วันที่ 24 มิถุนายน เมื่อ 79 ปีที่ผ่านมาในปี 2475 ถือเป็นวันสำคัญทางการเมืองไทย เป็นวันเริ่มต้นของระบอบการเมืองประชาธิปไตยของไทย
ณัฐพล พึ่งธรรม ช่วยเตือนความจำพวกเราในเรื่องนี้พร้อมกับเล่าความเป็นมาของวันที่ 24 มิถุนายน 2475
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อฉายภาพเส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสยามก่อนจะดำเนินมาถึงวันที่ คณะราษฎรได้ร่วมกันอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ จึงขอร่วมรำลึกเหตุการณ์นี้ในวาระครบ 79 ปี การปฏิวัติ 2475 มา ณ โอกาสนี้
*****
ศตวรรษ ที่19 คลื่นจักรวรรดินิยมพร้อมทั้งกระแสทุนนิยมจากโลกตะวันตกเดินทางมาถึงโลกตะวัน ออก สยามในฐานะ“รัฐกษัตริย์”ซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย เริ่มสั่นคลอนและจำต้องปรับตัวเพราะไม่สามารถทัดทานกระแสทุนนิยมอันเป็น วิวัฒนาการของสังคมตะวันตกได้ก้าวไปถึงแล้ว
รัฐบาลสยามยอมเสียเปรียบ ลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ในปี2398 และได้กลายเป็นต้นแบบให้ชาติตะวันตกอีก 13 ประเทศ เข้ามาเจรจาทำสัญญาในแบบเดียวกัน นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สยามต้องรับมือกับคลื่นจักรวรรดินิยมและกระแสทุนนิยม ที่ถาโถมเข้าใส่
ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่5 อธิปไตยของสยามถูกท้าทายอย่างมากจนราชสำนักได้ตระหนักถึงความด้อยกว่าทั้ง ความรู้และความคิด จึงได้พยายามปรับตัวโดยจัดรูปแบบของรัฐใหม่ตามแบบแผนตะวันตกและไม่ลืมที่จะ ผสานจารีตการเมืองดั้งเดิมของชนชั้นนำเอาไว้บางอย่าง
ในรัชสมัยนี้ เอง ที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยเริ่มเข้าสู่สังคมสยามอย่างค่อนข้าง ชัดเจน เริ่มจากชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งมีทั้งเจ้านายและขุนนางที่ไปศึกษาและปฏิบัติ ราชการในยุโรป ได้ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกในร.ศ.103(พ.ศ.2427) คณะเจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่ง อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มีหนังสือกราบทูลรัชกาลที่5 มีสาระสำคัญเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้ รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) โดยเห็นว่าเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้สยามรอดพ้นภัยคุกคามจากตะวันตกได้ และเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวว่า “แผ่นดินสยามเป็นของชาวสยามทั้งหมด”
รัชกาล ที่ 5 ทรงปฏิเสธและตอบกลับไปว่า พระองค์ไม่เคยคิดที่จะหวงแหนอำนาจไว้เลย แต่ติดขัดที่สถานการณ์ขณะนั้นยังไม่เหมาะสม เพราะขาดคนมีความรู้ความสามารถและความกล้าที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติเพื่อ ถ่วงดุลกับอำนาจบริหารที่ของกษัตริย์
ทว่าหลังจากนั้น ก็มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตามแนวทางของพระองค์เอง กล่าวคือ การสถาปนาอำนาจส่วนกลางภายใต้รัฐบาลแบบสมัยใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วน กลางแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการก่อร่างสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) โดยมีกษัตริย์เป็นองค์อธิปัตย์สูงสุด มีอำนาจสมบูรณ์และแบ่งแยกไม่ได้ คงสถานะความศักดิ์สิทธิ์เหนือประชาชนเช่นเดียวกับยุคศักดินา และในสมัยนี้นอกจากกลุ่มชนชั้นสูงแล้ว ยังมีสามัญชนหัวก้าวหน้าอย่าง “เทียนวรรณ” และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ได้พยายามนำเสนอแนวคิดท้าทายและกล้าวิพากษ์วิจารณ์การปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยสำนึกถึงความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีสิทธิ ความเสมอภาค คนทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน ดังที่เทียนวรรณ ได้แต่งบทประพันธ์ขึ้นตอนหนึ่งว่า
“...ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย...”
แม้การเปลี่ยนแปลงยังมิได้เกิดขึ้นตามข้อเรียกร้อง แต่ก่อนที่รัชกาลที่5 เสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชดำรัสอันเปรียบเหมือนคำมั่นสัญญาว่า "จะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์...จะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น"
ทรงมุ่งสร้างความมั่นคงให้กับรัฐตามแนวทาง ชาตินิยมและอนุรักษ์นิยม ทรงริเริ่มตั้งเมืองสมมุติ“ดุสิตธานี” จำลองรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และให้มีหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอข่าวด้วย มีคนบางกลุ่มวิจารณ์ว่า ดุสิตธานีเป็นเพียงการละเล่นของกษัตริย์และไม่ได้ตั้งใจก่อตั้งรูปการปกครอง แบบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง
ก่อนหน้านั้นช่วงต้นรัชกาลมีเหตุปฏิวัติ โค่นล้มระบอบกษัตริย์ขึ้นในจีน ตุรกีและโปรตุเกส เหตุการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลมาถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยในสยาม นั่นคือ เหตุการณ์ รศ.130 กลุ่มนายทหารและปัญญาชนวางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้กษัตริย์พระราชทาน รัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อนจึงถูกจับกุมเสียก่อนหลัง การก่อการครั้งนี้ รัชกาลที่6 ยังทรงยืนยันหนักแน่นว่า ราษฎรยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย “ระบอบกษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดนั้นดีแล้ว ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับประเทศสยามเพราะราษฎรไม่มีความรู้” พร้อมกับทรงเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังที่เกิดในหลายประเทศ เช่น “การปฏิวัติทั้งในจีนและโปรตุเกส เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะนำมาซึ่งความวุ่นวาย”
ปี2457 เกิดสงครามโลกครั้งที่1 และหลังจากนั้นก็มีเหตุปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์เกิดขึ้นอีกหลายประเทศ ทั้งในรุสเซีย เยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี ขณะที่ภายในประเทศก็มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อสามัญชนเริ่มตื่นตัว และแสดงออกทางการเมืองกว้างขวางขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์ “จีนโนสยามวารศัพท์” ของนายเซียวฮุดเสง ที่เผยแพร่โฆษณาความคิดเชิงประชาธิปไตย จนกระทั่งรัฐบาลไม่พอใจถึงกับออกกฎหมายควบคุมและให้รัฐมีอำนาจสั่งปิดได้ นับเป็นกฎหมายเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย
ห้วงเวลาสู่วิกฤต
และ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รัฐบาลสยามแก้ปัญหาขาดดุลการคลังด้วยการปลดข้าราชการออกจำนวนมาก ปัญหาเศรษฐกิจได้ขยายวงสู่ความขัดแย้งในวงของผู้บริหารจนกระทั่งถึงขั้นมี การลาออกของเสนาบดี รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่อนุรักษ์นิยมเน้นการจัดงบประมาณให้เข้า ดุล จึงต้องตัดงบประมาณรายจ่าย ลดเงินเดือน ลดจำนวนข้าราชการพร้อมกับเก็บภาษีในรูปใหม่ซึ่งกระทบคนชั้นกลางมากที่สุด จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างมาก ขณะที่เกษตรกรชาวนาก็อยู่ในภาวะทุกข์ยาก ราคาข้าวและราคาที่ดินตกต่ำอย่างมาก ชาวนาขาดเงินสดที่จะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ในขณะเดียวกันก็ขาดเงินสำหรับเสียภาษีอากร ทั้งยังไม่สามารถจะหาเงินกู้มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เกิดหนี้สินรุงรังและเกิดอัตราว่างงานสูง
แม้ประเทศกำลังประสบ ภาวะเศรษฐกิจก็ตาม แต่ถึงกระนั้นเจ้านายและชนชั้นสูงยังคงดำรงสถานะที่สูงส่งเช่นเดิม ด้วยแนวคิดของระบบเจ้านายต้องผดุงไว้ซึ่งขัตติยะ เพราะหากมีเรื่องใดเสื่อมเสียมากระทบชนชั้นเจ้านาย ย่อมส่งผลต่อพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ด้วย ดังนั้นพระมหากษัตริย์ต้องพระราชทานเงินให้แก่ชนชั้นเจ้าอย่างเพียงพอ
สถานการณ์ ดังกล่าวเชื่อมโยงมาถึงกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยที่รุนแรงมากขึ้น “รัฐสภาและรัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่คุ้นเคยกันทั่วไปอย่างน้อยก็ในหมู่ปัญญาชน เวลานั้นมีกระแสข่าวว่า รัชกาลที่7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุดก็มิได้เกิดขึ้น พระองค์ทรงแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีเดิม คือ “การปรับปรุงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เพราะทรงเห็นว่า “การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแบบฉบับพระบิดานั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุด”
ถึงปี2474 รัชกาลที่7 ทรงมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศและที่ปรึกษาร่างเค้าโครงธรรมนูญเพื่อเตรียม ไว้ว่า อาจจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายน ในโอกาสครบ 150 ปี ราชวงศ์จักรี หากแต่เค้าโครงธรรมนูญฉบับนี้ ยังเป็นธรรมนูญที่ให้อำนาจสูงสุดแก่กษัตริย์และขุนนางเสนาบดีเช่นเดิม เพราะไม่ได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกไปจากสถาบันกษัตริย์ มิใช่ธรรมนูญที่อยู่บนพื้นฐานอำนาจของประชาชนตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป หากเป็นธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม ดังเห็นได้จากที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ของร่างฯฉบับนี้ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์" แต่แล้วการพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ล้มเหลวไปพร้อมๆกับโอกาสของสยาม ที่จะมีระบอบรัฐสภา
ขบวนการคณะราษฎร
ทหาร และพลเรือนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ ในยุโรป มีเจตนาตรงกันคือต้องการเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้เริ่มประชุมกันครั้งแรกตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี2469 ณ กรุงปารีส และตกลงกันใช้วิธี "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์อยู่เหนือ กฎหมาย มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยเน้นแผนการที่หลีกเลี่ยงการนองเลือดเพื่อป้องกันการถือโอกาสเข้ามา แทรกแซงจากมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คืออังกฤษและฝรั่งเศส
หลังการประชุมนั้น เมื่อคณะผู้ก่อการกลับมาประเทศสยาม ก็พยายามเสาะหาสมาชิกที่ต้องการเข้าร่วมการปฏิวัติ จนได้สมาชิกจากหลากหลายอาชีพ
- สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
- สายทหารเรือ นำโดยน.ต. หลวงสินธุสงครามชัย
- สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม
- และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
เมื่อ จัดตั้งขบวนการสำเร็จเป็นรูปร่าง คณะราษฎรได้ประชุมเตรียมการหลายครั้ง แต่ได้ล้มเลิกแผนการบางแผน เช่น การยึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในวันที่ 16มิถุนายน เนื่องจากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าจะปฏิบัติการในรุ่งเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกล กังวล เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนในกรุงเทพ ทำให้สามารถเข้ายึดอำนาจโดยหลีกเลี่ยงการปะทะที่เสียเลือดเนื้อได้ เป้าหมายสำคัญของปฏิบัติการนี้คือการเข้าควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลานั้น
ย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475
ย่ำ รุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้นำทหารบกและทหารเรือประมาณ 2,000 ชีวิต มารวมตัวกันรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครองก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร ด้านสนามเสือป่า ดังปรากฎในทุกวันนี้มีหมุดทองเหลืองฝังอยู่บนพื้นถนน เป็นหลักฐานติดตรึงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ มีข้อความจารึกว่า
"ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"
คณะ ราษฎรได้ส่ง น.ต.หลวงศุภชลาศัยไปอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อให้เสด็จนิวัติพระนคร โดยเสนอให้ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปได้แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากทรงปฏิเสธจะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อไป พระองค์ได้ทรงปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ที่ตามเสด็จและได้ตัดสินพระทัยตกลงตามเงื่อนไขของคณะราษฎร
เมื่อเสด็จ กลับถึงวังศุโขทัย เช้าวันรุ่งขึ้น ผู้แทนคณะราษฎร 7 คน ได้เดินทางนำเอกสารสำคัญไปกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช2475 ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ที่เป็นหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของราษฎร ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตราแรกว่า
"อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย"
--------------------------------
ราษฎรทั้งหลายเมื่อ กษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้
การที่ แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่ รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว
รัฐบาลของกษัตริย์ได้ ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้ เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิด ว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย
เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครอง โดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจ ลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.ต้อง บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ราษฎร ทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือ กฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า
คณะราษฎร
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:
--ค้นพบเอกสารเก่าต้นฉบับ "ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1"
เพราะการเมืองไม่ได้มีแต่เรื่องการเลือกตั้ง 24มิถุนามหาศรีสวัสดิ์นี้ขอเชิญร่วมงานวันชาติราษฎร
24 มิถุนายน 2475 และคดียึดพระราชทรัพย์ร.7
-ก่อนปฏิวัติ24มิถุนาจะสำเร็จมีบรรพชนล้มลงเบิกทาง:เพื่อนเอ๋ยขอฝากไชโยถ้าพวกเรายังมีชีวิตได้เห็น