บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ที่มา ประชาไท

เกี่ยวกับซามีร์ อามิน

ศาสตราจารย์ ซามีร์ อามิน (Samir Amin) เกิดที่ไคไรเมื่อในปี 1931 และได้รับการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งเศสที่นั่น เขาได้รับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากปารีส ประเทศฝรั่งเศส เช่นเดียวกับปริญญาจากสถาบันสถิติและสถาบันศึกษาการเมืองชั้นสูง เมื่อกลับประเทศได้เข้าทำงานในสังกัดฝ่ายวางแผนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลนัสเซอร์ สำหรับอาชีพทางวิชาการ เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1966 และดำรงตำแหน่งประธานของสถาบันเพื่อการพัฒนาและวางแผนทางเศรษฐกิจ แผนกอาฟริกันของสหประชาชาติระหว่าง 1970-1980 และตั้งแต่ปี 1980 ดำรงตำแหน่งประธานของสำนักงานอาฟริกันของ Third World Forum องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยและถกเถียงประเด็นต่างๆ ปัจจุบันยังเป็นประธานของ World Forum for Alternatives

1.สัมภาษณ์ซามีร์ อามิน ว่าด้วยการปฏิวัติตูนีเซีย

เผยแพร่เป็นภาษาอารบิคในนิตยสาร Aydinlik Magazine ที่มาของภาษาอังกฤษ: http://democracyandclasstruggle.blogspot.com/2011/02/samir-amin-on-tunisian-revolution.html (เผยแพร่วันที่ 1 ก.พ. 54)

ศาสตราจารย์ซามีร์ อามิน นักคิดฝ่ายซ้าย นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนที่มีชื่อเสียง ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ Aydinlik Magazine เกี่ยวกับเหตุการณ์ในตูนีเซีย รวมทั้งแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเยือนอเมริกาของนายหูจิ่นเทาและนโยบายในปัจจุบันของจีน มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน

AYDINLIK: คุณตีความการเคลื่อนไหวในตูนีเซียอย่างไร?

SAMIR AMIN: เราต้องทำความเข้าใจเหตุการณ์ของตูนีเซียในฐานะการลุกฮือของขบวนการประชาชนที่มีพลังมาก เป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนของประเทศนี้ในหลายพื้นที่รวมทั้งเมืองหลวงออกมาตามท้องถนนเป็นเวลา 45 วันและยังคงทำอย่างนั้นต่อไป พวกเขาประท้วงและถึงแม้จะมีการปราบปรามก็ไม่ยอมหยุด การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีทั้งมิติการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ระบอบของปธน.เบน อาลีคือหนึ่งในรัฐตำรวจที่โหดเหี้ยมที่สุดในโลก ชาวตูนีเซียหลายพันคนถูกสังหาร จับกุมและทรมาน แต่เพื่อนรักมหาอำนาจตะวันตกกลับไม่ยอมปล่อยให้ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นที่รู้จัก ประชาชนตูนีเซียจึงเรียกร้องประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิของพวกเขา

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีอิทธิพลกับการลุกฮือของประชาชน ตูนีเซียประสบกับการพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกลุ่มวัยรุ่น รวมทั้งคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา คุณภาพชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ก็ต่ำลงถึงแม้ธนาคารโลกและหน่วยงานระหว่างประเทศจะปลาบปลื้มกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศก็ตาม ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นตอบคำถามนี้ รวมทั้งอิทธิพลขององค์กรผู้มีอิทธิพลก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ระบบนั้นถูกบริหารเพื่อประโยชน์เกือบจะเฉพาะของครอบครัวเบน อาลีและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

มีอีกแง่หนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวที่ถือว่าสำคัญมาก อิทธิพลอิสลามไม่ได้มีผลนักกับการลุกฮือนี้ ตูนีเซียนั้นที่จริงแล้วเป็นรัฐฆราวาส (secular state) ประชาชนสามารถแยกศาสนาออกจากการเมืองได้สำเร็จ มันเป็นปัจจัยที่สำคัญและช่วยส่งเสริมมาก มีคำกล่าวว่าเบน อาลีได้ปกป้องประเทศจากกลุ่มมุสลิมคลั่งศาสนา เขาใช้ข้ออ้างนี้ได้ผลมาเป็นเวลาหลายปี จริงๆ แล้วไม่ใช่เบน อาลีแต่เป็นประชาชนที่ปกป้องประเทศจากพวกคลั่งศาสนาเหล่านี้

ข้อเท็จจริงว่าทหารนั้นไม่ได้อยู่ตรงข้ามประชาชนช่วยเพิ่มกำลังให้แก่ประชาชนบนท้องถนน รัฐบาลเบน อาลีสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับตำรวจไม่ใช่ทหาร นี่คือเหตุผลว่าทำไมตำรวจจึงมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามในหลายเหตุการณ์ในอดีต

มันจึงไม่ง่ายที่จะสถาปนาประชาธิปไตยและระบอบฆราวาสในตูนีเซีย

AYDINLIK: ใครหรืออำนาจฝ่ายไหนนำการเคลื่อนไหวครั้งนี้?

AMIN: ผมอยากจะเน้นอีกครั้งว่าการเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้เป็นของคนกลุ่มไหนโดยเฉพาะ มันเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ของประชาชน ไม่มีต่างชาติประเทศหรือกลุ่มไหนอยู่เบื้องหลัง มันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมโดยเนื้อแท้ อย่างไรก็ตาม มันจำเป็นต้องพูดว่ามหาอำนาจตะวันตกพยายามจะสร้างอิสลามทางเลือกและพยายามจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวแบบนี้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดทางเลือกของประชาธิปไตยที่แท้จริง พวกเขาได้เริ่มต้นทำมันแล้วโดยนำภาษาของ “ซาอุดิอารเบีย” เข้ามาใช้ในประเทศอีกครั้งอย่างที่มีการวิจารณ์กันในกลุ่มประชาชน

มันยากมากที่จะพยายามคาดเดาว่าอนาคตของประเทศจะไปทางไหน ที่แน่ก็คือการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยและระบอบฆราวาสไม่ง่าย ลองนึกภาพที่ดีที่สุด คือเกิดรัฐบาลประชาธิปไตยที่สนับสนุนโดยประชาชน (และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันอย่างแน่นอนว่าจะเกิดขึ้น) รัฐบาลที่ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ว่า จะเชื่อมโยงกระบวนการประชาธิปไตยเรื่องการจัดการด้านการเมืองกับความรุดหน้าทางสังคมอย่างไร? มันไม่ง่ายเพราะ “ความสำเร็จ” ของตูนีเซียในช่วงที่ผ่านมาตั้งอยู่บนปัจจัยสามเรื่อง คือ การย้ายฐานอุตสาหกรรมเบาจากยุโรปเข้ามา การท่องเที่ยวและการอพยพโยกย้ายถิ่นจำนวนมากไปประเทศลิเบีย ช่องทางทั้งสามตอนนี้ถึงจุดอิ่มตัวและเริ่มที่จะสวนทางกลับด้วยซ้ำ นโยบายมหภาคแบบไหนที่จะถูกนำมาแทนที่? ไม่ง่ายที่จะหาคำตอบสำหรับประเทศเล็กที่บอบบางและมีทรัพยากรน้อย (ไม่มีน้ำมัน!) ความเป็นหนึ่งเดียวและความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาจะกลายเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญ มหาอำนาจตะวันตกจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สำเร็จเพื่อที่จะสร้างเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์แก่ “อิสลามทางเลือก” จอมปลอมที่ถูกเรียกว่า “สายกลาง (moderate)”

จีนจะไม่ยอมยกเลิกนโยบายแบบของตน

AYDINLIK: ประธานาธิบดีจีนหูจิ่นเทาได้พบกับนายโอบามาที่วอชิงตัน ก่อนเดินทางไปสหรัฐฯ นายหูจิ่นเทาพูดว่า “ระบบที่ถูกครอบงำโดยสกุลเงินดอลลาร์เป็นผลผลิตของอดีต” คุณมีความเห็นอย่างไร?

AMIN: จีนอาจจะยิ้มแย้มให้พวกอเมริกันแต่พวกเขาจะไม่มีทางประณีประนอมในเรื่องนโยบาย ฝ่ายที่ได้เปรียบในการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีทั้งสองคนคือ หูจิ่นเทาตามที่คาดหมายกัน จีนไม่ยอมอ่อนข้อในเรื่องการจัดการค่าเงินหยวนของตนอย่างอิสระ เงินดอลลาร์ที่ควบคุมระบบการเงินระหว่างประเทศก็จะใกล้สิ้นอายุขัยของมันไม่ช้าก็เร็ว คนจีนตระหนักเรื่องนี้ดี แต่ในระหว่างนี้จีนจะไม่เสนอให้สร้างสกุลเงินโลกทางเลือกขึ้นมาใหม่ (จีนเข้าใจดีว่ามันยังไม่ถึงเวลาสุกงอมและก็ยังคงเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน) ตอนนี้จีนทุ่มเทให้กับการสร้างพันธมิตรในภูมิภาคที่เป็นอิสระและพึ่งตนเอง จีนจะพยายามหาคำตอบที่เป็นไปได้สำหรับความท้าทายนี้ คือ ผลักดันข้อตกลงระดับภูมิภาคในเอเชียและลาตินอเมริกา ไม่ใช่ในระดับโลก

2. การเคลื่อนไหวในอียิปต์

แปลจาก The Movement in Egypt: The US realigns, Movements in Egypt: The US realigns, Samir Amin, Pambazuka News, 2011-02-02, Issue 515 http://www.pambazuka.org/en/category/features/70615

หมายเหตุ: ศาสตราจารย์ซามีร์ อามินได้เขียนบทความวิเคราะห์ถึงบทบาทและท่าทีและสหรัฐฯ ต่อการเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้น รวมทั้งอิทธิพลของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์อียิปต์ เผยแพร่ในเว็บของสำนักข่าว Pambazuka เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีเนื้อหาดังนี้

อียิปต์คือหมุดหมายสำคัญของแผนการณ์ครอบครองโลกของสหรัฐฯ รัฐบาลวอชิงตันจะไม่ยอมทนต่อความพยายามใดๆ ของอียิปต์ที่จะขยับออกไปจากการควบคุมโดยสมบูรณ์ของสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นที่ต้องการของอิสราเอลเพื่อที่จะสานต่อการสร้างอาณานิคมส่วนที่ยังคงเหลือจากปาเลสไลน์ นี่เป็นเป้าหมายที่เฉพาะของรัฐบาลอเมริกาในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบ “การเปลี่ยนผ่านอย่างนุ่มนวล (soft transition)” มองในแง่นี้ อเมริกาอาจเห็นว่าประธานาธิบดีมูบารัคควรลาออก รองประธานาธิบดีที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งนายโอมาร์ โซไลมาน หัวหน้าของหน่วยข่าวกรองของกองทัพอาจเข้ามารับหน้าที่ ที่ผ่านมา กองทัพระมัดระวังมากที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการปราบปรามซึ่งเป็นการรักษาภาพพจน์ของตน

นายบาราดัยเข้ามาในจุดนี้ เขายังคงเป็นที่รู้จักจากภายนอกประเทศมากกว่าในอียิปต์แต่ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาไม่ช้า เขาเป็น “เสรีนิยม” คนหนึ่งที่ไม่มีแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจมากไปกว่าปล่อยให้ดำเนินไปอย่างที่มันเป็นและเขาไม่สามารถเข้าใจว่าเรากำลังอยู่ที่จุดเริ่มต้นของความหายนะทางสังคม เขาเป็นนักประชาธิปไตยในความหมายว่าเขาต้องการ “การเลือกตั้งอย่างแท้จริง” และการเคารพกฎหมาย (หยุดจับกุมและทรมาน ฯลฯ) แต่ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

มันไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะยอมร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านที่พูดถึง แต่กองทัพและข่าวกรองจะไม่ยอมปล่อยอิทธิพลครอบงำของตนในการนำสังคม นายบาราดัยจะยอมรับจุดนี้ได้หรือไม่?

ในเรื่องของ “ความสำเร็จ” และ “การเลือกตั้ง” กลุ่มมุสลิมบราเตอร์ฮู้ด [Moslem or Muslim Brotherhood ขบวนการเคลื่อนไหวข้ามชาติและองค์กรการเมืองฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ: ผู้แปล] จะกลายเป็นกำลังหลักในสภา อเมริกายินดีรับจุดนี้และรับรองว่ากลุ่มนี้เป็นพวก “สายกลาง” นั่นหมายถึงว่านอนสอนง่าย ยอมรับวิถีทางสยบยอมต่อสหรัฐฯ และปล่อยให้อิสราเอลมีอิสระในการรุกรานปาเลสไลน์ต่อไป นอกจากนี้ กลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮู้ดยังพึงพอใจกับระบบ “ตลาด” ที่พึ่งพาภายนอกอย่างเต็มที่แบบที่เป็นอยู่ จริงๆ แล้ว พวกนี้ก็ยังเป็นหุ้นส่วนในชนชั้นนำ “พ่อค้าคนกลาง” [จากคำว่า compradore มีความหมายถึงพวกที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทธุรกิจต่างชาติภายในประเทศและอาจหมายถึงพวกพ่อค้าชาวจีนที่หากำไรจากส่วนต่างของราคาสินค้า: ผู้แปล] พวกเขามีจุดยืนที่ต่อต้านการผละงานของชนชั้นแรงงานและการต่อสู้ของชาวนาเพื่อที่จะรักษาสิทธิในที่ดินของตน

แผนของสหรัฐฯ สำหรับอียิปต์นั้นคล้ายกับโมเดลของปากีสถานมาก คือ ส่วนผสมระหว่างอิสลามการเมืองและหน่วยข่าวกรองของกองทัพ กลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮู้ดอาจจะถ่วงดุลกับนโยบายนี้โดยวางตัวแบบ “ไม่เป็นสายกลาง”ต่อพวกคริสเตียนในอียิปต์ [อามินใช้คำว่า Copts หมายถึงชนกลุ่มน้อยทางศาสนากลุ่มใหญ่ที่สุดในอียิปต์ มีพื้นเพดั้งเดิมในประเทศอียิปต์ตั้งแต่สมัยโรมัน มีจำนวนประชากรน้อยแต่มีความมั่งคั่งและเป็นเจ้าของทรัพย์สินจำนวนมาก ปัจจุบันมีการรวมตัวเป็นองค์กรและเครือข่ายข้ามชาติ: ผู้แปล] ระบบแบบนี้จะสามารถให้กำเนิด “ประชาธิปไตย” ได้หรือไม่?

ส่วนการเคลื่อนไหวนั้นเป็นของคนหนุ่มสาวในเมือง โดยเฉพาะพวกที่มีจบการศึกษาสูงแต่ไม่มีงานทำ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มของชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและพวกที่เชื่อในประชาธิปไตย ระบอบการปกครองใหม่อาจจะเปิดช่องให้กลุ่มนี้ได้บ้าง เช่นเพิ่มตำแหน่งงานในหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ไม่น่าจะได้มากเท่าใด

แน่นอนว่าการณ์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปถ้าหากการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานและชาวนามีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนกับว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และตราบที่ระบบเศรษฐกิจถูกจัดการไปตามกฎเกณฑ์ของ “เกมโลกาภิวัตน์” ปัญหาที่เป็นต้นเหตุของการเคลื่อนไหวประท้วงทั้งสิ้นก็ไม่อาจจะได้รับการแก้ไขจริง

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker