บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปาหี่ ICC "คดีเสื้อแดง 98 ศพความสิ้นหวังบนเวที ICC "

ที่มา Thai E-News




30 สิงหาคม 2555

โลกวันนี้ รายวัน
ปีที่ 13 ฉบับที่ 3368 ประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 30 สิงหาคม 2012
คดีเสื้อแดง 98 ศพความสิ้นหวังบนเวที ICC

“แม้นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน จะแนะนำถึงการยื่นเรื่องเพื่อขอให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ไต่สวนหาผู้กระทำความผิดจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 แต่เป็นช่องทางที่เหมือนไฟริบหรี่”

นั่นเป็นคำพูดของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของอาสาพยาบาล กมนเกด อัคฮาด ที่เสียชีวิตในการสลายการชุมนุม 19 พ.ค. 2553 ที่วัดปทุมวนาราม เป็นการส่งสัญญาณว่าเริ่มสิ้นหวังกับการให้ ICC รับเรื่องนี้เพื่อไต่สวนหาผู้สั่งการฆ่าประชาชน

การเดินทางไปกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหลักฐานข้อมูลเพิ่ม เติมต่อ ICC ของนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ล่วงเลยมากว่า 2 เดือนแล้ว แต่ปฏิกิริยาจาก ICC ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร เว้นแต่เปิดช่องให้ยื่นข้อมูลหลักฐานเพิ่มได้เท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะติดเงื่อนไขที่นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลเพื่อให้ ICC สามารถพิจารณาสำนวนคดีการสลายการชุมนุมได้

แม้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องทำการศึกษาเรื่องนี้ พร้อมให้คำมั่นว่าจะมีข้อสรุปเรื่องการรับรองเขตอำนาจศาลเสนอให้คณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้

แต่ก็เป็นการเทคแอ็คชั่นไม่ให้เสียคะแนนจากคนเสื้อแดงเท่านั้น

ความหวังของญาติผู้สูญเสียที่ฝันว่าจะเห็น ICC ไต่สวนเรื่องนี้จึงยังห่างไกลจากความจริง

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าปมปัญหาที่ทำให้ยังไม่สามารถยอมรับเขตอำนาจศาล ICC ได้เป็นเพราะ

1.ไทยได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ค.ศ. 1998 เมื่อปี พ.ศ. 2543 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม เนื่องจากจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติอนุวัติพันธกรณีของธรรมนูญกรุงโรมก่อนเพื่อให้ไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้

2.ไทยมีประเด็นอ่อนไหวที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งระบุถึงการไม่สามารถอ้างสถานะความเป็นประมุขของรัฐเพื่อไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามธรรมนูญกรุงโรม

ในขณะที่มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติถึงการละเมิดมิได้ และการไม่อาจกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ซึ่งมีสถานะเป็นประมุขของรัฐไม่ว่าในทางใดๆ

3.ขณะนี้การดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของไทยแล้ว ตามหลักกฎหมายของธรรมนูญกรุงโรม ICC มีเขตอำนาจในฐานะศาลที่เสริมเขตอำนาจในทางอาญาของรัฐในกรณีที่รัฐนั้นเป็นภาคีแล้ว จึงไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณาได้

ถึงแม้ข้อ 12 วรรค 3 ของธรรมนูญกรุงโรมจะระบุให้รัฐซึ่งมิได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมอาจยอมรับการใช้อำนาจศาลในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมที่เป็นปัญหาได้ โดยส่งมอบคำประกาศให้แก่นายทะเบียนของ ICC ก็ตาม

4.คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาการเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมมีความเห็นว่า การเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบในบางประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญและอ่อนไหว โดยเฉพาะข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรมเรื่องการไม่สามารถอ้างสถานะความเป็นประมุขของรัฐในการที่จะไม่ต้องรับผิดชอบทางอาญาตามธรรมนูญกรุงโรมจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง

เช่น ประมวลกฎหมายอาญาเพื่อเพิ่มฐานความผิดร้ายแรงทั้ง 4 ฐานตามธรรมนูญกรุงโรม ได้แก่ อาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์, ต่อมนุษยชาติ, สงคราม, การรุกราน ให้เป็นความผิดในประมวลกฎหมายอาญาของไทย, พระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527, พระราชบัญญัติว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 เพื่อให้รองรับพันธกรณีภายใต้ธรรมนูญกรุงโรมได้ครบถ้วนสมบูรณ์

สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนแสดงเจตจำนงให้มีผลผูกพันหรือให้สัตยาบันตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการที่จะให้ ICC รับไต่สวนกรณี 98 ศพ

โดยเฉพาะหัวใจสำคัญที่ดูเหมือนรัฐบาลไม่กล้าแตะ คือการอ้างว่าธรรมนูญกรุงโรมขัดกับมาตรา 8 วรรค 2 ของไทยที่ระบุว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆไม่ได้ โดยธรรมนูญกรุงโรมระบุว่า ถ้ากฎหมายภายในให้เอกสิทธิ์คุ้มกันบุคคลใดๆนั้นอ้างไม่ได้ในศาลอาญาระหว่างประเทศ

นี่คือเหตุผลว่าทำไมคดี 98 ศพ จึงยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ ICC เสียที แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว

การเอาผิดคนสั่งฆ่าประชาชนจึงเป็นเพียงโวหาร วาทะทางการเมือง เพื่อรักษาน้ำใจคนเสื้อแดงเท่านั้น

แม้แต่กระบวนการสอบสวนในประเทศที่มีการเรียกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เข้าให้ปากคำ

หรือการเรียก ส.อ.ศฤงคาร ทวีชีพ และ ส.อ.คชารัตน์ เนียมรอด ทหารสังกัด ม.พัน 5 สองทหารประจำจุดซุ่มยิง หรือสไนเปอร์ เข้าให้ปากคำ ก็ไม่มีความหวังใดๆกับการเอาคนสั่งฆ่ามารับโทษ

กระบวนการทั้งหมดส่อไปในทิศทางที่ว่าไม่ได้มุ่งเอาผิดใคร แต่เป็นการมุ่งไปสู่การปรองดอง รอมชอม หรือเกี๊ยะเซียะ เพื่อล้างผิดทุกฝ่ายด้วยการนิรโทษกรรมเสียมากกว่า
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=15924

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker