บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา : รัฐไทยกับภาพหลอนประวัติศาสตร์ขบวนการกรรมกร

ที่มา Thai E-News


โดย ณัฐพล พึ่งธรรม
30 เม.ย. 2554


บทความนี้เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2554 เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ได้กล่าวทบทวนย้อนประวัติศาสตร์แรงงานไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นับตั้งแต่สมัยเริ่มเปิดประตูเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก ผ่านยุคปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฉายภาพประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการกรรมกรที่เป็นภาพติดหลอนรัฐไทยมาโดยตลอด รัฐและนายทุนยังคงวนเวียนอยู่กับความหวาดกลัวเรื่อง “การรวมตัว และการเจรจาต่อรอง” ของชนชั้นแรงงาน

“ถ้าเวลาเราพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วไม่พูดเรื่องสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองมันจึงเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้เลย”


ยุคเปิดประตูสู่เศรษฐกิจโลก
ภายหลังไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริง(Bowring Treaty) เมื่อ ปี2398 ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมขยายตัว มีความต้องการแรงงานรับจ้าง แต่ไทยยังอยู่ในระบบแรงงานเกณฑ์ ระบบไพร่ คนยังไม่มีอิสระที่จะเดินทาง ต้องถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน เราอยู่ในสภาพขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศจีน รัฐไทยถูกนำเข้าสู่กระบวนการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ ถูกจูงเข้าไปสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวเพื่อการส่งออก รัฐบาลส่งเสริมการเพาะปลูกข้าว ส่วนคนไทยเองก็เลือกที่จะอยู่กับเรือกสวนไร่นาเพราะคุ้นเคยมากกว่า และการทำการเกษตร เพาะปลูกข้าวนั้น ก็ได้ผลตอบแทนสูงกว่าการเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง

ที่สำคัญ คือค่านิยมคนไทยเองก็อยากเป็นเจ้าคนนายคน การไปรับจ้างถือว่าเป็น “ขี้ข้า” คนไทยไม่ค่อยชอบ ด้วยเหตุผลหลายประการทำให้เราเลือกนำเข้าแรงงานจากประเทศจีน ซึ่งอยู่นอกเหนือระบบไพร่ ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานและได้รับการส่งเสริมจากรัฐ คนจีนจึงเป็นแรงงานรับจ้างในตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนโยบายของรัฐที่กำหนดเกี่ยวข้องกับแรงงาน จึงมองเห็นว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานจีน มองเห็นว่าคนพวกนี้คือแรงงานต่างด้าวไม่ใช่คนไทย

กรรมกรจีนในความเคลื่อนไหว
รัฐมองว่า คนจีนเข้ามาพร้อมกับการเป็นพาหะความคิดทางการเมือง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบสาธารณรัฐที่เรียกว่า “การปฏิวัติซุนยัดเซ็น” ภาพแบบนี้จะติดหลอนอยู่กับรัฐ รัฐมองคนจีนว่าอาจนำเอาความคิดแบบสาธารณรัฐนิยม หรือแม้กระทั่งแนวความคิดแบบสังคมนิยมซึ่งเผยแพร่ในหมู่กรรมกรและคนจีนมากแล้วในช่วงนั้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เวลาที่รัฐจะกำหนดนโยบายเรื่องแรงงาน ก็เอาเรื่องความมั่นคงแห่งชาติมาก่อน ดังนั้นการส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิจึงถูกมองข้ามไปพอสมควร


เดิมที การรวมตัวของคนจีนที่เราเรียกว่า “อั้งยี่” สมัยก่อนรัฐบาลไม่ได้ต่อต้านและมองเห็นว่า อั้งยี่นี้เป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐสามารถคุยผ่านหัวหน้าอั้งยี่ได้ พอพัฒนาไประดับหนึ่งก็รู้สึกว่าพวกอั้งยี่บางส่วนก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงาน มีการนัดหยุดงานบ้างอะไรบ้าง ในที่สุดรัฐบาลไทย ในช่วงปี 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ออกกฎหมายอั้งยี่ หรือกฎหมายว่าด้วยการสมาคม ต่อไปนี้จะรวมตัวกันเป็นอั้งยี่ไม่ได้ ต้องมาจดทะเบียน

แต่รัฐยังไม่ยอมรับในเรื่องของการรวมตัวให้เป็นการรวมตัวอย่างถูกกฎหมาย เวลาคนงานเขารวมตัวกันไปขอจดทะเบียนก็ไม่ได้รับอนุญาต สภาพแบบนี้ก็ทำให้การรวมตัวของคนงาน เป็นการรวมตัวเคลื่อนไหว “ใต้ดิน” เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ การเคลื่อนไหวใต้ดิน ก็เป็นสิ่งที่ต้องปิดลับพอสมควร ก็อาจมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง สภาพแบบนี้ทำให้รัฐยิ่งหวั่นไหวหวาดกลัวการรวมตัวของคนงานมากขึ้น

รัชกาลที่ 6 : สถานะแรงงานในรัฐชาตินิยม
รัชกาลที่6 ทรงเป็น “นักชาตินิยม” ที่มีภาพชัดเจนมาก ปลุกความรู้สึกเรื่องรักชาติ ให้เกิดขึ้นชัดเจน หลายคนที่นึกถึงตรงนี้ก็จะนึกถึงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ ที่ใช้นามปากกาว่า “อัศวพาพุ” บทความเรื่อง “ยิวแห่งบูรพาทิศ” ที่พูดถึงเรื่องคนจีน จริงๆแล้วรัฐจะต่อต้านจีนในลักษณะที่บอกว่าเป็นอั้งยี่ หรือไม่รักชาติไทย ถ้าจีนที่พร้อมจะผสมผสานกลมกลืน เมื่ออพยพมาอยู่แล้ว รัฐไทยอยากให้คนจีนอยู่อย่างยั่งยืนถาวร อยากให้ผสมผสานกลมกลืน ในท้ายที่สุด ก็กลายเป็นคนไทย รัฐไทยก็จะไม่ได้ต่อต้าน คนจีนแบบนี้ แต่ส่วนที่เขาต่อต้านหรือไม่สบายใจก็คือส่วนของคนจีนที่ยังอยากกลับไปอยู่ประเทศจีน ส่งเงินกลับไปช่วยเหลือขบวนการในประเทศจีน

แต่ว่า ถ้าดูโดยรวมแล้วรัฐไทยมองเห็นคุณค่าของแรงงานจีน และเห็นว่าเราขาดไม่ได้ เพราะว่าตลาดข้าวที่ใหญ่ของเราแห่งหนึ่งคือตลาดจีน อุตสาหกรรมโรงสีข้าวได้ถูกถ่ายมือจากของชาวตะวันตกในระยะแรกค่อยๆถูกถ่ายโอนมาในมือของคนจีนมากขึ้น โรงสีข้าวพอใจที่จะจ้างแรงงานจีนมากกว่า ฉะนั้นแรงงานจีนในกิจการโรงสีมีเยอะมาก รัฐบาลไทยมองเห็นว่าคนเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย รายได้ของรัฐก็มาจากการใช้แรงงานคนจีนเหล่านี้ รัฐไทย จริงๆแล้วไม่ได้ต่อต้านคนจีน ส่งเสริมเสียด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับสมัยนี้ รัฐยังมีใจไม่กว้างเท่ากับสมัยก่อนด้วยซ้ำ ซึ่งก็ยังมองเห็นคุณูปการของแรงงานข้ามชาติ ขณะที่วันนี้เรายังรู้สึกไม่ค่อยเต็มใจยอมรับแรงงานข้ามชาติว่าเขามีคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจเรา

ขบวนการแรงงานสากล ผลสะเทือนจากโลกถึงรัฐไทย
ยุโรปในศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่20 เป็นช่วงของการที่คนงานเริ่มรวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้อง เกิดเป็นขบวนการแรงงานสากล ซึ่งค่อนข้างมีความคิดทางการเมืองออกไปทางสังคมนิยมพอสมควร ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติที่รัสเซีย ที่เรียกว่าการปฏิวัติบอลเชวิก นำโดยพรรคบอลเซวิกซึ่งประกาศตัวว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพ การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ทำให้เกิดความตื่นหวาดวิตก ของประเทศที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ การปกครองที่มีฝ่ายนายทุนนักธุรกิจมีบทบาทอำนาจนำ เหล่านี้ก็รู้สึกจะหวั่นไหวพอสมควร

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เกิดการรวมตัวของคนงานในระดับสากลตั้งเป็นองค์กรระหว่างประเทศขึ้นหลายๆองค์กร คือในอุตสาหกรรมต่างๆ จะรวมสหภาพแรงงานหรือคนงานในประเทศต่างๆ มารวมกันเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเหล่านั้น เพราะคิดว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบโลกาภิวัตน์ จะเคลื่อนย้ายไปทุกแห่ง ก็เลยให้คนงานรวมตัวกันเพื่อที่จะให้มีสิทธิหรือมาตราฐานที่เท่าเทียมกันในการต่อสู้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความตื่นตัวในการรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิของคนงาน

แรงงานไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน ก็ได้รับอิทธิพลแนวความคิดนี้มาพอสมควร คนจีนโดยธรรมชาติเป็นคนที่รวมตัวกันอยู่แล้ว และโดยธรรมชาติแล้ว นายจ้างก็ต้องการแสวงหากำไรสูงสุด วิธีการได้กำไรสูงสุดก็คือ การเอารัดเอาเปรียบคนงาน การตัดเรื่องค่าจ้างแรงงาน ไม่ดูแลเรื่องสวัสดิการนี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องการลดต้นทุน เมื่อไม่มีกฎหมาย โดยธรรมชาติคนงานก็มีโอกาสถูกเอารัดเอาเรียบ คนงานเมื่อถูดเอารัดเอาเปรียบก็ต้องลุกขึ้นต่อสู้และก็จะพบว่าในประวัติศาสตร์ ก็มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนงานมากมาย ถ้าไปดูเอกสารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่6 ก็จะพบว่า มีการนัดหยุดงานโดยคนงานมากมายหลายครั้งเหลือเกิน เช่น คนงานในกิจการเหมืองแร่ บางครั้งมีการนัดหยุดงานกันหลายพันคนก็มี เป็นธรรมชาติว่า ที่ไหนมีการเอารัดเอาเปรียบ เขาก็จะลุกขึ้นต่อสู้

ในกรณีของแรงงานไทย คนไทยส่วนใหญ่พอใจที่จะอยู่ในภาคการเกษตร แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ก็ตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่แผ่ขยายไปทั่วโลกครั้งแรก และเราก็ได้รับผลกระทบอันนั้น การเพาะปลูกข้าวไม่สามารถที่จะส่งออกได้เพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ และประกอบกับในสมัยรัชกาลที่6 ก็เกิดภัยแล้งหลายครั้ง มีวิกฤตน้ำท่วม เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยที่แต่ก่อนอยู่ในภาคการเกษตร อยู่ในไร่นา จำต้องอพยพเข้าสู่เขตเมืองเพื่อหางานทำ เพราะฉะนั้นคนไทยก็เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานมากพอสมควร แต่แน่นอน เมื่อไม่มีกฎหมายคนงานเหล่านี้ก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ ก็มีการพยายามรวมตัวกันแต่กฎหมายก็ไม่อนุญาต

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง เมื่อปี 1919หรือสองปีหลังปฎิวัติบอลเชวิก ประเทศไทยเอง ในฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตชาติ และก็เลยกลายเป็นประเทศ 1 ใน 45 ประเทศ ผู้ก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO รัฐบาลไทยเองต้องเข้าร่วมในกระบวนการที่จะต้องดูแลเรื่องสิทธิของคนงานมากขึ้น การเกิดขึ้นขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เป็นข้อเรียกร้องของฝ่ายแรงงานมานานแล้ว เพราะว่าเขารู้ว่า ระบบทุนนิยมเป็นสิ่งที่เรียกว่าไร้พรมแดน นายทุนจะไปแสวงหาความได้เปรียบเหนือแรงงาน คนงานก็ต้องการสร้างมาตรฐานว่าในทุกหนทุกแห่ง จะต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อที่จะให้การคุ้มครองสิทธิของคนงาน ก็เป็นข้อเรียกร้องมานาน

หลักการสำคัญก็คือเป็นองค์กรแบบไตรภาคี มีตัวแทนของนายจ้าง มีตัวแทนของลูกจ้าง และมีตัวแทนของรัฐ มาช่วยกันกำหนดมาตรฐานร่วมกันให้เป็นอนุสัญญาหรือข้อแนะให้ประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศนั้นนำไปปฏิบัติใช้ ก็เป็นเรื่องของสิทธิต่างๆเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้เกิดความยุติธรรมทั้งกับนายจ้างและลูกจ้าง และก็เป็นภาคีว่าด้วยความร่วมมือ

แต่สำหรับประเทศไทย ยังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเวลาพูดถึงคนงาน ก็จะไปคิดถึงเรื่องแรงงานจีน รัฐไทยเองก็กังวลเกี่ยวกับภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในสมัย ดร.ซุนยัด เซนที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ ก็เป็นเรื่องที่กังวล เวลาที่ ILO มีมติร่วมกันว่าจะต้องออกกฎหมายบ้าง จะต้องมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของแรงงานโดยเฉพาะ รัฐไทยก็ค่อนข้างจะบ่ายเบี่ยงกระทรวงต่างประเทศมีหนังสือไปถึงองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าทำไมประเทศไทยถึงยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อธิบายว่า สยามยังเป็นประเทศกสิกรรม ยังไม่ได้เป็นประเทศอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ค่าครองชีพยังต่ำอยู่ ยังไม่น่ากังวลเรื่องการเอารัดเอาเปรียบคนงาน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็ยังน้อย ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเหล่านั้น นี่ก็เป็นข้ออ้างของรัฐ

แต่ว่า เหตุผลลึกๆเข้าใจว่าน่าจะเป็นเหตุผลเรื่องความกังวลมากกว่า ถ้าปล่อยให้คนงานรวมตัว และคนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานจากประเทศจีนก็อาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ก็เป็นความกังวล และอีกประการหนึ่ง การล้มลงของราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งถือว่าใกล้ชิดกับราชวงศ์ไทยพอสมควร ก็เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้พอสมควร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่รัฐอาจเป็นห่วง เพราะว่า ถ้าไม่ดูแลใกล้ชิดมันอาจขยายตัวไปถึงจุดนั้นได้ ก็ใช้วิธีว่าป้องกันไว้ก่อนดีกว่า เข้าไปดูใกล้ชิดหน่อย นี่ก็เป็นเหตุให้ประเทศไทยปฏิเสธการมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเรื่อยมา

ปัญญาชนปลุกขบวนทัพกรรมกร
หลังเกิดองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กระแสเรื่องของการเรียกร้องให้ยอมรับสิทธิต่างๆของคนงาน คนงานเองก็ตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้ ในประวัติศาสตร์เราจึงพบว่ามีกลุ่มที่เรียกว่าปัญญาชนหลายคน ถ้าศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์แรงงาน ก็จะได้รู้จักเรื่องของคุณถวัติ ฤทธิเดช คนอย่างคุณวาด สุนทรจามร คนเหล่านี้เป็นปัญญาชนที่เห็นอกเห็นใจคนจน มีความรู้เรื่องกฎหมายบ้างก็พยายามเข้าไปช่วยเหลือดูแล โดยการก่อตั้งเป็น “คณะกรรมกร” มีการจัดทำหนังสือพิมพ์กรรมกร เพื่อเป็นปากเป็นเสียง และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิแก่ผู้ใช้แรงงาน ก็มีการรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้ แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด เพราะว่าไม่ได้มีการคุ้มครองโดยกฎหมาย

คนงานที่เคลื่อนไหวก็เรียกร้องในเรื่องของสิทธิมากขึ้น เสียงเรียกร้องในเรื่องของการให้รัฐให้การดูแลสิทธิของคนงาน ให้มาปกป้องสิทธิไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบนั้นมากยิ่งขึ้นๆ การรวมตัวเรียกร้อง การนัดหยุดงานก็ชัดเจนมากขึ้น มีการนัดหยุดงานหลายต่อหลายครั้ง

กระแสเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ในสื่อ ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีบทความที่พูดถึงหลักสิทธิของคนงานมากขึ้น มีปัญญาชนนักคิดต่างๆที่หันมาสนใจประเด็นของผู้ใช้แรงงานมากขึ้น ก็เกิดกระแสเรียกร้อง ถ้าเราไปดูเอกสารเก่าๆก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องเหล่านี้มากมาย ถ้าไปดูเอกสารเก่าๆ ในหอจดหมายเหตุฯ จะพบว่าการเคลื่อนไหวในวันที่ 1 พฤษภาคม (วันกรรมกรสากล) มีมาก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ว่าต้องทำแบบลับๆ ไปชักธงขึ้นบนบ้าน อะไรอย่างนี้ก็มี ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระแสแบบนี้ก็สูง
พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลังจาก 24 มิถุนายน ไม่นานเท่าไหร่ การเข้าขอจดทะเบียนก็เกิดขึ้น สมาคมของคนงานแห่งแรกก็เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2475 นั้นเอง นั่นคือสมาคมคนงานรถราง แสดงว่าคนงานนั้นอัดอั้นที่จะใช้สิทธิในการรวมตัว เพราะว่าโดยทั่วไปสิทธิที่จะรวมตัวในการเจรจาต่อรองนั้นเขาถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ คนงานทั่วโลกเขาถือว่าต้องยอมรับในสิทธิเหล่านี้ ในบ้านเราก็เหมือนกัน

รัฐไทยกับการ(ไม่) ยอมรับการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง

เรามีกฎหมายคุ้มครองแรงงานจริงๆเอาเมื่อปี 2499 สมัยจอมพล ป.(ยุค2) แต่กฎหมายฉบับนี้ก็มีอายุสั้น แค่สองปี จอมพลสฤษฎิ์ ทำรัฐประหารในปี 2501 ก็ยกเลิกทันที เหมือนกับสังคมเรายังไม่ยอมรับในเรื่องของสิทธิการรวมตัวกันของคนงานมายาวนานตลอด เรามามีกฎหมายที่ให้สิทธิในการรวมตัวกับคนงานอีกทีหนึ่งก็ปี 2515 ก่อนหน้า 14 ตุลา (2516) และก็อยู่ยาวมา จนกระทั่งเรามีกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็ปี2518 คือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี2518 แต่ก็เป็นแค่กฎหมายเพราะลึกๆเอง รัฐไทยยังกังวลอยู่ในเรื่องของการรวมตัวกันของคนงาน ไม่มีกฎหมายที่จะคุ้มครองว่าคนงานรวมตัวกันแล้วก็ง่ายดายมากที่จะถูกเลิกจ้าง คนงานเมือรวมตัว จัดตั้งสหภาพแรงงาน คนจำนวนมากก็ถูกเลิกจ้างออกไป เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าลึกๆเรายังกลัวการรวมตัวของคนงานทั้งๆที่คนงานก็คือคนส่วนใหญ่ ถ้าคนส่วนใหญ่รวมตัวกันได้เขาก็จะสามารถรักษาสิทธิ การแบ่งปันก็จะเป็นธรรม สังคมส่วนรวมก็จะยุติธรรมขึ้น แต่ว่าก็ยังอยู่ในกรอบเดิมอยู่

โดยรวมเรายังไม่ยอมรับ คือ สังคมไทยยังไม่สร้างค่านิยม ให้การยอมรับว่านี่คือสิทธิ ที่อื่นเขารับกันหมดแล้วว่าการรวมตัวและเจรจาต่อรองคือสิทธิของคนงาน ILO ที่กำหนดว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จะมีอนุสัญญา 8 ฉบับจาก 190กว่าฉบับ ที่เขาถือว่าเป็นมาตรฐานพื้นฐาน 2ใน8ฉบับนี้ ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวและเรื่องการเจรจาต่อรอง ก็เป็นสิทธิพื้นฐานที่ถือว่าประเทศทั้งโลกควรปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะให้สัตยาบันหรือไม่ให้แต่จนถึงวันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน อนุสัญญา 2 ฉบับนี้มีอายุ 60กว่าปีแล้ว เหลือฉบับที่ 87 30ประเทศของโลกยังไม่ได้ให้ เราเป็นหนึ่งใน30ประเทศสุดท้าย และฉบับที่ 98 เหลืออีกแค่ 20 ประเทศ เราก็เป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่เรายังไม่ยอมให้สัตยาบัน

นี่คือสาเหตุที่ประเทศไทยมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เพราะการแบ่งปันกันระหว่างประชาชนที่อยู่ในประเทศ และการกระจายรายได้มันขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรอง ถ้าคนส่วนใหญ่มีอำนาจต่อรองก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ถ้าเวลาเราพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วไม่พูดเรื่องสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองมันจึงเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้เลย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker