กว่า 5 ปีมานี้ เรานำคำว่า “ธรรมะ” มาใช้จนสังคมเละตุ้มเปะกันหมดแล้ว
"ท่าน พุทธทาสท่านพูด ว่า ถ้ามีธรรมมะแล้ว ก็ไม่ต้องมีการเมือง ประเทศไทยภายใต้ธรรมนิยมคือ มีความเข้าใจในความเป็นจริง เข้าใจความเป็นไปของชีวิต เข้าใจความเป็นไปของโลก และเท่าทันมัน ในเชิงธรรมมะสุดท้ายแล้วชีวิตก็เป็นเรื่องชั่วคราว สุดท้ายตายแล้ว ก็เอาอะไรไปไม่ได้"
สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ (มติชนออนไลน์ 22 พ.ค.2554)
นี่ คือคำอธิบายของ “เช็ค” สุทธิพงษ์ เมื่อเขาถูกซักว่า ประเทศไทยควรเป็นรูปแบบ "เสรีนิยม" ที่อาจมีช่องว่างระหว่างคนจน-คนรวย หรือเป็น "สังคมนิยม" ที่ทุกคนเสมอภาคกัน? และเขาเสนอ "ทางเลือกใหม่-ทางเลือกที่สาม" โดยเห็นว่า ประเทศไทยควรเป็น "ธรรมนิยม" เพราะ "ธรรมะ" อยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย
อ่าน มุมมองนี้แล้ว ทำให้ผมรู้สึกว่า “ธรรมะ” อาจเป็นคำที่มีปัญหามากที่สุดคำหนึ่งในสังคมไทย ที่ว่ามีปัญหาไม่ได้หมายความว่าเป็นคำที่ไม่ดี แต่มันเป็นคำที่ถูกนำมาใช้อย่างครอบจักรวาล เป็นยาวิเศษรักษาทุกโรค สร้างความสับสน หรือถึงขั้นมั่วมากๆ เลยก็ว่าได้
ท่านพุทธทาสนิยาม “ธรรมะ” ว่า หมายถึง ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ และผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ตามนิยามนี้ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ ฉะนั้นความหมายของธรรมะจึงครอบจักรวาล เวลาหยิบคำนี้มาใช้ก็ใช้เสมือน “เชื่อ” ว่า มันอธิบายปัญหาได้ครอบจักรวาลจริงๆ
เช่น ที่สุทธิพงษ์อ้างคำพูดของท่านพุทธทาสว่า “ถ้ามีธรรมะแล้ว ก็ไม่ต้องมีการเมือง” สมมติฐานนี้เป็นไปได้ทางเดียวเท่านั้น คือเป็นไปตามสมมติฐานทางปรัชญาการเมืองที่ว่า ในสภาพสังคมตามธรรมชาติเป็น “สังคมก่อนสังคมการเมือง” ที่คนอยู่กันอย่างไร้กฎกติกา แต่นั่นมั่นเป็นสมมติฐานทางปรัชญาการเมืองเพื่อใช้อธิบายว่าทำไม “สังคมการเมือง” หรือสังคมที่มีกติกามีสัญญาประชาคมในการอยู่ร่วมกันจึงเกิดขึ้น โดยข้อเท็จจริงแล้วสังคมก่อนสังคมการเมืองจะมีอยู่จริงหรือไม่นั้น ดูเหมือนจะไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัด
สังคมที่เรารู้จักกันจริงๆ คือ “สังคมการเมือง” ซึ่งเป็นสังคมที่มีกติกาบางอย่างในการอยู่ร่วมกันเสมอ ฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสังคมซึ่งไม่มีการเมือง แม้แต่สมติให้คนไทยบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์กันทุกคน สังคมไทยก็ต้องมีการเมือง หรือต้องเป็นสังคมที่ต้องอยู่กันด้วยระบบ/กติกาบางอย่างที่เป็นหลักประกัน “ความเป็นธรรม” ในการอยู่ร่วมกัน
ประเด็นสำคัญ ผมไม่รู้ว่าสุทธิพงษ์กำลังพูดถึง “ธรรมนิยม” ในฐานะเป็นหลักการของปัจเจกบุคคล หรือหลักการทางสังคมกันแน่?
เพราะ เมื่อเขาใช้คำว่า “ประเทศไทยภายใต้ธรรมนิยม” ดูเหมือนเขากำลังเสนอหลักการทางสังคม แต่คำขยายความต่อมาที่ว่า “คือ มีความเข้าใจในความเป็นจริง เข้าใจความเป็นไปของชีวิต เข้าใจความเป็นไปของโลก และเท่าทันมัน ในเชิงธรรมมะสุดท้ายแล้วชีวิตก็เป็นเรื่องชั่วคราว สุดท้ายตายแล้ว ก็เอาอะไรไปไม่ได้” คำขยายนี้มันมีความหมายในเชิงเป็นหลักการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล
นี่ คือตัวอย่างของความสับสนของการใช้คำว่า “ธรรมะ” ในสังคมไทย มันสับสนว่าในนามของ “ธรรมะ” คุณกำลังเสนอหลักการอะไรกันแน่เพื่อให้เป็น “ทางเลือกที่สาม” แทนเสรีนิยม และสังคมนิยม
กว่า 5 ปีมานี้ เรานำคำว่า “ธรรมะ” มาใช้จนสังคมเละตุ้มเปะกันหมดแล้ว มีการใช้ “ธรรมนำหน้า”ไปสู่รัฐประหาร สร้างอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่งจนต้องรบกับประเทศเพื่อนบ้าน จนกระทั่งธรรมนำหน้ามาถึงการประกาศชวน “ผบ.ทบ.ออกมารณรงค์โหวตโน” (เป็นคำเชิญชวนของพิภพ ธงไชย ประกาศผ่านทางเอเอสทีวี แสดงว่า “ธรรมนำหน้า” นี่ใช้ “บริการ” จาก ผบ.ทบ.ทุกเรื่องเลยว่ะ/ครับ)
ย้อนไปช่วงที่ กระแสเสื้อเหลืองกำลังแรง เราได้ชมสปอร์ตของท่านพุทธทาสทางเอเอสทีวีทุกวันว่า “ประชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ต้องประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ หากประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าประชาชนบ้าๆบอๆก็ฉิบหายกันหมด” (ประมาณนี้)
คำพูดแบบนี้มีปัญหา มาก เพราะถามได้ว่านิยาม “ประโยชน์ของประชาชน” ใครควรเป็นผู้มีอำนาจนิยาม และมีอำนาจตัดสินว่าจะเลือกประโยชน์แบบไหน หากไม่ใช่ประชาชนต้องเป็นผู้นิยาม เป็นผู้เลือก และต่อให้ประชาชนบ้าๆบอๆกันทั้งประเทศเลย จะมีเทวดาที่ไหนมานิยามหรือเลือกประโยชน์ที่ดีที่สุดให้แก่ประชาชนได้จริง
ประเด็น คือ มันไม่จริงหรอกครับที่ประชาชนจะบ้าๆบอๆกันทั้งหมด (หรือบ้าๆบอๆกันตลอดไป) และมันเป็นไปไม่ได้ที่จะมี “อภิชน” มาคิดแทนว่าอะไรคือประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน โดยที่อภิชนเหล่านั้นไม่เอาเปรียบประชาชน ฉะนั้น ประชาธิปไตยที่บอกว่าประชาชนเป็นใหญ่มันจึงชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้วว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจในการนิยามประโยชน์และเลือกประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ พวกเขาเอง
ที่สำคัญ ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่วางอยู่บนความเชื่อมั่นใน “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชนในฐานะเป็น “สัตว์ที่มีเหตุผล” เมื่อประชาชนมีเสรีภาพในการใช้เหตุผลแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เขาย่อมสามารถเลือกประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ตนเองและส่วนรวมได้
แม้จะ เป็นจริงว่า อาจมีประชาชนบ้าๆบอๆ แต่ในประวัติศาสตร์เราไม่เคยพบว่าประชาชนบ้าๆบอๆได้สร้างความเสียหายแก่ สังคมมนุษย์เท่ากับ “อภิชนบ้าๆบอๆ” ฉะนั้น ข้ออ้างเรื่องประชาชนบ้าๆบอๆจึงไม่อาจหักล้างความหมายของประชาธิปไตยที่ถือ ว่าประชาชนเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงได้
ธรรมะนั้น ดีแน่ ถ้าใช้ถูกเรื่อง ไม่มั่ว แต่ถ้าใช้ผิดเรื่องนอกจากจะก่อให้เกิดความสับสนแล้ว การอ้างธรรมะอ้างศีลธรรมแบบครอบไปทุกเรื่อง บางทีมันก็ “บดบัง” ไม่ให้เราเห็นปัญหาที่แท้จริง
เพราะเราจะเห็นแต่ว่าคนนั้นคนนี้ไม่มี ธรรมะ ไม่มีศีลธรรม มีอคติ โกรธกัน เกลียดกัน ฆ่ากัน เพียงเพราะไม่เข้าใจสัจธรรมของชีวิต ความเป็นไปของโลกตามที่ธรรมะสอน แต่มองไม่เห็นปัญหาเชิงระบบ เช่น ไม่เห็นปัญหาโครงสร้างอำนาจเผด็จการจารีตที่ครอบงำสังคมตลอดมา ไม่เห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมในมิติต่างๆ ที่สำคัญไม่เห็นแม้กระทั่ง “ความไม่ชอบธรรม” ที่รัฐกระทำต่อประชาชน ฯลฯ
เรามองเห็นแต่ความโลภ โกรธ หลง ในใจคน แล้วก็โหยหา "ธรรมะที่อยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย” และจินตนาการว่าจะมี “บุคคลแห่งธรรม” มาปลดเปลื้องความวุ่นวายนั้นๆ ให้กับคนทั้งหมด ซึ่งเป็น “มายาคติ” ที่ฝังลึกในจิตใต้สำนึกของเรามานาน
ท่าน พุทธทาส พระไพศาล พระ ว. วริรเมธี เป็นต้น ล้วนแต่เป็นพระที่ทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาและสังคมไทยหลายด้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรตั้งคำถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ทัศนะทางสังคม-การเมือง หรือคำสอนบางอย่างของท่านเหล่านี้
และแม้แต่ธรมะที่เป็นคำสอนของพระ พุทธเจ้า เราก็ควรตั้งคำถามด้วยเช่นกันว่า คำสอนในมิติทางสังคมและการเมืองนั้น จะถือว่ามีสถานะเป็น “อกาลิโก” เหมือนคำสอนเรื่อง “นิพพาน” หรือไม่
เพราะไม่มีทัศนะทางสังคม-การ เมืองใดๆ ที่ไม่มีบริบท เมื่อบริบทเปลี่ยนไป จะเรียกหาคำสอนในบริบทเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วมาเป็น “สูตรสำเร็จ” หรือเป็น “ทางเลือก” ของสังคม-การเมืองในปัจจุบันได้อย่างไร !