นอกจากวันที่ 5 พฤษภาคม 2554 จะครบรอบวันเสียชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียนคนสำคัญของเมืองไทย มันก็ยังเป็นวันเกิดของคาร์ล มาร์ก นักคิดนักเขียนคนสำคัญของโลกด้วย (5 พฤษภาคม 2361 - 14 มีนาคม 2426)
ไทยอีนิวส์ ขอนำข้อเขียนที่เขียนถึงความคิดและชีวิตของมาร์กซ์ ได้อย่างรอบด้านและน่าสนใจของอาจารย์สุธาชัย มาเผยแพร่ในวันนี้เพื่อร่วมรำลึกถึงนักคิด นักเขียนที่ทรงอิทธิพลยิ่งของโลก
อสัญกรรมของมาร์กซ โดย ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ที่มา ไฟลามทุ่ง
ปัญหาที่กระทบทำให้เรื่องทุน เล่มที่ ๒ ไม่สำเร็จเรียบร้อยจนถึง ค.ศ.๑๘๘๐ มาร์กซได้อธิบายในจดหมายถึงดาเนียลสันว่า นอกเหนือเรื่องสุขภาพที่ทำให้มาร์กซทำงานได้น้อยลงแล้ว ยังเป็นเพราะอังกฤษกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง ใน ค.ศ.๑๘๗๙ และมาร์กซต้องการที่จะเฝ้าจับตาสถานการณ์ นอกเหนือจากนี้ คือเรื่องการเสียเวลาศึกษาข้อมูลจำนวนมากจากรุสเซีย และสหรัฐฯที่มาร์กซต้องการใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจใน ๒ ประเทศนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาทางการเกษตรของรุสเซีย แต่กระนั้น มาร์กซได้เรียบเรียงเรื่องทุนเล่มที่ ๒ จนเสร็จไปมากกว่าค่อน และยังได้วิเคราะห์ประเด็นย่อยทางเศรษฐกิจไว้เป็นจำนวนมากกว่า ๓,๐๐๐ หน้า ซึ่งในส่วนนี้ ต่อมาจะกลายเป็นข้อมูลพื้นฐานที่เองเกลส์จะมาเรียบเรียงเป็นเรื่อง ทุน ภาคที่ ๓ นอกจากนี้ มาร์กซได้มีส่วนช่วยเหลือเองเกลส์ในการเขียนงานสำคัญเรื่อง “วิพากษ์ดิวริง” (Anti-D?ring)
ในระหว่างนี้ มาร์กซมีความสนใจอย่างมากแก่งานของชาร์ล ดาร์วิน หลังจากที่งานของดาร์วินเรื่อง “On the Origin of Species” พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ.๑๘๕๙ เมื่อมาร์กซอ่านงานของดาร์วินในปีต่อมา เข้าได้เขียนจดหมายถึงเองเกลส์ว่า งานของดาร์วินชี้ให้เห็นรากฐานทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติของ “ทัศนะของเรา” แต่ต่อมา มาร์กซได้วิจารณ์ว่า หนังสือของดาร์วิน ไม่ได้ให้ประโยชน์มากนักในการอธิบายสังคมและการเมือง และถ้าหากมีใครอธิบายว่า การพัฒนาทางประวัติศาสตร์เป็นไปตามทฤษฎี “การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด” จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มาร์กซก็ยังประทับใจในงานของดาร์วิน และเตรียมที่เขียนอุทิศหนังสือเรื่อง ทุนเล่มที่ ๒ แก่ดาร์วิน แต่ดาร์วินปฏิเสธที่จะรับเกียรตินี้ เพราะกลัวว่าเรื่องทุนของมาร์กซ จะเป็นหนังสือต่อต้านพระเจ้ามากเกินไป การที่มาร์กซสนใจงานของดาร์วินแสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า มาร์กซได้ให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความสนใจในวิชามานุษยวิทยา โดยเฉพาะผลงานของเลวิส มอร์แกน(Lewis Morgan) โดยเฉพาะเรื่อง สังคมยุคโบราณ (Ancient Society) ที่อธิบายลักษณะที่เสมอภาค และการไม่มีกรรมสิทธิเอกชน ในสังคมชนเผ่ายุคบุรพกาล ซึ่งผลงานของมอร์แกนชิ้นนี้ ต่อมาจะเป็นรากฐานให้กับบทความเรื่อง “กำเนิดครอบครัว” ของเองเกลส์
ปัญหาสำคัญสำหรับมาร์กซในช่วงหลัง ค.ศ.๑๘๗๐ คือ สุขภาพที่ทรุดโทรมลงทุกที ยิ่งกว่านั้นก็คืออาการจากความเครียด โรคปวดศีรษะเรื้อรัง และนอนไม่หลับ ใน ค.ศ.๑๘๗๓ เองเกลส์พามาร์กซไปยังเมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อพบหมอกัมเปิร์ต(Gumpert) แพทย์ประจำตัวของเองเกลส์ ซึ่งมาร์กซไว้วางใจ หมอได้พบว่า มาร์กซมีอาการผิดปกติที่ตับ และระบบประสาท จึงออกใบสั่งแพทย์ให้มาร์กซควบคุมตนเองอย่างเข้มงวด และห้ามทำงานใช้สมองเกินวันละ ๔ ชั่วโมง มาร์กซมีอากาดีขึ้นระยะหนึ่ง แล้วก็ทรุดลงอีก ทำให้เขาไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อีเลนอร์ลูกสาวคนเล็กของมาร์กซก็ล้มป่วย มีอาการทางประสาทตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้มาร์กซต้องใช้เวลาดูแล ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.๑๘๗๔ มาร์กซตัดสินใจเดินทางไปพักผ่อนที่คาร์ลสบัด ซึ่งเป็นสถานน้ำพุร้อนในโบเฮเมีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในจักรวรรดิออสเตรีย โดยนายแพทย์ลุดวิก คูเกลมาน เพื่อนของมาร์กซเดินทางไปเป็นเพื่อน และอีเลนอร์ ลูกสาวของมาร์กซ ก็เดินทางไปด้วย มาร์กซรักษาตัวอยู่ที่คาร์ลบัดนาน ๒ เดือน และกลับกลายเป็นว่า คูเกลมานทำให้การรักษาตัวของมาร์กซไม่ราบรื่น เพราะมีเรื่องโต้เถียงกัน และคูเกลมานพยายามเร่งเร้าให้มาร์กซทิ้งงานทางการเมืองทั้งหมด เพื่อเขียนเรื่องทุน จนจบเล่มที่ ๓ อันทำให้มาร์กซไม่สบายใจ ในวันที่ ๒๑ กันยายน มาร์กซและอีเลนอร์ ก็ออกเดินทางไปยังเมืองไลพซิกในเยอรมนี เพื่อเยี่ยนเยือนวิลเฮล์ม ลิบเนกต์ และได้พากันไปต้อนรับ วิลเฮล์ม บลอส(Wilhelm Blos) นักหนังสือพิมพ์ชาวสังคมประชาธิปไตยอีกผู้หนึ่งที่เพิ่งออกจากคุก จากนั้น กลุ่มของมาร์กซก็เดนทางไปยังเบอร์ลิน อัมบูร์ก และกลับมายังลอนดอน ในเดือนตุลาคม
การล่มสลายขององค์กรสากลที่ ๑ และความแตกแยกของขบวนการกรรมกรยุโรป นำมาสู่การเติบโตอย่างเป็นอิสระของขบวนการกรรมกรแต่ละประเทศ ในขณะนั้น ประเทศที่มีพรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมที่ชัดเจนก็คือ เยอรมนี โดยมีพรรคลักษณะเช่นนี้ ๒ พรรค คือ พรรคกรรมกรสังคมประชาธิปไตย ที่มาจากการประชุมสมัชชาที่ไอเซนัค และสหพันธ์กรรมกรแห่งเยอรมนนีของฝ่ายลัทธิลาซาล หลังการรวมประเทศเยอรมนี ได้มีความพยายามในการเจรจารวมกลุ่มของ ๒ พรรคเป็นพรรคเดียว และได้มีการเปิดการประชุมเพื่อการรวมพรรคที่เมืองโกธา ในวันที่ ๒๒-๒๗ พฤษภาคม ค.ศ.๑๘๗๕ มาร์กซและเองเกลส์ไม่ได้รับทราบเรื่องการรวมพรรคครั้งนี้อย่างเป็นทางการ แต่เมื่อคนทั้งสองได้รับหลักนโยบายร่วมที่จะเสนอในการประชุมเพื่อรวมพรรคใน เดือนมีนาคม ค.ศ.๑๘๗๕ ก็ได้ออกคำแถลงแสดงความไม่เห็นด้วยกับหลักนโยบายนั้นทันที และได้เขียนคำวิจารณ์เป็นจดหมายถึงวิลเฮล์ม บราค(Wilhelm Bracke) ผู้นำฝ่ายไอเซนัก เพื่อคัดค้านการรวมพรรคกับฝ่ายลัทธิลาซาล และวิจารณ์หลักการของฝ่ายลัทธิลาซาล ที่เสนอให้ประนีประนอมกับรัฐบาลบิสมาร์ค และสนับสนุนลัทธิชาตินิยมเยอรมัน อย่างไรก็ตาม วิลเฮล์ม ลิบเนกต์ ผู้นำสำคัญของฝ่ายไอเซนัก ซึ่งได้รับเอกสารนี้ เห็นว่าการเจรจาเพื่อรวมพรรคคืบหน้าไปเกินกว่าที่จะยับยั้ง จึงมิได้เผยแพร่ต่อไป ซึ่งจดหมายฉบับนี้ ต่อมาได้ถูกนำมาพิมพ์ใน ค.ศ.๑๘๙๑ ด้วยชื่อว่า วิพากษ์หลักนโยบายโกธา (Critique of the Gotha Programme) และถือเป็นงานนิพนธ์สำคัญฉบับหนึ่งของมาร์กซ
อย่างไรก็ตาม การประชุมที่เมืองโกธาก็บรรลุเป้าหมาย และนำมาสู่การตั้งพรรคกรรมกรสังคมนิยมแห่งเยอรมนี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มสังคมนิยมที่ต่างกันหลายกลุ่ม นอกเหนือจากกลุ่มไอเซนัก และ พวกลัทธิลาซาลแล้ว ยังมีกลุ่มของโจฮาน โมสต์(Johanne Most) ซึ่งโน้มไปทางอนาธิปไตย และ กลุ่มของ คาร์ล ดิวริง(Karl D?hring) ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของมาร์กซ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ ค.ศ.๑๘๗๗ ปรากฏว่าพรรคกรรมกรสังคมนิยมชนะเลือกตั้งในสภาผู้แทน ๑๒ ที่นั่ง ทำให้บิสมาร์คไม่พอใจ ใน ค.ศ.๑๘๗๘ จึงได้ผลักดันกฏหมายต่อต้านสังคมนิยม เพื่อห้ามกิจกรรมของพรรคโดยตรง
ต่อมา ใน ค.ศ.๑๘๗๕ มาร์กซได้เดินทางไปพักผ่อนรักษาตัวที่คาร์ลสบัดอีกครั้ง ในครั้งนี้ มาร์กซได้พบกับ แมกซิม โควาเลฟสกี(Maxim Kovalevsky) นักคิดฝ่ายเสรีนิยมชาวรุสเซีย ซึ่งมีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์และปัญหาที่ดินในรุสเซีย จึงกลายเป็นคู่สนทนาที่มาร์กซพอใจ โควาเลฟสกีไม่ได้ชื่นชมแนวคิดสังคมนิยม แต่นิยมมาร์กซเป็นการส่วนตัว ระหว่างที่พักอยู่ที่คาร์ลสบัด ตำรวจลับของออสเตรียยังคงสนใจติดตามพฤติกรรมของมาร์กซ แต่ก็ไม่พบว่ามีการเคลื่อนไหวอะไร เมื่อกลับมาถึงลอนดอนในเดือนตุลาคม เองเกลส์ได้เล่าว่า สุขภาพของมาร์กซฟื้นคืนขึ้นอย่างมาก และมีความสดชื่นที่จะกลับมาทำงานใหม่
ใน ค.ศ.๑๘๗๖ มาร์กซได้เดินทางไปพักผ่อนรักษาตัวที่คาร์ลสบัดเป็นครั้งที่สาม โดยมีอีเลนอร์เดินทางไปด้วย จากนั้น ทั้ง ๒ คนได้เดินทางไปยังเมืองปราค แล้วกลับมายังลอนดอน ใน ค.ศ.๑๘๗๗ มาร์กซมิได้เดินทางไปคาร์ลสัดอีก เพราะราคาแพงเกินไป ครั้งนี้มาร์กซไปพักผ่อนที่เมืองนวนาร์(Neuenahr)ในเขตไรน์แลนด์ของเยอรมนี แต่เมื่อบิสมาร์กได้ออกกฏหมายต่อต้านสังคมนิยมในเยอรมนี ค.ศ.๑๗๘๘ ทำให้มาร์กซไม่สามารถเดินทางไปพักผ่อนรักษาตัวในเยอรมนีได้อีก
ในระหว่างนี้ มาร์กซยังให้ความสนใจอย่างมากกับพัฒนาการของรุสเซีย และต่อมาเมื่อเกิดสงครามรุสเซีย-ออตโตมาน เมื่อ ค.ศ.๑๘๗๗ มาร์กซก็เริ่มสนใจ‘ปัญหาตะวันออก‘มากขึ้น มาร์กซและเองเกลส์คาดหวังที่จะให้ฝ่ายตุรกีชนะสงคราม และหวังว่า กรณีเช่นนี้จะนำมาสู่การปฏิวัติโค่นระบอบซาร์ในรุสเซีย แต่กระนั้น ฝ่ายตุรกีกลับพ่ายแพ้สงคราม ซึ่งส่วนหนึ่งมาร์กซเห็นว่า เป็นเพราะอังกฤษและออสเตรียทำการทรยศหักหลัง จากนั้น มาร์กซได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังว่า จะมีกลุ่มใดที่สามารถก่อการปฏิวัติในรุสเซียได้หรือไม่ และยกย่องการเคลื่อนไหวของกลุ่ม‘เจตนารมย์ประชาชน’ในรุสเซีย ที่พยามยามเคลื่อนไหวจัดตั้งชาวนารุสเซียให้ก่อการปฏิวัติ และให้วิธีก่อการร้ายเพื่อสั่นคลอนอำนาจของพระเจ้าซาร์ แม้กระทั่งการที่กลุ่มนี้ได้ก่อการลอบสังหารพระเจ้าซาร์เล็กซานเดอร์ที่ ๒ เมื่อ ค.ศ.๑๘๘๑ มาร์กซก็ยังเห็นว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการวิเคราะห์ของมาร์กซ ที่เห็นว่า สังคมชาวนาของรุสเซีย มียังคงมีลักษณะแบบคอมมูน ที่กรรมสิทธิที่ดินเป็นของส่วนรวม มาร์กซเห็นว่า ถ้าหากเกิดการปฏิวัติในรุสเซีย คอมมูนชาวนาเหล่านี้น่าจะเป็นรากฐานในการสร้างสังคมนิยม ที่กรรมสิทธิเป็นของส่วนรวมได้
นอกจากนี้ก็คือ ก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการบุกเบิกตะวันตก มาร์กซเห็นว่า สหรัฐฯเริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง และโอกาสที่จะเกิดพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพที่เป็นจริงน่าจะเป็นไปได้ มากกว่าหลายประเทศในยุโรป และจะนำมาสู่การปฏิวัติในอเมริกา แต่ชนชั้นกรรมาชีพของอเมริกาจะต้องร่วมมือกับชาวนา และชนผิวดำ การที่องค์กรกรรมกรสากลที่ ๑ ที่ย้ายไปตั้งฐานที่อเมริกา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาร์กซเห็นว่า จะทำให้การจัดตั้งพรรคกรรมาชีพในอเมริกาจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ในกรณีของฝรั่งเศส หลังจากความพ่ายแพ้ของคอมมูนปารีส ทำให้กระแสสังคมนิยมลดต่ำลงระยะหนึ่ง แต่หลังจาก ค.ศ.๑๘๗๗ ขบวนการสังคมนิยมเริ่มฟื้นตัว โดยองค์กรกรรมกรได้แสดงบทบาทใหม่ และมีการออกหนังสือ เลอกาลิเต(L'Egalit? -เสมอภาค) นอกจากนี้ ก็คือการจัดตั้งพรรคสมาพันธ์กรรมกรสังคมนิยม(F?d?ration du Parti Travailleurs Socialistes) ในเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๘๗๙ โดยมีผู้นำเช่น เกสเด(Guesde) และ มาลอง(Malon) ซึ่งมีแนวโน้มเป็นชาวลัทธิมาร์กซ ต่อมา รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคอมมูนปารีส ทำให้ชาวสังคมนิยมฝรั่งเศสที่ลี้ภัย สามารถกลับเข้าประเทศได้ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๘๘๐ เกสเดเดินทางมายังลอนดอน เพื่อแลกเปลี่ยนสนทนากับมาร์กซในเรื่องแนวทางนโยบายของพรรคของกรรมกรที่ตั้ง ขึ้นใหม่ มาร์กซยินดีกับการรื้อฟื้นขบวนการสังคมนิยมในฝรั่งเศส แต่ก็ยังตั้งข้อสงสัยว่า พรรคกรรมกรสังคมนิยมฝรั่งเศส จะรักษาเอกภาพไว้ได้นานเพียงใด ซึ่งปรากฏว่า ในการประชุมสมัชชาพรรคเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.๑๘๘๒ พรรคกรรมกรสังคมนิยมแตกกันเป็น ๒ ปีก คือ ปีกที่มีแนวทางปฏิรูปและชาตินิยม กับปีกที่มีแนวทางปฏิวัติแบบสากลนิยม โดยเกสเด ซึ่งเป็นผู้นำของฝ่ายปฏิวัติถูกโจมตีอย่างหนักว่า รับใบสั่งมาจาก“มาร์กซชาวปรัสเซีย” ในลอนดอน
ในอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศมาร์กซมาอาศัยอยู่เป็นเวลานาน กลับได้รับอิทธิพลจากแนวคิดลัทธิมาร์กซน้อยมาก ขบวนการกรรมกรของอังกฤษโน้มนำด้วยความคิดลัทธิสหภาพแรงงานเสมอ นอกกชจากนี้ก็คือแนวทางสังคมนิยมปฏิรูปตามแบบโรเบิร์ต โอเวน ก็ยังมีอิทธิพลมาก และทำให้ขบวนการกรรมกรอังกฤษกลายเป็นผู้สนับสนุนพรรคเสรีนิยม มากว่าที่จะสร้างพรรคการเมืองของตนเอง และชาวสังคมนิยมที่ติดต่อมาร์กซสม่ำเสมอในระยะนี้คือ เอช.เอ็ม. ไฮนด์แมน(H.M. Hyndman) ผู้ก่อตั้งสมาคมสังคมประชาธิปไตยอังกฤษ ไฮนด์แมนประทับใจมาร์กซอย่างมาก หลังจากที่ได้อ่านเรื่องทุนฉบับภาษาฝรั่งเศส และเมื่อรู้จักและแลกเปลี่ยนกับมาร์กซ เขาก็ยกย่องมาร์กซว่าเป็น ‘อริสโตเติลของศตวรรษที่ ๑๙’ อย่างไรก็ตาม ไฮนด์แมนเป็นผู้ที่เชื่อมั่นว่า อังกฤษจะสามารถพัฒนาไปสู่สังคมนิยมได้โดยสันติวิธี และรังเกียจระบอบซาร์ของรุสเซียอย่างมาก และเรื่องความเกลียดชังต่อพระเจ้าซาร์ ทำให้ไฮนด์แมนกับมาร์กซ สนทนากับได้ดี อย่างไรก็ตาม มิตรภาพของคนทั้งสองขาดสะบั้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๘๘๑ หลังจากที่ไฮนด์แมนพิมพ์หนังสือเรื่อง ตำราประชาธิปไตย (The Text Book of Democracy : England for all) ซึ่งเสนอให้อังกฤษกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นมีส่วนปกครองตนเองมากขึ้น และให้คนร่ำรวยชนชั้นสูงอังกฤษสนใจแนวทางปฏิรูป ในหนังสือนี้ มี ๒ บทที่ว่าด้วยแรงงานและทุน ที่นำมาจากหนังสือเรื่องทุนของมาร์กซ โดยไม่อ้างอิง เพียงแต่ไฮนด์แมนเขียนในบทนำว่า งานของเขาเป็นหนี้ ‘นักคิดที่ยิ่งใหญ่’ โดยไม่เอ่ยชื่อของมาร์กซ มาร์กซเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แต่ไฮนด์แมนอธิบายว่า ถ้าหากอ้างอิงงานของมาร์กซ จะทำให้สุภาพบุรุษอังกฤษที่อ่านหนังสือนี้ ไม่อาจยอมรับได้ มาร์กซไม่สามารถรับคำอธิบายในลักษณะนี้ ความขัดแย้งของคนทั้งสองจึงแตกหัก
ใน ค.ศ.๑๘๘๑ เจนนี ภรรยาของมาร์กซป่วยหนักจากโรคมะเร็งที่ตับ และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ส่วนมาร์กซเองก็ล้มป่วยหนักด้วยโรคปอดในเดือนตุลาคม และลุกจากเตียงไม่ได้ถึง ๒ เดือน โดยอีเลนอร์เป็นผู้ดูแล และแม้ว่ามาร์กซจะฟื้นจากอาการป่วย แต่การเสียชีวิตของเจนนี ทำให้สภาพจิตใจของมาร์กซไม่ได้ฟื้นกลับมาอีกเลย มาร์กซท้อแท้ ห่อเหี่ยว ไม่มีกำลังใจที่จะทำงานใดๆ ได้อีก งานเรื่องทุน เล่ม ๒ ที่ค้นคว้าและเขียนอยู่ใกล้จะเสร็จ หยุดชะงักไปเพียงเท่านั้น ในเดือนมกราคม ค.ศ.๑๘๘๒ มาร์กซเดินทางไปรักษาตัวที่ชายทะเลเมืองเวนต์นอร์ ที่เกาะไวท์ (Isle of Wight) ทางตอนใต้ของอังกฤษ โดยอีเลนอร์เดินทางร่วมด้วย แต่มาร์กซยังมีอาการไอและหอบอย่างหนัก ส่วนอีเลนอร์ก็พักฟื้นจากอาการทางประสาท ปรากฏว่าอาการของมาร์กซยังไม่ทุเลา มาร์กซจึงเดินทางไปรักษาตัวตามลำพังที่เมืองแอลเจียร์ ในอาณานิคมของฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือ และอยู่แอลเจียร์ถึง ๒ เดือนครึ่ง และไปยังเมืองมอนติคาร์โลในฝรั่งเศส พักที่นั่นอีก ๑ เดือน แต่อาการของโรคทางเดินหายใจก็ยังไม่ทุเลา มาร์กซเดินทางไปเมืองอาร์เจนเตยิล (Argenteuil)นอกกรุงปารีส เพื่อไปพักกับลูกสาวคือ เจนนี และอยู่กับเจนนี ๓ เดือน ในขณะนั้น เจนนีกำลังเลี้ยงลูกเล็ก ๓ คน คือ จีน และ เอกการ์ และกำลังตั้งท้องอีก ๑ คน ทำให้ชีวิตของมาร์กซไม่ได้อยู่ในความสงบ มาร์กซจึงเดินทางไปยังเมืองเวเวย์ในสวิทเซอร์แลนด์ แล้วเดินทางกลับอังกฤษ เพื่อไปพักที่เมืองเวนต์นอร์อีกครั้ง ตลอดปี ค.ศ.๑๘๘๒ มาร์กซเขียนงานเพียงชิ้นเดียวและเป็นชิ้นสุดท้าย คือ คำนำของ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ฉบับภาษารุสเซีย ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒
ในวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ.๑๘๘๓ เจนนีลูกสาวคนโตของมาร์กซถึงแก่กรรมอย่างกระทันหันก่อนบิดา ด้วยโรคมะเร็ง โดยมีอายุ ๓๘ ปี และทิ้งลูก ๔ คนไว้เบื้องหลัง มาร์กซได้ทราบเรื่องนี้ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ และหมดหวังในชีวิต เขาเดินทางกลับมายังลอนดอน และใช้ชิวิตช่วงสุดท้ายอย่างเงียบๆ มีคนดูแลชื่อ เลนเชน ที่เองเกลส์ส่งมา และเองเกลส์ก็มาเยี่ยมเป็นประจำทุกวัน จนถึงวันที่ ๑๓ มีนาคม มาร์กซก็ถิงแก่กรรมอย่างสงบ ศพของมาร์กซได้ทำพิธีฝังที่สุสานไฮเกต ชานกรุงลอนดอน และมีการทำพิธีศพในวันที่ ๑๗ มีนาคม โดยมีผู้มาเข้าร่วมพิธีไม่มากนัก เองเกลส์เป็นผู้กล่าวพจนาลัยในพิธีศพครั้งนี้
ปัญหาสำคัญคือ มาร์กซแทบจะไม่เป็นที่รู้จักเลย ในประเทศที่เขาอาศัยอยู่ถึงครึ่งชีวิต หนังสือพิมพ์เดอะไทม์ ที่ลงข่าวพิธีศพของมาร์กซ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของมาร์กซคลาดเคลื่อนอย่างมาก หนังสือเรื่องทุนของมาร์กซ ที่เผยแพร่อย่างมากในฝรั่งเศส เยอรมนี และ รุสเซีย แทบไม่เป็นที่รู้จักเลยในอังกฤษ ฉบับภาษาอังกฤษของเรื่องทุน เพิ่งจะตีพิมพ์ใน ค.ศ.๑๘๙๔ และวางขายในทั้งในอังกฤษและอเมริกา
ศพของมาร์กซยังคงถูกฝังอยู่ที่ไฮเกตชานกรุงลอนดอนต่อมา โดยชาวอังกฤษส่วนมากไม่ได้รับรู้ จนกระทั่งถึง ค.ศ.๑๙๕๖ จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของมาร์กซที่สุสานแห่งนี้ และมีคำจารึกที่ฐานของอนุสาวรีย์ว่า
“ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก จงรวมกันเข้า”