รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ หายหน้า ไม่อยู่รับ “ขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” ร่วม 1,000 คน ที่เดินเท้าพร้อมโปสการ์ด 1,500 ใบ จากที่ชุมนุมลานพระบรมรูปทรงม้ามาถึงหน้ากระทรวง ส่งรองปลัดเจรจาแทน ด้านผู้ชุมนุมชี้จะกลับอีกครั้งเพื่อตามเรื่อง
ชาวบ้านในเครือข่าย คปสม. ภูเก็ต ย้ำจุดยืนให้ส่งมอบพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 6 พื้นที่ ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพย์ฯ
ร้องกระทรวงทรัพย์ฯ ส่งมอบพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 17 พื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการจัดโฉนดชุมชน (ปจช.) พิจารณาอนุมัติแล้ว และให้ยุติการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้าน
จำเลยโลกร้อนโชว์โปสการ์ดที่ร่วมกันเขียนถึง รมว.สุวิทย์ คุณกิตติ
วันนี้ (21 ก.พ.54) เมื่อเวลา 7.00 น.ขบวนเดินรณรงค์ 1,000 คน จากขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ (Pmove) ซึ่งประกอบด้วยภาคประชาชนที่รวมตัวกันขึ้น 4 เครือข่าย คือ เครือข่ายสมัชชาคนจน (กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จากบริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าซึ่งเป็นที่ชุมนุม ไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นหนังสือถึงนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อขอให้ทบทวนข้อเสนอของ พีมูฟ โดยมีประเด็นหลักคือ การเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพย์ฯ
สืบเนื่องมาจาก ความพยายามในการผลักดันนโยบายจัดการที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” จนส่งผลให้มีการมอบโฉนดชุมชนโดยการรับรองของรัฐบาลแห่งแรกของประเทศแก่สหกรณ์บ้านคลองโยง จ.นครปฐม มีพื้นที่ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) จำนวน 35 แห่ง โดยพื้นที่ยื่นขอออกโฉนดชุมชนซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวน จำนวน 17 พื้นที่ กลับไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่ากระทรวงทรัพย์ฯ จะอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อทำโฉนดชุมชนหรือไม่ อีกทั้งยังมีกรณีพิพาทเรื่องคดีความระหว่างกระทรวงทรัพย์ฯ และชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่จัดทำโฉนดชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนของกลุ่มพีมูฟเดินทางถึงบริเวณหน้ากระทรวงทรัพย์เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.จากนั้นได้มีการเปิดเวทีปราศรัยเกี่ยวกับกรณีปัญหาของชุมชนพร้อมเสนอทางออกของปัญหา และมีการนำโปสการ์ดจำนวนกว่า 1,500 ใบ ที่เขียนโดยผู้ชุมนุมเพื่อนำไปมอบให้ นายสุวิทย์ แต่มีการแจ้งจากภายในกระทรวงทรัพย์ฯ ว่านายสุวิทย์ ได้เดินทางออกไปก่อนหน้านี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 12.00-14.00 น.ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าเจรจากับ นายสุรพล ปัตตานี รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายสุรพลได้รับเรื่อง และทำการบันทึกปัญหารวมทั้งข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ปลัดกระทรวง รวมทั้งรองปลัดกระทรวงอีกท่านหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ประธานในคณะกรรมการพิจารณาเรื่องโฉดชุมชนของกระทรวงทรัพย์ฯ ภายในวันนี้ จากนั้นผู้ชุมชุนได้เดินทางกลับไปยังที่ชุมนุมบริเวณลานพระรูปโดยมีข้อสรุปว่าจะมาติดตามเรื่องต่ออีกครั้งหนึ่ง
นส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่า แม้ ปจช.จะอนุมัติให้ดำเนินการทำโฉนดชุมชน ในพื้นที่ภายใต้กระทรวงทรัพย์ฯ ไปแล้ว 17 ชุมชน แต่ทางกระทรวงยังไม่ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานโฉนดชุมชนโดยอ้างว่าไม่มีช่องทางกฎหมายให้ดำเนินการ จึงได้หารือกับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ ปจช.ให้มีการนำปัญหาอุปสรรคในการทำโฉนดชุมชนดังกล่าวและข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาเรื่องนโยบายโฉนดชุมชน ที่ทางพีมูฟนำเสนอทั้ง 6 ข้อ สู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 22 ก.พ.นี้ ซึ่งทาง รมต.สาทิตย์ ได้รับปากว่าจะดำเนินการให้ อย่างไรก็ตามจะมีการปักหลักชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อติดตามเรื่องนี้จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ
“ประเด็นสำคัญที่ท่าน รมต.สาทิตย์ รับปากว่าจะเข้า ครม.จะมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบฯโฉนดชุมชน ที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินงานโฉนดชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนายกระดับให้เป็น พ.ร.บ.โฉนดชุมชน ในระหว่างที่ พ.ร.บ.โฉนดชุมชน ยังไม่มีผลบังคับใช้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปรับปรุง กฎระเบียบ หรือแนวทางปฏิบัติ โดยนายกฯ จัดประชุมร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ MOU กับคณะกรรมการ ปจช.ให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553” นส.พงษ์ทิพย์ กล่าว
ด้าน อ.เดชรัต สุขกำเนิด เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายโฉนดชุมชน เพราะไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน หากแต่เป็นคุณูปการกับสังคมอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปในระบบเอกสารสิทธิ์ของเมืองไทย แม้จะมีการปกครองดูแลที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนมานานแล้ว แต่ชุมชนไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ ทำให้ไม่มีพลังเพียงพอที่จะรักษาที่ดิน ส่งผลให้ที่ดินเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนได้ง่าย โดยชาวบ้านอาจเป็นใจหรือไม่เป็นใจ
“การพูดถึงโฉนดชุมชนต้องพูดในเชิงผลลัพธ์ ว่าอยากเห็นอะไรในชุมชน ยกตัวอย่างการจัดการโฉนดชุมชนในพื้นที่ป่าต้องมีเงื่อนไขว่าชาวบ้านจะจัดการป่าอย่างไร ต้องมีตัวชี้วัด เช่น ป่าจะสมบูรณ์ขึ้น ต้นไม้จะหลากหลายมากขึ้น สิ่งมีชีวิตต่างๆ จะเพิ่มขึ้น อาหารจะสมบูรณ์ขึ้น สามารถดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้น ซึ่งชุมชนสามารถทำข้อมูลเหล่านี้ได้” อ.เดชรัต กล่าว
ทั้งนี้ พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน ซึ่งกำลังผลักดันให้ทางกระทรวงทรัพย์ส่งมอบพื้นที่ให้ชุมชนบริหารจัดการตามนโยบายโฉนดชุมชน อยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 1 ชุมชน คือ บ้านแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ภาคอีสาน 2 ชุมชน ได้แก่ บ้านทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ, บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ภาคใต้ 14 ชุมชน ได้แก่ บ้านทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง, บ้านลำขนุน อ.ย่านตาขาว, บ้านตระ อ.ปะเหลียน, บ้านน้ำปลิว อ.รัษฎา, บ้านไร่เหนือ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง, ชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี, ชุมชนไทรงามพัฒนา อ.ชัยบุรี, ชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี, บ้านท่าสัก อ.ถลาง, บ้านคลองเกาะผี อ.เมือง, บ้านคลองปากบาง อ.กระทู้, บ้านท่าเรือใหม่รัษฎา อ.เมือง, บ้านอ่าวยนต์ อ.เมือง, บ้านสะปำ อ.เมือง จ.ภูเก็ต