เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
แต่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังจุดกระแส'โหวตโน'ขึ้นมานำเสนอต่อสังคม
แม้จะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์'ไม่ยอมรับ'พรรคการเมืองที่ลงแข่งขันเลือกตั้ง
แต่การ'โหวตโน'ก็ไม่แน่ว่าจะสะท้อนภาพดังกล่าวได้จริง เพราะนั่นหมายความว่าจำเป็นต้องใช้เสียงของประชาชนจำนวนมาก
อย่างน้อยต้องมากกว่าจำนวนฐานเสียงของพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งไม่ว่าเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่นๆ
ซึ่งถ้าวัดจากจำนวนผู้ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลขณะนี้ ยังน่าสงสัยว่ากระแส'โหวตโน'ปลุกขึ้นจริงหรือ เพราะเท่าที่เห็นคือความคึกคักเฉพาะในสื่อเอเอสทีวีเท่านั้น
มติโหวตโนและการไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ยังนำมาซึ่งความแตกแยกระหว่างแกนนำพันธมิตรฯ กับแกนนำพรรคการเมืองใหม่อีกด้วย
ถึงนายสุริยะใส กตะศิลา อ้างว่ามุมมองต่อการเลือกตั้งระหว่างแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพรรคการเมืองใหม่ เป็นเพียงความแตกต่างที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้
ไม่ถึงขั้น'หันหลัง'ให้แก่กัน
สำคัญคือการที่พรรคการเมืองใหม่จะโตได้ ต้องจัดความสมดุลให้ลงตัวกับกลุ่มพันธมิตรฯ นั่นเพราะพรรคการเมืองใหม่มีที่มาเกิดจากกลุ่มพันธมิตรฯ
กระนั้นก็ตาม รูปธรรมที่ปรากฏสวนทางกับมุมมองของนายสุริยะใส
คือการที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มีมติเอกฉันท์ให้นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ถอนตัวจากกลุ่มพันธมิตรฯ
และที่ต้องจับตาล่าสุดกรณี นางกาญจนี วัลยเสวี แกนนำกลุ่มชาวไทยหัวใจรักสงบ
อ้างว่าได้รับมอบหมายจาก'กลุ่มสตรีผู้สูงศักดิ์' อาทิ ม.ร.ว.รำพิอำภา เกษมศรี นางเบญจวรรณ กระจ่างเนตร อดีตผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ
ออกมาแถลงคัดค้านการชุมนุมของม็อบเอเอสทีวี
เนื่องจากเห็นว่ากำลังบิดเบือน สร้างความแตกแยกให้บ้านเมือง พยายามทำทุกทางเพื่อยุยงให้เกิดความรุนแรงปั่นป่วน เพื่อกดดันให้ทหารออกมาเปลี่ยนแปลงการเมือง
การเปลี่ยนฐานะจาก'ผู้สนับสนุน'มาเป็น'ผู้คัดค้าน'ของกลุ่มสตรีผู้สูงศักดิ์ครั้งนี้
จึงเป็นการพลิกผันที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่าจะส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มพันธมิตรฯ มากน้อยขนาดไหน