บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เสวนา 79 ปี อภิวัฒน์ไทย "3 ก.ค. 54" วันที่การเมืองไทยไม่สิ้นหวัง เสียงข้างมากจะกลายเป็น"ความถูกต้อง"

ที่มา มติชน



นื่องในโอกาสครบรอบ 79 ปี การอภิวัฒน์ไทย 24 มิถุนายน 2475 และครบรอบ 16 ปี สถาบันปรีดี พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, สถานีวิทยุ FM. 96.5 ได้จัดให้มีการการแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2554 เมื่อวันศุกร์ ที่ 24 มิถุนายน ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์

ทั้งนี้ สถาบันฯจัดให้มีการอภิปรายเรื่อง "ประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ?" โดย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการฝ่ายวิชาการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติร่วมอภิปราย




ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเคยมีความขัดแย้งค่อนข้างรุนแรงมาแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้าง และเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ ทั้งพื้นที่ในด้านวิชาชีพ เช่นในมหาวิทยาลัย แวดวงสื่อมวลชน หรือกลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักธุรกิจ

ในขณะที่เราแทบไม่ต้องกล่าวถึง นักการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความขัดแย้งค่อนข้างสูงอยู่แล้วในช่วงก่อนการ เลือกตั้งพรรคการเมืองหลายพรรคได้เสนอแนวทางการปรองดองสมานฉันท์ซึ่งขาดราย ละเอียดที่ชัดเจนว่าเราจะสามารถเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรเราจึงจำเป็นต้อง มีโรดแมปซึ่งจำเป็นต้องมีรายละเอียดว่าเราควรจะทำอย่างไรบ้าง ซึ่งจะต้องสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน ชนชั้น และความขัดแย้งในเชิงโครงสร้าง

ดร.อนุสรณ์ระบุว่า ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ในเบื้องต้น เงื่อนไขสำคัญที่สุดซึ่งก็คือการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องแสดงให้ผู้คนในสังคมเห็นว่ามีการจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมและเป็นกลาง ไม่มีการใช้อำนาจเงินซื้อเสียงมากๆ ไม่มีการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงการเลือกตั้งในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอย่าง ผิดกฎหมาย ซึ่งผิดครรลองของระบอบประชาธิปไตย โดยการปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกลไกและเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน อย่างเสรีและเป็นธรรม โดยหลังจัดการ เลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมแล้ว ต้องให้ผลการเลือกตั้งสะท้อนความเห็นของประชาชน ซึ่งก็คือพรรคที่ได้เสียงข้างมากควรได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มี การแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ

เมื่อตั้งรัฐบาลแล้ว ต้องลดเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองหรือความขัดแย้งรุนแรง ขึ้นมาอีก และเสริมสร้างบรรยากาศและดำเนินการเพื่อนำไปสู่ความสามัคคีปรองดองของคนใน ชาติขึ้น

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต้องแก้ทั้งความขัดแย้งของกลุ่มคน และความขัดแย้งเชิงโครงสร้างอันเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมรวมทั้งปรับเปลี่ยนดุลอำนาจและความสัมพันธ์ของ สถาบันหลักให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่21

รัฐบาล ใหม่ควรปฏิรูประบบตลาดและกลไกตลาดให้ทำงานอย่างเป็นอิสระทำให้การแข่งขันทาง เศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม ปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยนอกระบบ รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะแทรกแซงตลาดได้ก็เฉพาะกรณีเพื่อเข้าไป แก้ไขปัญหาภาวะตลาดล้มเหลวหรือส่งเสริมการทำงานของกลไกตลาดเท่านั้น

การ ปฏิรูปประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยทุกองคาพยพของสังคมไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน โดยเสนอให้มีองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนและเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน โดยแท้จริง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย โดยมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากวิชาชีพต่างๆเข้าร่วมผลักดันการปรับ เปลี่ยนประเทศไทยให้เกิดขึ้น

ดร.อนุสรณ์ได้ให้ข้อเสนอเพื่อ การปฏิรูปประเทศไทยเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าหลังการเลือกตั้งที่อาจเริ่มต้น ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและเป็นอุปสรรคต่อการ ปฏิรูปประเทศแก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อ การปฏิรูปประเทศนอกจากนั้นยังอาจมีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ด้วยการกระจายอำนาจ เช่นกระจายอำนาจเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการในจังหวัดขนาดใหญ่ เป็นต้น อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบศาลยุติธรรมให้มีความยึดโยงกับประชาชน เพิ่มขึ้น ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น พร้อมกับกลไกตรวจสอบถ่วงดุล

ต่อมาคือการ ปฏิรูปกองทัพให้มุ่งเน้นภารกิจหลักเรื่องความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ลดบทบาททางการเมืองของกองทัพ พัฒนากองทัพให้ประกอบไปด้วยทหารอาชีพ ทหารประชาธิปไตย และทหารของประชาชน นอกจากนั้นยังต้องพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ด้วยการทำให้"สถาบันกษัตริย์" อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง อีกทั้งที่มาขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ และที่มาของวสุฒิสภาต้องมาด้วยระบบคุณธรรมและยึดถือหลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบบพรรคพวกหรือเห็นว่าพรรคพวกของตนมีคุณธรรมมากกว่าคนอื่นๆ

ใน ด้านเศรษฐกิจ เราควรทำลายอำนาจการผูกขาดลงด้วยการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันมากขึ้น ปัญหาที่รัฐบาลนำเสนอนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเกิด ยากขึ้น ควรมีการปฏิรูปการคลังด้วยการปฏิรูปภาษี รายได้ภาครัฐ และโครงสร้างงบประมาณ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งการปฏิรูปภาคการเงินและตลาดทุน ระบบแรงงานและระบบตลาด ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นในอัตราก้าวหน้า ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อาทิ ระบบการขนส่ง ระบบชลประทาน และระบบโทรคมนาคม อีกทั้งการปฏิรูปการศึกษาและวัฒนธรรม และท้ายสุดคือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและการดูแลสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ



ดร. พิชญ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักรัฐศาสตร์คงไม่สามารถมีความฝันได้ว่าระบบการเมืองของไทยจะดีขึ้น เรื่อยๆ แต่เชื่อว่าอย่างน้อยความฝันที่น้อยที่สุดก็คือ ถ้ามันไม่ได้เป็นเช่นนี้ เราจะนำสิ่งนั้นกลับมาได้เร็วที่สุดเมื่อใด เราจะช่วยกันออกแบบอย่างไรไม่ให้ทุกอย่างไปไกลกว่านี้ และต้องพยายามทำความเข้าใจและพยายามที่จะเอาประชาธิปไตยกลับมาให้เร็วที่สุด ให้บ่อยที่สุด เพราะเชื่อว่าที่สุดมันก็จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน และไม่ฟูมฟายว่าประชาธิปไตยจะไม่กลับมาอีก

ดร.ปรีดี พนมยงค์เคยให้คำนิยามใหม่กับสังคมไทย โดยเรียกระบบการปกครองของไทยว่า ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งอธิบายได้ว่า เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และเรามีทั้งราชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และมีประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ชัดเจนและไม่จำเป็นต้องอธิบายสิ่งใดเพิ่มเติมอีก

ชน ชั้นกลางในยุคปัจจุบันขาดจุดยืนในการปกป้องการเลือกตั้งชนชั้นกลางจำนวน มากรังเกียจการเลือกตั้งมานานหลายปีและมองว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องของไพร่ หรือคนเสื้อแดงพลังของคนในสังคมในปัจจุบันที่พยายามจะออกมาปกป้องการเลือก ตั้งอย่างมีจุดยืนเริ่มลดลงเรื่อยๆ โดยมองว่าถ้าโยนให้ไปอยู่ในมือของนักการเมืองก็อาจไปตกอยู่ในมือของบุคคลที่ พวกเขาไม่ต้องการ

จริงอยู่ที่ การ เลือกตั้งอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเสมอไป แต่มองไม่เห็นความรู้สึกของชนชั้นกลางที่คิดว่าการเลือกตั้งคือการแสดงอำนาจ ของชนชั้นกลาง แสดงความรู้สึกและเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าไม่เหมาะสมถูกต้องตาม กระบวนการ ชนชั้นกลางควรมองว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งมีค่า

หลัง การเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้ชนะ สิ่งซึ่งท้าทายที่สุดคือ "เสียงข้างมากไม่ใช่ความถูกต้อง" แต่ภารกิจของพลังทางประชาธิปไตยคือจะทำอย่างไรให้เสียงข้างมากกลายเป็นความ ถูกต้อง เสียงข้างมาก"ไม่ใช่ความถูกต้องโดยอัตโนมัติ" หากมีเสียงข้างมากที่เห็นแก่ตัว ประชาธิปไตยก็ไม่สามารถเดินหน้าได้เช่นกัน ดังนั้นภารกิจของพลังประชาธิปไตยที่เชื่อในเสียงข้างมาก คือทำอย่างไรให้เสียงข้างมากนั้นกลายเป็นความถูกต้อง มิใช่ใช้เสียงข้างมาก"เพื่อการตัดสิน"แต่เพียงอย่างเดียว

หลัก rule of law ไม่ได้หมายความว่าการใช้เสียงข้างมากจะชนะทุกเรื่อง เสียงข้างมากต้องมีที่มาที่ไป และต้องคำนึงถึงเนื่อหาสาระและเสียงส่วนน้อยรวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งไม่ได้ตัดสินที่การเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ตัดสินด้วยความรู้สึก ความรู้ทุกข์สุขของคนอื่น "คนรวยต้องเข้าใจถึงความรู้สึกของคนจน ขณะเดียวกัน คนจนก็ต้องรับรู้และเห็นอกเห็นใจคนรวยด้วยเช่นกัน" นอกจากนั้น การคอร์รัปชันยังควรถูกตั้งคำถามด้วยเสียงข้างมากเช่นกัน ไม่ใช่ปล่อยให้กลายเป็นเรื่องรอง

ในอดีตเรามองตัวแสดงทางการเมืองว่า มีทหาร นักการเมือง นักศึกษา และประชาชนเท่านั้น ในอนาคต สิ่งที่เราต้องเจอคือพลังสามด้านของประชาธิปไตย ที่ประกอบด้วย พลังประชาธิปไตยประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง พลังประชาธิปไตยต้านการทุจริต และพลังประชาธิปไตยปฏิรูป ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการยึดโยงจากประชาชนเป็นหลัก และจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสามประการต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker