บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 4:91 ศพสังเวยความต้องการใคร (ภาค2)

ที่มา ประชาไท

หมาย เหตุ - เมื่อเวลา 19.07 น. วานนี้ (16 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนบทความ "จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 4" เผยแพร่ลงในแฟนเพจ "Abhisit Vejjajiva" ของตน

โดยยืนยันว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เป็นพราะการเจรจาที่ล้มเหลว เพราะอีกฝ่าย "ไม่ได้รับไฟเขียวจากนายใหญ่" ส่วนฝ่ายเจรจาของผู้ชุมนุมก็ผิดหวังว่าตั้งแต่ 10 เม.ย. มีคนตายแล้วแต่รัฐบาลยังอยู่ได้ หากไม่มีการนิรโทษกรรมคุณทักษิณก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร จึงไม่ต้องการให้คลี่คลายเพราะไม่ได้รับชัยชนะ ผ่านไป 10 วันก็ไม่เลิกชุมนุม ดังนั้น "ศอฉ. จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องรักษากฎหมายโดยการ “กระชับพื้นที่”"

ในบันทึกนายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า "ไม่ได้เข้าไปสลายการชุมนุม" แต่ "ตั้งด่านปิดล้อมเพื่อให้คนออกจากพื้นที่ชุมนุม ไม่ให้คนเข้า" ส่วนที่ต้องใช้อาวุธ "เพื่อป้องกันตนเองและป้องกัน M79" โดยยืนยันว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการสั่งฆ่าประชาชน แต่มาจากกลุ่มคนติดอาวุธโจมตีด่านทำให้เกิดการปะทะกัน ส่วนกรุงเทพฯ กลายเป็นทะเลเพลิงตามที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เคยปลุกระดมเอาไว้

นาย อภิสิทธิ์ยังเปิดเผยในบทความด้วยว่า มีคนจากอีสานที่รับจ้างทำบ้องไฟแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง และหลบหนีเข้าไปอยู่ในวัดปทุมฯ ซึ่งต่อมาได้พยายามหนีกับเพื่อนๆ ออกจากประตูวัดด้านใกล้แยกอังรีดูนังต์ แต่เพื่อนที่วิ่งนำหน้าถูกกลุ่มชายชุดดำใส่หมวกไหมพรม 5-6 คน ยิงจนเสียชีวิตและลากศพไปเผาบริเวณที่บังเกอร์หน้าวัด เขาจึงวิ่งย้อนกลับไปหลบหนีออกด้านหลังวัด โดยนายอภิสิทธิ์ระบุว่าชายคนนี้ได้ให้ปากคำที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์การกระทำอันโหดร้ายของกลุ่มชายชุดดำด้วย

ใน ตอนท้ายบทความ นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า "ผมยังไม่ละความพยายามที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศให้จงได้ ไม่ใช่ความปรองดองในหมู่นักการเมืองด้วยกัน แต่ต้องปรองดองบนความถูกต้อง ไม่ให้หลักการของประเทศเสียหาย" นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังขอให้เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่ตากใบ กรือเซะ และการฆ่าตัดตอน 2,000 กว่าศพ แล้วท่านจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างการสั่งฆ่าประชาชนกับการรักษากฎหมาย

โดยบทความ "จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 4" ของนายอภิสิทธิ์มีรายละเอียดดังนี้

000

จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 4
by Abhisit Vejjajiva on Thursday, 16 June 2011 at 19:07

91 ศพสังเวยความต้องการใคร (ภาค 2)

หลังจากสังคมได้รับรู้เรื่องเหตุการณ์ 10 เมษา และปรากฏการณ์ชายชุดดำ ปัญหาการชุมนุมก็ยังไม่ยุติ

ตรงกันข้ามมีการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการยิง M79 ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS ที่ศาลาแดง การสูญเสียของเจ้าหน้าที่ที่ถนนพระราม 4 เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับปี 2551

วันนั้นมีแต่ M79 ยิงใส่ผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตร

แต่ปี ’53 M79 ออกมาจากพื้นที่ชุมนุมยิงใส่ชาวสีลม ข่มขู่ประชาชนทั่วไป

โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่หลายคนไม่อยากจำ แต่ลืมไม่ลง

คือ การบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ จนต้องมีการย้ายคนไข้ ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จพระสังฆราช

ทุกท่านคงนึกออกว่า แรงกดดันที่มาที่ ศอฉ. ให้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจะรุนแรงแค่ไหน

ผมแบกรับอย่างต่อเนื่อง แต่อดทนเพื่อหาแนวทางสันติ

จนต้นเดือนพฤษภาคม ผมจึงเสนอแผนปรองดองที่พูดถึงการแก้ปัญหาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียก ร้องของผู้ชุมนุมในทุกเรื่อง

โดยเฉพาะหากยกเลิกการชุมนุมก็จะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน

ผมถูกก่นด่าว่าอย่างรุนแรงจากคนที่สนับสนุนผม

แต่ผมต้องการเห็นบ้านเมืองสงบทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ข้อเสนอทั้งหมดไม่ได้คะแนนจากชาวเสื้อแดง แต่เสียคะแนนจากฝ่ายสนับสนุนผม

ข้อเสนอผมเป็นเหตุเป็นผลขนาดที่แกนนำบนเวทีต้องตอบรับแต่ขอเวลาที่จะตัดสินใจในการสลายการชุมนุม

ระหว่างนั้นผมก็ให้คุณกอร์ปศักดิ์ประสานงานตลอด แต่เจรจาอย่างไรก็ไม่เป็นผล ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มขอคืนพื้นที่บริเวณโรงพยาบาลจุฬาฯ ฯลฯ

สิ่งที่ผมสังหรณ์ใจไม่ผิดก็คือ แผนปรองดองทั้งหมดมีจุดอ่อนจุดเดียว

คือ ไม่มีการนิรโทษกรรมให้คุณทักษิณ

แม้แกนนำหลายคนก็เริ่มอยากจะให้แผนนี้เป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย การเจรจาคืบหน้าไปจนถึงจุดที่ว่าจะช่วยกันดูแลให้พี่น้องคนเสื้อแดงที่มา ชุมนุมกลับบ้านได้อย่างไร เช่น ประสานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

แต่สุดท้าย การเจรจาก็ล้มเหลว เพราะไม่ได้รับไฟเขียวจากนายใหญ่ ฝ่ายเจรจาของผู้ชุมนุม ที่แปลกใจหรือผิดหวังตั้งแต่ 10 เม.ย.ว่ามีคนตายแล้วแต่รัฐบาลยังอยู่ได้ มองว่า หากไม่มีการนิรโทษกรรม คุณทักษิณก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร จึงไม่ต้องการให้คลี่คลายเพราะไม่ได้รับชัยชนะ แม้แต่ก่อนสลาย เราพยายามจะเจรจาให้ส่งผู้ชุมนุมกลับบ้านก่อนมอบตัว แต่ถูกปฏิเสธ

ในที่สุด เวลาผ่านไป 10 วันก็ชัดเจนว่า จะไม่มีการเลิกการชุมนุม

ศอฉ. จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องรักษากฎหมายโดยการ “กระชับพื้นที่”

ไม่ได้เข้าไปสลายการชุมนุม แต่ตั้งด่านปิดล้อมเพื่อให้คนออกจากพื้นที่ชุมนุม ไม่ให้คนเข้า เพียงแต่ต้องใช้อาวุธจริงเพื่อป้องกันตนเองและป้องกัน M79

ความสูญเสียระหว่างวันที่ 14-18 พ.ค. ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่มีใครสั่งฆ่าประชาชน แต่มีกลุ่มคนติดอาวุธโจมตีด่าน ทำให้เกิดการปะทะกัน โดย ศอฉ.ได้เตือนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครและสื่อมวลชนให้ระวังตัวว่าจะ เป็นเป้าของการยั่วยุให้ปะทะ และชายชุดดำซึ่งอยู่ที่ตึกชีวาทัย (ถ.ราชปรารภ) และบริเวณใต้ทางด่วน ถ.พระราม 4

หลายคนเคยเห็นภาพที่ทำได้กระทั่งเอาเด็กมาเป็นโล่มนุษย์

จนในที่สุด ศอฉ. จำเป็นต้องตัดสินใจเข้ายึดพื้นที่บริเวณสวนลุมฯ ซึ่งเป็นที่ซ่องสุมของอาวุธและชายชุดดำในเช้าวันที่ 19 พ.ค. แต่ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุม จนแกนนำยอมสลายเอง ซึ่งหากไม่ทำเช่นนั้น ความสูญเสียก็จะมีต่อไปไม่รู้จบ

แต่แล้วปัญหาก็ไม่ได้จบไปกับการสลายการชุมนุมและการมอบตัวของแกนนำ ซึ่งก็เป็นไปตามคำประกาศครั้งสุดท้ายของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่พูดบนเวทีก่อนสลายการชุมนุมว่า

“การชุมนุมยุติลงแล้ว แต่การต่อสู้ของเรายังไม่จบ”

จากนั้นไม่ถึงชั่วโมง กรุงเทพฯ ก็กลายเป็นทะเลเพลิงเหมือนกับที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เคยปลุกระดมเอาไว้

เป็นสถานการณ์ที่พี่น้องจำนวนมากที่ติดตามจากการถ่ายทอดสดของทีวีแทบทุกช่อง อาจถึงขั้นหลั่งน้ำตาที่ต้องมาเห็นภาพคนไทยฆ่ากันเอง และยังต้องสลดหดหู่กับภาพคนไทยเผาเมืองหลวงของเรา เพราะถูกปลุกปั่นยุยงด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จอีกด้วย

เหตุการณ์ที่สะเทือนใจคนไทยอย่างมากก็คือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นที่วัดปทุมฯ

ที่จริงเมื่อมีข้อเสนอให้ประกาศเป็นเขตอภัยทาน ผมให้คุณกอร์ปศักดิ์ประสานไปว่า ไม่อยากให้ทำ เพราะควรอำนวยความสะดวกให้คนกลับบ้านมากกว่า

ที่สำคัญ ผมบอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีแต่ผู้หญิง เด็ก คนแก่เข้าไปในพื้นที่ ผมรู้ว่าต้องมีคนติดอาวุธเข้าไปด้วย ซึ่งต่อมาก็มีการพบอาวุธที่ถูกนำไปซ่อนในที่นั้น ผมเคยถามด้วยซ้ำว่า หากมีการยิงกัน ปะทะกันจนเกิดความสูญเสีย ใครจะรับผิดชอบ

แม้ในวันที่ 19 เอง ก็ยังมีคนจากอีสานที่รับจ้างทำบ้องไฟกับเพื่อน ๆ แต่สุดท้ายไม่ได้รับค่าจ้าง หลบหนีเข้าไปอยู่ในวัดปทุมฯ ซึ่งต่อมาได้พยายามหนีกับเพื่อน ๆ ออกจากประตูวัดด้านใกล้แยกอังรีดูนังต์ แต่เพื่อนที่วิ่งนำหน้าถูกกลุ่มชายชุดดำใส่หมวกไหมพรม 5-6 คน ยิงจนเสียชีวิตและลากศพไปเผาบริเวณที่บังเกอร์หน้าวัด เขาจึงวิ่งย้อนกลับไปหลบหนีออกด้านหลังวัด ในที่สุดชายคนนี้ได้ให้ปากคำที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์การกระทำอันโหดร้ายของกลุ่มชายชุดดำ

หลังกระชับพื้นที่วันที่ 19 พ.ค. ศอฉ. จึงไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปบริเวณนั้น แต่ก็เจอกับปัญหาเผาเซ็นทรัลเวิลด์ สยามสแควร์ ไม่นับการเผาช่อง 3 และศาลากลางในหลายจังหวัด

ซึ่งทุกแห่งมีการใช้กลุ่มติดอาวุธยิงสกัดกั้นรถดับเพลิง จนเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปคุ้มครอง ผมเองยังได้รับการติดต่อจากนักข่าวต่างประเทศที่ถูกยิงบริเวณวัดให้เข้าไป ช่วย ซึ่งรถพยาบาลกว่าจะเข้าไปได้ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่คุ้มครองด้วยความยากลำบาก

ผมไม่สามารถฟันธงได้หรอกครับว่า 6 ศพที่วัดปทุมฯ เป็นฝีมือใคร แต่ผมถามว่า มีเหตุผลอะไรที่เจ้าหน้าที่จะจงใจไล่ยิงประชาชนเมื่อการชุมนุมสิ้นสุดแล้ว ผมเชื่อว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลของการปะทะหรือการฉวยโอกาสของ กลุ่มติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ ซึ่งผมหวังว่าคณะกรรมการฯ และหน่วยงานจะให้ความจริงกับเราต่อไป

เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง คนใกล้ชิดผมจำนวนไม่น้อยแนะนำให้ผมยุบสภา ลาออก หรือเว้นวรรคทางการเมือง เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ ไม่ต้องมีชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย พวกเขาบอกผมว่า นับจากนี้ไปชีวิตผมไม่มีทางปลอดภัย แต่ถ้ายอมแพ้ให้คุณทักษิณได้ในสิ่งที่ต้องการทุกอย่างก็จะจบ

แต่ผมไม่คิดว่าจบหรอกครับ ผมว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นหายนะครั้งใหม่ของชาติมากกว่า และที่ผมตัดสินใจมุ่งมั่นแก้ปัญหาต่อไป ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าชีวิตถูกคุกคามได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่เพราะยึดติดกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เพราะผมตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเองว่าต้องใช้อำนาจที่มีต่อสู้เพื่อรักษา บ้านเมืองของเรา

ในช่วงเวลานั้น ผมได้รับกำลังใจจากประชาชนจำนวนมากที่ส่งข้อความมายังโทรศัพท์มือถือของผม เป็นแรงใจให้ผมมีความเข้มแข็งยืนหยัดต่อสู้เพื่อนำบ้านเมืองของเรากลับสู่ ความสงบให้ได้

แม้จะอยู่ในอารมณ์เศร้าสะเทือนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขี้น แต่ผมก็รู้ดีว่ามีหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองที่อาสาตัวมารับใช้พี่น้องประชาชน ผมท้อไม่ได้ และผมไม่มีสิทธิ์ถอยเพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่า ผมทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนที่ให้โอกาสผมได้เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยมา ยาวนานเกือบ 20 ปี

“อย่าใจเสีย อย่ายุบสภา อย่าลาออก ท่านนายกฯทำดีที่สุดแล้ว”

“หลังควันไฟจบบ้านเมืองก็สงบด้วย สิ่งปลูกสร้างเราซ่อมแซมใหม่ได้ หน้าที่ต่อไปคือนำประเทศผ่านวิกฤติครั้งนี้ให้ได้ ท่านนายกฯ ยังมีหน้าที่สู้ต่อเพื่อบ้านเมืองของเรา เชื่อมั่นว่าท่านทำได้”

และข้อความอีกมากมายที่ส่งมาให้กำลังใจ เป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจที่อ่อนล้าของผมให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง มันสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวระหว่างผมซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศกับ ประชาชนภายใต้การดูแลของผม

ช่วงที่เปลวเพลิงยังลุกโชติช่วงที่เซ็นทรัลเวิลด์ ผู้บริหารของเซ็นทรัลเวิลด์ท่านหนึ่งโทรศัพท์มาหาผม แต่ในขณะนั้นผมกำลังอยู่ในที่ประชุมเพื่อร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคลี่ คลายสถานการณ์ดับไฟกลางเมืองให้ได้ เพราะมีปฏิบัติการของคนชุดดำลอบยิงเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดับเพลิง จนทำให้การดับเพลิงเป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้งเมื่อสามารถดับไฟได้แล้วก็ยังมีความพยายามเผาใหม่หลายรอบ ทำให้เซ็นทรัลเวิลด์เกือบมอดเป็นเถ้าถ่าน แต่ในที่สุดเราคนไทยก็ผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกันจนได้

เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ผมโทรศัพท์กลับไปยังผู้บริหารเซ็นทรัลเวิลด์ ยอมรับเลยครับว่า ระหว่างกดหมายเลขโทรศัพท์ผมนึกประหวั่นในใจเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าจะพบกับปฏิกิริยาเช่นไรจากบุคคลที่ถือเป็นผู้สูญเสีย แต่ผมหนีความรับผิดชอบไม่ได้ ไม่ว่าจะถูกต่อว่าแค่ไหน ผมรู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ต้องน้อมรับ เพราะแม้จะพยายามอย่างเต็มที่ให้ความสูญเสียทั้งร่างกายและทรัพย์สินเกิด ขึ้นน้อยที่สุด แต่ก็รู้ดีว่า การจลาจลครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อทั้งภาพลักษณ์ของประเทศและ เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างรุนแรง

ผมต้องขอขอบคุณผู้บริหารเซ็นทรัลเวิลด์ท่านนั้น ปลายสายที่พูดกับผมคำแรกแตกต่างไปจากที่ผมคิดไว้มากนัก

“ก่อนอื่นต้องบอกว่า นายกรัฐมนตรีตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ที่โทรมาเพียงแค่ต้องการแจ้งถึงสภาพโครงสร้างอาคาร...”

เราพูดคุยกันถึงการดูแลอาคารไม่ให้ทรุดตัวลงจากเปลวเพลิงครั้งนี้ ขณะเดียวกันผมก็คิดล่วงหน้าไปถึงการเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุ เผาบ้านเผาเมืองดังกล่าว ควบคู่ไปกับการจัดการตามกฎหมายกับคนที่ทำชาติย่อยยับ มิใช่เพราะโกรธแค้นแต่ผมยืนยันเสมอว่า บ้านเมืองต้องปกครองโดยหลักนิติรัฐ ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตัดสินความถูกผิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับสถานการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ขยายวงกว้าง มากขึ้นทุกที

หน้าที่สมานบาดแผลแผ่นดินยังเป็นสิ่งที่ผมมุ่งมั่นเดินหน้าต่อ แม้จะรู้ว่าการอยู่ตรงกลางระหว่างคนสองสี คือ ทั้งสีเหลืองและสีแดง จะทำให้ผมไม่ได้รับคะแนนนิยมจากสองฝ่ายนี้เลย แต่ผมเห็นว่าการสลายสีให้ประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคนไม่ใช่ตกเป็นเบี้ยล่าง มวลชนสีใดสีหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ที่ผมต้องทำให้ลุล่วง

เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งคณะกรรมการของ อ.คณิต นำเสนอข้อมูลกับผมว่า มีคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ไม่ได้รับการดูแลตามสิทธิทางกฎหมาย ผมก็ให้กระทรวงยุติธรรมเข้าไปช่วยเหลือดูแลในเรื่องการประกันตัวตามสิทธิที่ เขาพึงมี เพราะเป็นหน้าที่รัฐบาลในการดูแลประชาชนทุกคนไม่ว่าเขาจะเรียกตัวเองว่าสี อะไรก็ตาม ส่วนการจะให้ประกันตัวหรือไม่นับเป็นดุลพินิจของศาล

นอกจากนั้น ครม.ยังมีมติเพื่อตอกย้ำว่า รัฐบาลพร้อมให้ความเป็นธรรมในการดูแลสิทธิของพี่น้องเสื้อแดงที่ไม่มีทนาย ความคอยดูแลเหมือนบรรดาแกนนำ

ผู้รู้ครับว่า ทำอย่างนี้คนเสื้อแดงก็ไม่ได้เกลียดผมน้อยลง บางคนออกจากคุกได้เพราะกระทรวงยุติธรรมเข้าไปช่วยดำเนินการให้ก็ยังด่าผม อยู่ดี

ขณะที่คนบางกลุ่มก็ประณามการกระทำของผมว่า เป็นการเกี๊ยะเซี๊ยะกับคนเสื้อแดง ปล่อยคนเผาเมืองออกจากคุก ทั้ง ๆ ที่อำนาจในการประกันตัวนั้นเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้ และดีเอสไอซึ่งเป็นผู้ดูแลคดีก็ยังมีการคัดค้านการประกันตัวแกนนำบางคนที่ เห็นว่า หากออกจากกรงขังไปอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของบ้านเมือง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นใด ๆ ทั้งสิ้น

ผมถามง่าย ๆ ครับว่า ถ้าผมต้องการเอาใจฐานเสียงของตัวเองที่ต้องการเห็นความเด็ดขาดในการแก้ปัญหา กับคนเสื้อแดง ผมก็เพียงอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องเข้าไปดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น ปล่อยผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกแกนนำทอดทิ้งให้ติดคุกโดยไม่มีใครเหลียวแล ต้องรับชะตากรรมกินข้าวแดงต่อไปก็ได้ และผมก็ไม่ต้องโดนประณามว่ากลัวคนเสื้อแดง แต่จะได้ใจคนกลุ่มอื่นแทน

แต่ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะผมได้ยืนยันมาตั้งแต่ต้นหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ผมจะเป็นนายกฯ ของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะสนับสนุนผมหรือไม่สนับสนุนผมก็ตาม

การอยู่ท่ามกลางระหว่างสี ทำให้ผมเปรอะเปื้อนไปด้วยการสาดสีใส่โคลน แต่ผมก็รับสภาพด้วยความอดทนอดกลั้น เพราะรู้ดีว่าการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการเมืองสุดโต่งนั้นไม่ ใช่เรื่องง่าย แต่ผมยังไม่ละความพยายามที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศให้จงได้ ไม่ใช่ความปรองดองในหมู่นักการเมืองด้วยกัน แต่ต้องปรองดองบนความถูกต้อง ไม่ให้หลักการของประเทศเสียหาย

วันนี้หลังเหตุการณ์ผ่านไปหนึ่งปี ยังคงมีกระบวนการที่ตั้งธงว่า ผมเป็นฆาตกร

ลองเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ตากใบ กรือเซะ และการฆ่าตัดตอน 2,000 กว่าศพ ดูสิครับ

แล้วท่านจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างการสั่งฆ่าประชาชนกับการรักษากฎหมาย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker