานหลักฐานสิครับ ดูซิมการ์ด ดูบันทึกการใช้โทรศัพท์ ทำไมต้องอ้างรายงาน กอ.รมน.เหมือนเราอยู่ในยุคถีบลงเขา เผาลงถังแดง นี่คือการเลือกปฏิบัติ คือแปลว่าถ้าคุณเป็นเสื้อแดง ถ้าคุณถูก กอ.รมน.ขึ้นบัญชีดำ ก็น่าเชื่อว่าผิดมาตรา 112
แบบเดียวกันเลย เอากระดาษแผ่นเดียวที่ ศอฉ.เขียนขึ้นเอง มากล่าวหา 18 แกนนำเสื้อแดง “ล้มเจ้า” ถ้าแน่จริง พล.อ.ประยุทธ์ หรือใครก็ตามที่รับผิดชอบ ต้องลงชื่อในแผนผัง รับรองว่าเป็นความจริง คนที่ถูกกล่าวหาเขาจะได้ฟ้องกลับ เพื่อพิสูจน์กัน
ปัญหาการบังคับใช้ ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นเพราะตัวบทกฎหมายมาตรา 112 เป็นปัญหา การบังคับใช้ที่ครอบจักรวาลมาจากตัวบทกฎหมายที่กำหนดความผิดครอบจักรวาลและ บทลงโทษเกินสมควรแก่เหตุ ต่อให้ท่านนายกฯ อานันท์เชื่อว่าให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้กล่าวโทษแล้วจะลดปัญหา ถ้าไม่แก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจนแน่นอน เหมาะสม หน่วยงานที่รับไปก็จะมีปัญหายุ่งยากลำบากใจในการวินิจฉัยเสียเอง
มาตรา 112 ยกระดับขึ้นมาจากความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แน่นอนว่า “นี่เป็นวัฒนธรรมของเรา” ซึ่งพอยอมรับได้ถ้าสมเหตุสมผล และอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐ ธรรมนูญ แต่ปัญหาที่ดำรงอยู่คือ มาตรา 112 กำหนดความผิดและกำหนดโทษแตกต่างจากบุคคลธรรมดาหลายสิบหลายร้อยเท่า
การ หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มีข้อยกเว้นความผิด หากเป็นการติชมโดยสุจริต วิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง เว้นแต่เป็นเรื่องส่วนตัว... แต่มาตรา 112 ไม่มี
การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี การดูหมิ่นบุคคลธรรมดา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน... แต่มาตรา 112 ไม่แยก และเหมารวมโทษจำคุก 3-15 ปี หมายความว่าศาลจะตัดสินต่ำกว่า 3 ปีไม่ได้ นี่เป็นโทษที่สูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชด้วยซ้ำ และแก้ไขใหม่โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หลัง 6 ตุลา 2519
หลัง 6 ตุลา 2519 ที่ท่านนายกฯ อานันท์ถูกพักราชการจากปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ จนต้องลาออกจากราชการนั่นละครับ ความอยุติธรรมที่ท่านได้รับในครั้งนั้นผมยังเจ็บแค้นแทนไม่หาย ท่านถูกกล่าวหาด้วยการขึ้นบัญชีดำและอ้างข้อมูลฝ่ายความมั่นคง คล้ายๆ กันนี่แหละ ถึงวันนี้ผมอยากถามท่านจังว่า ท่านเห็นว่าการเพิ่มโทษโดยประกาศคณะปฏิรูปฯ เหมาะสมหรือไม่
กฎสากลกับมาตรฐาน
ผม ไม่ทราบว่าท่านนายกฯอานันท์เคยอ่านคำแถลงของนิติราษฎร์ หรือคำให้สัมภาษณ์ของ อ.วรเจตน์หรือเปล่า อ.วรเจตน์ชี้ว่า มาตรา 112 ไม่ควรอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ เพราะรัฐประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รัฐกับพระมหากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐประชาธิปไตย ตัวรัฐแยกกับพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เป็นเพียงองค์กรหนึ่งของรัฐ การกระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่กระทบความมั่นคงของรัฐทุกกรณี ต้องแยกแยะเป็นกรณีไป เช่น ลอบปลงพระชนม์ ถือว่ากระทบความมั่นคง แต่การหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ถือเป็นความผิดที่ไม่กระทบความ มั่นคง (เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ใช่รัฐ เราเปลี่ยนแปลงมา 79 ปีแล้ว)
สิ่ง ที่ผมพยายามจะพูดก็คือ มาตรา 112 ทั้งตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ตีความ ตั้งอยู่บนฐานของอุดมการณ์ที่ยังเห็นว่ารัฐกับพระมหากษัตริย์เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นมรดกอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ตกทอดมาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
อุดมการณ์เช่นนี้แหละที่ทำให้เป็น ปัญหา ทั้งหลักการของกฎหมายและการบังคับใช้ แต่ถ้ามาตรา 112 อยู่ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย การดำรงอยู่ของกฎหมายจะไม่เป็นปัญหาเลย
ท่าน นายกฯ อานันท์กล่าวอย่างฟังดูงดงามว่า “คนไทยส่วนใหญ่รัก เคารพ และเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคนจากประเทศอื่นๆ อาจมองว่าคนไทยรักและเคารพสถาบันกษัตริย์แบบแปลกๆ แต่ไม่ว่าภายนอกจะมองว่าอย่างไร แต่นี่เป็นวัฒนธรรมของเรา เช่นเดียวกับในหลักการพหุวัฒนธรรม ผู้อื่นก็ควรจะเคารพในความหลากหลาย และไม่ควรตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี”
คำถามคือ มาตรา 112 อยู่ในหลักการพหุวัฒนธรรม เคารพในความหลากหลาย อย่างที่ท่านพูดหรือเปล่า ผู้ที่รัก เคารพ เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ อย่างพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง “เคารพในความหลากหลาย และไม่ควรตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี” ดังที่ท่านพูดหรือเปล่า
“มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่ต้องไปตัดสิน สถาบันกษัตริย์ในที่อื่นๆ เช่น ในอังกฤษ หรือนอร์เวย์ เพราะเป็นกษัตริย์ของเขา ประชาชนของเขา ผมคิดว่าการใช้กฎสากลกับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในทุกที่ๆ นั้นไม่ถูกต้องเพราะมีรายละเอียดต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่ก็ควรมีมาตรฐานหนึ่งๆ ที่กำหนดไว้ซึ่งยอมรับได้ร่วมกัน”
ตรงนี้ ยิ่งฟังแล้วสับสน ท่านบอกว่าใช้กฎสากลไม่ได้ แต่ควรมีมาตรฐาน แล้วจะมีมาตรฐานอะไร ถ้าไม่ใช่มาตรฐานของระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นสากล
ท่าน นายกฯ อานันท์เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ จบกฎหมายเกียรตินิยมจากเคมบริดจ์ และรับราชการเป็นเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ ท่านคงเข้าใจดีว่า ในระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ของอังกฤษ หรือของหลายๆ ประเทศในยุโรป สถาบันกษัตริย์ล้วนดำรงอยู่ได้ด้วยการที่คนส่วนใหญ่รักเคารพ เช่นเดียวกับประเทศไทย
สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษเปิดให้พวกนิยม สาธารณรัฐ หรือพวก Republic วิพากษ์วิจารณ์มาเป็นร้อยสองร้อยปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังรักเคารพ ชื่นชม โดยสถาบันกษัตริย์ปรับตัวอยู่ตลอด ตั้งแต่สมัย The King’s Speech มาถึง The Queen (หนังยังข้ามมาชนะใจคนอเมริกันจนได้ออสการ์ไปหลายตัว)
ถึงวันนี้ แม้พวก Republic ยังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ แต่ก็เป็นเพียงเสียงข้างน้อยหยิบมือ แม้อังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ใครพูดจาไม่เหมาะสมแสดงความไม่เคารพ ก็ถูกสาธารณชนต่อต้านหรือบอยคอตต์
นั่น คือมาตรฐานสากลของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้หลักการสิทธิเสรีภาพ ในอันที่จะเชื่อ ในอันที่จะรัก เคารพ นับถือ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย
คำถามคือท่าน นายกฯ อานันท์เชื่อหรือไม่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราสามารถดำรงอยู่ได้ เป็นที่เคารพ รัก เทิดทูน ของคนส่วนใหญ่ โดยไม่ต้องมีมาตรา 112 ผมเชื่อ ท่านเชื่อหรือไม่
ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ผมบอกว่าต้องยกเลิกมาตรา 112 แต่ให้คงไว้โดยเพิ่มข้อยกเว้นความผิดในกรณีที่ติชมโดยสุจริตหรือวิจารณ์ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และกำหนดโทษให้เหมาะสม ไม่ใช่บอกว่ายกเลิกแล้วให้ใครก็ได้มาปาวๆ พูดจาให้ร้าย ดูหมิ่นสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของคนส่วนใหญ่
สาเหตุที่เราต้อง เรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 เป็นเพราะอะไร สาเหตุมันไม่ใช่เรื่องของความคันปากอยากวิพากษ์วิจารณ์เบื้องสูง ใครจะอยากหาเหาใส่หัวหาอัปรีย์ใส่ตัวถึงขนาดนั้น ถ้าไม่ใช่เพราะว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีการอ้างอิงสถาบัน ดึงสถาบันอันควรเป็นที่เคารพรักของคนไทยทุกฝ่าย มาใช้ประโยชน์ มาเป็นอาวุธกล่าวหาให้ร้ายกันทางการเมือง จนเกิดการแบ่งฝักฝ่ายและทำให้คนอีกฝ่ายคับแค้นใจจนตอบโต้ด้วยอารมณ์ โดยเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการ เมืองของผู้แอบอ้างผู้ใกล้ชิด ก็จะถูกคนเหล่านั้นใช้ประโยชน์จากมาตรา 112 และสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งวิกฤตบานปลายมาถึงปัจจุบัน
ซึ่ง ท่านนายกฯ อานันท์ก็คงทราบดีว่า วิกฤตในวันนี้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว อดีตนายกฯ โปร่งใสอย่างท่านน่าจะเข้าใจดีว่าเมื่อเกิดแรงต้าน ท่านจะกดจะดันมันไว้ หรือจะหาวิธีให้ไอน้ำระบายออกมาบ้าง
เราเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 เปิดโอกาสให้วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือเพื่อประโยชน์ของสถาบัน เพราะสถาบันดำรงอยู่เพื่อประโยชน์สาธารณะ สถาบันจะดำรงอยู่เป็นมิ่งขวัญของประชาชนสืบไปชั่วกาลนาน ก็ต้องไม่ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง เมื่อใดที่มีแนวโน้มว่าสถาบันจะถูกดึงเข้ามา หรือถูกอ้างอิง ต้องเปิดกว้างให้มีการท้วงติงเพื่อปกป้องสถาบัน และต้องเปิดกว้างเพื่อรับฟังทุกฝ่าย อันจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบัน (และต่อสาธารณะ)
เราเรียกร้องให้ปฏิรูปอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เพื่อที่จะทำให้เกิดความชัดเจน เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้เกิดความคลุมเครือ จนมีผู้อ้างอิงไปใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ แทรกแซงอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ สร้างรัฐทหารซ้อนรัฐ หรือกระทั่งอ้างสถาบันฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตกับประเทศทุกครั้งที่ผ่านมา
หรือท่านนายกฯ อานันท์จะไม่ยอมรับว่า การอ้าง “พระราชอำนาจ” จนเลยเถิดไปจากกรอบของระบอบประชาธิปไตย เป็นสาเหตุหนึ่งในวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้
ขอเรียนตรงๆ ว่า ผมฟังท่านนายกฯ อานันท์ตอบคำถามเรื่องการปฏิรูปอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว นอกจากผิดหวัง ผมยังห่อเหี่ยว มองไม่เห็นอนาคต มองไม่เห็นทางออกที่จะนำไปสู่ “การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ” เพราะผมมองว่าท่านนายกฯ อานันท์เป็นผู้จงรักภักดีที่แท้จริง ที่มีสายตากว้างไกล เป็น Royalist หัวก้าวหน้าที่มีเครดิตสูงสุด หนึ่งในน้อยคน
แต่เมื่อท่านนายกฯ อานันท์ยังคิดได้แค่นี้ ผมก็ได้แต่เศร้าใจ
ด้วยความเคารพ
ใบตองแห้ง
22 พ.ค.54
...................................