ภาพชนบทจีนจากสื่ออินเตอร์เนต
บทความชำนาญ เรื่องนี้น่าสนใจในเรื่องการแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจของรัฐบาลกลางจีนต่อการพัฒนาชนบท แต่สิ่งหนึ่งที่บทความไม่ได้เสนอ คือ ปัญหาหนักของจีนในช่วงนี้คือการคอรัปชั่นอย่างมหาศาลของข้าราชการที่เกี่ยวข้องและทำหน้าที่อำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับทุนต่างๆ ที่ไหลเข้ามา โดยไม่มีกระบวนการประชาพิจารณ์กับชาวบ้าน และผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนต่างๆ
การจับกุม คุมขังนักกิจกรรม ศิลปิน คนงาน และชาวบ้านนับแสนคนที่ออกมาประท้วงรัฐบาล และร้องเรียนปัญหา (ทั้งปัญหาค่าแรงต่ำ ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ปัญหาวิกฤติภัยธรรมชาติ ฯลฯ) รวมทั้งการไม่ยอมรับเสรีภาพในการรวมตัวต่อรองของคนงาน ทุนยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่ไปเปิดโรงงานในจีนถูกนักประท้วง ประท้วงต่อเนื่องมากว่าทศวรรษ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเสื้อผ้า อิเลคทรอนิกส์ และอาหาร เป็นต้น
จีนยังเป็นประเทศที่ปิดกั้นเสรีภาพทางอินเตอร์เนตมากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน
ทั่วโลกเรียกร้องรัฐบาลจีนปล่อยตัว Liu Xiaobo ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2553
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
4 พฤษภาคม 2554
จากการก่อตั้งเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นที่เชียงใหม่เมื่อต้นปี ๒๕๕๓ เพื่อขับเคลิ่อนในการนำสันติสุข ให้กลับคืนมาสู่สังคม โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนนั้น ได้แก่การรณรงค์ให้มีการยกเลิก การบริหารราชการส่วนภูมิภาคร่วมกับโครงการจังหวัดจัดการตนเอง จนเป็นข้อเสนอที่สำคัญส่วนหนึ่งที่เสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.)ซึ่งมีคุณอานันท์ ปันยารชุน ได้ประกาศเป็นข้อเสนอของ คปร.จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างมหาศาล เพราะนำมาซึ่งการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่เห็นด้วยและต่อต้าน แน่นอนว่าผมคือหนึ่งในผู้ที่เห็นด้วยและได้เขียนบทความสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เมื่อเชียงใหม่จะจัดการตนเอง /ยกเลิกราชการบริหารส่วยภูมิภาค/มองญี่ปุ่น มองไทย ฯลฯ แม้กระทั่งการยกร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ขึ้นมาเพื่อเตรียมเสนอต่อสภาในปี ๒๕๕๕
อุดร ตันติสุนทร ได้เขียนบทความไว้เกี่ยวกับการกระจายอำนาจของจีนไว้หลายชิ้น สรุปความได้ว่า แต่ก่อนนี้จีนปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางที่เดียว เศรษฐกิจเริ่มตกต่ำเพราะรัฐบาลกลางเป็นผู้วางแผนแต่ผู้เดียว ต่อมา เติ้ง เสี่ยว ผิง ขึ้นมาเป็นใหญ่ ได้ประกาศนโยบายสำคัญว่าไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ จับหนูเก่งเป็นใช้ได้ ซึ่งมีความหมายว่าระบบเศรษฐกิจนั้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือทุนนิยม วิธีใดที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขได้ เป็นใช้ได้ทั้งนั่น จากนั้นมาจีนเริ่มกระจายอำนาจ การปกครองไปให้ผู้ว่ามณฑล นายกเทศมนตรี ให้เขาเหล่านั้นพัฒนามณฑลของตน เทศบาลของตนอย่างเต็มที่
จีนมีการปกครองแบบกระจายอำนาจจากส่วนกลาง (Decentralization) รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑล จึงมีอำนาจทางการบริหารค่อนข้างมาก เช่น รัฐบาลกลางให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการอนุมัติโครงการการลงทุนขนาดใหญ่จากนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ในขณะนี้รัฐบาลระดับมณฑลมีสิทธิอนุมัติโครงการลงทุนจากต่างชาติที่มีมูลค่าไม่เกิน ๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐได้ (จากเดิมที่มีสิทธิอนุมัติเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าไม่เกิน ๓๐ ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างความคล่องตัวและลดขั้นตอน ทำให้รัฐบาลระดับมณฑลเกิดความคิดริเริ่มในเชิงนโยบาย และคิดค้นมาตรการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนแข่งขันกันในการดึงดูดทุนจากต่างชาติ
นอกเหนือจากกฎระเบียบในระดับประเทศโดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้กำกับดูแลแล้ว รัฐบาลแต่ละมณฑลของจีนยังมีอำนาจในการออกกฎหรือระเบียบบังคับใช้ในระดับท้องถิ่น และนับตั้งแต่มีการปฏิรูป การจัดเก็บภาษีในปี ๒๕๓๗ ได้มีการแยกระบบการจัดเก็บภาษีระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นออกจากกัน พร้อมทั้งวางกรอบการทำงานของระบบการคลังในแต่ละระดับ ทำให้ระบบการเงินของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะแยกออกจากกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินงบประมาณ เพื่อความเป็นอิสระและสร้างแรงจูงใจ ให้กับรัฐบาลมณฑลในการหารายได้เข้ามณฑลของตนเอง
จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลกพบว่างบประมาณของจีนมีสัดส่วน ๓๑:๖๙ คือ รัฐบาลกลางใช้งบ ๓๑% ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นใช้ ๖๙% (คิดเป็นตัวเลขกลมๆก็ ๓๐:๗๐ ซึ่งกลับกันจากของไทยเราเป็นอันมากที่รัฐบาลกลางใช้ประมาณ ๘๐ % ส่วนท้องถิ่นประมาณ ๒๐% เท่านั้น)
มาถึงบัดนี้จีนได้พัฒนาแบบก้าวกระโดด ประชาชนระดับรากหญ้าที่อยู่ในชนบท ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน มีความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ราษฎรมีรายได้สูงขึ้นโดยถ้วนหน้า มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ความเจริญรุดหน้าอย่างมากทั่วประเทศนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนจากระดับล่างขึ้นมาเป็นที่สองของโลกแซงญี่ปุ่นไปแล้ว ซึ่งก็คือผลของการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นนั่นเอง
แต่เมื่อหันกลับมามองไทยที่ยังมีการรวมศูนย์อำนาจไว้อย่างเข้มข้น ทั้งทีประเทศที่เราไปลอกเลียนแบบเขามาอย่างฝรั่งเศสนั้นจังหวัดก็กลายเป็นท้องถิ่นแล้ว หรือแม้แต่อังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเช่นเดียวกับไทยก็ไม่เคยมีราชการส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด ที่สำคัญเกาหลีใต้ที่ในอดีตเคยเป็นเผด็จการยิ่งกว่าไทยหลายเท่า มีการสังหารประชาชนที่เมือง กวางจูจนผู้คนล้มตายไปเป็นพันๆคน แต่ในที่สุดประธานาธิบดีและทหารที่ฆ่าประชาชนก็ถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเกาหลีก็ยังสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าเราโดยการออกกฎหมายปกครองท้องถิ่นที่ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค มีแต่ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเท่านั้นตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ และจะเห็นได้ว่าตอนนี้เกาหลีใต้รุดหน้าไปไกลกว่าเราหลายช่วงตัวแล้ว
การผลักดันในเรื่องของการกระจายอำนาจโดยการยกเลิกราชการบริหารราชส่วนภูมิภาคในประเทศไทยเรานั้น เริ่มได้การตอบรับมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ที่ยังหลงยุคอยู่ก็คือบรรดานักการเมืองทั้งหลายที่กลัวสูญเสียอำนาจของตนเองทั้งๆที่หากไม่มีราชการส่วนภูมิภาคแล้วบทบาทและอำนาจของนักการเมืองนั่นเองจะเพิ่มขึ้นจากเดิมเพราะไม่ต้องไปผ่านราชการส่วนภูมิภาคอีก การเมืองก็จะมีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบทั้งประเทศ
แต่ที่แน่ๆก็คือการคัดค้านจากข้าราชการที่กลัวการสูญเสียอำนาจด้วยเหตุผลแบบเดิมๆ ดังเช่นเมื่อหลายวันก่อนก็มีการประชุมสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทยแล้วมีการแถลงท่าทีของสมาคมคัดค้านด้วยเหตุผลที่พอสรุปได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญเพราะจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐบ้าง /กระทบต่อความมั่นคงบ้าง/ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองท้องถิ่นบ้างและการแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมืองท้องถิ่นบ้าง
ซึ่งเหตุผลต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นมายาคติ ด้วยในเหตุผลที่ว่าขัดรัฐธรรมนูญเพราะจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐนั้น ขอแย้งว่าไม่จริง เพราะการปกครองท้องถิ่นไม่ใช่การทำให้เป็นรัฐอิสระ รูปแบบการปกครองยังขึ้นตรงกับส่วนกลางแต่ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตนเองมากขึ้น ดังตัวอย่างของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ ที่ยังคงเป็นรัฐเดี่ยว และที่สำคัญในรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นปี ๔๐ หรือ ๕๐ ไม่มีคำว่าการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเลยสักฉบับ มีแต่คำว่าการปกครองท้องถิ่นในมาตรา ๒๘๑-๒๘๔ ที่เน้นถึงการยกระดับการปกครองท้องถิ่นเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้น ข้ออ้างที่ว่าขัดรัฐธรรมนูญจึงฟังไม่ขึ้น
ในส่วนของข้ออ้างที่ว่าจะกระทบต่อความมั่นคงนั้นอยากถามกลับว่ากระทบกับความมั่นคงของใครกันแน่ ถ้าบอกว่ากระทบต่อความมั่นคงของรัฐนั้นบอกได้เลยว่าไม่จริง มีแต่จะมั่นคงยิ่งขึ้นเพราะยิ่งรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางยิ่งทำรัฐประหารได้ง่าย เพียงแค่เข็นรถถังเก่าๆอกมาไม่กี่คันก็ยึดอำนาจได้แล้ว แต่หากมีกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศแล้วการรัฐประหารย่อมทำไม่ได้อย่างง่ายๆเช่นในอดีตอย่างแน่นอน และหากจะกระทบกับความมั่นคงก็คงเป็นการกระทบต่อข้าราชการที่หวังยศหวังตำแหน่งที่ต้องการออกไปนั่งเมืองหรือกินเมืองเท่านั้นเอง
ในเรื่องของการตรวจสอบถ่วงดุลนั้น สตง.หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้เงินเช่นเดิม ในส่วนของการใช้อำนาจนั้นประชาชนยิ่งสามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่าเดิมเพราะใกล้ชิดกับผู้ปกครองท้องถิ่นมากกว่าใกล้กับข้าราชการส่วนภูมิภาค เพราะประชาชนสามารถดุด่าว่ากล่าวหรือเข้าพบผู้บริหารท้องถิ่นง่ายกว่าข้าราชส่วนภูมิภาคหลายเท่าตัวที่ไม่สามารถดุด่าว่ากล่าวหรือเข้าพบก็แสนยากเข็ญ มิหนำซ้ำบางคนมาอยู่แป๊บๆแล้วก็ไป ยิ่งในเมืองใหญ่ๆที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ข้าราชการไม่ต้องทำอะไร ทำแต่ “รับแขก แดกเหล้า เฝ้าสนามบิน กินข้าวกับนาย” เท่านั้น ไม่มีเวลาไปคิดนโยบายบริหารบ้านเมืองหรอกครับ
สุดท้ายในเรื่องของการแสวงหาประโยชน์ของนักการเมืองนั้น ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีราชการส่วนภูมิภาคการแสวงหาประโยชน์ของนักการเมืองทั่วโลกไม่ว่าเป็นประเทศไหนๆก็ล้วนแล้วหนีไม่พ้น แต่หากมีเฉพาะส่วนท้องถิ่นแล้วแน่นอนว่าการแสวงหาประโยชน์จากข้าราชการส่วนภูมิภาคก็ย่อมหมดไป การแสวงหาประโยชน์ของนักการเมืองในส่วนท้องถิ่นทำได้ไม่ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันอย่างแน่นอนเพราะประชาชนจับตาดูอยู่ ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตคอรัปชันของข้าราชการส่วนภูมิภาคได้เลย อย่างมากก็แค่ร้องเรียนแล้วก็ช่วยๆกันไป หนักหน่อยก็ย้ายไปที่อื่นเสีย ซึ่งหากเป็นไปตามข้อเสนอของเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นและ คปร.แล้วย่อมไม่สามารถใช้วิธีเกี้ยเซี้ยได้อีกต่อไป
โลกเราวิวัฒนาการไปไกลแล้ว การขัดขืนกระแสโลกาภิวัตน์รังแต่จะไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ผู้ที่ขัดขืนกระแสโลกาภิวัตน์และมองเห็นว่าประชาชนต้องอยู่ภายใต้อาณัติของผู้ปกครองในฐานะคุณพ่อหรือแม่รู้ดีแต่ถ่ายเดียว ผู้นั้นย่อมถูกกระแสโลกาภิวัตน์กวาดตกเวทีไปอย่างแน่นอน
------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔