บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ยุกติ มุกดาวิจิตร: เงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง: มานุษยวิทยาการเมืองของ 'การซื้อเสียง'

ที่มา ประชาไท

(เสนอ ครั้งแรกวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอบคุณ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้วและคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เชิญผู้เขียนไปบรรยาย)[1]

ปรากฏการณ์ ทางการเมืองที่เรียกกันจนติดปากว่า “การซื้อเสียง” หรือ “การขายเสียง” หลายสิบปีที่ผ่านมา "โรคร้อยเอ็ด" (เกิดขึ้นในปี 2524) “ระบาด” และหลอกหลอนสังคมไทยมาโดยตลอด การสำรวจการใช้เงินในช่วงการเลือกตั้ง และการเบิกจ่ายธนบัตรขนาดในละร้อยในช่วงเลือกตั้งแต่ละครั้ง ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการซื้อเสียง ผลที่สุดคือภาพนักการเมืองที่กลายเป็น "สัตว์" หิวเงิน (ในสำนวนของพรรคการเมืองที่ไม่ส่งสัตว์สักตัวลงเลือกตั้ง) หิ้วถุงเงินไปในชนบท ลงทุนเลือกตั้งเพื่อไปถอนทุนคืนในสภา
แต่ มีใครจะสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ประวัติศาสตร์ “การซื้อเสียง” ในสังคมไทยเป็นอย่างไร เมื่อสังคมประชาธิปไตยไทยผ่านการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองมากี่ยุคกี่สมัย แล้ว ผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 35 และพฤษภาคม 53 มาแล้ว ผ่านการกระจายอำนาจทางการเมืองมาแล้ว ผ่านการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองมาแล้ว การซื้อเสียงจะยังทำให้นักเลือกตั้งได้รับเลือกกันมาอย่างง่ายๆอย่างนั้น หรือ นอกเหนือจาก “กกต.” และที่กำลังจะมี “กกต. แดง” แล้ว ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง หรือชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นเอง มีกลไกทางสังคมอย่างไรหรือไม่ที่กำกับการหว่านเงินของนักเลือกตั้ง เงินสามารถกำกับผลของการเลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน เงื่อนไขใดที่เงินซื้อเวียงล้มเหลว เงื่อนไขใดที่เงินซื้อเสียงสำเร็จ
มานุษยวิทยาว่าด้วยระบอบประชาธิปไตย
แม้ ว่านักมานุษยวิทยาในปัจจุบันจำนวนมากจะก้าวเข้ามาศึกษาสังคม สมัยใหม่อย่างเต็มที่ แต่ในการศึกษาด้านมานุษยวิทยาการเมือง การศึกษาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในเชิงมานุษยวิทยาายังนับว่าเพิ่งจะ เริ่มต้น ข้อสรุปใหญ่ๆของการศึกษาพัฒนาการประชาธิปไตยในสังคมต่างๆ ในทางมานุษยวิทยาพบว่า ประชาธิปไตยในแต่ละท้องถิ่นมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะในสังคมตะวันตกหรือในสังคมนอกตะวันตก หากแต่การศึกษาในแนวทางนี้ไม่ ได้หมายความว่า ความหลากหลายของประชาธิปไตยจะทำให้เราต้องมีท่าทีที่สัมพัทธ์จนอาจจะไม่รู้ ร้อนรู้หนาวกับการละเมิดสิทธิ์ทางการเมืองของผู้คนในประเทศต่างๆ หากแต่เป็นการทำความเข้าใจว่า วิถีทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละประเทศ แต่ละถิ่นมีกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งหรือเพื่อ บั่นทอนซึ่งประชาธิปไตย มีเงื่อนไขทางสังคมและเงื่อนไขเฉพาะทางวัฒนธรรมใดบ้าง ที่อาจจะเป็นอุปสรรคหรือเป็นแรงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยใน สังคมต่างๆ
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การศึกษาแนวนี้ไม่ได้มองว่า “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” คือประชาธิปไตยแบบในอุดมคติที่ใฝ่ฝันกัน กล่าวคือ แม้ในประเทศตะวันตกเอง ก็ใฝ่ฝันที่จะให้ประเทศเขาเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่จริงในประเทศ เขา ในแง่นี้ ประชาธิปไตยจึงเป็นอุดมการณ์สากลที่คนในโลกยุคปัจจุบันใฝ่ฝันหา ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก
การศึกษาวัฒนธรรม ประชาธิปไตยแนวทางหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาทำกันมาก ได้แก่การพิจารณาว่า ประชาธิปไตยถูกให้ความหมายแตกต่างกันออกไปอย่างไรในแต่ละสังคม เป็นการหาความหมายของประชาธิปไตยที่นิยามโดยคนในสังคมต่างๆ เนื่องจากเงื่อนไขของพัฒนาการทางการเมืองและวัฒนธรรมของแต่ละสังคมแตกต่าง กันออกไป สังคมต่างๆ จึงให้ความหมายประชาธิปไตยแตกต่างกัน (กรณีบูกานดาศึกษาโดย Karlström 1996; กรณีโยรูบางานของ Apter 1987; กรณีเซเนกัลศึกษาโดย Schaffer 1997 เป็นต้น)
อย่างไรก็ดี การศึกษาแนวนี้มีข้อจำกัดหลายประการ
ประการ แรก การศึกษาแนวนี้มักมองว่า ประชาธิปไตยที่ถูกนำไปใช้ในประเทศนอกตะวันตกแตกต่างจากประชาธิปไตยต้นฉบับ ดั้งเดิม การศึกษาแนวนี้จึงทึกทักเอาว่า ประชาธิปไตยในโลกตะวันตกก้าวหน้ากว่า และยึดตามแบบฉบับที่ถูกต้องของประชาธิปไตย (Michelutti 2007)
ประการ ที่สอง การศึกษาแนวนี้อาจทำให้เราเห็นแต่เพียงว่า จะพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้าใกล้ต้นแบบได้อย่างไร ทั้งๆที่กระบวนการประชาธิปไตยอาจจะไม่ได้ถูกใช้เพื่อเป็นเป้าหมายทางการ เมืองที่จะต้องพัฒนาให้แต่ละสังคมกลายไปเป็นสังคมในอุดมคติแบบต้นแบบ ประชาธิปไตยเสมอไป
ประการที่สาม การศึกษาแนวนี้จึงไม่ได้ทำให้เราเข้าใจประชาธิปไตยที่เป็นปฏิบัติการจริงๆ ในโลกตะวันตก ว่าแท้จริงแล้วในโลกตะวันตกมีประชาธิปไตยแบบใด
แต่ ในปัจจุบันการศึกษาประชาธิปไตยไม่ได้มุ่งที่จะพิจารณาภายใต้กรอบ ของกระบวนการทำให้ทันสมัยโดยมีประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอีกต่อ ไป หากแต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ กลุ่มสังคมในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในโลกตะวันตกหรือประเทศที่เกิดใหม่หลังยุคอาณานิคม ต่างอาศัย “กระบวนการสร้างประชาธิปไตย” ในการต่อรองอำนาจ ในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันอย่างไร ประชาธิปไตยจึงถูกมองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อรองอำนาจ ไม่ใช่เป็นเป้าหมายที่สมบูรณ์ในตัวเอง หรือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแต่อย่างใด (Paley 2002)
ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น ในตุรกี ประชาธิปไตยถูกชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งใช้เพื่อแสดงให้รัฐยอมรับการมีอยู่ของ ชุมชน มากกว่าเพียงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ประชาธิปไตยที่นั่นจึงเป็น “การเมืองของการแสดงตน” (politics of presence) มากกว่าการเมืองของการนำเสนอตัวแทนของตนเอง (Brink-Danan 2009) หรือในอินเดีย การต่อสู้เพื่อมีส่วนมีเสียงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการมี ส่วนร่วมทางการเมือง แต่เป็นการแสดงถึงพลังทางการเมืองของคนกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาใหม่ ที่ต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่า (Michelutti 2007) ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านในอาเชี่ยนอย่างฟิลิปปินส์ การตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นล่าง เพื่อต่อสู้กับระบอบมาร์กอส วางอยู่บนความรู้สึกถึงความแตกต่างทางชนชั้น ความน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ถึงที่สุดแล้ว เมื่อความเปลี่ยนแปลงผ่านไป พวกเขาก็ต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ทางสังคมและการเมืองลักษณะเดิม ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการที่ดูเป็นประชาธิปไตย ในที่สุดแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในประเทศที่ “เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” เลย (Pinches 1992)
ยิ่ง กว่านั้น กรณีศึกษาจากประเทศตะวันตกเองก็ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ในประเทศที่เรายึดมั่นกันว่าเป็นตันแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปตะวันตก ก็ใช่ว่ารูปแบบทางการเมืองแบบประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งวัฒนธรรมการเมืองแบบ ประชาธิปไตยไม่ ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคมของสังคม “ตะวันตก” เองก็มีความแตกต่างกัน และในหลายๆกรณีชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคน มากกว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมืองของปัจเจกเพื่อนโยบายของรัฐที่สนองต่อ อุดมการณ์ของปัจเจกชน (กรณีที่น่าสนใจได้แก่ในสหรัฐอเมริกา ดู Clark 1984) นอกจากนั้น การจัดการเลือกตั้งเองอาจจะไม่ได้เป็นหลักประกันของการค้นหาตัวแทนทางการ เมือง เท่ากับเป็นหลักประกันให้กับ “ความเป็นประชาธิปไตย” อย่างเที่ยงตรง เทคนิคการจัดการสิ่งต่างๆในคูหาเลือกตั้งจึงแสดงให้เห็นถึงการควบคุมการ กระทำต่างๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการเลือกตั้ง (Coles 2004)
ใน แง่นี้ การศึกษาวัฒนธรรมประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงอาจต้องตั้งคำถามใหม่ กล่าวคือ แทนที่จะมองว่าประชาธิปไตยที่ผ่านมาของประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบต้นฉบับ หรือเข้าใกล้ต้นแบบหรือยัง ซึ่งเป็นแนวการศึกษาแบบทฤษฎีการพัฒนาแบบเก่า ที่ล้าหลังเนื่องจากอาศัยกรอบของวัฒนธรรมอุดมคติของตะวันตกเป็นศูนย์กลาง การศึกษาในระยะหลังกลับมาเน้นการให้ความหมายเฉพาะต่อประชาธิปไตยของสังคม ต่างๆ และที่ร่วมสมัยกว่านั้นคือ การพิจารณาว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการต่อสู่เชิงอำนาจของคนกลุ่ม ต่างๆในสังคมอย่างไร
หากพิจารณาเฉพาะในเรื่องของ การซื้อเสียง เราจึงต้องพิจารณาว่า สังคมการเมืองไทยมีเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมอย่างไรที่ ก่อให้เกิดการซื้อเสียงขึ้นมา เราจะเข้าใจการซื้อเสียงจากเงื่อนไขเหล่านี้ได้อย่างไร หากประเทศไทยไม่ได้ต่างจากหลายๆประเทศที่ “เงื่อนไขเชิงสังคม” (collective conditions ไม่ว่าจะนิยามตามชาติพันธ์ุ ถิ่นกำเนิด ภาษาพูด สายตระกูล พรรคพวก เครือญาติก็ตาม) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการทางการเมือง “หน่วยของผู้ลงคะแนน” จึงอาจจะไม่ใช่ปัจเจกชนโดดๆ และ “เงินซื้อเสียง” จึงมีความหมายลึกซึ้ง
ทวิลักษณ์การเมืองไทย
ใน สองทศวรรษที่ผ่านมา ทฤษฎี "ทวิลักษณ์การเมืองไทย" (อันมี "สองนคราประชาธิปไตย" ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์เป็นตัวอย่่างที่สำคัญ) ถือได้ว่าเป็นแนวคิดหลักที่วางกรอบความเข้าใจประชาธิปไตยและกำหนดแนวทางการ เข้าใจการเลือกตั้งให้สังคมไทยมายาวนาน กรอบใหญ่ของทฤษฎีทวิลักษณ์การเมืองไทยคือการแบ่งสังคมไทยเป็นสองส่วน
ส่วน ที่หนึ่งคือเขตเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ ถูกมองว่ามีแนวคิดประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า มีพื้นฐานสังคมแบบปัจเจกชนนิยม พฤติกรรมการเมืองและการเลือกตั้งของคนเมืองถูกมองว่าวางอยู่บนหลักเหตุผล คำนึงถึงนโยบายคือผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนเฉพาะหน้า
ส่วน ในเขตชนบท คนเหล่านี้ถูกมองว่ายากจน พวกเขาพึ่งตนเองไม่ได้ จึงจมปลักอยู่ในเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ พึ่งพิงผู้มีอิทธิพลเรื่อยไป ต้องยอมแลกคะแนนเสียงกับการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจและการเมืองจากผู้มีอิทธิพล ที่หากไม่อุปถัมภ์นักการเมือง ก็กลายมาเป็นนักการเมืองเสียเอง
ภาพ ตรงข้ามระหว่างนักประชาธิปไตยในเมือง ที่มีประวัติศาสตร์อันโรแมนติกของขบวนการนักศึกษาและปัญญาชน ที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างบริสุทธิ์ใจ ขัดแย้งตรงข้ามกับชาวบ้านที่ถูกซื้อเสียง ถ้าไม่ถูกชักจูงให้ชักแถวมาสนับสนุนนักเลือกตั้ง ก็ถูกจ้างมาเลือกตั้ง จ้างมาชุมนุม หรือไม่ก็เสพติดประชานิยมจนงอมแงม
แต่ คำถามแย้ง (ที่เอนก เหล่าธรรมทัศน์เองก็สงสัย) คือ หากคนกรุงเทพฯ รักสิทธิการเลือกตั้งและประชาธิปไตยขนาดนั้น ทำไมคนกรุงเทพฯ จำนวนมากจึงสนับสนุนการรัฐประหารระบอบประชาธิปไตยโดยทหาร ในปี 2534 และปี 2549 ส่วนในชนบทนั้นเล่า ทุกวันนี้ภาพการพึ่งพิงในสังคมชนบทเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ การกระจายอำนาจในชนบทก่อให้เกิดกระบวนการทางการเมืองใหม่ๆ อย่างไร เงินมีอิทธิพลแค่ไหนหรือมีอิทธิพลอย่างไรกันแน่ในการเลือกตั้ง การตัดสินใจเลือกตั้งมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไรบ้าง
“การซื้อเสียง” ในพลวัตทางการเมือง
หาก การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยคือการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ มีอำนาจกับประชาชน ว่าให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ กำกับนักการเมืองได้ผ่านอำนาจของการเลือกหรือไม่เลือก “การซื้อเสียง” จึงกลับขั้วความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ แทนที่ผู้ลงคะแนนจะเป็นผู้มีอำนาจ ผู้รับการเลือกตั้งกลับมีอำนาจในการกำหนดผลของการเลือกตั้ง
แต่ เหตุใด “อำนาจอธิปไตย” จึงราคาถูก หรือมีค่าเพียง 200, 300 หรืออย่างดี 500 บาท ชาวบ้านเห็นว่าอำนาจประชาธิปไตยมีค่าเพียงนั้นจริงหรือ หรือเพราะเงื่อนไขกลไกใดในระบอบประชาธิปไตยไทย ที่ทำให้อำนาจอธิปไตยราคาถูกเพียงนั้น
ผู้เขียน เห็นว่า แทนที่จะเป็นความมักง่ายอยากได้โภคทรัพย์เฉพาะหน้าของชาวบ้าน การซื้อเสียงเกิดจากการที่ชนชั้นนำในสังคมไทยจงใจบิดเบือนบั่นทอนกระบวนการ ประชาธิปไตยต่างหาก กล่าวคือ
ประการแรก ผู้เขียนคิดว่า ในอดีตที่ผ่านมา ชาวบ้านเข้าใจดีว่าคะแนนเสียงของตนไม่เท่ากับอำนาจในการมีส่วนตัดสินใจเชิง นโยบาย หากชาวบ้านคิดว่า ในเมื่อ “เลือกไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมา” “เลือกไม่เลือกก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรกับชาวบ้าน” ดังนั้นการรับเงินแล้วไปลงคะแนนเสียงให้ยังจะได้ประโยชน์มากกว่า ในแง่นี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยตามรูปแบบ คือมีการเลือกตั้ง แต่เจ้าของอำนาจก็ไม่สามารถแสดงอำนาจของเขาผ่านการเลือกตั้งได้ ชาวบ้านมองไม่เห็นว่าจะได้อะไรจากการเลือกตั้ง การหว่านเงินจึงเป็นเพียงการจูงใจให้คนที่ตัดสินใจไปแล้วว่าจะ “โหวตโน” หรือเลือกที่จะไม่เลือก ต้องออกมาเลือกตั้งเท่านั้นเอง
ประการ ที่สอง เหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือเหตุผลเชิงโครงสร้าง การเมืองไทยหลังอำนาจเผด็จการสฤษดิ์ ถนอม ประภาส มีการเลือกตั้งเพียงไม่กี่ครั้ง เมื่อมีรัฐธรรมนูญหลัง 14 ตุลา 16 แล้ว การเมืองไทยก็ตกอยู่ในอำนาจแทรกแซงของทหารสืบต่อมาอีกกว่า 20 ปี ในสมัยสุดท้ายของการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นรู้กันดีว่า แม้ว่าพรรคการเมืองใหญ่ในสมัยนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับการเลือกตั้ง อย่างล้นหลาม และสามารถจัดตั้งรัฐบาลตลอดจนให้หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ในที่สุดนักการเมืองก็ต้องยอมถอยให้กับอำนาจนอกระบบ การต่อสู้ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งในทศวรรษต่อมาจนถึงพฤษภา 35 จึงมีความหมายสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากในสองทศวรรษก่อนหน้านั้น การเลือกตั้งเป็นเพียงองค์ประกอบที่จำเป็น แต่ไม่มีความหมายแต่อย่างใดต่อกระบวนการพัฒนาทางการเมืองของไทย และดังนั้น “โรคร้อยเอ็ด” จึงเป็นเพียงอาการของโรค มากกว่าจะเป็นตัวต้นเหตุแห่งโรคอย่างแท้จริง
ประการ ที่สาม ยุคที่ผ่านมาอยู่ในยุคที่ การเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาจึงแทบจะไม่มีความหมายสำหรับประชาชน เนื่องจากการเมืองไม่ได้ให้โภคผลอย่างใดแก่ชาวบ้าน จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในหลายพื้นที่ ว่าสามารถจดจำนโยบายใดที่มีประโยชน์ต่อชาวบ้านในทศวรรษ 2510-2530 ได้หรือไม่ ชาวบ้านจำนโยบายที่นักการเมืองหาเสียงแล้วส่งผลดีกับพวกเขาได้อย่างจำกัด มีเพียงนโยบายเงินผันของพรรคกิจสังคมสมัยมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์เท่านั้นที่จับใจชาวบ้าน
ความทรงจำของชาว บ้านดังกล่าวไม่ใช่ไม่มีมูล ในเชิงนโยบายเศรษฐกิจ เรารู้กันดีว่ารัฐไทยภายใต้กรอบกำหนดที่ใหญ่กว่านโยบายของรัฐบาลที่ผลัด เวียนเปลี่ยนวนกันไปมานั้น ได้กำหนด “ชะตา” ให้ประเทศเอาไว้แล้ว ชะตาที่ว่าคือกรอบของการพัฒนาประเทศไปในทิศทางหนึ่งที่ไม่สามารถหันหลังได้ นั่นคือการพัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม เดินหน้าเข้าสู่ทุนนิยมสมัยใหม่ด้วยการถ่ายโอนทรัพยากรจากชนบทสู่เมือง หากจะไม่ถึงกับทำลายก็จะมุ่งให้ผู้คนทิ้งชนบท หันหลังให้ชนบทสู่เมือง ทิ้งภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม กลายเป็นแรงงานรับจ้าง ภายใต้กรอบกำหนดชะตาของชาวบ้านเช่นนี้ ไม่ว่านักการเมืองจะผลัดเปลี่ยนวนเวียนกันมาเท่าใด ก็ไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตให้ชาวบ้านดีขึ้นมาได้
ฉะนั้น ความล้มเหลวของการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ที่ความไม่รู้ ความไม่พร้อม หรือการตกอยู่ใต้อิทธิพลท้องถิ่นของชาวบ้าน แต่ที่ผ่านมาหลายสิบปีที่มีการเลือกตั้งในประเทศไทย ความไม่พร้อมของชนชั้นนำ ความไม่พร้อมของอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยอย่างทหาร ข้าราชการ และอาจจะรวมถึงสถาบันกษัตริย์ต่างหาก ที่ยังไม่เอื้อให้การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือในแสดงอำนาจอธิปไตยของชาว บ้านได้อย่างเต็มที่
ดังนั้นเงินที่ชาวบ้านรับไปลง คะแนนจึงไม่ใช่ “เงินซื้อเสียง” ไม่ใช่เงินที่ชาวบ้านรับเพื่อการขายอำนาจอธิปไตย แต่เป็น “เงินชดเชยค่าเสียโอกาส” ค่าเสียเวลาทำมาหากินของชาวบ้าน ก็เท่านั้นเอง
ชนชั้นใหม่กับเศรษฐกิจไทยหลังทศวรรษ 2530
อย่าง ไรก็ดี ในกระบวนการของการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในสามทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดึงดูดคนออกมาจากท้องถิ่น ตลอดจนการเกษตรเชิงพานิชย์ ที่ไม่เพียงสร้างความเสี่ยง แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆให้ชาวบ้าน และการเติบโตของเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ เชิงอำนาจในท้องถิ่นหลายๆ ประการ ดังนี้้
(1) ในทศวรรษ 2540-50 การผูกขาดอำนาจนำทางเศรษฐกิจและที่ต่อเนื่องมาคืออำนาจนำทางการเมืองเป็น สิ่งที่ทำได้ยากมากขึ้น ในหลายๆ พื้นที่ที่ผู้เขียนไปเก็บข้อมูล พบการเปลี่ยนแปลงของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น และจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน เราเห็นได้ชัดว่าบรรดา “พ่อเลี้ยง” “แม่เลี้ยง” บรรดา “เสี่ย” ต่างๆ ล้วนห่างหายไปจากพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเจ้าพ่อจะยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง แต่นั่นขึ้นกับเงื่อนไขในท้องถิ่น เช่นโครงสร้างของธุรกิจที่เอื้อต่อการผูกขาดอย่างธุรกิจผิดกฎหมายตามชายแดน
(2) การเคลื่อนย้ายแรงงานของคนในชนบทมาสู่เมือง ไม่ได้แยกขาดพื้นที่เมืองออกจากชนบท ไม่ใช่ว่าการเคลื่อนย้ายในปัจจุบันนี้จะเป็นภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบตาม ฤดูกาล แต่การเข้ามาใช้แรงงานในเมืองของคนจากชนบทจำนวนมาก ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็น “คนเมืองที่มีรากในชนบท” คนเหล่านี้เชื่อมโยงเมืองกับชนบท ผลก็คือ พื้นที่ทางการเมืองของพวกเขากว้างขึ้น คนเหล่านี้มีบทบาททางการเมืองในส่วนกลางมากขึ้น แต่ด้วยพื้นฐานความเป็นคนชนบท คนต่างจังหวัดของเขา ทำให้ “วาระทางการเมือง” ของคนเมืองที่มีรากในชนบทเหล่านี้ แตกต่างจากคนเมืองที่ไม่มีรากในชนบท
(3) การเกษตรพานิชย์ (ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้) และกึ่งพึ่งตนเองกึ่งเกษตรพานิชย์ (ในภาคอีสาน) ทั้งเพิ่มความเสี่ยงและเปิดโอกาสให้มีการขูดรีดอย่างใหม่ๆ ในสังคมเกษตร แต่อย่างไรก็ดี โอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ก็ได้สร้าง “ความมั่นคง” ในระดับหนึ่งให้กับผู้คนในท้องถิ่นชนบท ที่เห็นได้ชัดคือ การทำสวนยางในอีสานใต้ การทำไร่พืชผลต่างๆ หมุนเวียนไปตามราคาพืชผลในอีสานตอนกลาง และการทำเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือ โอกาสใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้ชาวบ้านมี “ความหวัง” ใหม่ๆกับชีวิตทางการเกษตร แม้ว่ามูลค่าจากการผลิตการเกษตรจะต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้จากการรับจ้าง แต่ผู้เขียนอยากตั้งเป็นสมมุติฐานที่ต้องการการพิสูจน์ต่อไปว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมอขงไทยยังไม่สามารถดูดซับแรงงานได้ดี โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ ประกอบกับการปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนในบางถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีสาน ได้หล่อเลี้ยงให้คนยังอยู่ในภาคการเกษตรได้
(4) การตั้งกองทุนให้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการเองได้ตั้งแต่ก่อนนโยบายกองทุน หมู่บ้านของไทยรักไทย ได้แก่กองทุน Social Investment Project ช่วยแบกรับความเสี่ยงของชุมชน หรือกระทั่งช่วยสะสมทุนให้หมู่บ้าน ดังที่ผู้เขียนสำรวจพบว่าบางหมู่บ้านในอีสานประสบความสำเร็จในการบริหารกอง ทุน จนมีสินทรัพย์และกำไรต่อปีนับล้าน จากการทำธุรกิจของหมู่บ้านเอง ทุนในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่สังคมชนบทสามารถ “พึ่งตนเอง” ในการแข่งขันในเศรษฐกิจทุนนิยมได้มากขึ้น
(5) การเติบโตของเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ ได้สร้าง “ชนชั้นกลางกลุ่มใหม่” ขึ้นมาในสังคมไทย คนเหล่านี้อาจจะมีรากในชนบท แต่ชีวิตประจำวันเขาไม่ได้ต้องพึ่งพิงเครือข่ายในท้องถิ่นอีกต่อไป คนเหล่านี้เป็น “เสรีชน” เป็นปัจเจกชนในเมือง ที่ประกอบอาชีพอิสระบ้าง รับจ้างบ้าง เป็นเจ้าของกิจการขนาดย่อมบ้าง ใหญ่บ้าง แม้ว่าฐานทางเศรษฐกิจของคนเหล่านี้จะไม่กว้างเท่าปัจเจกชนในกรุงเทพฯ ไม่มีรายได้มากเท่าคนกรุงเทพฯ แต่ในทางการเมือง พวกเขามีความเป็นตัวของตัวเอง ตัดสินใจทางการเมืองอย่างอิสระ และรวมกลุ่มทางการเมืองทำกิจกรรมอย่างแข็งขันโดยอิสระ ในแง่วิถีชีวิต คนเหล่านี้แทบจะไม่แตกต่างจากคนเมืองระดับกลางถึงล่างในกรุงเทพฯ ที่ชอบเดินห้างวันหยุด ไปทำบุญที่วัดในวันเกิด ไปเที่ยวตากอากาศในต่างจังหวัดในวันหยุด ชอบกินข้าวนอกบ้านเมื่อมีโอกาส นิยมของ “แบรนด์เนม” คอยดูแลเสื้อผ้าหน้าผม ช่างแต่งตัว ดูแล้วไม่แตกต่างอะไรกับคนกรุงเทพฯ
นี่ยังไม่นับ ว่ายังมีชาวบ้านที่รู้สึกถึงผลเชิงบวกเชิงนโยบายของนโยบาย พรรคไทยรักไทยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา คนเหล่านี้ทั้งหมดรวมกันอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ชนชั้นใหม่” ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่ คนเหล่านี้จำนวนหนึ่งรวมตัวกันเป็นแนวร่วม “แนวนอน” ผ่านสื่อกลางที่สำคัญคือวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม สื่ออินเทอร์เน็ต สื่อดิจิทัล และการชุมนุมทางการเมือง
ที่สำคัญคือ ชนช้ันใหม่เหล่านี้ไม่ได้มองการเมืองแบบเดิมอีกต่อไป พวกเขาเป็นพลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง พวกเขาจำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าพวกเขาจะมีแนวโน้มเอียงทางการเมืองแบบ “เหลือง” “แดง” หรือ “ฟ้า” กับ “น้ำเงิน” ก็ตาม
การเมืองของชนชั้นใหม่
ความ เปลี่ยนแปลงที่เกิดพร้อมกันกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจข้างต้น คือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ออกแบบให้พรรคการเมืองหนึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีผู้นำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทำให้พรรคการเมืองสามารถนำนโยบายไปปฏิบัติได้จริง พรรคการเมือง (และนักการเมือง) สามารถกำหนดทิศทางของประเทศได้มากขึ้น
แต่ ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและให้ ผู้ใหญ่อยู่ตามวาระ การเกิดขึ้นมาขององค์กรการบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต. อบท. และสจ. ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีสองประการสำคัญคือ (1) ชาวบ้านมีความคุ้นเคยกับการเลือกตั้ง เพราะในรอบหนึ่งปีชาวบ้านเหล่านี้มีโอกาสเลือกคนไปทำหน้าที่แทนเขาได้มาก ขึ้น (2) ประชาธิปไตยในระดับของการเมืองท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ เนื่องจากมีงบประมาณเป็นของตนเองให้บริหารเพื่อท้องถิ่น
ดัง นั้นชาวบ้านจึงหวงแหนสิทธิ์เลือกตั้ง ต่อคำถามที่ว่า “หากให้คนเลือกตั้งต้องจบปริญญาตรีจะว่าอย่างไรกัน” ชาวบ้านที่อุบลราชธานีที่ผู้เขียนสัมภาษณ์ถามสวนกลับมาทันทีว่า “แล้วคนจบปริญญาตรีทุกวันนี้ไปเลือกตั้งหรือเปล่า พวกผมที่ไม่ได้เรียนปริญญาตรีต่างหากที่ไปเลือกตั้ง”
ใน อีกพื้นที่ศึกษาหนึ่ง ชาวบ้านได้เล่าถึงกระบวนการถอดถอนผู้ใหญ่บ้านคนเก่าผ่านประชามติของหมู่บ้าน และชาวบ้านจัดหาผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ ก็อยู่ในมือของชาวบ้านเองทั้งสิ้น กระทั่งเคยมีนายอำเภอจากต่างจังหวัดคนหนึ่ง มาดุว่าการแต่งกายไม่เรียบร้อยในสายตาข้าราชการของเจ้าหน้าที่คนนั้น ผลคือชาวบ้านไม่พอใจ ทำเรื่องร้องเรียนถึงระดับจังหวัด จนกระทั่งนายอำเภอคนนั้นต้องมาขอโทษ ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันไปพูดกับเขาเลยว่า มาว่าคนที่ชาวบ้านเลือกตั้งมาได้ยังไง”
มี การศึกษาของนักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งให้ข้อมูลสอดคล้องกับที่ผู้เขียน พบว่า กระบวนการทางการเมืองในท้องถิ่นไม่ใช่เป็นกระบวนการของเครือข่ายผู้มี อิทธิพลที่จะหมุนเวียนกันเข้ามาหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อพวกพ้อง (เท่านั้น) แต่นักการเมืองท้องถิ่นอ่างสอบต. สอบท. หรือแม้แต่ผู้ใหญ่บ้าน หากแต่เป็นกระบวนการที่มีความเป็นองค์กรสมัยใหม่ และมีความเป็นประชาธิปไตย เช่น มีการสำรวจความต้องการของคนในชุมชน มีการกำหนดกรอบแผนงานจากชาวบ้าน มีพัฒนาการของการจัดเก็บภาษี เนื่องจากชาวบ้านเห็นแล้วงบประมาณถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของเขา
กระบวน การทางการเมืองใหม่ๆเหล่านี้ หล่อหลอมให้ชาวบ้านเรียนรู้ประชาธิปไตยในระดับชีวิตประจำวันของเขาเอง การถกเถียงการทางเมืองระดับท้องถิ่นมีอยู่สม่ำเสมอ เรียกได้ว่า “ประชาธิปไตย” กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของชาวบ้าน
อย่าง ไรก็ดี การที่ชาวบ้านตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านจะต้องกลายไปเป็นปัจเจกชนผู้เป็นอิสระจากเครือข่าย ทางสังคมและการเมืองใดๆ ทั้งมวล หากแต่เราจะต้องวิเคราะห์ดูว่า เงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่กว้างกว่าเครือข่ายทางสังคมและการเมืองในท้องถิ่น ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นหรือไม่ ด้วยเหตุที่เงื่อนไขนั้นทำให้ชาวบ้านรับรู้และได้รับดอกผลของการแสดงสิทธิ์ และเสียงของตนเองต่างหาก ที่ทำให้ประชาธิปไตยในข่ายใยของชุมชนสามารถประกันสิทธิเสรีภาพของชาวบ้านได้ ไม่ใช่ว่าชาวบ้านรู้จักหรือไม่รู้จักสิทธิ์ทางการเมืองของตนเองหรือไม่
ทำความเข้าใจ “เงินซื้อเสียง”
ทุก กันนี้มีคนสองกลุ่มที่ไม่ไปเลือกตั้ง กลุ่มหนึ่งคือคนในเมือง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ อีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่ถูกจัดว่าอยู่ “ชายขอบ” ของสังคมการเมือง สำหรับคนกรุงเทพฯ การเลือกตั้งไม่ได้ใีความหมายใดๆ ต่อพวกเขามากนัก ไม่ว่าพวกเขาจะไปคูหาหรือไม่ไป ชีวิตพวกเขาก็ยังคงมั่นคง สุขสบาย มีสวัสดิการครบครัน มีเลินเดือน เปลี่ยนงานได้ตามใจชอบ กินข้าวนอกบ้านได้ทุกวัน รัฐบาลจะมีนโยบายอะไรหรือไม่ ไม่ทำให้เขาตื่นตระหนกได้เท่ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตล่ม หรือคำทำนายน้ำท่วมโลก ส่วนคนชายขอบของสังคมการเมือง พวกเขาแม้อาจจะมีสิทธิ์ แต่ไม่มีเสียง พวกเขาไม่ได้ถูกสดับตรับฟัง บางกลุ่มจึงต้องตีฆ้องร้องป่าวด้วยการก่อวินาศกรรม จึงจะได้รับการเหลียวแลจากสังคม
แต่กลุ่มคนที่เป็น เดือดเป็นร้อนกับการเลือกตั้งอย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมาคือ กลุ่มคนช้ันกลางระดับล่าง ที่เสียงของพวกเขามีความหมายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
แล้ว เราจะเข้าใจเงินซื้อเสียงหรือการซื้อเสียงในปัจจุบันได้อย่างไร ในเมื่อโครงสร้างทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำไมยังคงมีการซื้อเสียงอยู่ แล้วการซื้อเสียงนั้น จะขัดกับการที่ผู้เขียนสรุปไว้ว่า ชนชั้นใหม่เป็นผู้ตื่นตัวทางการเมืองหรือไม่
การจะ เข้าใจการซื้อเสียง ต้องเข้าใจ “วิถีประชาธิปไตยในชุมชน” อันเป็นเสรีนิยมที่วางอยู่บนพื้นฐานของทุนทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างรูปแบบต่างๆ ของการให้ความหมายต่อเงิน “ซื้อเสียง” และความเชื่อมโยงกันระหว่างเงินซื้อเสียงกับวิถีประชาธิปไตยชุมชนกรณีต่างๆ ดังนี้
(1) “เงินคือสินน้ำใจ” ชาวอีสานหลายพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนของอีสานส่วนมาก ตั้งหน้าตั้งตารอเงินจากหัวคะแนนของผู้สมัคร เนื่องจากชาวบ้านถือว่าเงินแจกเป็น “สินน้ำใจ” ที่คนมีแก่กันการที่เขาได้เงินจึงเป็นเหมือนการได้รับการยอมรับ การเห็นความสำคัญของพวกเขา กระนั้นก็ตาม ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่เข้าใจ ไม่สนใจนโยบายของผู้สมัคร ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะรอเงิน แต่เงินที่เขารอก็มักจะเป็นเงินที่พวกเขาคิดว่าเขาควรจะต้องได้รับ เนื่องจากเขาอยู่ในเครือข่ายเดียวกันกับผู้สมัครที่จะเอาเงินมาให้เขาอยู่ แล้ว ในแง่นี้ เงินที่ผู้สมัครให้แก่ผู้ลวคพแนนจึงเป็นการแลกเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ หาใช่การซื้อเสียงไม่
(2) “ยิงกระสุนให้ถูกเป้า” วิธีแจกเงินของหัวคะแนนก็บอกให้รู้ได้เหมือนกันว่า เงินอย่างเดียวไม่ทำให้คนได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากหัวคะแนนจะต้องรู้ว่าควรจะแจกใคร ใครที่มีแนวโน้มที่จะไปเลือกเขามากที่สุด เขาจึงแจก หากรู้แน่ๆว่าใครจะไม่เลือก เขาก็จะไม่แจก ฉะนั้นคนในพื้นที่มักจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า คะแนนเสียงน่าจะออกมาเช่นไร ใครเลือกใคร ไม่ใช่ว่าอำนาจของเงินซื้อเสียงจะเข้าไป “ซื้อเสียง” ได้จริงๆ
(3) “ชุมชนคือผู้ออกเสียงเลือกตั้ง” การเลือกตั้งไม่ได้จำเป็นต้องมีหน่วยของการตัดสินใจเป็นปัจเจก การแบ่งคนในครอบครัวไปลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครสองคนที่มาให้เงินที่บ้าน เป็นลักษณะหนึ่งของการตัดสินใจในระดับครอบครัวและเครือญาติ การลงคะแนนในระดับชุมชน ในการเลือกตั้งในท้องถิ่น ที่มีการต่อรองกันสูงเนื่องจากผลประโยชน์ใกล้ตัว ทำให้ชาวบ้านบางแห่งรวมตัวกัน ต่อรองว่าหากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ชุมชน พวกเขาจะเทคะแนนเสียงให้ นั่นคือการมีข้อแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายกับคะแนนเสียง
(4) “เงินซื้อไม่ได้” ชาวบ้านที่ผู้เขียนสัมภาษณ์บางพื้นที่ยืนยันว่าเงินซื้อไม่ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ชาวบ้านตัดสินใจอย่างเป็นปัจเจก แต่อาจเป็นเพราะชาวบ้านยืนยันความเป็นอิสระของกลุ่มการเมืองในชุมชน กับกลุ่มการเมืองจากภายนอก เช่นกรณีที่จะมีคน “เลือกเพื่อไทย แต่ไม่ได้เป็นเสื้อแดง” การตัดสินใจทางการเมืองในท้องถิ่นอาจแยกขาดเป็นอิสระจากการเคลื่อนไหวทางการ เมืองระดับประเทศ การรวมตัวเป็นชุมชนทางการเมืองของคนในชนบทไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อเดียวกัน กับการรวมตัว “แนวนอน” ของเสรีชนในเขตเมืองในต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม บางทีพวกเขาเป็นแนวร่วมกันได้ ในแง่นี้การปลุกกระแสของคนเสื้อแดงจึงไม่จำเป็นต้องเป็นผลดีต่อการเลือกต้ง ในชุมชนหลายๆ แห่งเสมอไป เนื่องจากคำว่า “พี่น้องเสื้อแดง” มีนัยทางการเมืองและสังคมวิทยาที่ลึกซึ้ง และแยกแยะกลุ่มคนที่มีใจให้กับ “คนเสื้อแดง” แตกต่างกัน
(5) “การเลือกตั้งมีค่าด้อยกว่าสายใยในชุมชน” แม้ว่าคูหาจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจที่อ้างว่าสามารถสร้างการตัดสินใจอย่าง เป็นปัจเจกได้ แต่ข่ายใยทางสังคมที่ผู้คนพกพามาเลือกตั้งด้วย ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถเลือกโดยไม่คำนึงถึงความผูกพันที่เขามีกับครอบครัว เครือญาติ พรรคพวก ชุมชนได้ ในแง่นี้ เพื่อรักษาสายใยทางสังคม ซึ่งมีค่ามากกว่าการลงคะแนนเสียงในระดับชุมชน ชาวบ้านบางคนจึง “เลือก” ที่จะไม่ไปเลือกตั้ง ด้วยการหลบหน้าไปจากหมู่บ้านในวันเลือกตั้ง
ประชาธิปไตย ชุมชนไม่จำเป็นต้องวางอยู่บนการตัดสินใจของปัจเจกเสมอไป แต่การตัดสินใจของ “ชุมชน” ที่หมายถึงได้ตั้งแต่ครอบครัว เครือญาติ พรรคพวก เครือข่ายทางการเมือง “ชุมชนแนวนอนแบบคนเสื้อแดง” ไปจนถึงเครือข่ายทางการเมืองระดับชาติ มีส่วนต่อการลงคะแนนของปัจเจก
อย่าง ไรก็ดี เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นช่วยวางเงื่อนไขให้การตัดสินใจของ เครือข่ายย่อยๆเหล่านี้เป็นอิสระจากกันมากขึ้น ทำให้ประชาธิปไตยในชุมชนไม่จำเป็นต้องเป็นปัจเจกชนนิยม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหน่วยเชิงสังคมเหล่านี้จะถูกครอบงำโดยเบ็ดเสร็จจาก อำนาจอิทธิพลในท้องถิ่น
สรุป
การ ซื้อเสียงที่ผ่านมาในอดีต เกิดขึ้นในบริบททางการเมืองที่ชนชั้นนำยังหวงอำนาจ การกระจายอำนาจยังไม่เกิดขึ้น ทำให้อำนาจอธิปไตยของชาวบ้านมีราคาถูก แต่เมื่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนไป ชาวบ้านตระหนักถึงอำนาจอธิปไตยของตนเองมากขึ้น การตัดสินใจทางการเมืองในกระบวนการเลือกตั้งจึงมีความหมายขึ้น การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องอำนาจของการกำหนดชะตาของประเทศ เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านมีอำนาจจัดตั้งรัฐบาล ด้วตนเอง เพื่อให้การเลือกตั้งของเขาแสดงถึงความต้องการผู้นำทางการเมืองในแบบที่เขา ต้องการ จึงมีส่วนทำให้การเลือกตั้งมีค่ามากขึ้น
เมื่อ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนไป เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับท้องถิ่นและชนชั้นใหม่ทั้งในเมืองและชนบทมาก ขึ้น การใช้เงินเพื่อชักจูงให้คนมาเลือกตั้งจึงมีความสลับซับซ้อน เนื่องจากการเลือกตั้งมีความหมายมากขึ้น และการเลือกตั้งมักเป็การตัดสินใจทางการเมืองของกลุ่ม ของชุมชน เป็น “วิถีประชาธิปไตยในชุมชน” หรือเสรีนิยมที่วางอยู่บนพื้นฐานของทุนทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น
ประชาธิปไตยในประเทศไหนๆ ก็ไม่ได้เป็นอิสระจากทุนทางสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมนั้นๆ
วิถี ประชาธิปไตยชุมชนอาศัยทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน มาเป็นหน่วยของการต่อสู้ทางการเมืองในชุมชนประชาธิปไตย ทั้งในระดับเล็กๆในหมู่บ้าน ในตำบล จนถึงระดับใหญ่ๆ ระดับชาติทั้งสิ้น ประชาธิปไตยของชาวบ้านในประเทศไทยปัจจุบันจึงไม่ได้แตกต่างไปจากประชาธิปไตย ในประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศ “ตะวันตก” และประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต่างก็วางอยู่บนเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง
หาก เราไม่เฟ้อฝันที่จะมุ่งสร้างสังคมของปัจเจกชนที่เปลือยเปล่าปราศจาก พันธนาการทางสังคมใดๆ แล้วจึงค่อยให้คนเหล่านั้นเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง เราก็ต้องยอมรับการตัดสินใจทางการเมืองที่อยู่ภายใต้โยงใยทางสังคมในชุมชน ท้องถิ่น ในการรวมตัวแนวนอน ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์และข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ชน ชั้นนำไม่คุ้นเคยหรือไม่อยากให้เกิดการปรับเปลี่ยน
เอกสารอ้างอิง
Apter, Andrew
1987 Things Fell Apart? Yoruba Responses to the 1983 Elections in Ondo State, Nigeria. The Journal of Modern African Studies 25(3):489-503.
Brink-Danan, Marcy
2009 “I vote, therefore I am:” Rituals of Democracy and the Turkish Chief Rabbi. PoLAR: Political and Legal Anthropology Review 32(1):5-27.
Clark, Terry Nichols
1994 Clientelism, U.S.A.: The Dynamics of Change. In Democracy, Clientelism and Civil Society. L. Roniger and A. Gunes-Ayata, eds. Pp. 121-144. Boulder, Colorado: Lynne Rienner Publishers.
Coles, Kimberley A.
2004 Election Day: The Construction of Democracy through Technique. Cultural Anthropology 19(4):551-80.
Karlström, Mikael
1996 Imagining Democracy: Political Culture and Democratisation in Buganda. Africa: Journal of the International African Institute 66(4):485-505.
Michelutti, Lucia
2007 The Vernacularization of Democracy: Political Participation and Popular Politics in North India. Journal of the Royal Anthropological Institute 13(3): 639-656.
Paley, Julia
2002 Toward an Anthropology of Democracy. Annual Review of Anthropology 31:469–96.
Pinches, Michael
1992 The Working Class Experience of Shame, Inequality, and People Power in Tatalon, Manila. In From Marcos to Aquino: Local Perspectives on Political Transtion in the Philippines. B.J. Kerkvliet and R.B. Mojares., eds. Pp. 166-186. Honolulu, Hawaii: University of Hawaii Press.
Schaffer, Frederic C.
1997 Political Concepts and the Study of Democracy: The Case of Demokaraasi in Senegal. PoLAR: Political and Legal Anthropology Review 20(1):40-49.
Zappala, Gianni
1998 “Clientelism, Political Culture and Ethnic Politics in Australia”. Australian Journal of Political Science 33(3): 381-397.


[1] บทความชิ้นนี้เป็นผลส่วนหนึ่งของการ “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ซึ่งสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมไทยในปัจจุบัน งานวิจัยเสนอเบื้องต้นว่า การเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ความขัดแย้งในปัจจุบันยืดเยื้อ และไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยกรอบความเข้าใจการเมืองไทยแบบเดิมอีกต่อไป เนื่องจากแกนกลางของผู้กระทำการในกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ใน กลุ่มชนชั้นกลางระดับล่าง คนในต่างจังหวัด และคนในชนบท ความสนใจของงานวิชาการที่ศึกษาสังคมไทยในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องหันไปสู่การ ศึกษาชนบทกันอีกครั้งหนึ่ง ด้วยทุนวิจัยของสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนร่วมกับอภิชาต สถิตนิรามัย, นิติ ภวัครพันธ์ุ, วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, เวียงรัฐ เนติโพธิ์, จักรกริช สังขมณี และอนุสรณ์ อุณโณ เก็บข้อมูลทั้งในพื้นที่เฉพาะ และเปรียบเทียบข้ามพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยดัง กล่าว

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker