โดย สรกล อดุลยานนท์
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554)
ถามว่ามีคนไทยกี่คนที่ได้เห็นหรือเคยไปสัมผัสพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่เป็น "พื้นที่ทับซ้อน" ของไทย-กัมพูชาบ้าง
เรื่อง "รักชาติ" หรือการรักษา "อธิปไตย" ของชาตินั้นพูดแล้วหล่อ ฟังแล้วเพราะ
แต่ถามว่า เคยตั้งคำถามไหมว่า "ชาติ" คืออะไร "อธิปไตย" คืออะไร
แค่ก้าวข้ามเส้นพรมแดนซึ่งต่างฝ่ายต่างเชื่อไม่เหมือนกัน แล้วหมายความว่า อีกฝั่งหนึ่งกำลังละเมิดอธิปไตยของเรา
คนที่คิดจะเจรจากันดีๆ กลายเป็นคนไม่รักชาติ
นึกถึงเด็กที่ทะเลาะกัน ใช้วิธีขีดเส้นเส้นหนึ่งขึ้นมาเหมือนเป็นเส้นพรมแดน
ท้าทายกันว่าแน่จริงก็เหยียบเส้นนี้สิ หรือเอาเท้าลบเส้นที่ขีดไว้สิ
สุดท้ายก็ชกกัน
เส้นพรมแดนนั้นเป็นแค่เส้นสมมุติ ว่าใครอยู่ประเทศไหน แต่ความจริงก็คือ ความสัมพันธ์ของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับเส้นเขตแดน ไม่ได้ขึ้นกับเชื้อชาติหรือสัญชาติ
คนภูมิซรอล จังหวัดศรีสะเกษ เขาไม่รู้จักคนกรุงเทพฯที่กำลังพูดเรื่อง "อธิปไตย" หรอกครับ
ทั้งที่เป็น "คนไทย" เหมือนกัน
แต่คนภูมิซรอลกลับคุ้นเคยและสนิทสนมกับคนกัมพูชาที่หมู่บ้านอยู่ติดกัน และเดินไปมาหาสู่กันเป็นประจำมากกว่า
ทั้งที่เป็นคนละชาติกัน
ครับ ระหว่างคนศรีสะเกษกับคนกรุงเทพฯ
ถามจริงๆ เถอะว่าใครควรจะเสียงดังเรื่องเส้นพรมแดน หรืออธิปไตยของชาติมากกว่ากัน
การปะทะกันเมื่อวันก่อน
ใครล่ะที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ฟังเสียงของเขาบ้างสิ
แค่ธงชาติเล็กๆ ผืนหนึ่งบนพื้นที่ทับซ้อน เราจะต้องรบกันเชียวหรือ
ถอยออกมาแล้วตั้งสติกันสักนิด
ผมนึกถึงข้อเขียนของอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2519
"จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"
เป็นแนวคิดเรื่องความต้องการพื้นฐานของอาจารย์ ป๋วย เป็นความฝันของคนธรรมดาคนหนึ่งที่เรียบง่าย ตั้งแต่วันแรกที่อยู่ใน "ครรภ์มารดา"
จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
อาจารย์ ป๋วยบอกว่า เมื่อแก่ เขาและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งได้จ่ายบำรุงตลอดมา
"เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ"
"เจริญ ผาหอม" ชาวบ้านภูมิซรอล ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คงตั้งคำถามเหมือนกัน
ทำไมเขาต้องตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ ด้วย