บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พงศาวดารอาเซียน ในแบบเรียนประวัติศาสตร์มัธยมไทย ตอนจบ

ความสัมพันธ์กับพม่า
ไม่ว่าแบบเรียนไหนก็ล้วนพบว่า พม่าเป็นชาติที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด พม่าเป็นชาติที่เป็นคู่สงครามมหายุทธกัน ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแล้ว เริ่มจากศึกเชียงกราน หัวเมืองมอญ (พ.ศ.2081) ต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาล่มไปแล้ว ตั้งกรุงใหม่ก็แล้ว ก็ยังทำสงครามพัวพันยืดเยื้อไปจนถึงสงครามครั้งสุดท้าย นั่นคือ สงครามเชียงตุง ในสมัยรัชกาลที่ 4 แม้ว่าในแบบเรียนประวัติศาสตร์จะเราเขียนถึงพม่ามากที่สุด ปรากฏในรูปของตัวบทที่เป็นคำบรรยาย ภาพประกอบที่เป็นตัวแทนทางประวัติศาสตร์ สื่อภาพผ่านอนุสาวรีย์ ละคร แสงสี เสียง ฯลฯ นั่นยิ่งตอกย้ำและทำให้เรารู้จักพม่าเพียงซีกเดียวเท่านั้น นอกจากคมหอก และกลิ่นดินปืนในสงครามระหว่างกันแล้ว เราแทบจะไม่มีฐานให้เห็นความเชื่อมโยงกันด้วยระบบเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกันเลย ทั้งยามสงบและยามสงคราม
ยังดีที่แบบเรียนของ พว.เริ่มมีการอธิบายถึงเหตุผลในการทำสงครามระหว่างกันบ้าง นั่นคือ หากมองจากฝ่ายอยุธยาก็คือ ชนวนสงครามก็คือการชิงเมืองเชียงกรานอันเป็นหัวเมืองมอญที่เป็นเมือง ยุทธศาสตร์ หากมองจากพงศาวดารพม่าก็คือ การชิงความเป็นจักรพรรดิราชตามคติพุทธศาสนา แต่ในมุมมองเศรษฐกิจ นี่อาจเป็นการแย่งชิงอำนาจเพื่อควบคุมเมืองทางสำคัญทางฝั่งเบงกอลตะวันออกxlix
อย่างไรก็ตาม ในแบบเรียนไม่ได้ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่คลี่คลายในยุคหลัง โดยเฉพาะการที่อูนุ นายกรัฐมนตรีของพม่าที่ได้ทำการขอขมาแทนคนพม่า ในกรณีที่มาร่วมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในปี 2500 หลังจากที่ไปเยี่ยมชมโบราณสถานที่กรุงศรีอยุธยาl ดังนั้นสิ่งที่ยังติดฝังความทรงจำของเราผ่านแบบเรียนเสมอมาก็คือ ความหยุดนิ่งของความเป็นศัตรูคู่แค้นสงคราม ทั้งที่สงครามนั้นเป็นสงครามระหว่างชนชั้นนำ ไม่ใช่การสร้างความบาดหมางกันในระดับไพร่ ชาวบ้าน ดังที่กระแสชาตินิยมอาศัยความรู้สึกนี้เป็นเชื้อเพลิง

ความสัมพันธ์กับเขมร
ผิดกับเขมรที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจำนวนมากบ่งบอกถึง อิทธิพลของเขมรที่มีต่อราชสำนักอยุธยา ในด้านความสัมพันธ์อารยธรรมเขมรเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคมาก่อน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่รัฐแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงหยิบยืมทั้งในด้านภาษา ราชาศัพท์ สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์จากราชสำนักเขมรli
แต่อย่างไรก็ตามมิติทางวัฒนธรรมนี้ กลับถูกเบียดบังด้วยประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างกัน จุดเริ่มต้นนั่นคือ การพูดย้อนไปถึงการปกครองของเขมรในยุคก่อนสุโขทัย การขับไล่เขมรออกจากดินแดนจึงเป็นการทำให้เห็นภาพชัดเจนของยุคเริ่มต้นของ ราชธานีแห่งแรก ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ตอกย้ำไปมากกว่านั้นก็คือ การปราบเขมรที่เคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ลงได้ในสมัยอยุธยาตอนต้น ในปี 1975 และทำให้เขมรต้องย้ายเมืองหลวง ในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองแล้วเขมรเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างสยามกับญวน ดังนั้นทั้งสองฝ่ายในยามเข้มแข็งก็พยายามที่จะมีอำนาจเหนือเขมรเสมอมา และนั่นก็ทำให้เขมรถูกแทรกแซงทางการเมืองจากทั้งสองรัฐ จึงไม่แปลกที่ราชสำนักเขมรเลือกที่จะรับไมตรี และโจมตีอยุธยาสลับกันไปมา แต่ทัศนคตินี้ไม่ถูกทำให้เห็นชัดเจนในแบบเรียน แต่มักจะเสนอข้อมูลที่ชี้ชวนให้เห็นว่า เขมรเป็นประเทศที่ไว้ใจไม่ได้ ความสัมพันธ์เช่นนี้เกิดขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ยังไม่นับมิติทางวัฒนธรรมที่มักจะปฏิเสธว่าเขมรในปัจจุบันเป็นคนละพวกกับ เขมรโบราณที่เคยมีอารยธรรมรุ่งเรือง ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนถึงการเหยียดหยาม และยกตนเหนือกว่าของคนไทยต่อเขมร

ความสัมพันธ์กับญวน
ญวนหรือเวียดนามในปัจจุบัน เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปที่ไม่มีอาณาเขตติดต่อ กับไทยในปัจจุบัน ในแบบเรียนได้บรรยายว่า ญวนเป็นประเทศคู่สงครามที่มีเขมรเป็นรัฐกันชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาlii สงครามที่รู้จักกันดีในยุครัตนโกสินทร์ ก็คือ อันนัมสยามยุทธในสม้ยรัชกาลที่ 3 liiiความ สัมพันธ์กับญวนจึงไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีอะไรต่อกันมากนัก แต่อาศัยเขมรเป็นสมรภูมิทางการเมืองระหว่างกันตั้งแต่จักรวรรดิอันเรืองรอง ของเขมรร่วงโรย

ความสัมพันธ์กับลาว
ปัญหาใหญ่ของแบบเรียนก็คือ การสร้างภาพให้ลาวล้านช้างตกเป็นของอยุธยาโดยเบ็ดเสร็จในสมัยสมเด็จพระ นเรศวร ในยามที่พม่าลดภาวะคุกคามในภูมิภาคลง ในแบบเรียนเสนอว่าทางเวียงจันทน์ยอมขึ้นกับอยุธยาในยุคนี้liv แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์เฉพาะเวียงจันทน์เช่นนี้ทำให้เกิดความตีความว่า ดินแดนลาวเคยเป็นของไทยมาอย่างเนิ่นนานแล้ว โดยเฉพาะการอ้างถึงภาษาตระกูลไท-ลาว เช่นเดียวกับที่ไทยมักจะอ้างกับคนต่างๆทั่วภูมิภาค เพื่อใช้อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ
ข้อมูลเช่นนี้ก่อความเข้าใจผิดมาถึงปัจจุบัน เพราะอยุธยาเองก็ไม่ได้มีอำนาจควบคุมลาวอย่างเบ็ดเสร็จเลยแม้แต่ในสมัย สมเด็จพระนเรศวร การครอบครองและมีอิทธิพลเหนือลาวที่รวมถึงดินแดนอีสานของไทยในปัจจุบันแทบ ทั้งหมด พึ่งเกิดขึ้นในสมัยธนบุรีต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ที่กินเวลาเพียงสองร้อย ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตามการนำเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอย่างพระแก้วมรกตมาไว้ ที่ดินแดนสยาม ก็เป็นการทำลายขวัญกำลังใจของลาวอย่างมาก ไม่นับว่าแบบเรียนไม่ระบุถึงวีรกรรมของกองทัพไทยที่เผาปล้นเวียงจันทน์ในปี 2360lv

ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู
หัวเมืองมลายูเป็นดินแดนที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางอำนาจ ทั้งในด้านระยะทางและทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อบริเวณนี้ได้รับอารยธรรมและศาสนาอิสลามเข้าไว้ด้วยแล้ว สิ่งหนึ่งเป็นแรงผลักดันทางการเมืองของรัฐสยามก็คือ ผลประโยชน์ทางการค้า นั่นทำให้สยามพยายามเข้าไปควบคุมดินแดนเหล่านี้ จึงปรากฏในแบบเรียนว่า เกิดความขัดแย้งสลับกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันตลอดมาlvi ตั้งแต่สมัยจารีตมาถึงต้นร้ตนโกสินทร์ ดังที่พบว่าหลังจากสงครามเก้าทัพ ก็ปรากฏว่า สยามได้ยกทัพที่เหลือไปปราบหัวเมืองมลายู และครั้งนี้เข้าไปจัดการแบ่งแยกเมืองให้อำนาจการปกครองตนเองด้อยลง ขณะที่กระชับอำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ มากขึ้น
ที่น่าสังเกตก็คือ ความขัดแย้งของหัวเมืองมลายูผิดกับความขัดแย้งอื่น นั่นคือ มันลงลึกไปถึงความเชื่อ ศาสนา ความเข้มแข็งของหัวเมืองมลายูไม่ได้อยู่ที่อำนาจที่เข้มแข็งของชนชั้นนำ ปกครองอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับเครือข่ายความสัมพันธ์ทางศาสนาและการเมืองด้วย ดังนั้นความขัดแย้งของสยามกับหัวเมืองมลายู จึงล้ำเส้นจากการทะเลาะกับชั้นนำด้วยกันเหมือนกับรัฐจารีตอื่นๆ ไปสู่หน่วยการเมืองระดับพื้นฐานด้วย

เงื่อนไขความสัมพันธ์และความขัดแย้ง
เงื่อนไขของสงครามในยุคจารีตนั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสังคมในยุคสมัยด้วย กาลเวลาช่วงนี้เป็นยุคที่อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือชนชั้นนำ และกษัตริย์ โลกทัศน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนภาคพื้นทวีปนั้นเป็นโครงสร้างที่ได้รับ อิทธิพลจากอินเดียนั่นคือ โลกทัศน์แบบพุทธ-ฮินดู ไพร่ กษัตริย์ ราชวงศ์และขุนนางเป็นผู้ปกครอง ขณะที่ไพร่และทาสเป็นคนใต้การปกครอง อาจถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าด้วย ในยุคนี้การเขียนประวัติศาสตร์แทบจะทั้งหมดให้ความสำคัญกับชนชั้นนำ ที่สถาปนาสถานะอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีศาสนาและนักบวชเป็นพันธมิตรเพื่อเครื่องมือสร้างความชอบ ธรรมและขับกล่อมสังคมให้อยู่อย่างสงบและเป็นเอกภาพ ดังนั้นจึงไม่แปลกว่า ผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ก็คือชนชั้นนำทั้งหลาย สงครามที่เกิดขึ้นแทบทั้งหมดเป็นมาจากความขัดแย้งของชนชั้นนำ
สำหรับยุคจารีตแล้ว ดินแดนที่แน่นอนตายตัวไม่ใช่เครื่องแสดงบารมีและความมั่งคั่งเท่ากับอำนาจ การควบคุมคน เราจึงพบการทำสงครามและกวาดต้อนเชลยไปมากกว่าที่จะยึดพื้นที่แล้วส่งคนไป ปกครองเพื่อขยายดินแดน นอกจากนั้นสิ่งสำคัญอีกประการก็คือ การเอาชนะกันด้วยการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ การทำลายล้างดังกล่าว ยังเป็นการยังไปสู่ ความเสื่อมของผู้มีบุญญาธิการด้วย ดังนั้นการปล้นชิงเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากดินแดนต่างๆมาเป็นของตนเองจึงเป็น เรื่องธรรมดาและเป็นการเสริมบารมีให้กับผู้ชนะสงครามเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้นการเผาทำลายเมืองที่ไม่ใช่เฉพาะพม่าเท่านั้นที่ทำกับกรุง ศรีอยุธยา แต่สยามยังเคยใช้วิธีนี้กับเวียงจันทน์ด้วย การกระทำเช่นนี้ก็เพื่อทำลายไม่ให้เมืองเป็นศูนย์กลางการปกครองและความ ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป
กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมันคือสงครามที่เกิดขึ้นจากชนชั้นนำที่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างไพร่ ทาส อันเป็นชนกลุ่มใหญ่ในสังคม ทั้งหมดนี้คือ การจัดความสัมพันธ์แบบรัฐจารีตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อุดมคติของพระเจ้า จักรพรรดิที่เป็นศูนย์กลาง ปัญหาก็คือ ในยุคปัจจุบันเรานำเอาโลกทัศน์ที่ตัวเองเป็นศูนย์กลางเช่นนี้มาใช้อธิบายตัว ตนของเราด้วย

ข. ความสัมพันธ์ต่อกันแบบรัฐชาติสมัยใหม่
ในพุทธศตวรรษที่ 24 ต่อ 25 จักรวรรดิจีนแบบจารีตได้หมดอำนาจลง และถูกแทนที่โดยความเฟื่องฟูของจักรวรรดินิยมตะวันตกแทน จักรวรรดิใหม่นี้มากพร้อมกับวิทยาการความก้าวหน้าในยุโรปทั้งในด้านระบบคิด การปกครอง วิทยาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อโลกทัศน์ของชนชั้นนำสยามเป็นอย่างสูง ในทางกลับกัน แบบเรียนมักทำให้เราตระหนกต่อภัยคุกคามจากตะวันตกมากกว่า ในตัวบทได้แสดงให้เห็นถึงทัศนะระแวงภัยตะวันตกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากดัทช์ หรือกระทั่งจากฝรั่งเศส ที่มีบทบาททางการเมืองอย่างสูง จนถึงกับยกย่องกษัตริย์อย่างสมเด็จพระเพทราชา เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถจะกำจัดอิทธิพลของฝรั่งเศส ตลอดจนชาติตะวันตกออกไปจากกรุงศรีอยุธยาได้lvii และแน่นอนว่าหลังจากยุคนี้แล้วความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับตะวันตกก็เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว
การก่อเชื้อดังกล่าวไว้กลับมาเชื่อมกับจุดเปลี่ยนสำคัญในยุครัฐชาติสมัย ใหม่ก็คือ ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส รวมไปถึงการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต การทำสนธิสัญญาฉบับต่างๆ แต่ที่เป็นรูปธรรมที่สุดและเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกที่สุดก็คือ ความทุกข์ระทมจากการเสียดินแดน ในแบบเรียนแสดง แผนที่แสดงการเสียดินแดน ตั้งแต่ปี 2410-2452lviiiผลิตซ้ำภาพตัวแทนของดินแดนที่สยามต้องสูญเสียไปและนี่เองที่ทำให้สยามที่สำนึกที่แตกต่างจากเพื่อนบ้านอื่นๆ
ประวัติศาสตร์เช่นนี้ได้สร้างความรับรู้ของชาติผ่านมุมมองของชนชั้นนำ แต่กลับสร้างความรู้สึกร่วมของคนในปัจจุบันได้มาก มีอย่างน้อย 2 ประการ นั่นก็คือ ความรู้สึกเจ็บปวดจากการสูญเสียดินแดน ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางออกในการบำบัดความเจ็บปวดนั้น ซึ่งก็คือ การสร้างสำนึกใหม่ในเชิงเปรียบเทียบ สิ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือ ความเชื่อที่ว่า ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครlix
หากเปรียบเทียบกับข้อเสนอทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นชี้เห็นว่า อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ต้องการจะยึดครองสยามทั้งหมดแต่ต้องการเหลือเป็น พื้นที่รัฐกันชนระหว่างกัน ดังนั้นการบำบัดตัวเองด้วยวิธีนี้จึงกลายเป็นการนำเอาตัวตนของชาติที่ดีเลิศ กว่า ไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ด้วยความสัมพันธ์ของชาติที่มีอิสรภาพ กับ ชาติที่เป็นเมืองขึ้น

เงื่อนไขความสัมพันธ์และความขัดแย้ง
เมื่อ 100 ปีที่แล้ว รัฐสยามปรับตัวสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ซึ่งนั่นหมายถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่มีระยะห่างของเหล่าหัวเมือง ประเทศราชให้มามีระยะที่ใกล้ชิดเพื่อที่จะควบคุมได้อย่างสะดวก ขณะที่ศึกอีกด้านหนึ่งก็คือ การต่อสู้ช่วงชิงทรัพยากรและดินแดนกับประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ในดินแดนหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้นนั่นเอง ไม่ว่าจะโดยวิธีทางการทูต หรือสงคราม หากมองในแง่นี้สยามจึงเป็นผู้เล่นหนึ่งในเกมแย่งชิงดินแดนเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้เสียดินแดนที่แท้จริง นั่นคือรัฐขนาดเล็กที่ถูกกลืน หรือกล่าวได้ว่าในแง่นี้ก็คือปฏิบัติการของจักรวรรดินิยมสยามนั่นเองlx เช่น หัวเมืองล้านนา หัวเมืองมลายู หัวเมืองทางอีสาน
ระบอบนี้มีรากฐานการทำลายศูนย์อำนาจท้องถิ่นให้อ่อนแอ จากการดึงดูดทรัพยากรเข้าส่วนกลางรวมถึงอำนาจทางการเมือง พร้อมไปกับการสร้างระบบการปกครองเพื่อควบคุมท้องถิ่นและให้บริการไปตาม อัตภาพ ทั้งยังปลูกฝังความผูกพันความจงรักภักดีให้ตรึงอยู่กับศูนย์กลางของระบอบโดย เฉพาะเจ้านายในหัวเมืองต่างๆ อาจกล่าวได้ว่าในช่วงนี้เองได้เกิดเหตุจลาจลเนื่องจากความไม่พอใจ จากนโยบายที่รัฐสยามได้ทำการรวมศูนย์อำนาจ อันส่งผลให้ท้องถิ่นต่างๆ สูญเสียผลประโยชน์แต่เดิมด้วย ปัญหาที่สั่งสมจนประทุออกมาอย่างสุดขั้วก็คือ กรณีปัญหาหัวเมืองมลายู ซึ่งกลายมาเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันนั่นเอง
ในยุคนี้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างประสบความยากลำบากของการครอบครองดินแดนของจักรวรรดินิยมตะวันตกlxi ได้แก่ อังกฤษที่ยึดครอง พม่า มลายู สิงคโปร์ บรูไน, ฝรั่งเศสที่ยึดครอง เวียดนาม กัมพูชา ลาว, ฮอลแลนด์ ยึดครองอินโดนีเซีย, สหรัฐอเมริกายึดครองฟิลิปปินส์ และโปรตุเกสยึดครองติมอร์ตะวันออก การเป็นผู้เล่นในสงครามแย่งชิงดินแดนนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่าในระบอบใหม่ที่ผูกอยู่กับกษัตริย์สยามนี้ ทำให้สยามไม่ได้ปกปิดถึงความพยายามยกระดับตัวเองมีฐานะที่ทัดเทียมกับประเทศ เจ้าอาณานิคมอื่นๆ อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ความพ่ายแพ้ในการแย่งชิงดินแดน ก็เป็นเพียงช่วงขณะแห่งความพ่ายแพ้ที่ขึ้นอยู่กับชนชั้นนำ หาใช่ประชาชนไม่

ค. ความสัมพันธ์ต่อกันแบบรัฐประชาชาติ-ประชาธิปไตย
การปฏิวัติสยาม 2475 น่าจะนำมาสู่ความคิดและความสัมพันธ์ที่เสมอภาค เท่าเทียมกัน มากกว่ายุคที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า สิ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรล้ำเส้นออกไปก็คือ การเน้นชาตินิยมชาติเชื้อไทยที่สืบเนื่องมาจากต้นกำเนิดชาตินิยมไทยในสมัย รัชกาลที่ 6 แบบเรียนได้เขียนไว้ว่า ในช่วงที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นรัฐบาลได้ปลุกกระแสชาตินิยมเรียกร้องดินแดนที่เคยเสีย ให้แก่ฝรั่งเศสจนเกิดปะทะกัน ในเวลาต่อมาญี่ปุ่นมาช่วยไกล่เกลี่ยทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ เป็นดินแดนของประเทศลาว และดินแดนเขมรบางส่วนกลับมา ไม่เพียงเท่านั้นหลังจากที่ไทยร่วมกับฝ่ายอักษะ และประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ไทยยังได้รับดินแดน 4 รัฐในมลายูพร้อมกับเชียงตุงด้วย แต่ในที่สุดหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้น ดินแดนดังกล่าวก็ต้องส่งกลับคืนไปสู่สถานะเดิมก่อนสงครามทั้งหมดlxii
ความสัมพันธ์ดังกล่าวยิ่งทำให้เห็นถึงบทบาทของไทยที่สร้างความตึงเครียด ให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว และกัมพูชาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ได้ระบุในแบบเรียนก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านในเวลาใกล้เคียงกัน นั่นคือความสัมพันธ์กับคณะราษฎรอีกฝ่ายหนึ่งที่นำโดยปรีดี พนมยงค์ ที่พยายามสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำไปสู่การปลดแอกจาก ประเทศเจ้าอาณานิคม โดยการปรึกษาหารือกับผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันตั้งสมาคมสหชาติ เอเชียอาคเนย์ ขึ้น เพื่อให้ประเทศอย่างเวียดนาม กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซีย จะได้รวมความเป็นเอกราชเข้าด้วยกันlxiii
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏว่าประเทศแทบทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ปลดแอกประเทศเจ้า อาณานิคมได้สำเร็จ ซึ่งแต่ละแห่งก็ใช้เครื่องมือทางการเมืองที่แตกต่างกันไป พร้อมๆไปกับการขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย กับ คอมมิวนิสต์กำลังเริ่มขับเคี่ยวกัน ในแบบเรียนแสดงให้เห็นถึงการเลือกข้างของรัฐบาลไทยที่อยู่กับฝ่ายแรกที่มี สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ โดยส่งทหารเข้าไปร่วมรบกับสงครามเกาหลีในปี 2493 ไปจนถึงการร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ (SEATO) ในปี 2497 และในปี 2505 ก็ได้มีการจัดตั้งสมาคมอาสา เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในหมู่ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์lxiv
ดังนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แทนที่ว่า วาระการปลดแอกตนเองจากประเทศอาณานิคมในภูมิภาคจะเป็นภาวะแห่งการเฉลิมฉลอง และสร้างความเข้มแข็งระหว่างกัน แต่กลับเป็นว่า กลายเป็นว่า อุดมการณ์ทางการเมือง ได้เปลี่ยนสนามทางวัฒนธรรม กลายเป็นสนามรบ ภูมิภาคนี้จึงถูกชักใยโดยมหาอำนาจทั้งและแยกเป็นสองค่าย สมรภูมิที่รู้จักกันดีชื่อว่า สงครามเวียดนาม เป็นสนามรบที่ก่อให้เกิดความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ในแบบเรียนได้ระบุว่า ไทยได้ลงนามสิ่งที่เรียกว่า ข้อตกลงถนัด-รัสก์ ในปี 2505 เพื่อเป็นสัญญาร่วมมือทางการทหาร ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในอินโดจีน และมีส่วนทำให้ไทยเข้าไปมีส่วนปฏิบัติการทางทหารในลาว กัมพูชาและเวียดนามlxv ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ไทยประกาศตัวเป็นศัตรูกับลาว กัมพูชาและเวียดนามโดยอ้อมนั่นเอง
แม้จะมีการจัดตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ขึ้นในปี 2510 แต่ก็เป็นเวทีเพื่อการรวมตัวของประเทศในค่ายเสรีประชาธิปไตยเป็นหลัก สมาชิกก่อตั้งได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ องค์กรนี้จึงไม่ผิดอะไรกับเสือกระดาษและของเล่นของการเมืองระหว่างประเทศ จนกระทั่งสงครามเย็นคลี่คลายด้วยการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ ในทศวรรษ 2530 ไทยได้เสนอให้จัดตั้งเขตการค้าเสรี เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค จากนโยบาย “แปรสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ในปี 2534 lxviซึ่งความสัมพันธ์ในเชิงบวกเช่นนี้กับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เน้นย้ำในแบบเรียนที่ผ่านมานัก

เงื่อนไขความสัมพันธ์และความขัดแย้ง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่ามีการปะทะกันของอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสองค่าย คือ โลกเสรีประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ การเมืองอุดมการณ์จึงขยายฐานไปยังระดับภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ในที่นี้คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสร้างภูมิภาคนี้ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการรวมประเทศในภาคพื้นทวีปและประเทศใน หมู่เกาะ ให้อยู่ในกรอบของพื้นที่เดียวกัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเกิดขึ้นมาในด้วยเหตุผลทางการเมืองในยุค สงครามเย็นโดยแท้ กว่าจะถึงทศวรรษ 2530 กล่าวได้ว่า ภูมิภาคนี้เป็นสมรภูมิสงครามเย็นที่ร้อนระอุอยู่ระหว่างเส้นขนานที่ 17 ณ ประเทศเวียดนาม ประเทศที่อยู่ฝ่ายโลกเสรี ก็ต่างกลายเป็นฐานทัพของกองทัพสหรัฐอเมริกา เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ และความตึงเครียดนี้นำไปสู่การตั้งอาเซียนดังที่ทราบกันดี สงครามอุดมการณ์นี้อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีใครเป็นปิศาจมากไปกว่าใครการทำลายล้างพลเรือนโดยมิได้ตั้งใจของกองทัพ ฝ่ายขวาอย่างอเมริกัน กับ การทำลายล้างชีวิตคนร่วมล้านของเขมรแดงในกรณีทุ่งสังหาร เป็นความหายนะของมนุษยชาติที่เราต้องจดจำ อย่างไรก็ตามการเดินหน้าสู่สันติภาพและเปิดตลาดค้าขายแก่กันในทศวรรษ 2530 จึงเป็นทางออกหนึ่งที่น่ายกย่อง
อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์แบบรัฐประชาชาติ-ประชาธิปไตยในกระแสหลักกว่า 80 ปีที่ผ่านมา ยังห่างไกลกับความเข้าใจถึงแนวคิดของความเสมอภาคระหว่างกันในดินแดน แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ อันเนื่องมาจากปัญหาแนวคิดแบบอาณานิคมสำหรับสังคมไทย และแนวคิดอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันในสงครามเย็นที่ยิ่งแยกฝ่ายออกอย่างชัดเจน จึงยังไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักที่อย่างน้อยสังคมไทยจะยอมรับความเสมอ ภาคระหว่างประเทศต่างๆในอาเซียน พอๆกับที่พวกเขา ยังถกเถียงอยู่ด้วยซ้ำว่า ความเสมอภาคทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ตารางที่ 3 แสดงการเปรียบเทียบเนื้อหาและลำดับเนื้อหาของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช (ท.ว.พ.) สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ (อจท.) และสำนักพิมพ์สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) พร้อมทั้งการ เปรียบเทียบหลักสูตรปี 2544 และ 2551

สำนักพิมพ์/ชั้นปี
เนื้อหาแบ่งตามหน่วยการเรียนรู้ (บท) ในแบบเรียนแต่ละเล่ม
... (เฉพาะ ม.1)
อจท. (.2-6) ปี 2544
อักษรเจริญทัศน์ (อจท.)
ปี 2551
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ปี 2551
.1
1) วิธีการทางประวัติศาสตร์และความเกี่ยวเนื่องของเวล
2) ความเป็นมาของชนชาติไทย
3) อาณาจักรสุโขทัย
4) ประเทศรอบบ้านของไทย
1) เวลาและการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์
2) วิธีการทางประวัติศาสตร์
3) สมัยก่อนสุโขทัยในดินแดนไทย
4) พัฒนาการของอาณาจักรสุโขทัย
5) พัฒนาการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
6) แหล่งอารยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1) ประวัติศาสตร์ กาลเวลา และวิธีการทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3) ความเป็นมาและการตั้งหลักแหล่งในดินแดนประเทศไทย
4) อาณาจักรสุโขทัย
.2
1) การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ในเอเชียและวิธีการทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการความเป็นมาของเอเชีย
3) พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของไทยสมัยอยุธยา
1) ความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการของอาณาจักรอยุธยา
3) พัฒนาการของอาณาจักรธนบุรี
4) ประวัติและผลงานของบุคคลสำคัญในการสร้างสรรค์ชาติไทย
5) ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีปเอเชีย
6) แหล่งอารยธรรมในทวีปเอเชีย
1) หลักฐานทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการของภูมิภาคเอเชีย
3) พัฒนาการของอาณาจักรอยุธยา
4) พัฒนาการของอาณาจักรธนบุรี
.3
1) การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์สากล ไทยและวิธีการทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการความเป็นมาของมนุษยชาติในภูมิภาคต่างๆของโลก
3) พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของไทยสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์
ไม่มีข้อมูล
1) วิธีการทางประวัติศาสตร์กับการศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
2) พัฒนาการของภูมิภาคต่างๆของโลก
3) พัฒนาการของชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์
4) บทบาทของชาติไทยในสมัยประชาธิปไตย
5)
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย

3.2 เครื่องมือแกะรอยพงศาวดารอาเซียน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แบบเรียนในปัจจุบันได้ออกแบบให้สะดวกต่อการอ่าน สบายตา และมีแทรกเสริมเครื่องมือต่างๆเพื่อการรับรู้ที่ง่ายขึ้น แต่ในความง่ายนั้นก็แฝงไปด้วยสารบางประการให้เราเสพอย่างไม่ระวังด้วย เครื่องมือในแบบเรียนใหม่ๆนี้ได้แก่ แผนที่, เส้นเวลา (Timeline) และภาพจำลองเหตุการณ์สำคัญ สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการรับรู้เพื่อนบ้านจากตัวตนของตนเอง
1) แผนที่
เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างภาพตัวแทนและถูกใช้มาอย่าง ยาวนาน ที่รู้จักกันดีก็คือ แผนที่ของทองใบ แตงน้อย ดังที่ ธงชัย วินิจจะกูลได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า แผนที่นี้ทำงานอย่างไรในฐานะที่แผนที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างตัวตนของ ประวัติศาสตร์ชาตินิยมและความเป็นไทยขึ้นมาlxvii ในแบบเรียนที่ทำการศึกษาอาจแบ่งตามยุคสมัย เราอาจเริ่มที่อาณาจักรโบราณก่อน แบบเรียนของ พว. แสดงให้เห็นอาณาจักรโบราณที่เกิดขึ้นก่อนสุโขทัย ได้แก่ อาณาจักรศรีเกษตร จักรมอญ พุกาม ทวารวดี ฟูนัน จามปา นามเวียด เขมร ล้านช้าง ศรีวิชัย รัฐบนเกาะชวาlxviii
แบบเรียนบางเล่ม ยังเสนอว่านอกจากสุโขทัยแล้ว ในเวลาใกล้เคียงกันมีรัฐอื่นๆกำเนิดขึ้นจำนวนมากก็ตามที่ร่วมสมัยกับอยุธยา ทั้งยังมีแผนที่ประกอบด้วยได้แก่ โยนกเชียงแสน ล้านนา ศรีโคตรบูร ศรีจนาศะ ล้านช้าง ละโว้ อโยธยา สุพรรณภูมิ นครศรีธรรมราชlxix อย่างไรก็ดี อาณาจักรสุโขทัย ในแบบเรียนมัธยมก็ยังกินพื้นที่หลักในฐานะราชธานีแห่งแรก ดังนั้นการปรากฏตัวของสุโขทัย จึงอยู่ในภาพของแผนที่มหาอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาล ภาพตัวแทนนี้จึงผนึกแน่นความทรงจำเกี่ยวกับสุโขทัยอันเป็นรูปธรรมพอๆกับ หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง งานเผาเทียนเล่นไฟ พระพุทธรูปและเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย
แผนที่แสดงอาณาเขตนอกจากเป็นจินตนาการถึงความจริงชุดหนึ่งไปเป็นข้อสนเทศ บนแผ่นกระดาษแล้ว มันยังเป็นเพียงการเลือกแสดงเสี้ยวหนึ่งของเวลาที่รัฐมีอำนาจไปถึง เนื่องจากว่า อำนาจที่เข้มแข็งของรัฐมักขึ้นอยู่กับระบบขนส่งและข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงการจัดการกำลังทหารที่มีประสิทธิภาพมากพอ สำหรับแผนที่อาณาจักรอยุธยา lxx ที่ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งก็คือ อาณาจักรอันเกรียงไกรของกษัตริย์นักรบอย่างสมเด็จพระนเรศวร ที่กินดินแดนหัวเมืองมอญ หงสาวดี เชียงตุง เชียงรุ้ง ล้านนา ล้านช้าง เขมร นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอาณาเขตที่กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา สร้างความอิ่มเอมใจอันเป็นเชื้อที่หล่อเลี้ยงอุดมการณ์ชาตินิยมให้เติบโตกัน ต่อไป
ที่น่าสนใจก็คือ แผนที่ในสมัยธนบุรีที่ตามประวัติศาสตร์แล้วเป็นการรวบรวมดินแดนจากอยุธยา กลับมา และยังสามารถผนวกดินแดนเพิ่มเติมได้อย่างกว้างขวางตามหลักของพระเจ้า จักรพรรดิราช แต่ก็พบว่าแบบเรียน อจท. มีเพียงแผนที่ชุมนุมทางการเมืองที่ปรากฏด้วยกลุ่มก๊กต่างๆlxxi ในทางกลับกันของ พว.lxxiiทำ ให้เห็นอาณาจักรธนบุรีที่กินดินแดนล้านนา ล้านช้าง เขมร หัวเมืองมลายู ขณะที่สมัยรัตนโกสินทร์ที่เต็มไปด้วยแผนที่รัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้รับสืบ ทอดมาจากสมัยธนบุรีlxxiii หรือกระทั่งแผนที่ระบุสมรภูมิและการเดินทัพในสงครามเก้าทัพ พ.ศ.2328 lxxivแผนที่ นี้ใช้อาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันเพื่อแสดงตำแหน่งการเดินทัพ ด้านหนึ่งก็เพื่อสื่อความหมายกับคนในปัจจุบัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นความลักลั่นของการกำหนดเขตแดนที่ยังไม่ ชัดเจนก่อนสมัยรัฐชาติที่ไม่สามารถระบุและกำหนดได้ตายตัว
นอกจากนั้นแผนที่ฉบับที่ถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการความรู้สึกสูญเสียของชาติอันใหญ่หลวงที่จับต้องได้จริง
ก็คือ แผนที่แสดงการเสียดินแดนให้กับจักรวรรดินิยมตะวันตก เหล่านี้คือการประมวลการใช้แผนที่เพื่อสร้างความรับรู้ตัวตนของชาติไทย ไปพร้อมๆ กับการขีดเส้นแบ่งตัวตนออกจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคพื้นทวีป


แผนที่แสดงดินแดนของประเทศไทย
ในยุคทองของกษัตริย์องค์ต่างๆ
แผนที่ของสำนักพิมพ์ อจท.


2) เส้นเวลา (Timeline)
เส้นเวลา (Timeline) เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับทำความเข้าใจลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์สำคัญ เป็นเทคนิคที่นำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มาย่อยให้ง่าย พบว่าในแบบเรียนรุ่นหลังถูกนำมาใช้บ่อยครั้งมากขึ้น อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้มีข้อจำกัดอยู่ที่เกณฑ์ในการเลือกเหตุการณ์ต่างๆมา บรรจุในเส้นเวลานี้ ในแบบเรียนพบว่ามีการใช้อธิบายเหตุการณ์ในหลายระดับ เช่น เส้นเวลาของอาณาจักร, เส้นเวลาของเหตุการณ์สงคราม, เส้นเวลาของประวัติชีวิตบุคคลสำคัญ อาจกล่าวได้ว่าเส้นเวลานี้ส่วนใหญ่ผูกอยู่กับชนชั้นนำ และการทำสงครามทั้งสิ้น
เส้นเวลาที่แสดงให้เห็นถึงสงครามระหว่างอยุธยากับพม่า 24 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2081-2310 lxxvเป็น ตัวอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งได้ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงปริมาณอย่างชัด แจ้ง น่าเสียดายที่ว่า แทบจะไม่พบการใช้เส้นเวลาในฐานะความสัมพันธ์นอกจากสงคราม ระหว่างสยามกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่ความสัมพันธ์ทางการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมยังมีข้อมูลอีกมาก

เส้นเวลา ที่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์ อจท.

3) ภาพจำลองเหตุการณ์สำคัญ
เพื่อความสมจริงสมจัง พบว่าแบบเรียนได้บรรจุภาพจำลองเหตุการณ์สำคัญlxxvi ภาพแทนดังกล่าวมักจะเป็นส่วนเสริมให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่อัดแน่นเต็ม ไปด้วยตัวอักษรมีความเป็นมิตรกับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นั่นคือ ภาพจากหนังสือโคลงภาพพระราชพงศาวดาร พร้อมบทขยายความและบทวิเคราะห์ที่เขียนตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 เป็นภาพที่เขียนขึ้นในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ซึ่งประกอบด้วยภาพที่บรรยายพระราชพงศาวดารถึง 92 เรื่องlxxvii ภาพที่ถูกใช้กันบ่อยในแบบเรียนก็คือ ภาพสมเด็จพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้างlxxviii การทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรlxxix สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตงฯlxxx สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมรlxxxi ฯลฯ ภาพเหล่านี้ถูกเขียนด้วยจิตรกรรมใส่กรอบกระจก ซึ่งไม่ใช่ขนบจิตรกรรมฝาผนังหรือจิตรกรรมบนสมุดไทยเหมือนเดิม แต่เป็นจิตรกรรมที่ใช้เพื่อจัดแสดงตามแบบจิตรกรรมตะวันตก อย่างไรก็ตามรูปแบบที่ผลิตออกมาโดยภาพรวมแล้วยังเป็นจิตรกรรมแนวประเพณีอยู่ ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้คนทั่วไปยังรับรู้ได้ถึงความรู้สึกเก่าแก่สมจริงของ ภาพ
ขณะที่ภาพพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราม พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเขียนในยุคหลังลงมาอีก ได้แสดงให้การเขียนจิตรกรรมสมัยใหม่ ที่ยึดการเขียนตามแบบตะวันตกที่เขียนให้แสงเงา ตามหลักทัศนียภาพแบบตะวันตก โดยเฉพาะการเขียนคนที่มีมัดกล้ามเทียบเคียงได้กับหลักกายภาพแบบตะวันตก การเขียนจิตรกรรมแบบนี้ แสดงให้เห็นพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรตั้งแต่ทรงพระเยาว์ไปจนถึงการ แห่พระบรมศพกลับมาจากพม่า แบบเรียนได้นำมาใช้ในหลายภาพเช่น ทรงประกาศอิสรภาพlxxxii ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชlxxxiii
 
หนังสือรวมโคลงภาพพระราชพงศาวดาร และภาพพระสุริโยทัยขาดคอช้าง

โบสถ์วัดสุวรรณดารามและจิตรกรรมฝาผนังตอนพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา

เครื่องมือเหล่านี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความจริง ชุดหนึ่ง ในขณะเดียวกันภาพตัวแทนทั้งหลายยังสร้างความทรงจำร่วมที่ไม่มิติ แบนราบทำให้เห็นแต่ความสัมพันธ์เฉพาะด้านความขัดแย้ง และการทำสงครามที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น

4. ส่งท้าย
ไม่ถึงกับมืดบอดทั้งสองข้าง เพียงแต่ว่า
ตามที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริได้ปรามาส ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการไว้ว่า “ถ้ารู้ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการตาบอดสองข้าง” นั้น อาจไม่ตรงกับลักษณะของแบบเรียนที่ผู้เขียนได้ศึกษาเท่าใดนัก เพราะด้านที่ก้าวหน้าของแบบเรียนนี้ก็ยังมีอยู่ เช่นเดียวกับซากความล้าหลังอันเป็นมรดกของความทรงจำร่วมของสังคมไทยที่ยัง ออกฤทธิ์อยู่ ร่วมไปกับข้อด้อยและปัญหาของแบบเรียนในปัจจุบัน
ความก้าวหน้าที่ค้นพบก็คือ เนื้อหาในหลักสูตรได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เป็น อย่างมาก เพื่อให้เป็นพื้นฐานการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นวิชาประวัติศาสตร์ก็ไม่เป็นเพียงแต่ประวัติศาสตร์ของไทยอย่าง เดียว มีการบทการเรียนรู้เชื่อมโยงกับภูมิภาคจากเล็กไปใหญ่ ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชีย และโลก นอกจากนั้นก็คือ เทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจขึ้นมากกว่าแบบเรียนในอดีต
สิ่งที่ยังมีปัญหาอยู่ก็อาจแบ่งได้คือ ในส่วนของโครงสร้าง แม้เนื้อหาแต่ละส่วนจะมีความน่าสนใจมากขึ้นแต่ ปัญหาอยู่ที่การไม่ได้บูรณาการบทต่างๆเข้าหากัน ไม่ว่าจะส่วนวิธีการทางประวัติศาสตร์, การเชื่อมโยงกับภูมิภาค และส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ไทย ราวกับว่าแต่ละหน่วยแยกกันเขียนอย่างอิสระตามทัศนคติของผู้เขียน ดังนั้นจึงพบข้อกังขาจำนวนมากที่เป็นคำถามอันลักลั่นกัน เช่น ข้อเขียนถึงประวัติศาสตร์สุโขทัยที่กล่าวรัฐขนาดกลางที่เติบโตพร้อมกัน แต่ในแผนที่ยังเป็นอาณาเขตของสุโขทัย หรือกรณีที่อธิบายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยท่าทีที่ระแวดระวังอคติ ระหว่างกัน แต่ในเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยกลับเน้นไปที่ความสัมพันธ์เชิงสงครามมากกว่าทำ ให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมในด้านอื่นๆ ในส่วนของเนื้อหา เช่น การที่ยังเชิดชูอาณาจักรสุโขทัยว่ามีความกว้างขวางมหาศาล, การสอนประวัติศาสตร์ที่ยังเน้นการสงครามระหว่างรัฐ และการเชิดชูบุคคลที่มีความเป็นชนชั้นนำอย่างเดียว
คำถามก็คือว่า ทุกวันนี้ที่สังคมไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนนั้น เราตั้งใจจะวางตำแหน่งแห่งที่ของตนอยู่ที่ไหน และเป็นใครในโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของคนจำนวนมากที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน จนก่อเหตุพิพาทขนาดย่อมผ่านสงครามออนไลน์ในเฟซบุ๊ค การเยาะเย้ยถากถางเพื่อนบ้านด้วยท่าทีขาดความเคารพกัน ผู้เขียนเห็นว่าความไม่เชื่อความเสมอภาคภายในประเทศ ย่อมส่งผลต่อเนื่องถึงความเชื่อความเสมอภาคกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านไป ด้วย
แบบเรียนประวัติศาสตร์ในสายตาของผู้เขียนจึงไม่ใช่เพียงแค่ เรื่องราวของว่านวงศ์คนแคบๆ ว่าทำอะไรไม่ทำอะไรในประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพระราชพงศาวดาร หรือพงศาวดาร โดยความหมาย แต่ควรจะเป็นการอธิบายถึงการกระทำของกลุ่มคนที่กว้างขวาง โดยการเคลื่อนย้ายคำอธิบายจากประวัติศาสตร์สงคราม มาสู่ ประวัติศาสตร์สังคมและประวัติศาสตร์ภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น ที่จะทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ดี นอกจากการเรียกร้องความเสมอภาค และความเห็นอกเห็นใจกันและกันแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญที่ไม่แพ้กันด้วยนั่นคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการส่งเสริมทัศนวิพากษ์ระหว่างกัน เพราะถึงแม้ว่าในสักวันหนึ่งจะมีแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ได้นักประวัติ ศาสตร์ชั้นยอดมาเขียนตำรา แต่เขาเหล่านั้นก็ล้วนมีจุดยืนและโลกทัศน์ที่แตกต่างกันออกไป การตั้งคำถามและสงสัยจึงเป็นการตรวจสอบความรู้นั้น ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอด โต้แย้ง หรือกระทั่งล้มล้างแนวคิดนั้นๆ เพราะว่าการเขียนประวัติศาสตร์นั้น ก็มีพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องไปกับยุคสมัยในตัวของมันเองอยู่ด้วย.

เชิงอรรถ
iนำ เสนอครั้งแรกในงานประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กับการชำระประวัติศาสตร์ไทยและเพื่อนบ้าน วันที่ 21 สิงหาคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
iiอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
iii ประชาไท. "เสวนาปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์ ถึงเวลาสามัญชนลุกยืนตัวตรง". http://prachatai.com/journal/2012/05/40703 (27 พฤษภาคม 2555)
iv ดูตัวอย่างได้ใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ . "สถานทูตมะกันวอนชาวเฟซฯ หยุดข่มขู่-หยาบคาย หลังโดนถล่มหนักแส่ ม.112 ". http://www.manager.co.th/Politics/Viewnews.aspx?NewsID=9540000159704 (15 ธันวาคม 2554) และ หนังสือพิมพ์ แนวหน้า . "เฟซบุ๊ค "ไอบ้า" โดนถล่มยับ ปล้นเหรียญทอง "แก้ว" ". http://www.naewna.com/sport/17954 (12 สิงหาคม 2555)
v สายพิณ แก้วงามประเสริฐ. "วิชาประวัติศาสตร์ไทยจะนำไทยไปอาเซียน ?" ใน มติชนออนไลน์. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1344931316 (14 สิงหาคม 2555)
vi หาก ผลงาน ชุมชนจินตกรรม(Imagined Community)ของเบน แอนเดอร์สันจะทำให้เราเห็นการก่อตัวของชาตินิยมอันตื่นตาตื่นใจทั่วโลกแล้ว ซี่รีย์ผลงานของธงชัย วินิจจะกูล อันเนื่องมาจาก Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation ก็เป็นข้อเสนอชาตินิยมไทยอันโดดเด่น ที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจการจัดการของภูมิศาสตร์และแผนที่ สำหรับการศึกษาความสัมพันธ์ของแบบเรียนที่มีผลต่อการหล่อหลอมพลเมืองของรัฐ เป็นสิ่งที่มีคนให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย ประเด็นที่ใกล้เคียงกับบทความนี้ที่สุดก็คือ ชุดงานวิจัยของ สุเนตร ชุตินธรานนท์และคณะอยู่ 2 เล่ม นั่นคือเล่มแรกที่ถูกตีพิมพ์ชื่อว่า ชาตินิยมในแบบเรียนไทย(2551) และเล่มที่ 2 คือ งานวิจัย โครงการไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน (2552) งานชิ้นแรกมองทำให้เห็นว่าเรามองเพื่อนบ้านอย่างไร ขณะที่ชิ้นที่สองทำให้เห็นว่าเพื่อนบ้านมองเราอย่างไร
vii "พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 119 ตอนที่ 128 ก, 31 ธันวาคม 2555, น.11-14
viii กระทรวง ศึกษาธิการ. "จำนวนนักเรียน นักศึกษา จำแนกรายชั้น รายสังกัด ประจำปีการศึกษา 2553" ใน ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ. http://www.moe.go.th/data_stat (16 สิงหาคม 2555)
ix ธิบดี บัวคำศรี. “กัมพูชาในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.202
x อ่าน เพิ่มเติมได้ใน บทที่ 5 การผลิตความหมาย “พื้นที่ประเทศไทย” เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทางความคิด ใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. การผลิตความหมาย "พื้นที่ประเทศไทย" ในยุคพัฒนา (พ.ศ.2500-2509) วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552
xi นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. “พม่าในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.98-99
xii กรกิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.155
xiii กรกิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552น.136 และ 157
xiv ชาญ วิทย์ เกษตรศิริ. พม่า : ขบวนการนักศึกษากับประวัติศาสตร์อันระทึกใจ(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2533, น.87-88
xv ทัก ษ์ เฉลิมเตียรณ เขียน พรรณี ฉัตรพลรักษ์และคณะ แปล. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จ การ(กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2548, น.284-285
xvi ดี.จี.อี. ฮอลล์. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2549, น.825-833
xvii กระทรวง มหาดไทยตั้งเป้าจะอพยพประชาชนไทยพุทธให้ได้จำนวนสมดุลกับไทยอิสลามต้องอพยพ ประมาณ 80,000 ครอบครัว หรือประมาณ 400,000 คน ใช้พื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่เศษในจังหวัดสตูล ยะลา และนราธิวาส ดูใน“ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 16/2509 วันที่ 19 เมษายน 2509 เรื่องที่ 16 เรื่อง การอพยพประชาชนจากภาคต่างๆ ไปทำกินใน 4 จังหวัดภาคใต้” ดูใน สบ.5.1.1/416
xviii คำพิพากษาของศาลโลก แยกออกเป็น 3 ประเด็นคือ
ตุลาการออกเสียง 9 ต่อ 3 ลงความเห็นว่า “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา”
 
โดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ว่า “ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือ ในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา”
 
โดยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ว่า “ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชาซึ่งเจ้าหน้าที่ ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหารเมื่อ ค.ศ.1954
 
ดูใน กระทรวงต่างประเทศ, แปล. คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศคดีปราสาทพระวิหาร(พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี), 2505, น.51-52
xix กรกิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.138
xx "ไทยวัฒนาพานิช ราชสีห์เขี้ยวหักแห่งวังวนสนธยา " ใน นิตยสารผู้จัดการ (กรกฎาคม 2531) ตีพิมพ์ออนไลน์ใน http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=31242 (18 กันยายน 2555)
xxi นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. “พม่าในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.121
xxii นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. เรื่องเดียวกัน, น.99
xxiii นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. เรื่องเดียวกัน, น.101
xxiv นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. เรื่องเดียวกัน, น.107
xxv นิตยาภรณ์ พรมปัญญา และมาโนช พรหมปัญโญ. เรื่องเดียวกัน, น.108
xxvi อดิศร หมวกพิมาย. "นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า" ใน ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. สถาบันพระปกเกล้า (6 ตุลาคม 2554 )
xxvii กรกิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.148
xxviii "ไทยวัฒนาพานิช ราชสีห์เขี้ยวหักแห่งวังวนสนธยา " ใน นิตยสารผู้จัดการ (กรกฎาคม 2531) ตีพิมพ์ออนไลน์ใน http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=31242 (18 กันยายน 2555)
xxix กร กิต ชุ่มกรานต์. “ลาวในแบบเรียนของไทย” ใน ชาตินิยมในแบบเรียนไทย, 2552, น.150 อย่างไรก็ตามจากการบรรยายในวันที่ 21 สิงหาคม 2555 มีผู้ฟังท่านหนึ่งให้ข้อมูลว่า เคยมีการสอนวิชาประวัติศาสตร์มาก่อนแล้วในช่วงปี 2518 ผู้เขียนจึงค้นคว้าเพิ่มเติมจึงพบว่า มีแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่เช่นกันได้แก่ หนังสือชุดประวัติศาสตร์มัธยมศึกษาปีที่ 4, หนังสือชุดประวัติศาสตร์มัธยมศึกษาปีที่ 5, และ หนังสือชุดประวัติศาสตร์มัธยมศึกษาปีที่ 6, 2496,หนังสือประกอบการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, 2514, แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์สำหรับมัธบยมศึกษาปีที่ 1 (ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ.2503) , 2518
 
แต่ผู้เขียนเห็นว่า ยังไม่สามารถปฏิเสธหรือยอมรับได้ขณะนี้ว่า การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่มีนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และเริ่มเรียนอย่างครอบคลุมทุกชั้นปีหรือไม่ ที่ชัดเจนก็คือว่า แบบเรียนดังกล่าวอยู่ในการศึกษาก่อนระบบ 6-3-3 ที่เริ่มต้นในปี 2521 ซึ่งหมายความว่าโครงสร้างยังมีความลักลั่นและไม่เป็นเอกภาพกันอยู่
xxx "100 อันดับ หนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาล !!! (รวบรวมถึงปี 2552) ". http://www.siamzone.com/board/view.php?sid=1505087 (5 เมษายน 53)
xxxi มาตรฐาน ส 4.1 เข้าใจความหมาย ความสำคัญของเวลา และยุคสมัยของประวัติศาสตร์ สามารถใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล มาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆอย่างเป็นระบบ
 
มาตรฐาน ส 4.2 เข้าใจพัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในแง่ความสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงความสำคัญและสามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น”
 
มาตรฐาน ส 4.3 เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความภาคภูมิใจและธำรงความเป็นไทย
ในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 ก็สามารถดูได้ใน วิชาการ, กรม, กระทรวงศึกษาธิการ. สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่ม
 
สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)), 2545, น.22-24 และดูเพิ่มเติมได้ในรวิวรรณ ภาคพรต, บรรณาธิการ. เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ครู แนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์(กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ), 2554
xxxii เคย มีการจัดทำหนังสือประกอบการสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น นิธิ เอียวศรีวงค์ และ อาคม พัฒิยะ. หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย(กรุงเทพฯ : บรรณกิจ), 2525 และ สุจิตต์ วงษ์เทศ, ศรีศักร วัลลิโภดม และ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. หนังสือคู่มือครูสังคมศึกษารายวิชา ส 021 หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, พิมพ์ครั้งที่ 8), 2534.
xxxiii ผ่องศรี จั่นห้าวและคณะ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและ
วัฒนธรรม สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ช่วงชั้นที่ 3 มัธยมศึกษาปีที่ 1-3) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544, กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2546
xxxiv ประชาไท. "พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 11 สิงหาคม 2551. http://prachatai.com/journal/2008/08/17689 (12 สิงหาคม 2551)
xxxv ASTVผู้จัดการออนไลน์. "“สมชาย” สนองพระราชเสาวนีย์รื้อวิชาประวัติศาสตร์". http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9510000095629 (13 สิงหาคม 2551)
xxxvi ASTVผู้จัดการออนไลน์. "“สมชาย” สนองพระราชเสาวนีย์รื้อวิชาประวัติศาสตร์". http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9510000095629 (13 สิงหาคม 2551)และ มติชนออนไลน์. "ศธ.ยกเครื่องวิชา"ประวัติศาสตร์" ไทยเรียนน้อยกว่าเขมร". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1218627767 (13 สิงหาคม 2551)และ มติชนออนไลน์. "กศน.ฟื้นประวัติศาสตร์สนองพระราชเสาวนีย์"ราชินี"". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1219234417 (20 สิงหาคม 2551)
xxxvii คำ สั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ 293/2551 เรื่อง ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2551
xxxviii Youtube. "คนลาวด่าคนไทย". http://www.youtube.com/watch?v=l1wtTD13lY8 (17 มีนาคม 2554)
xxxix มติชนออนไลน์. "นานาชาติตะลึงไทยถอนตัวภาคี "มรดกโลก" สุวิทย์ทวีต "ไม่มีประโยชน์ที่เราจะอยู่ในสังคมแบบนี้"". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1309022254 ( 26 มิถุนายน 2554)
xl มติชนออนไลน์. ""อองซาน ซูจี"เยือนมหาชัยฟังปัญหาแรงงานพม่า ย้ำให้เกียรติประเทศไทย" http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1338354567 (30 พฤษภาคม 2555)
xli ASTVผู้ จัดการออนไลน์. "“พัลลภ” ชี้ไฟใต้สงครามกองโจร แฉโจรใช้ “อินโดฯ” ฝึกอาวุธ 8 เดือน-ทบ.โยนเคอร์ฟิวให้ มทภ.4 ตัดสินใจ". http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000096511 (6 สิงหาคม 2555)
xlii ผ่อง ศรี จั่นห้าวและคณะ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 1-3) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช), 2546, น.209-221
xliii วง เดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ), ม.ป.ป., น.31-73
xliv ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์), ม.ป.ป., น.150
xlvธง ชัย วินิจจะกูล. "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยใน ปัจจุบัน," ศิลปวัฒนธรรม 23:1 (พฤศจิกายน 2544): 56-65.
xlviอาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์. รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์ ศรีรามเทพนคร (กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2), 2545, น.19-21
xlvii ธง ชัย วินิจจะกูล. “ประวัติศาสตร์การสร้างตัวตน” ใน อยู่เมืองไทย : รวมบทความทางสังคมการเมือง เพื่อเป็นเกียรติแด่ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ในโอกาสอายุครบ 60 ปี(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2530, น.158-164
xlviii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.95 และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.129-130 เราสังเกตพบข้อเขียนบางตอนที่ตระหนักถึงข้อจำกัดนี้เช่นกัน
xlix วง เดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ), ม.ป.ป., น.129
l “ประมวลข่าว” ใน การพระศาสนาภาค5 , 6 , 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2500) : 53-54
li ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, พิมพ์ครั้งที่3), ม.ป.ป., น.39-40
lii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.39-40
liii วง เดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กรุงเทพฯ : บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ), ม.ป.ป.,น.133
liv วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.127-128
lv มา ร์ติน สจ๊วต-ฟอกซ์, จิราภรณ์ วิญญรัตน์ และคณะแปล. ประวัติศาสตร์ลาว (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2553, น.21
lvi วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.128
lvii ณรงค์ พ่วงพิศและคณะ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม : ประวัติศาสตร์ ม.2 ช่วงชั้นที่ 3 (กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, พิมพ์ครั้งที่ 17), 2552, น.44-48 และ 99
lviii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ, น.137-142
lixธง ชัย วินิจจะกูล. "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยใน ปัจจุบัน," ศิลปวัฒนธรรม 23:1 (พฤศจิกายน 2544): 59-60
lx ธง ชัย วินิจจะกูล. "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยใน ปัจจุบัน," ศิลปวัฒนธรรม 23:1 (พฤศจิกายน 2544): 60-61
lxi ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.140
lxii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ,น.143-145
lxiii ส.ศิว รักษ์. "60 ปีแห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย" บรรยายในงานฉลอง 60 ปี วันสันติภาพไทย ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2547 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. http://prachatai.com/journal/2005/08/5285 (17 สิงหาคม 2548)
lxiv วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ,น.157
lxv วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ,น.158
lxvi วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ, น.160
lxvii อ่าน เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องรัฐชาติ เขตแดนและแผนที่สมัยใหม่ที่เพิ่งก่อตัวเมื่อ 100 กว่าปี ได้ใน ธงชัย วินิจจะกูล. “ประวัติศาสตร์การสร้างตัวตน” ใน อยู่เมืองไทย : รวมบทความทางสังคมการเมือง เพื่อเป็นเกียรติแด่ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ในโอกาสอายุครบ 60 ปี(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2530
lxviii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.40-55
lxix วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.1 ฯ, น.103-110 และ 121
lxx ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.38
lxxi ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.69
lxxii วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.133
lxxiii ณรงค์ พ่วงพิศและคณะ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม : ประวัติศาสตร์ ม.3 ช่วงชั้นที่ 3, น.131
lxxiv วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ, น.135
lxxv มี บทความศึกษาเปรียบเทียบการเล่าเรื่องสมเด็จพระนเรศวร ผ่านภาพตัวแทนและมีการยกตัวอย่างจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร และจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราม ใน วารุณี โอสถารมย์. “เมื่อประวัติศาสตร์ชาติ เล่าเรื่องผ่านชีวิตประจำวัน จากกรณีเรื่องเล่าพระนเรศวรในภาพเขียน” ใน หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์12 (มิถุนายน 2551-พฤษภาคม 2552)
lxxvi ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.40
lxxvii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.40
lxxviii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.93และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.129
lxxix ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.50
lxxx ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.39
lxxxi ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.110 และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.3 ฯ,น.91
lxxxii ณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.50และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.130
lxxxiiiณรงค์ พ่วงพิศและวุฒิชัย มูลศิลป์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.96และ วงเดือน นาราสัจจ์และชมพูนุท นาคีรักษ์. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.2 ฯ, น.130

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker