บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รวมฮิต′โพล′- 1 ปี′ปู′ สอบได้ VS สอบตก

ที่มา uddred

 มติชน 28 สิงหาคม 2555 >>>







ครบ 1 ปีของรัฐบาล ภายใต้การนำของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย

หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน นักวิชาการ และภาคเอกชน

ที่น่าสนใจ คือ "ความคิดเห็นของประชาชน" ที่สะท้อนผ่าน "โพล" หลากหลายสำนัก

ลองมาสำรวจดูว่า โพลแต่ละเจ้าสะท้อนความคิด ความเห็นของประชาชนอย่างไรบ้าง

เริ่มกันที่ "นิด้าโพล" ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ความพึงพอใจของประชาชน ต่อผลการดำเนินงาน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล" จากประชาชนทั่วประเทศ

พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อ 3 นโยบายของรัฐบาล ในรอบ 1 ปี อยู่ในระดับมาก อันดับ 1 คือการประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค อันดับ 2 การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด อันดับ 3 มหัศจรรย์ไทยแลนด์ และการประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นโยบายที่ประชาชนพึงพอใจในระดับปานกลาง คือนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้แก่ โครงการเงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท การจัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (เอสเอ็มแอล) กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดละ 100 ล้านบาท และการแก้ไขภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

สำหรับนโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจในระดับน้อย ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้

การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน อยู่ระดับปานกลาง เช่น พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกร รวมถึงผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท อย่างน้อย 3 ปี และลดภาษีรถยนต์คันแรก

ฟาก "สวนดุสิตโพล" ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยความคิดเห็นประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลรอบ 1 ปี พบว่า ประชาชนให้คะแนนความตั้งใจการทำงานของนายกฯ 6.95 จากเต็ม 10 และให้คะแนนผลงานนายกฯ 6.41 เต็ม 10 ส่วนความตั้งใจในการทำงานของคณะรัฐมนตรีทั้งชุด ให้ 6.25 เต็ม 10 คะแนน

ส่วนคะแนนผลงานยอดเยี่ยมอันดับ 1 คือ การแก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 35.58 อันดับ 2 คือ การขึ้นเงินเดือน/ค่าแรง ร้อยละ 26.76 และอันดับ 3 คือ การดูแลคนในสังคม เช่น สวัสดิการคนชรา ร้อยละ 17.75

สำหรับผลงานยอดแย่ อันดับ 1 คือ การแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง ร้อยละ 32.12 อันดับ 2 คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ร้อยละ 19.45 และอันดับ 3 คือ การแก้ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ร้อยละ 18.39

เมื่อจำแนกผลงานรายกระทรวง ประชาชนให้คะแนนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มากที่สุด 6.58 เต็ม 10 อันดับ 2 คือ กระทรวงสาธารณสุข 6.47 เต็ม 10 และอันดับ 3 คือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ 6.46 เต็ม 10

สำหรับกระทรวงที่ได้คะแนนต่ำสุดคืออันดับ 1 คือ กระทรวงพาณิชย์ 5.42 เต็ม 10 คะแนน อันดับ 2 คือ กระทรวงคมนาคม 5.56 และอันดับ 3 คือ กระทรวงมหาดไทย 5.59

ขณะที่ "เอแบคโพลล์" ของมหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ เปิดผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "ผลงานรัฐบาล ปัญหาชีวิตชาวบ้าน ต้นเหตุปัญหาสำคัญของชาติ การปรับคณะรัฐมนตรี และความปรองดองในสายตาประชาชน" โดยถามถึงผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดก่อน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 ระบุเหมือนเดิม ไม่แตกต่างกัน ขณะที่ร้อยละ 23.9 ระบุว่า ดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก และร้อยละ 19.3 ระบุแย่ลงถึงแย่ลงมาก

เมื่อถามถึงปัญหาในชีวิตประจำวันที่ประสบในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน เปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดก่อน พบว่า ร้อยละ 71.8 ระบุปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินเพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.5 ระบุความรุนแรงของปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.4 ระบุว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.1 ระบุปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 49.8 ระบุการใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ร้อยละ 46.7 ระบุการเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมในสังคม และร้อยละ 45.5 ระบุความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ประชาชน ตามลำดับ

เมื่อถามถึงต้นเหตุของปัญหาสำคัญของชาติ พบว่า ร้อยละ 93.3 ระบุมีข้าราชการที่ยอมรับใช้นักการเมืองเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัวเพิ่ม ขึ้น ร้อยละ 93.2 ระบุมีข้าราชการที่ยอมรับใช้นักการเมืองเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 92.5 ระบุมี ส.ส.มุ่งแย่งชิงอำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้องเพิ่มขึ้น ร้อยละ 91.5 ระบุมีข้าราชการที่ยอมรับใช้นักการเมืองมากกว่ารักษาทรัพย์สมบัติของประเทศ ชาติ ร้อยละ 91.2 ระบุมี ส.ส.ในสภาเข้ามาเพื่อหวังกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ร้อยละ 90.3 ระบุมี ส.ส.ยอมอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มนายทุน และร้อยละ 88.2 ระบุมี ส.ส.และกลุ่มนายทุนที่หวังจะบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติ

นอกจากนี้ ร้อยละ 64.7 ระบุว่ามีความจำเป็นต้องปรับคณะรัฐมนตรี ขณะที่ร้อยละ 35.3 ระบุว่ายังไม่จำเป็น เมื่อสอบถามถึงความหมายของคำว่า "ปรองดอง" พบว่า ร้อยละ 48.2 ระบุความปรองดองคือ บ้านเมืองสงบสุข ไม่มีเหตุวุ่นวาย ขณะที่รองๆ ลงไปคือ ร้อยละ 22.6 ระบุความปรองดองคือ การร่วมมือกันของทุกฝ่ายช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 11.9 ระบุความปรองดองคือ ใครผิดว่าไปตามผิด ทุกอย่างเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ร้อยละ 10.7 ระบุความปรองดองคือการยอมรับ การให้โอกาส และความเสียสละ และร้อยละ 6.6 ระบุความปรองดองคือการนิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกคดี ตามลำดับ

ส่วน "หาดใหญ่โพล" ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จ.สงขลา เผยผลสำรวจจากประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้

โดยภาพรวม โพลนี้ให้รัฐบาลสอบตกทุกหัวข้อ

อาทิ ความพึงพอใจในการบริหารงานโดยภาพรวมของรัฐบาล 4.43 คะแนน จาก 10 คะแนน ด้านการศึกษาได้คะแนนสูงสุด 4.62 คะแนน รองลงมาแก้ปัญหายาเสพติด 4.56 คะแนน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 4.52 คะแนน และด้านการท่องเที่ยว 4.50 คะแนน ส่วนด้านเศรษฐกิจมีความพึงพอใจ 4.13 คะแนน

การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 34.6 ไม่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 24.2 ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยผ่านการประชามติ และร้อยละ 18.0 ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยผ่านความเห็นชอบของสภาและการลงประชามติ ขณะที่ร้อยละ 45.9 เห็นว่า พ.ร.บ.ปรองดองทำเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับมามีอำนาจทางการเมือง และร้อยละ 24.9 ทำเพื่อกลุ่มคนเสื้อเหลือง-แดง

ขณะที่ "อีสานโพล" ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "เสียงสะท้อน ชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์" ประจำเดือนกรกฎาคม สำรวจภาคอีสาน 20 จังหวัด พบว่าภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ให้ผ่าน ร้อยละ 75.1 ไม่ผ่าน ร้อยละ 24.9.7 ด้านการเมืองและประชาธิปไตย ให้ผ่าน ร้อยละ 58.6 ไม่ผ่านร้อยละ 41.4 ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ให้ผ่านร้อยละ 52.9 ไม่ผ่านร้อยละ 47.1 ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ให้ผ่าน ร้อยละ 65.9 ไม่ผ่านร้อยละ 34.1 ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ให้ผ่านร้อยละ 59.9 ไม่ผ่านร้อยละ 40.1 ด้านการต่างประเทศ ให้ผ่านร้อยละ 80.9 ไม่ผ่านร้อยละ 19.1

เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน พบว่า แม้ครั้งนี้จะประเมินให้ผลงานแต่ละด้านผ่าน แต่ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ชาวอีสานกว่าร้อยละ 52.9 ประเมินว่าไม่ผ่าน (จากเดิมให้ไม่ผ่าน ร้อยละ 47.3) และผลงานบางด้านมีแนวโน้มลดลง โดยด้านการเมือง จากเดิมประเมินว่าผ่านร้อยละ 66.4 ลดลงเหลือร้อยละ 58.6

เมื่อถามความคิดเห็นว่า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคใด พบว่า ร้อยละ 43.8 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (จากเดิมร้อยละ 34.3) กว่าร้อยละ 36.7 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใด โดยมีผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 9.3

นักการเมืองที่มีผลงานโดดเด่นที่สุด นายกฯยังคงนำมาเป็นอันดับหนึ่งร้อยละ 39.2 (จากเดิมร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ร้อยละ 9.7

ส่วนปัญหาที่คนอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขมากที่สุด คือ ด้านเศรษฐกิจ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ปัญหาค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ค่าแรง และหนี้สิน โดยร้อยละ 56.4 เห็นว่า เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด รองลงมาคือปัญหายาเสพติด ร้อยละ 11.2

ผลโพลสำนักต่างๆ สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนแต่ละพื้นที่

รัฐบาลจะต้องนำมาประมวล รับฟังข้อดีข้อเสียเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงการทำงานในปีที่ 2 ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้น

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker