ช่วงที่ผ่านมานี้ สังคมไทยมีประเด็นคาบเกี่ยวกับ “เสรีภาพ” ค่อนข้างบ่อย ทั้งเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในร่างกายตนเอง หรือเสรีภาพทางความคิดเห็น (ทั้งที่แสดงออก และไม่แสดงออก)
กล่าวโดยรวม เรากำลังมีปัญหากับ “เสรีภาพแห่งการคิดต่าง” เพราะเรามักยินดีปกป้องเสรีภาพของ “พวกเรา” เสมอ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่รัก ไม่เห็นด้วย เราจะไม่เคารพเสรีภาพของ “พวกเขา” ทันที และพร้อมจะให้ใครก็ได้มาทำลายย่ำยีเสรีภาพของ “พวกเขา” ทิ้งเสีย โดยมีเหตุผลยกมาอ้างมากมาย
เรายินดีเดินถอยหลัง ย้อนเวลากลับไปหลายสิบปี เพียงเพราะพวกเราไม่อาจทนฟัง “ความคิดต่าง” ได้ เราจึงยินดีขายวิญญาณแห่งเสรีภาพให้กับปีศาจ เพื่อแลกกับความรู้สึกดีๆที่ได้เห็นทุกคนคิดเหมือนเรา ฟังเหมือนเรา ฝันเหมือนเรา หวังเหมือนเรา
ซึ่งมันไม่อาจเป็นไปได้จริง
ถามว่าทำไมเราจำเป็นต้องมีเสรีภาพ ? โดยเฉพาะเสรีภาพในการคิดเห็นแตกต่างจากผู้อื่น เราจะไปแคร์อะไรกันนักหนา ? มันเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้ ล่องลอยเพ้อฝัน ? เป็นเรื่องของพวกปัญญาชนโรแมนติก เราควรเอาเวลาไปสนใจราคาไข่ไก่ หรือผลโหวตเดอะสตาร์จะดีกว่าไหม ?
ว่ากันเฉพาะเสรีภาพทางวิชาการ
หลายคนอาจไม่รู้ว่ารากฐานสำคัญของ “องค์ความรู้” ทุกแขนงที่ทำให้โลกหมุนมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะเสรีภาพในการคิดต่าง การไม่เห็นด้วย การถกเถียง โต้แย้ง แข่งขันกันเอาชนะด้วยเหตุผล
และในทางกลับกัน สังคมมนุษย์ก็ “มืด” ไปหลายครั้งเมื่อเราไม่ยินดีให้มีคนเห็นต่างจากเราอยู่ในสังคม
กาลิเลโอ ถูกคุมขังเพียงเพราะเขาไม่เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
ชาร์ลส ดาร์วิน ท้าทาย “ความศักดิ์สิทธิ์” ของศาสนจักร “อันที่เป็นรักยิ่ง” ของผู้คนในยุคนั้นด้วยทฤษฏีวิวัฒนาการ
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แสดงความ “คิดต่าง” ว่าเราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของ “แสง” ในแง่มุมของ “อนุภาค” ได้เช่นกัน (โดยขณะนั้นวงการฟิสิกส์ต่างคิดว่าแสงเป็น “คลื่น”) เขาถึงกับตั้งชื่ออนุภาคสมมุตินั้นว่าโฟตอน และความคิดต่างนั้นเองที่ทำให้เรามีกล้องดิจิตอลใช้กันในวันนี้
ในวันที่สังคมโลกกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากเศรษฐกิจตกต่ำ นักเศรษฐศาสตร์ล้วนเชื่อว่ารัฐบาลควร “รัดเข็มขัด” ตามทฤษฏีแบบดั้งเดิม จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ก็ออกมา “คิดต่าง” ว่ารัฐบาลควรอัดฉีดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจต่างหาก
กล่าวโดยไม่ต้องหาข้อมูลอ้างอิง – หากปราศจากความคิดต่างของวิศวกร เทคโนโลยีแห่งปืน “สไนเปอร์” ก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้เป็นแน่ ฯลฯ
ดังนั้นคงจะไม่เกินไปนักที่จะกล่าวว่า สังคมใดปราศจากเสรีภาพทางวิชาการ ปราศจากเสรีภาพที่จะ “อดทนฟังความคิดต่าง” สังคมนั้นก็อาจไม่จำเป็นต้องมีนักวิชาการเลยก็ได้
เพราะงานของนักวิชาการคือการมุ่งค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆให้แก่สังคม ซึ่งองค์ความรู้เหล่านั้นจะ “ใหม่” ได้อย่างไร ถ้ามันไม่“ต่าง” จากเดิม
และแน่นอน สังคมที่ไม่มีองค์ความรู้ ย่อมไม่อาจพัฒนา ไม่อาจต้านทานกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ก็อยู่กันไปวันๆ รอวันผุพังไปตามธรรมชาติ
ถ้าไม่มีเสรีภาพแห่งความคิดต่าง บางทีตอนนี้เราทุกคนอาจอยู่ในถ้ำ ไม่รู้จักกระทั่งการปลูกพืชด้วยตนเอง (เพราะมันอาจขัดต่อประเพณีปฏิบัติแห่งมนุษย์ถำ้ผู้บูชาการเก็บผลไม้รายวัน)
หลายคนอาจไม่รู้ว่า เสรีภาพ เป็นหนึ่งในสิ่งนามธรรมไม่กี่อย่าง ที่มนุษย์ต่อสู้บาดเจ็บล้มตายกันมากที่สุดตลอดอารยธรรมของพวกเรา ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน เผ่าพันธุ์ใด
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ มนุษย์เรายินดี “สู้ตาย” เพื่อเสรีภาพกันมาเป็นพันๆปีแล้ว
ดังนั้น เราจึงไม่อาจปฏิเสธความจริงได้เลยว่า หากอยากอยู่ร่วมกันอย่าง “สันติ” ในระยะยาว เสรีภาพคือสิ่งจำเป็นอันดับต้นๆในสังคม
ดูเหมือนสังคมไทยยังมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับ “เสรีภาพในความคิดต่าง”
หลายคนมักบอกว่า คิดต่างไม่ได้แปลว่ามันจะดีเลิศ มีกี่คนที่คิดทฤษฏีห่วยๆออกมา กี่คนที่อยากเป็นไอน์สไตน์ เราควรยอมรับสิ่งที่ดีเลิศ ไม่ใช่ไปส่งเสริมให้คนคิดอะไรแผลงๆห่วยๆออกมามากมาย
ซึ่งก็จริง – มีคนนับล้านอยากเป็นไอน์สไตน์ มีอีกหลายล้านที่อยากเป็นกาลิเลโอ มีความคิดห่วยๆเกิดขึ้นมากมายกว่าจะได้ความคิดดีๆสักชิ้น – แต่การสรุปแบบข้างต้นเป็นความคิดที่ “ผิด” โดยสิ้นเชิง เพราะการ “ยอมรับ” เสรีภาพในความคิดต่าง ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับความคิดนั้นว่ามันดี มันถูก มันควร
เสรีภาพในความคิดต่าง คือการยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิคิดเห็นแตกต่างกัน และเป็นหน้าที่โดยตรงของคนผู้นั้นที่จะต้องทุ่มเทพลังของตนในการแสวงหา ข้อมูล ทฤษฏี หลักฐาน มาสนับสนุนความคิดความเชื่อของตนเอง
การที่สังคมมีความคิดต่างห่วยๆขึ้นมาสักอย่าง แล้วเราพาลไปบอกว่า “นี่ไง ห่วย อย่าไปมีเลยเสรีภาพ มันไม่สำคัญหรอก มีไปก็เท่านั้น เละเทะเปล่าๆ” เป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะหากสังคมไม่มีเสรีภาพ แล้วเราจะมีพื้นที่ไหนให้ความคิดดีๆได้โผล่ขึ้นมาบ้าง
อะไรดี อะไรห่วย กาลเวลาจะพิสูจน์สิ่งเหล่านั้นเสมอ
การเคารพในเสรีภาพของเขา กับ การเห็นด้วยในสิ่งที่เขาคิด – เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง
นอกจากนั้น
ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือ เมื่อเราบอกว่าใครสักคนควรมีเสรีภาพกับอะไรสักอย่าง มันไม่ได้แปลว่าเขามี “สิทธิพิเศษ” เหนือคนอื่นที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ผิด
มันควรแปลว่าเขามีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่เขาอยากทำ และหากมันจะผิด เขาก็ต้องรับผลลัพธ์แห่งการกระทำของเขาไปตาม กฏ กติกา ของสังคมที่บังคับใช้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
โลกนี้มีคนเพียงสองกลุ่มเท่านั้นที่ทำอะไรไม่ผิด
หนึ่ง คือคนที่ไม่ทำอะไรเลย
และสอง คือคนที่มีเสรีภาพแต่เพียงผู้เดียว ในสังคมที่ไม่มีใครอื่นมีเสรีภาพอีก
เมื่อพูดถึงเสรีภาพ หลายคนนึกถึง “เทพีเสรีภาพ” ที่ฝรั่งเศสสร้างและมอบให้สหรัฐอเมริกาเป็นของขวัญแห่งอิสรภาพในปี 1886
ภาพที่ทุกคนคุ้นตาคือ “มือขวา” ของเทพีที่ถือคบเพลิงชูขึ้นเหนือศีรษะ – คบเพลิงนั้นเป็นสัญลักษณ์แทน “เสรีภาพ” ที่อเมริกันชนล้วนเชิดชูบูชา
แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า “มือซ้าย” ของเทพีถือหนังสือไว้่เล่มหนึ่ง – หนังสือเล่มนั้นเป็น “หนังสือกฏหมาย”
เสรีภาพ และ กฏกติกา เป็นสองสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ
กฏกติกา ควรค่าแก่การแนบไว้ข้างกายอย่าได้ขาด
ส่วนเสรีภาพนั้น…
ควรค่าแก่การเชิดชูไว้ให้สูงที่สุด … เท่าที่แขนของมนุษย์พึงจะทำได้
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ รุจ ธนรักษ์
ภาพประกอบ:americanpowerblog.blogspot.com