หากไม่หลอกตัวเองจนเกินไป จะพบว่าสังคมไทยไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ปฏิกิริยาอันหลากหลายที่สะท้อนผ่านความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออกของบรรดาผู้คน แสดงนัยยะให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ
จากความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยเมื่อห้าปีก่อน หากผู้เกี่ยวข้องต่อการนี้ได้เข้าใจกันบ้างว่ากับบางเรื่องราว ไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างไร ก็ไม่สมควรกระทำแล้ว การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็คงไม่เกิด และเมื่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยไม่ได้มีผลเป็นการล้มล้างรัฐบาลอย่างเดียว แต่ทว่ายังเป็นการทำลายอำนาจการตัดสินใจของประชาชนผู้สนับสนุนรัฐบาลด้วย จากการกระทำด้วยวิธีการที่มิชอบดังนี้ จึงถือเป็นการเปิดม่านให้กับการมาเยือนของวิกฤติการเมืองไทยดังที่เห็นในปัจจุบัน ...
ความจริงแล้ว ปัญหาทางการเมืองอาจจะไม่ขยายตัว หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งมีความยับยั้งชั่งใจต่อการใช้อำนาจของตนอยู่บ้าง แต่หลังจากการรัฐประหารสำเร็จลุล่วง เมื่อปฏิบัติการทำลายล้างทางการเมืองต่อคู่กรณีฝ่ายตรงกันข้ามยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ พรรคไทยรักไทยได้ถูกยุบไปโดยคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรคพลังประชาชนซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาล และพรรคพลังประชาชนถูกยุบตามไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผลจากการที่ถูกกระทำซ้ำซากดังนี้ ทำให้ความอดทนของผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองทั้งสองพรรคเดินมาถึงจุดสิ้นสุด และนำไปสู่การชุมนุมประท้วงแบบยืดเยื้อตามมาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ ทั้งยังสร้างความบาดหมางในสังคมไทยให้ร้าวลึกลงไปแบบยากที่จะเยียวยา
กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าความขัดแย้งจะขยายตัวเท่าใด สิ่งที่ต้องตราไว้ก็คือ ความไม่ลงรอยทางการเมืองดังนี้ย่อมไม่อาจนำพาประเทศเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน ได้ หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนี้เป็นเพียงคนเฉพาะกลุ่มระหว่าง นักการเมืองด้วยกัน อย่างไรก็ดี เมื่อคู่ขัดแย้งทางการเมืองคราวนี้ประกอบอยู่ทั้งองคมนตรี กองทัพ ตุลาการ พรรคการเมือง และประชาชนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนคู่กรณีของแต่ละฝ่าย ความขัดแย้งในสังคมไทยจึงลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤติทางการเมืองอย่างคาดคิดไม่ถึง
คงไม่จำเป็นอีกแล้วต่อการสาธยายรายละเอียดถึงบทบาทของคู่ขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้ เพราะข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏในทางต่างๆ รวมไปถึงบันทึกของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่มีไปถึงวอชิงตันเกี่ยวกับปัญหาการเมืองไทย ซึ่งถูกนำมาตีแผ่ผ่านวิกิลีกส์ว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง ก็เพียงพอต่อการทำให้สถาบันสำคัญในสังคมไทยตกอยู่ในภาวะแทบจะล้มละลายต่อความน่าเชื่อถือสำหรับผู้คนจำนวนหนึ่งเสียสิ้น และจากความรู้สึกดังนี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงเห็นถึงความจำเป็นของการต้องเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเสียที
ไม่ใช่หัวใจสำคัญของเรื่องเสียแล้ว หากจะตั้งคำถามอยู่เพียงว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและใครจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อมีการเลือกตั้ง แต่ทว่าคำถามที่สอดรับกับสถานการณ์ทางข้อเท็จจริงมากที่สุดขณะนี้ย่อมอยู่ที่ว่า จะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยอย่างไรให้ก้าวข้ามความขัดแย้งไปยังจุดหมายที่ควรจะ เป็น ตามทำนองคลองธรรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเป็นไปอย่างสันติ ทุกสถาบันสำคัญในสังคมไทยจำต้องพร้อมจะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงว่าตนจะต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อมิให้สถาบันของตนกลายเป็นต้นเหตุของวิกฤติทางการเมืองซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
วันนี้สังคมไทยได้ย่างก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านแล้ว และต้องตระหนักว่าการหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงอันเป็นกฎธรรมดาโลกไม่เคยมีผู้ ใดกระทำได้สำเร็จ ไม่ว่าจะโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือใช้แสนยานุภาพทางอาวุธเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง เมื่อประเทศไทยไม่อาจหวนกลับไปเป็นอย่างเดิมอีกได้ สถาบันการเมืองทั้งหลายจึงต้องหาจุดลงตัวที่เหมาะสมของตนให้ได้เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมอย่างใหม่ที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปถึง
หากสถาบันการเมืองใดยังคิดว่าตนอยู่เหนือกฎแห่งการเปลี่ยนแปลง อนาคตไม่ไกลจากนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นว่าสิ่งที่ท่านคิดนั้นผิดหรือถูก