บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

20ปีรสช. สถาบันกษัตริย์กับรัฐประหาร

ที่มา Thai E-News



สถาบันฯกับการรัฐประหาร-การรัฐประหาร19กันยายน2549ก็เช่นเดียวกับรัฐประหาร23กุมภาพันธ์2534และทุกครั้ง คือกองทัพอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ เป็นหัวใจหลักของการทำรัฐประหาร ข้ออ้างอันอัปลักษณ์นี้ยังจะดำรงอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกนานแค่ไหน..?


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
23 กุมภาพันธ์ 2554

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ การหยิบยกสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายปฏิปักษ์การเมืองมีมาตลอด นับแต่คราวรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 ก็นำเรื่องคดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 เป็นเหตุอ้างสำคัญ ในการรัฐประหารปี 2500 ก็มีหลักฐานว่า เพราะจะมีการรื้อฟื้นคดีลอบปลงพระชนม์ใหม่ ในเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนในเดือนตุลาคม 2516 ก็มีการใส่ความว่าพันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอมมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นประธานาธิบดีคนแรก ในเหตุการณ์นองเลือดเดือนตุลาคม 2519 ก็มีการใส่ความนักศึกษาฝ่ายซ้ายว่าเล่นละครแขวนคอดูหมิ่นรัชทายาท..กรณีรัฐประหาร19กันยายน2549 หรือรสช.23กุมภาพันธ์2534ก็อยู่ในลักษณ์เดียวกัน

ทั้งหมดนี้ถูกพิสูจน์ภายหลังว่าเหลวไหลทั้งเพ




ปากคำเหยื่อรัฐประหาร23กุมภาพันธ์:ผมเรียก'เด็จยายทุกคำ

"ผมชาไปทั้งใบหน้า และชาไปทั้งตัว เมื่อได้ยินเสียงประกาศการทำรัฐประหารจากปากของคณะรสช. พ่อผมเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ทราบแต่ว่าคณะรัฐประหารควบคุมตัวเอาไว้ที่กองทัพอากาศ ส่วนผมขับรถตระเวณไปเรื่อยๆในกรุงเทพฯ คิดถึงชะตากรรมของตัวเอง แต่ที่หนักหนาที่สุดคือชะตากรรมของประเทศชาติ"
ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ "อาจารย์โต้ง"กล่าวภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 23 กุมภาฯไม่นานนัก เขามีแววตาตั้งคำถามมากมายในระหว่างที่หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ทำรัฐประหาร23กุมภาพันธ์ 2534


"ผมอับอายขายขี้หน้าชาวโลก จนไม่รู้จะตอบคำถามสื่อมวลชนตะวันตกในเวลานั้นอย่างไรดี มันเป็นไปไม่ได้เลยในโลกยุคพ.ศ.นั้นที่จะเกิดการทำรัฐประหารยึดอำนาจขึ้นมาได้อีก รัฐบาลพ่อของผมกำลังนำประชาธิปไตยมาปักหลักในประเทศนี้ รัฐบาลกำลังพัฒนาเศรษฐกิจ อาจมีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ แต่เราก็กำลังทำกันอยู่"
ดร.ไกรศักดิ์ ซึ่งเวลานั้นมีอีกหมวกใบหนึ่งเป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ซึ่งเวลานั้นมีด๊อกเตอร์หนุ่มสมองไบรต์และห้าวสุดขีด อย่างดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของทีม และเป็นสายล่อฟ้า มีเรื่องระหองระแหงกับผู้นำกองทัพอยู่เป็นระยะ

"เชื้อไฟของการรัฐประหารเริ่มต้นจากสือมวลชน ไทยรัฐซึ่งเปิดธุรกิจผับกลางคืนอยู่ อาจเปิดเกินกว่ากฎหมายกำหนด คุณเฉลิม(เฉลิม อยู่บำรุง เวลานั้นเป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ)เข้าไปเข้มงวดกวดขันมาก ทำให้ไทยรัฐตอบโต้คืนด้วยการโจมตีว่ารัฐบาลพ่อผมเป็นบุฟเฟ่ต์ คาบิเนต โจมตีเรื่องคอรัปชั่น ทั้งที่รัฐบาลทำเรื่องก้าวหน้าตั้งมากอย่างนโยบายอินโดจีน เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แต่เราก็ให้เสรีภาพกับสื่ออย่างมาก เราสนับสนุนให้ยกเลิกประกาศปร.42ที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่ก็กลับกลายมาเป็นอาวุธทิ่มแทงเราเสียเอง ไทยรัฐซึ่งมีอิทธิพลมากในเวลานั้นเขียนว่า หากใครต้องการการปฏิวัติ ก็ให้เขียนจดหมายเข้ามาซัก1ล้านฉบับ"
อดีตหัวหน้าทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯเล่าชนวนเหตุการรัฐประหารครั้งนั้น

ซึ่งดูไม่ต่างไปจากรัฐประหาร 19 กันยายน2549 นัก นั่นคือพวกสื่อที่เสียประโยชน์จากรัฐบาลทักษิณเป็นผู้ก่อชนวนขึ้นมา

"เรื่องคอรัปชั่นนั้นเป็นเงื่อนไขโดยทั่วไปที่กองทัพมักอ้างเป็นเหตุของการรัฐประหาร แต่ที่ผมยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิงก็คือการหยิบยกเอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเงื่อนไขสำคัญ จะเป็นไปได้อย่างไรว่ารัฐบาลไม่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ คนไม่รู้หรอกหรือว่าแม่ผม(ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ)เคยอยู่รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จย่า ผมตอนเด็กๆก็เข้าไปวิ่งเล่นในวังของท่าน ยังเรียกท่านว่าเด็จยายๆอยู่เลย"
ไกรศักดิ์มีแววตาที่ขมขื่นเมื่อกล่าวถึงตอนนี้

ความผิดพลาดของรัฐบาลพลเรือนคือประเมินกองทัพผิด

ก่อนหน้านั้นไม่นานกองทัพที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้นำ ซึ่ง"บิ๊กจิ๋ว"นั้นชัดเจนว่าเป็นทหารการเมือง เขาใช้ทรัพยากรกองทัพเปิดโครงการอีสานเขียว เพื่อสร้างความนิยมในภาคอีสาน และต่อมาประกาศตั้งพรรคความหวังใหม่ แต่ก็ถูกจปร.5ทหารรุ่นน้องโจมตีว่าไม่น่าไว้ใจ เพราะพลเอกชวลิตเผลอพูดเรื่อง"สภาเปรซิเดียม"

จนถูกนักการเมืองอนุรักษ์นิยมอย่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชตั้งคำถามแรงๆว่า"แล้วจะเอาในหลวงไปไว้ที่ไหน เมื่อมีสภาเปรซิเดียม!"

มวลชนของพลเอกชวลิตในเวลานั้นใต้การนำของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร แห่งสภาปฏิวัติดูก้าวล้ำมวลชนมากไป ขาดฐานมวลชนสนับสนุน แม้จะแรงถึงขั้นที่นักศึกษาแนวร่วมจากรามคำแหงคือธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ จุดเพลิงเผาตัวตายเพื่อขับไล่รัฐบาลชาติชายออกไป และเรียกร้องหา"การเมืองใหม่"ในยุคนั้นคือให้เกิดสภาปฏิวัติ แต่ก็ไม่ก่อผลสะเทือนใดๆต่อรัฐบาล

เมื่อบิ๊กจิ๋วออกมาตั้งพรรคความหวังใหม่ รัฐบาลชาติชายได้ตั้งจปร.รุ่น 5 นำโดยพลเอกสุจินดาขึ้นยึดกุมกองทัพทั้งแผง พลเอกสุจินดาถูกชื่นชมจากสื่อมวลชนว่าฉลาดปราดเปรื่องกว่าบิ๊กจิ๋วเสียอีก ที่สำคัญเขาไม่ใช่ทหารการเมือง

"เราประเมินเขาผิดพลาดจริงๆที่คิดว่าสุจินดาเป็นนายทหารอาชีพต่างจากพลเอกชวลิต"
ไกรศักดิ์กล่าวหวนรำลึก...

ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากพันตำรวจโททักษิณนักที่ไปคว้าเอาพลเอกสนธิ บุณยะรัตกลินขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพ เพราะเห็นว่าเขาเป็นมุสลิมที่อาจช่วยเยียวยานโยบายที่ผิดพลาดจากกรณีตากใบและกรณีกรือเซะห์ได้ และเห็นว่า"บิ๊กบัง"นั้นไม่ใช่ทหาร"การเมือง"

คดีลอบสังหารบุคคลสำคัญชนวนยึดอำนาจ

คณะรสช.นำภาพการสารภาพของพันเอกบุลศักดิ์ โพธิเจริญ ส.ส.พรรคพลังธรรม ลูกพรรคของพลตรีจำลอง ศรีเมืองว่าพัวพันกับคดีลอบสังหารบุคคลสำคัญออกฉายวนไปเวียนมาทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในช่วงวันแรกๆของรัฐประหาร23กุมภาฯ เพื่อโฆษณาให้ประชาชนเห็นถึงความจำเป็นในการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่ประชาชนเลือกมา

ซึ่งไม่จำกัดเพดานอยู่ที่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้นำกองทัพ กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังก้าวล่วงไปถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถอีกด้วย

"คดีลอบสังหาร"นั้นมีพลตำรวจเอกบุญชู วังกานนท์ ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนจปร.5รุ่นเดียวกับผู้นำรสช.คือพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นคนทำคดี มุ่งเป้าไปที่นายทหารจปร.7ที่มีพลตรีมนูญ รูปขจร พลตรีจำลอง ศรีเมือง พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี เป็นแกนนำ ส่วนพันเอกบุลศักดิ์ โพธิเจริญ เป็นสมาชิกรุ่นจปร.7

คดีนี้จับจุดเอาภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมษาฮาวาย(1-3เมษายน2524)ของจปร.7ต่อรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ล้มเหลวลง ทั้งที่มีกองกำลังมากกว่า ว่ากันว่าเพราะมีสตรีสูงศักดิ์มากเป็น"บุคคลสำคัญ"เข้าขัดขวางการรัฐประหาร และอุ้มชูพลเอกเปรมให้ครองอำนาจต่อมาอีก8ปี

ฝ่ายจปร.7อ้างว่าเมื่อพวกตนยอมแพ้ตามที่"คุณขอมา"แล้ว แทนที่จะได้รับการปฏิบัติตามสัญญาลับๆว่าจะไม่เอาผิด และให้กลับเข้ารับราชการ กลับเจอปลดพลตรีมนูญกลายเป็นนายมนูญ ส่วนพันเอกพัลลภ(ยศขณะนั้น)หนีไปทำไร่ที่ภาคอีสานก็ยังถูกลอบสังหาร จึงมีปฏิบัติการเอาคืนบ้าง จนเกิดกรณีที่เรียกว่า"คดีลอบสังหารบุคคลสำคัญ" แต่นายทหารจปร.7อ้างว่า ก็จำกัดอยู่ที่บุคคลระดับสามัญชนเท่านั้น

นายมนูญกลับมาก่อรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 9 กันยายน2528 แต่ล้มเหลวเป็นคำรบสอง ต้องหนีไปต่างประเทศ ต่อมาได้รับการคืนยศและก้าวเป็นพลตรีในยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ทำให้จปร.5หวาดระแวงว่ารัฐบาลชาติชายจะใช้มนูญมาคานอำนาจ หรือสั่นคลอนพวกตน

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ขณะที่พลเอกชาติชายจะบินไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่เชียงใหม่ ก็ถูกทหารอากาศ ลูกน้องของบิ๊กเต้-พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล จับกุมตัว และประกาศการทำรัฐประหาร

"เรายอมถอยหลังไป1ก้าว เพื่อจะได้ก้าวไปข้างหน้า10ก้าว"
เป็นคำประกาศต่อสื่อมวลชนของพลเอกสุจินดา ผู้นำการทำรัฐประหารในครั้งนั้น

การสอบสวนและยึดทรัพย์รัฐบาลพลเอกชาติชายโดยมือตงฉินคือพลเอกสิทธิ จิรโรจน์จบลงด้วยการยึดทรัพย์ใครไม่ได้ และต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้นักการเมือง เวลาต่อมาพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ประธานรสช.ตายลง เกิดเรื่องอื้อฉาวเมียน้อยเมียหลวงฟ้องแย่งสมบัติกว่า2,000ล้านบาท

ไม่มีใครรู้ว่าทหารอย่างบิ๊กจ๊อดร่ำรวยผิดปกติมาจากไหน...

การใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือขจัดปฏิปักษ์การเมือง

ส่วนคดีลอบสังหารเปลี่ยนมือมาสู่มือปราบตงฉินพลตำรวจเอกธนู หอมหวล ครั้งสุดท้ายที่เราได้ยินเกี่ยวกับคดีนี้คือ"สำนวนอ่อน"และเรื่องก็กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง

ส่วนพันเอกบุญศักดิ์มีข่าวไปบวชและเงียบหาย พลตรีมนูญกลายมาเป็นนักการเมืองที่ก้าวถึงตำแหน่งประธานวุฒิสภา

พลตรีจำลองกับพลเอกพัลลภกลายเป็นแกนนำพันธมิตร และใช้สถาบันกษัตริย์โจมตีเหยื่อรายใหม่คือพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรว่าไม่จงรักภักดี ตีตนเสมอเจ้า และนำมาสู่การรัฐประหาร19 กันยายน 2549 และยังใช้ข้อกล่าวหานี้ไล่ล่าทักษิณกับผู้สนับสนุนมาจนวันนี้


ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ การหยิบยกสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายปฏิปักษ์การเมืองมีมาตลอด นับแต่คราวรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 ก็นำเรื่องคดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่8เป็นเหตุอ้างสำคัญ ในการรัฐประหารปี 2500 ก็มีหลักฐานว่าเพราะจะมีการรื้อฟื้นคดีลอบปลงพระชนม์ขึ้นมาพิจารณากันใหม่ ในเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนในเดือนตุลาคม2516 ก็มีการใส่ความว่าพันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอมมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นประธานาธิบดีคนแรก ในเหตุการณ์นองเลือดเดือนตุลาคม 2519 ก็มีการใส่ความนักศึกษาฝ่ายซ้ายว่าเล่นละครแขวนคอดูหมิ่นรัชทายาท..กรณีรัฐประหาร19กันยายน หรือรสช.23กุมภาพันธ์2534ก็อยู่ในลักษณ์เดียวกัน

ทั้งหมดนี้ถูกพิสูจน์ภายหลังว่าเหลวไหลทั้งเพ

การใช้สถาบันกษัตรยิ์เป็นเครื่องมือขจัดปฏิปักษ์การเมืองนั้นมีมาอย่างสืบเนื่อง และยังจะดำรงอยู่คู่กับประเทศไทยสืบไป ตราบเท่าที่ยังไม่มีการปฏิรูปอย่างถึงรากถึงโคน แยกสถานะบทบาทสถาบันกษัตริย์ให้อยู่พ้นวังวนการเมือง หรือปราศจากการเมืองได้อย่างแท้จริง

*********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

-กรณีตัวอย่างที่สถาบันกษัตริย์ สามารถปฏิเสธรัฐประหาร และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐประหารพ่ายแพ้ได้ : "กบฏยังเติร์ก" 2524

เรื่องลึกลับของการขึ้นเป็นนายกฯพระราชทานรอบสองหลังพฤษภาทมิฬของอานันท์ ปันยารชุน

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker