แม้คณะสงฆ์ไทยจะไม่ยอมรับว่าสมณะสันติอโศกเป็น “พระสงฆ์ไทย” แต่ในทรรศนะของผู้เขียนสมณะสันติอโศกคือพระสงฆ์ในพุทธศาสนา เพราะที่จริงแล้วพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นมีหลายนิกาย หากมองไปที่ข้อวัตรปฏิบัติ เราอาจกล่าวได้ว่าสมณะสันติอโศกคือพระสงฆ์ในพุทธศาสนาอีกนิกายหนึ่งที่ต่างจากคณะสงฆ์ไทย
บทบาทที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างของสันติอโศกคือ บทบาททางการเมือง ในทัศนะของสันติอโศกพุทธศาสนากับการเมืองไม่อาจแยกจากกัน เพราะสันติอโศกมองว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของสังคม การเมืองก็คืองานเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของสังคม
แต่อย่างไรก็ตาม แม้หลักการอาจถูก เจตนาอาจถูก แต่การกระทำโดยอ้างหลักการและเจตนาที่ถูกนั้น จำเป็นต้องมองอย่างจำแนกแยกแยะ
พระพุทธองค์เคยตรัสว่า สิ่งที่พระองค์รู้มีมากมายเหมือนใบไม้ในป่า แต่สิ่งที่พระองค์นำมาสอนเพื่อนมนุษย์มีเพียงส่วนน้อยเทียบได้กับใบไม้ในกำมือ สิ่งที่พระพุทธองค์รู้และนำมาสอนนี้คือความจริงที่เป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์ในชีวิตและสังคม หรือความจริงที่เอื้อให้เกิดสันติภาพในจิตใจและสันติภาพทางสังคม
สันติภาพทางจิตใจเชื่อมโยงกับการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมเชิงปัจเจก สันติภาพทางสังคมสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามศีลธรรมเชิงสังคม พูดอีกอย่างว่าศีลธรรมเชิงปัจเจกมุ่งสร้าง “คนดี” ที่มีความพ้นทุกข์เป็นเป้าหมายชีวิต ส่วนศีลธรรมเชิงสังคมมุ่งวาง “ระบบที่ดี” ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ หากคิดจากระบบศีลธรรมสองส่วนนี้เราไม่อาจสรุปได้ว่า ถ้าปัจเจกแต่ละคนเป็นคนดีแล้วสังคมจะดีเอง เพราะความเป็นสังคมที่ดีต้องการ “ระบบที่ดี” รองรับอย่างมีนัยสำคัญ
และหากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่า พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ “ระบบ” มากว่า “ตัวบุคคล” เช่น ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพาน พระองค์ไม่ได้เฟ้นหาตัวบุคคลที่เป็นคนดีที่สุดมาเป็นศาสดาปกครองคณะสงฆ์แทน แต่ให้พระธรรมวินัยหรือระบบที่วางไว้ดีแล้วเป็นศาสดาแทน
หมายความว่า แม้ในสังคมสงฆ์อาจจะมีทั้งพระดีและพระไม่ดี แต่หากสังคมสงฆ์สามารถรักษาระบบที่ดีคือพระธรรมวินัยเอาไว้ได้ เคารพหลักการทางพระธรรมวินัยเหมือนเคารพพระศาสดา สังคมสงฆ์และพุทธศาสนาจะยังคงอยู่อย่างมั่นคง ถ้าพระพุทธองค์ให้พุทธศาสนาขึ้นอยู่กับตัวบุคคลพุทธศาสนาคงไม่อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้
คำถามคือ เมื่อสันติอโศกอ้างพุทธศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกับการเมือง สันติอโศกอ้างในมิติใด? มิติเชิดชูตัวบุคคลหรือเชิดชูหลักการ ภาพลักษณ์การเป็นคนดีมีศีลธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมืองก็ดี ภาพลักษณ์ความเป็นพระอริยบุคคลของสมณะสันติอโศกที่ถูกยกชูขึ้นมาก็ดี ล้วนแต่บ่งบอกว่าสันติอโศกเชิดชูอะไร
ยิ่งการออกมาต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเรียกร้องหรือยอมรับรัฐประหาร ยิ่งเห็นได้ชัดว่า วาระทางการเมืองของสันติอโศกให้น้ำหนักเรื่อง “ตัวบุคคล” มากกว่าการปกป้อง “หลักการ”
จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เวลาสันติอโศกชูเรื่อง “อหิงสา-สันติ” นั้น ชูในฐานะเป็นหลักการที่ต้องปฏิบัติอย่างเป็นสากลแก่เพื่อนมนุษย์ทุกคน หรือชูในฐานะเป็น “เครื่องมือ” ต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น
ผู้เขียนแปลกใจมากเมื่อเห็นพลตรีจำลอง เรียกร้องให้ทหารใช้กฎอัยการศึกจัดการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 53 และกดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้มาตรการทางทหารกับประเทศกัมพูชาอยู่ในขณะนี้
เพราะในความขัดแย้งทางการเมืองปี 53 คนกิเลสหนาอย่างเราๆ ต่างเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลใช้ความรุนแรง และต่อปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา แม้แต่นักศึกษาชาวกัมพูชาที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษยังเรียกร้องให้ใช้วิธีเจรจาอย่างเคารพความเท่าเทียมในความเป็นคนหรือศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมระหว่างชาติ
แต่บุคคลซึ่งมีภาพลักษณ์เคร่งครัดศีลธรรม ชูอหิงสา-สันติ มาตลอด กลับเสนอทางออกที่ยอมรับความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่อาจเกิดการปะทะตามแนวชายแดน หรือความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามระหว่างประเทศ
เวลาที่ชาวอโศกอ้างว่า ความเป็นพระสงฆ์หรือความเป็นชาวพุทธไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยอมรับหรือไม่ยอมรับของกฎหมายคณะสงฆ์ แต่ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติ ย่อมเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น
แต่เมื่อดูการประพฤติปฏิบัติที่เป็นมาและเป็นอยู่ที่ต้องการเอาชนะทางการเมืองตาม “ความเชื่อ” ของฝ่ายตนมากกว่าการให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตประชาชน และการปกป้องสันติภาพในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดจึงน่ากังขาอย่างยิ่ง และอหิงสา-สันติ ก็ดูเหมือนจะถูกแทนที่ด้วยการปั่นความขัดแย้ง และการใช้ความรุนแรงอย่างเกินจำเป็น!
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนรายวัน 31 มกราคม 2554