บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เวียงแหง : การคืบคลานของสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ ‘เหมืองแร่’ (ตอน 5)

ที่มา ประชาไท

องอาจ เดชา

เหตุการณ์ต่างๆ ได้หายเงียบไปเหมือนกับว่าทุกอย่างนั้นจะยุติถาวร แต่จู่ๆ โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ก็ฟื้นคืนชีพและมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง จนทำให้เวียงแหงเมษาร้อนระอุ และชาวบ้านร่วมวางแผนชั่วข้ามคืน- -ก่อนล้มโครงการสันติวิธีสมานฉันท์ในชุมชนพับถอยไม่เป็นขบวน

กฟผ.ยังดันอีไอเอเหมืองลิกไนต์เวียงแหงอีกครั้ง หลังถูกชาวบ้านต้านหนัก

เป็นที่รับรู้กันว่า หลังจากชุมชนท้องถิ่น อ.เวียงแหง ในนามเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนอำเภอเวียงแหง ได้ร่วมกันคัดค้านมาต่อเนื่องและยาวนาน จนโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ของ กฟผ.ต้องหยุดชะงักไป

หลังจากที่ผ่านมา กฟผ.ได้ว่าจ้างคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันในระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา นั้น ทาง กฟผ.ได้ทำงานมวลชนอย่างหนักเพื่อให้โครงการสามารถเดินต่อไปได้ ทั้งการใช้เงินพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ มากมาย การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน อ.เวียงแหง แต่กระนั้น ก็ไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ ขณะเดียวกันคณะนักวิชาการจาก ม.เชียงใหม่ ก็พยายามเข้ามาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านเช่นเดียวกัน กรณีดังกล่าวชาวบ้าน อ.เวียงแหงให้เหตุผลว่าการศึกษาไม่โปร่งใส ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม บางกรณีมีการใช้กลไกลรัฐข่มขู่คุกคามชาวบ้าน การทำการศึกษาผลกระกระทบยังไม่ครอบคลุมผลกระทบทางด้านสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพและรายได้ของชุมชน เป็นต้น

เหตุการณ์ต่างๆ ได้หายเงียบไป เหมือนกับว่าทุกอย่างนั้นจะยุติถาวร แต่จู่ๆ โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ก็ฟื้นคืนชีพและมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง

ในเดือน พ.ย.2552 เจ้าหน้าที่ กฟผ.ได้เดินทางเข้าพบพระ ดร.ฐาณี ฐิตวิริโย พระวัดกองลม ต.กองลม อ.เวียงแหง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการทำอีไอเอใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวแจ้งว่ารัฐบาลสั่งให้ทำใหม่ ใช้เวลาประมาณ 3 ปี นั่นหมายความว่าอีไอเอฉบับที่ กฟผ.ทำไปแล้วนั้นไม่สามารถใช้ได้ ส่วนในรายละเอียดต่างๆ เช่น งบประมาณในการดำเนินการ หน่วยงานใดเป็นผู้ศึกษานั้นตนยังไม่มีรายละเอียด

หลังการเข้ามาของ กฟผ.ครั้งนี้ ได้ทำให้ชาวเวียงแหงได้สงวนท่าทีและมีการถกประเด็นกันในวงในกันเงียบๆ เพื่อสงวนดูท่าทีของทีมสำรวจชุดใหม่ที่เข้ามา ก่อนจะทำการปรับขบวนมวลชนกันใหม่อีกครั้ง

เวียงแหงเมษาร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อชาวบ้านร่วมกันวางแผนชั่วข้ามคืนก่อนล้มโครงการสันติวิธีสมานฉันท์ในชุมชนพับถอยไม่เป็นขบวน

ช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่า สถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างเงียบ ไม่มีกระแสการประชาสัมพันธ์ การสนับสนุนของการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าแต่อย่างใด ทำให้เครือข่ายและชาวบ้านเอง คิดว่า คงจะจบไปแล้ว โครงการพัฒนาถ่านหินลิกไนต์คงไม่จะเกิดแน่แท้

แต่แล้ว ในช่วงเดือนเมษายน 2553 แผ่นดินเวียงแหง ก็ร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อทาง กฟผ. ได้ว่าจ้าง นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เข้ามาทำโครงการสันติวิธี สร้างความสมานฉันท์ในชุมชน ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง โดยมีหนังสือผ่านทางอำเภอ ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แม่บ้าน อสม.ทุกกลุ่ม ให้มาร่วมประชุมกัน ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงแหง

หลังมีข่าวนี้กระพือออกไป ทำให้ชาวบ้านทั่วทั้งอำเภอที่รู้ข่าวการเคลื่อนไหวในการเข้ามาครั้งนี้ ต่างรวมตัวกันด้วยความรู้สึกร่วมกัน นั่นคือ คัดค้านไม่เอาโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ค่ำคืนนั้น เหล่าแกนนำ ชาวบ้าน ผู้อาวุโส ได้นัดถกวงคุยกันเงียบๆ เพื่อวางแผนในสถานที่แห่งหนึ่ง

เพียงชั่วข้ามคืน แผ่นดินเวียงแหงเริ่มปะทุร้อนอบอ้าวขึ้นมาทันใด

ตอนสายของวันที่ วันที่ 27 เมษายน 2553 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงแหง ขณะเจ้าหน้าที่ ทีมงานโครงการของนายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ กำลังเตรียมเปิดงานโครงการสันติวิธี สร้างความสมานฉันท์ในชุมชน ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ทันใดนั้น ชาวบ้านกว่าพันคน ได้พากันจัดทัพรถยนต์ มอเตอร์ไซค์เคลื่อนขบวนมาตามถนน มุ่งหน้ามาชุมนุมอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าหอประชุม พร้อมเครื่องขยายเสียง ประกาศก้อง คัดค้าน ขับไล่ คณะทำงานของนายแพทย์วันชัย โดยมองว่าเป็นเครื่องมือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยการเข้ามาดำเนินโครงการสันติวิธี ก็เป็นการอ้างความชอบธรรมเพื่อที่จะขับเคลื่อนให้มีการเปิดเหมืองขึ้นมาอีกครั้งนั่นเอง

สถานการณ์เริ่มตึงเครียด และมีการกดดันหนักมากยิ่งขึ้น และแม้กระทั่งนายก อบต.ทั้ง 3 ตำบล พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ตัดสินใจลุกออกจากห้องประชุม ก่อนหันหน้ามาเข้าร่วมชุมนุมเคียงข้างประชาชนอำเภอเวียงแหง ท่ามกลางความงุนงงของนายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์และคณะทีมงาน เมื่อแกนนำหลายคนได้ออกยืนกล่าวโจมตีการทำงานของ กฟผ.และวิพากษ์การเข้ามาทำงานของผู้รับใช้ กฟผ.อย่างหนักหน่วง ดุเด็ดเผ็ดร้อน

กระทั่ง นายพยอม คารมณ์ ในนามตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนอำเภอเวียงแหง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเวียงแหงทั้ง 3 อบต. กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายอสม.อำเภอเวียงแหง กลุ่มสตรีแม่บ้าน และกลุ่มผู้สูงอายุ อำเภอเวียงแหง ได้ลุกขึ้นอ่านแถลงการณ์ เรื่อง ‘ขอคัดค้านการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเหมืองแร่ลิกไนต์หรือฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งของชุมชนรอบใหม่ของประชาชนในพื้นที่อำเภอเวียงแหง’



แถลงการณ์

เรื่อง ขอคัดค้านการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเหมืองแร่ลิกซ์ไนส์ หรือ ฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งของชุมชนรอบใหม่ของ ประชาชนในพื้นที่อำเภอเวียงแหง

เรียน ศ.นพ. วันชัย วัฒนศัพท์ หัวหน้า โครงการฯ

นายอำเภอเวียงแหง

ผู้อำนวยการสำนักสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า

เจ้าหน้าที่ ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

พวกเราในนามประชาชนอำเภอเวียงแหงที่เกี่ยวข้องทุกระดับในพื้นที่ รับทราบถึงการเข้ามาดำเนินโครงการเสริมสร้างกระบวนการสมานฉันท์เพื่อสร้างสันติสุขในชุมชนและการป้องกันความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะในเขตอำเภอเวียงแหง ซึ่งได้รับงบประมาณเกือบ ห้าล้านบาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านการดำเนินงานตามนโยบายสาธารณะ โดย มี ศาสตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นที่ปรึกษาและหัวหน้าโครงการ นั้น

พวกเราในนามประชาชนอำเภอเวียงแหง ขอเรียนว่า จากผลพวงการเข้ามาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์ การดำเนินการมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ตลอดจนการเข้ามาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ของสถาบันบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงปี พ.ศ. 2546-2550 ที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบมลพิษทางจิตใจอย่างใหญ่หลวงกับพี่น้องประชาชนในอำเภอเวียงแหง ก่อให้เกิดความเป็นฝักฝ่าย แตกแยก ปรากฏการณ์ การไม่ร่วมสังฆกรรม ไม่ร่วมหัววัด ร่วมงานประเพณี ร่วมเผาผี ของพี่น้องในอำเภอเวียงแหง เกิดขึ้น เนื่องมาจากได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวและถูกกระทำให้แบ่งกลุ่ม แบ่งมวลชนมาขัดแย้งกันในพื้นที่ มีผู้เฒ่าผู้แก่ถึงกับกล่าวท้อว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยพบเห็นความขัดแย้งของคนในเวียงแหงรุนแรงเช่นนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งดังกล่าว มาจากการเข้ามาดำเนินโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนักวิชาการรับจ้าง ที่เอาสถาบันมาอ้างเพื่อแสวงหาความชอบธรรมในการดำเนินการ นับว่าเป็นตราบาปอันหนักหนาสาหัสแก่ชาวบ้านที่เคยอยู่กันอย่างสันติและเกื้อกูลกัน

ชาวบ้านได้ถอดบทเรียนและหาทางออกร่วมกัน โดยยึดมติของชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอเวียงแหง ได้สำรวจเป็นประชามติของพี่น้องในอำเภอเวียงแหง พบว่า ร้อยละ 96.22 ของกลุ่มประชากรจาก 14 หมู่บ้าน คัดค้านการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ เหมืองแร่ลิกไนต์ ตลอดจนฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง โครงการพัฒนาเหมืองฯและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้ถอนสำนักงาน และการดำเนินการออกจากพื้นที่ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ความสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในอำเภอเวียงแหง กลับเข้าสู่สภาวะความปกติสุข หลังการเงียบหายไปจากพื้นที่ ของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ “โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง” ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายหลังจากกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA) ฉบับที่พวกเราประณามว่า เป็นฉบับที่ขาดการมีส่วนร่วมและไร้หลักธรรมาภิบาลในดำเนินการจนไม่สามารถนำปฏิบัติใช้ได้จริง เสร็จสิ้นลง ภาพของผู้คนที่เคยแตกต่าง ขัดแย้งกันทางความคิด แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มหลายฝ่าย ณ วันนี้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ ได้รับการเยียวจากวันเวลา ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบเครือญาติ ความเป็นพี่เป็นน้อง ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม ที่มีร่วมกัน ช่วยทำให้เวียงแหงกลับมาเป็นชุมชนบ้านพี่บ้านน้อง ความเกื้อกูลกันระหว่างชนเผ่า ระหว่างหมู่บ้าน ก็กลับมาอีกครั้ง ดังนั้นจึงเห็นว่า พวกเราประชาชนคนเวียงแหง ขอแถลงการณ์ว่าคัดค้านและไม่ยอมรับการดำเนินการของโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์ หรือ เกี่ยวข้องกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง พวกเราจึงขอแถลงการณ์เพื่อให้ท่านทราบ ด้วยหลักการและเหตุผล ดังนี้…

1.โครงการของท่าน เข้ามาดำเนินการ โดยได้รับประมาณสนับสนุนจาก “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” (กฟผ.) ซึ่งมีผลประโยชน์โดยตรงต่อการดำเนินโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง เราจึงไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือ เนื่องจากเป็นคู่สัญญากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (กฟผ.) ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าไม่มีความโปร่งใส และไม่มีความจริงใจในการดำเนินการ และไม่ก่อประโยชน์ที่แท้จริงแก่คนเวียงแหง

2.ความขัดแย้ง หรือความสมานฉันท์ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ได้เกิดขึ้นเองอยู่แล้ว โดยการเยียวยาของต้นทุนของชุมชน วิถีชีวิต และการเกื้อกูลกันของคนในอำเภอเวียงแหง การเข้ามาทำโครงการสมานฉันท์ของท่าน อาจจะเป็นเหตุให้ก่อเกิดความขัดแย้งในรอบใหม่อีกครั้ง เพราะเกี่ยวเนื่องหรือมีต้นเหตุมาจาก “โครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง” เมื่อสถานการณ์ในชุมชนคลี่คลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราจึงขอปฏิเสธและไม่ยอมรับโครงการใดๆ ที่จะเข้ามาก่อให้เกิดความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าวอีก

3.“สันติสุขในชุมชนอำเภอเวียงแหง” เกิดขึ้นทันที ที่โครงการพัฒนาเหมืองฯและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ถอนโครงการออกไป จึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านการดำเนินงานตามนโยบายสาธารณะ ตามวัตถุประสงค์ของท่าน

4.หน่วยงาน อปท. ทั้ง 3 แห่งในพื้นที่ ประกอบด้วย อบต.เมืองแหง อบต. เปียงหลวง อบต. แสนไห และผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. มีความวิตกกังวลว่า การจัดเวทีในครั้งนี้ จะเป็นชนวนให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ในพื้นที่ จึงไม่ประสงค์ให้มีการดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าว

5.การศึกษาวิจัยใดๆที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ชุดแล้วชุดเล่า ไม่เคยมีการคืนข้อมูลและไม่เคยกลับมาก่อประโยชน์ให้คนเวียงแหง โดยเฉพาะ การศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง ที่เคยมีการทำหนังสือเพื่อรายงานฉบับสมบูรณ์ของงานศึกษาดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆทั้งสิ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันสะท้อนถึงความไม่จริงใจ ดังนั้น โครงการการเสริมสร้างการสมานฉันท์ของท่านฯที่จะเกิดขึ้นก็คงจะไม่แตกต่างจากงานวิจัยที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นโครงการวิจัยที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นนายทุนใหญ่ พวกเรา จึงขอปฏิเสธและคัดค้านการเข้ามาดำเนินการของโครงการนี้เนื่องจากผลการดำเนินการไม่ก่อประโยชน์ให้แก่คนเวียงแหงเหมือนที่ผ่านมา

6.ชาวบ้านตามที่มีรายชื่อแนบมานี้ จะขอใช้สิทธิอันชอบธรรม ในการคัดค้านและไม่ให้ความร่วมมือในด้านการให้ข้อมูล ตลอดจนการดำเนินการใด ๆ ของโครงการของท่าน นับแต่นี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประชาชนชาวบ้านเวียงแหงในทุกระดับและทุกภาคส่วน จึงขอเรียกร้องให้ท่านและคณะได้รักษาเกียรติภูมิและประวัติการทำงานของท่าน ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ได้รับใช้งานเพื่อสังคมในด้านอื่น ในพื้นที่อื่น ๆ ให้ท่านได้ดำเนินการสานเสวนาจัดการความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ในเรื่องปัญหาของประเทศ ชาติขณะนี้

ดังนั้น ขอให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้เป็นหัวหน้าโครงการ ยุติการดำเนินการโครงการในพื้นที่อำเภอเวียงแหง เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และขอให้มีการทบทวนเพื่อพิจารณา ถอนการรับการสนับสนุนงบประมาณจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการทำหน้าที่เข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่หน่วยงานนี้เข้าไปดำเนินโครงการ เพราะการดำเนินโครงการเหล่านั้น ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความจริงใจ และไม่สร้างการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้ท่าน พร้อมคณะ ตลอดจนสำนักสันติวิธีฯ สถาบันพระปกเกล้า คงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินการอย่างแท้จริง

วันที่ 27 เมษายน 2553

เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเวียงแหง

กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

เครือข่าย อสม.อำเภอเวียงแหง

กลุ่มผู้สูงอายุ อำเภอเวียงแหง

นั่นคือ แถลงการณ์ฉบับล่าสุด ที่ชาวเวียงแหงได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ ยืนยันและคัดค้านการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหงอย่างหนักแน่นและจริงจัง


เหมืองแร่เวียงแหงยังไม่จบ ในขณะชาวบ้านเวียงแหงเข้มแข็งและตั้งรับ หาก กฟผ.ยังเดินหน้าตัดทอนแกนนำคัดค้านเหมืองลิกไนต์อย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ดังกล่าว นายโอฬาร อ่องฬะ ผู้ประสานงานสถาบันพัฒนาท้องถิ่น ได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างสนใจว่า แม้ว่าชาวบ้านเวียงแหงจะเกาะกลุ่มรวมตัวกันต่อต้านเหมืองแร่กันอย่างเหนียวแน่นและผู้นำหลายคนก็ได้ขยายแนวคิด แนวร่วมไปยังกลุ่มผู้นำในหมู่บ้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน ทางด้าน ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงไม่หยุดนิ่ง ยังคงทำงานใต้คลื่น เจาะเป็นรายคนโดยเฉพาะแกนนำ สร้างคน สร้างทีมขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ เพื่อให้เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการพัฒนาถ่านหินลิกไนต์เวียงแหงครั้งนี้ต่อไปให้ได้

กระบวนการงัดง้างต่อสู้กันระหว่าง ฝ่ายชาวบ้านเวียงแหงที่คัดค้านไม่เอาเหมืองแร่ กับฝ่าย กฟผ. จึงมีให้เห็นให้ได้เผชิญกันอยู่ตลอดเวลา

แม้กระทั่ง เหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านเองเชื่อว่า เป็นกระบวนการหนึ่งลดทอนแกนนำ ผู้นำคัดค้านเหมืองลิกไนต์ โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย รื้อฟื้นคดีความของผู้นำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 กับข้อหา ม็อบกระเทียม ปิดถนน รวม 9 คน และหนึ่งในนั้นมี นายคำ ตุ่นหล้า ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนคนปัจจุบัน และฐานะที่เป็นสมาชิกผู้ปลูกกระเทียมอำเภอเวียงแหง ที่ได้รับการไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นโฆษก ช่วงของการเจรจาต่อรองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นสิทธิอันชอบธรรมด้วยหลักเสรีประชาธิปไตย ที่ประชาชนเมื่อได้รับความเดือดร้อนจะลุกขึ้นมาเสนอให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา

แต่แล้ว ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ได้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหงขึ้นมาใหม่ โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 4 คน โดยมีนายคำ ตุ่นหล้า ลงรับสมัครการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงขณะเดียวกันที่มีการรื้อฟื้นคดีความนั้น โดยได้มีหนังสือออกหมายจับนายคำ ตุ่นหล้า ข้อหาหนีคดีม็อบกระเทียมเมื่อปี 2548

ซึ่งกรณีเช่นนี้ จะเป็นปรากฏการณ์ที่จะเรียกว่าบังเอิญ หรืออะไรก็ตาม แต่ข้อสังเกตของชาวบ้านเวียงแหงที่คัดค้านเหมืองแร่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ลักษณะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ เพื่อยันคู่ต่อสู้อำนาจการเมืองหรือไม่ และเมื่อเข้าไปสู่กระบวนการทางกฎหมายเมื่อเข้ามอบตัว ดูเหมือนขั้นตอน กระบวนการเร็วเกินจนทำให้ตั้งรับไม่ทัน และที่แกนนำที่เหลืออีก 7 คน จะถูกกระทำเช่นนี้ด้วยหรือไม่ ยังคงเป็นคำถาม เพราะหลายครั้งมักจะไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากกระบวนการที่ต้องสู้ในพื้นที่เองแล้ว ทางชั้นกฎหมายที่หลายคนถูกดำเนินคดี และอีกหลายคนอาจจะถูกกระทำเช่นเดียวกันนี้ ท่ามกลางกระแสการสร้างมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่กำลังโหมกระหน่ำมากยิ่งขึ้น ทั้งบนดินและใต้ดิน

แน่นอน สถานการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบนอำเภอเวียงแหง และภาคประชาชนอำเภอเวียงแหง ต้องหันมาจับมือร่วมกันถก คิด วางแผน ที่จะขับเคลื่อน จัดวางจังหวะก้าว กลไกการทำงานที่ชัดเจนให้มากขึ้นทั้งเพื่อตั้งรับ และรุกเมื่อมีสถานการณ์เข้ามา ที่สำคัญการสร้างขวัญ กำลังใจกับพี่น้องเครือข่าย พี่น้องอำเภอเวียงแหง ที่ไม่เอากับเหมืองถ่านลิกไนต์ ให้มีความพร้อม มีจังหวะก้าวเดินไปพร้อมๆกันหลังจากนี้อย่างมีเป้าหมาย.

โปรดติดตามตอนจบ- -กับทิศทาง เป้าหมายและความฝันของคนเวียงแหง


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker