บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นิติราษฎร์ฉบับที่ 24 จดหมายจาก "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ถึง "แก้วสรร อติโพธิ" วิพากษ์กฎหมายหรือกฎหมู่ ?

ที่มา มติชน





ากเว็บ นิติราษฎร์

............................................................................................................

“J’apprenais du moins que je n’étais du côté des coupables, des accusés, que dans la mesure exacte où leur faute ne me causait aucun dommage. Leur culpabilité me rendait éloquent parce que je n’en étais pas la victime. Quand j’étais menacé, je ne devenais pas seulement un juge à mon tour, mais plus encore : un maître irascible qui voulait, hors de toute loi, assommer le délinquant et le mettre à genoux.”

“... การที่โดดเข้าไปช่วยเหลือจำเลยนั้นก็เพราะอาชญากรรมของเขาไม่เป็นภัยต่อ สวัสดิการของผม ผมแก้คดีของเขาด้วยอรรถาธิบายอันไพเราะจับใจ เพราะผมไม่ได้เป็นผู้รับเคราะห์จากการกระทำของเขา ทว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาอาจเป็นอันตรายต่อผม เมื่อนั้นผมจะจัดการพิพากษาเขาทันที ยิ่งกว่านั้นก็พร้อมจะกลายเป็นคนคลั่งอำนาจ กฎหมายว่าอะไร กูไม่ฟัง จำจะต้องลงโทษมันให้ได้”

Albert Camus, La Chute, Gallimard, 1956, p.66.

สำนวนแปลโดย ตุลจันทร์ ใน อัลแบร์ กามู, มนุษย์สองหน้า, สำนักพิมพ์สามัญชน, ๒๕๔๓, หน้า ๖๘.
.......................................................................................................
- ๑ -

“กฎหมาย”

วัฒนธรรม การเมืองไทยในทุกวันนี้ มักอ้าง “กฎหมาย” กันเป็นสรณะ หากต้องการเสริมสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตน ก็ต้องอ้างกฎหมาย เช่นกัน หากต้องการทำลายความชอบธรรมของการกระทำของศัตรู ก็ต้องอ้างว่าการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเถลิงอำนาจของ “กฎหมาย” เป็นส่วนหนึ่งของชัยชนะอุดมการณ์ประชาธิปไตย-เสรีนิยม-นิติรัฐ เมื่อประเทศไทยอยู่ในสังคมโลก จึงไม่อาจตกขบวน “นิติรัฐ-ประชาธิปไตย” ได้ 1

เรา จึงพบเห็นบุคคลจำนวนมากหยิบยกคำใหญ่ๆโตๆจำพวก “นิติรัฐ” “นิติธรรม” “เคารพกฎหมาย” “กฎหมายเป็นใหญ่” “ปกครองโดยกฎหมาย” “ศาลตัดสินแล้วเป็นที่สุด ทุกคนต้องยอมรับ” เพื่ออ้าง "กฎหมาย-กระบวนการยุติธรรม-คำพิพากษา" ไว้อุดปากฝ่ายตรงข้าม และสร้างความชอบธรรมให้ฝ่าย ตนเอง โดยจงใจไม่พูดถึงที่มาอันอุบาทว์ของ “กฎหมาย” ปัจจัยรอบด้านของ "กฎหมาย" เนื้อหาของ “กฎหมาย” ไม่อนาทรร้อนใจต่อการใช้กฎหมายแบบเสมอภาค

การแสดงออกของคน จำนวนมากว่าไม่ยอมรับกระบวนการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจาก คณะรัฐประหาร ไม่ใช่เรื่อง “การเมือง” มารังแก “กฎหมาย” ไม่ใช่เรื่อง “กฎหมู่” อยู่เหนือกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากต้องการ “โต้” ว่าสิ่งที่พวกท่านอ้างว่าเป็น “กฎหมาย” นั้น เป็น “กฎหมาย” จริงหรือ? หรือมันเป็น “กฎหมู่” ที่ใส่เสื้อผ้า “กฎหมาย?

“กฎหมู่”

หาก เชื่อว่าในประเทศไทยนี้มี “กฎหมู่” จริง “กฎหมู่” ก็คงมิได้มีเพียงแต่ “กฎหมู่ชินวัตร” เท่านั้น ยังมีกฎหมู่อีกหลายตระกูล “กฎหมู่” ของบางตระกูลได้ทำลายระบอบประชาธิปไตย “กฎหมู่” ของบางตระกูลได้ตัดตอนบอนไซไม่ให้ประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้เจริญเติบโตงอกงามในสังคมไทย และ “กฎหมู่” อีกหลายประเภทอาจสร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างมหาศาล

รัฐประหารเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๔๙ เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

คณะ รัฐประหารรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของการ กระทำของตนเองและการกระทำต่อเนื่อง ตามมาตรา ๓๖ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๙ 2 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

คณะรัฐประหารนิรโทษกรรมตนเองและพรรคพวกตามมาตรา๓๗ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๙3 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

คณะรัฐประหารออกประกาศ คปค ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓4 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

“กฎหมาย” ที่เกิดจากน้ำมือของคณะรัฐประหาร เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

ที่มาและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

มาตรา ๓๐๙ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐5 เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

กระบวนการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือจนนำมาสู่การยุบพรรคการเมืองหลายพรรค ตัดสิทธินักการเมืองหลายคน เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

ขบวนการ “ตลก ภิวัตน์” เป็น “กฎหมู่” หรือไม่?

สาธุชนพึงพิจารณาได้เอง

ข้าพเจ้า เห็นว่า ด้วยความสามารถและความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ มนุษย์จึงไม่ควรมีความจำที่สั้นจนเกินไปนัก มนุษย์ผู้มีเหตุมีผลต้องตระหนักรู้ได้ถึงเหตุการณ์ที่กฎหมายถูกนำไปใช้อย่าง บิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ทั้งการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุน นิติรัฐ-ประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙

การ พิจารณาให้ความเห็นในเชิงคุณค่าต่อเรื่องใดก็ตาม โปรดพิจารณาให้สม่ำเสมอและเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย มิใช่ติดตั้งสวิตช์ตัดไฟ พร้อมเปิด-ปิดได้ตามสถานการณ์ เรื่องหนึ่งเปิดสวิตช์ “นิติรัฐ” เต็มที่ พออีกเรื่องหนึ่ง กลับปิดสวิตช์ “นิติรัฐ” ทิ้งเสีย

น่า เสียดาย ถ้าคนเหล่านี้ “ขยันขันแข็ง” กับการต้านรัฐประหาร ต้านรัฐประหารได้สักเสี้ยวหนึ่ง ต้านกระบวนการทางกฎหมายที่บิดเบี้ยวมาตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙ ได้สักครึ่งหนึ่งของสิ่งที่พวกเขากำลังกระเหี้ยนกระหือรือกระทำกันอยู่... ก็คงดี

ข้าพเจ้าเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ควรกลับมาทบท วน ตั้งสติ ลดอัตตา และแอมบิชันส่วนตนลงเสียบ้าง มิใช่ตั้งคำตอบไว้ในใจ ฝังลงไปในสมอง ลึกเข้าไปในจิตสำนึกว่ามันผิด มันโกง มันชั่ว ข้าขออาสาเข้ามาจัดการมันเอง เมื่อจัดการมันแล้ว ได้ผลสำเร็จมาบางส่วน ก็จะตามราวีมันต่อ เพื่อสนองตอบจิตสำนึกของตน เพื่อขับเน้นว่าสิ่งที่ข้าคิดนั้นมันถูก สิ่งที่ข้าทำนั้นมันดี เมื่อข้าอาสาเข้ามาทำงานนี้แล้ว ผลงานที่ข้าร่วมรังสรรค์ขึ้นต้องเดินหน้าไปให้ถึงจุดหมาย วิธีคิดแบบนี้มีแต่พาไปสู่อันตราย ข้าพเจ้าเป็นคนไม่สันทัดเรื่องพระเรื่องศาสนา แต่ครั้งนี้ขอยืมคำพระมาใช้บ้าง : “ปล่อยวาง”

คำ พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๕๓ เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓

ต่อคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๕๓ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คดียึดทรัพย์ทักษิณ” นั้น คณะนิติราษฎร์เมื่อครั้งยังเป็นกลุ่ม ๕ อาจารย์ได้ออกแถลงการณ์ ทั้งฉบับเต็ม (http://www.enlightened-jurists.com/directory/74/Tk.html) และฉบับย่อ (http://www.enlightened-jurists.com/directory/75/concise.html) แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว ตั้งแต่ต้นกำเนิดของคดีซึ่งมีที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, ข้อสงสัยในความเป็นกลางของ คตส.ในฐานะเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ไต่สวน, เนื้อหาของคดีเกี่ยวกับข้อกล่าวหาทั้ง ๕ กรณีว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือ, การเชื่อมโยงข้อกล่าวหาทั้ง ๕ กรณีว่าเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายก รัฐมนตรี ตลอดจนผลลัพธ์ของคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นของแผ่นดิน ข้าพเจ้าจึงไม่ขอกล่าวซ้ำอีก

ภาย หลังศาลฎีกาฯได้พิพากษาให้ยึดทรัพย์ คำพิพากษานี้ไม่ได้ส่งผลสะเทือนถึงจำนวนเงิน ๔๖,๐๐๐ ล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ เท่านั้น แต่ยังเกิดผลข้างเคียงทางการเมืองตามมาอีกด้วย บุคคลจำนวนหนึ่งพยายามนำแต่ละท่อน แต่ละส่วน แต่ละวรรค แต่ละตอนของคำพิพากษานี้มาขยายผล ก็เพียงเพื่อต้องการจะเอากันให้ตาย จะไล่บี้ให้ไม่เหลือที่เดิน จะต้อนเขาให้จนมุมจนไม่อาจผยองได้อีก โดยอ้างว่าที่กระทำไปนั้น พวกตนไม่ได้คิดแก้แค้น ไม่ได้คิดร้าย แต่ต้องทำตาม “นิติรัฐ”

ข้าพเจ้าเห็นว่าคำพิพากษา ฉบับนี้มีจุดกำเนิดมาจากความไม่ปกติ การนำคำพิพากษานี้มาใช้เป็นบรรทัดฐาน นำเนื้อความในคำพิพากษามาใช้บางท่อนบางตอนเพื่อประโยชน์ในการจัดการศัตรูทาง การเมือง จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ด้วยความเคารพต่อศาลฯ ข้าพเจ้าเห็นว่าหากต้องการนำคำพิพากษานี้มาใช้ คงใช้ได้แต่เพียงการศึกษาและวิจารณ์ถึงความไม่ถูกต้องตามหลักวิชา

เกี่ยวกับคำพิพากษานี้ นายแก้วสรร อติโพธิ ได้ปกป้องการกระทำของ คตส. ในแง่ที่มาของ คตส. ว่า

“ถาม ว่ากระบวนการดำเนินคดีของ คตส.ตรงไหนที่ไม่ถูกต้อง ส่วนที่บอกว่าคตส.ตั้งโดยคมช. ถามว่าคตส.เอากระบวนการไหนมากล่าวโทษทักษิณ คมช.ไม่ได้เขียนอำนาจอะไรเป็นพิเศษเขาให้เราใช้อำนาจตามกระบวนการกฎหมายปกติ และมีมาตรฐานไม่เคยขัดรัฐธรรมนูญ พอขึ้นศาลคมช.ก็ไม่ได้เขียนอำนาจ การพิจารณาคดีของศาลใหม่ เป็นการพิจารณาแบบเดียวกับคดีของนายรักเกียรติ เป็นมาตรฐานเดียวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่า คตส.ตั้งโดยมาตรฐานเดียวกับป.ป.ช. และคดีที่คตส.เข้าไปตรวจสอบก็ไม่ใช่คดีใหม่ มีอยู่แล้วที่ปปช. สตง. เราเอาคดีนี้มาแล้วก็ใช้อำนาจกำหมายตามปกติ มันจึงไม่ใช่เหตุผลที่จะมาบอกว่ากระบวนการดำเนินคดีไม่ชอบ ทางฝ่ายนักกฎหมายทักษิณก็บอกว่าทฤษฎีต้นไม้พิษผล ก็ต้องเป็นพิษ ตรงนี้ไปจำใครมาก็ไม่รู้ เพราะทฤษฎีตรงนี้มาจากศาลสูงของสหรัฐว่าหากกระบวนการดำเนินคดีใดเป็นไปโดยมิ ชอบ เช่นเอาหลักฐานจากการลักลอบดักฟังโทรศัพท์จำเลย มาลงโทษจำเลย ศาลทั่วไปในสากลก็จะชี้ว่าทำไม่ได้ และผลผลิตที่ได้คือคำพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ก็จะต้องถูกปฏิเสธตามไปด้วย ซึ่งสภาพความไม่ชอบด้วยกระบวนการเช่นนี้ หาได้เกิดขึ้นในคดี คตส.เลย”6

ข้าพเจ้า ขออนุญาตให้ความเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมสำคัญทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการสืบสวนสอบสวนอันเป็นต้นธาร จนถึงคำพิพากษาที่เป็นปลายธาร ดังที่ปรากฏในแถลงการณ์ของพวกเราว่า :

.............................................................................................................

“๑.๔. หลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to fair trial) และหลักการว่าด้วยกระบวนการทางกฎหมายที่ดี (Due process of law) ถือเป็นหลักการพื้นฐานในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เมื่อกระบวนการทางกฎหมายไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการนั้นก็ย่อมไม่ถูกต้องไปด้วย จริงอยู่ อาจกล่าวกันว่ากระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ ไม่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในชั้นของ คตส. แต่ยังต้องดำเนินต่อไปยังชั้นอัยการสูงสุด และสุดท้ายเป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำหน้าที่ พิพากษา กระบวนการเหล่านี้อาจมีบางท่านถือว่าให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งคัดค้านได้เต็มที่ และการพิจารณาคดีโดยศาลฎีกาฯซึ่งจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มีความเป็นกลางและอิสระ ก็เป็นหลักประกันแก่ผู้ถูกกล่าวหาว่าจะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมแล้ว

๑. ๕. ถึงกระนั้น คณาจารย์ทั้งห้าก็ยังเห็นว่า ต้นธารของกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้เริ่มต้นจากรัฐประหาร ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นที่มาของการแต่งตั้ง คตส. เป็นที่มาของการให้อำนาจมากมายในการตรวจสอบทรัพย์สินแก่ คตส. เป็นที่มาของการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อ คปค.ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และการรัฐประหารก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดทางอาญา มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต และเป็นสิ่งแปลกปลอมในรัฐเสรีประชาธิปไตย ประกอบกับพิจารณาทางความเป็นจริงก็เห็นว่าคดีที่ คตส.เลือกขึ้นมาพิจารณาก็ล้วนแล้วแต่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในคดีนี้เริ่มต้นจากความไม่ชอบด้วย กฎหมาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายดุจกัน

๑. ๖ หากแม้นยอมเชื่อกันตามประเพณีของระบบกฎหมายไทยที่ว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เมื่อนั้นคณะรัฐประหารก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจออกรัฐธรรมนูญใหม่หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ตลอดจนการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมายได้ คณาจารย์ทั้งห้าก็ยังคงเห็นว่า เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว และคณะรัฐประหารได้ให้กำเนิดผลิตผลทางกฎหมายจำนวนมาก จนกระทั่งวันหนึ่งมีการจัดตั้งระบบกฎหมายชุดใหม่ผ่านการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ องค์กรผู้ใช้บังคับกฎหมายทั้งหลาย ก็ต้องพิจารณาใช้และตีความผลิตผลทางกฎหมายของคณะรัฐประหารเสียใหม่ให้เป็นไป ในทางที่เป็นธรรม คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งปวงควรจะต้องปฏิเสธรัฐ ประหารและผลผลิตของคณะรัฐประหารด้วยการไม่นำประกาศ คปค.มาใช้บังคับและไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่ริเริ่มจากคณะรัฐประหาร

๒. ความเป็นกลางขององค์กรที่ทำหน้าที่ไต่สวน

๒. ๑ หลักความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่ถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายมหาชน เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นธรรม คู่กรณีต้องได้รับการประกันว่าเรื่องของตนจะถูกพิจารณาโดยบุคคลที่มีความ เป็นกลาง หากพบว่ามีบุคคลที่ไม่เป็นกลางในการพิจารณาเรื่องใด บุคคลนั้นต้องถอนตัวออกจากการพิจารณา และคำสั่งที่เกิดจากการพิจารณาโดยบุคคลที่ไม่เป็นกลางย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

๒. ๒ ความไม่เป็นกลางปรากฏได้ใน ๒ ลักษณะ (๑) ความไม่เป็นกลางทางภาวะวิสัย คือ ลักษณะซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นกลางจากภายนอก แม้บุคคลนั้นจะมีใจที่เป็นกลางเพียงใดก็ตาม หากสภาพภายนอกเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยว่าอาจไม่เป็นกลาง ก็ถือได้ว่าบุคคลนั้นไม่เป็นกลาง เช่น เป็นคู่กรณีเสียเอง เป็นคู่สมรส เป็นบุตร เป็นพี่น้อง เป็นญาติ (๒) ความไม่เป็นกลางทางอัตวิสัย คือ ลักษณะความไม่เป็นกลางโดยตัวของมันเอง ซึ่งเกิดจากจิตใจ ทัศนคติ ความเชื่อส่วนบุคคล พฤติกรรม รสนิยม หรือการกระทำของบุคคลนั้น เช่น ความลำเอียง ความโกรธ ความโลภ มีผลประโยชน์ขัดกัน มีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคู่กรณีอย่างประจักษ์ชัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความไม่เป็นกลางนี้มิใช่เกิดจากเพียงเหตุระแวงหรือคาดเดาเอาเอง แต่ต้องเป็นเหตุที่แสดงให้เห็นประจักษ์ชัดและมีสภาพร้ายแรงเพียงพอที่จะเห็น ได้ว่าอาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลางได้

๒. ๓ หลักความเป็นกลางในระบบกฎหมายของนานาอารยประเทศ เรียกร้องอย่างเคร่งครัดทั้งกับเจ้าหน้าที่และผู้พิพากษา คำพิพากษาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปและศาลภายในวางหลักไว้ว่า บุคคลที่มีทัศนคติหรือเคยแสดงความคิดเห็นไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ในเรื่อง หนึ่ง ต่อมาบุคคลนั้นมีโอกาสพิจารณาเรื่องทำนองเดียวกัน เช่นนี้ย่อมถือว่าบุคคลนั้นมีสภาพ “ไม่เป็นกลาง” ในการพิจารณาเรื่องนั้น เช่น เจ้าหน้าที่หรือผู้พิพากษาเคยแสดงความเห็นไปในทางเหยียดผิว ต่อมามีโอกาสพิจารณาเรื่องหรือคดีที่จำเลยเป็นคนผิวสี (คำวินิจฉัยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป CEDH 23 avril 1986, Remli c/ France) หรือ เจ้าหน้าที่หรือผู้พิพากษาได้ให้ความเห็นผ่านทางสื่อสาธารณะว่าคู่กรณีหรือ จำเลยมีความผิด ต่อมาเจ้าหน้าที่หรือผู้พิพากษามีโอกาสพิจารณาเรื่องนั้น (คำวินิจฉัยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป CEDH 28 novembre 2002, Lavents c/ Lettonie) หรือนายกเทศมนตรีเคยให้ความเห็นไว้ว่าตำแหน่งเลขานุการประจำเทศบาลไม่เหมาะ กับเพศหญิง ต่อมานายกเทศมนตรีได้เป็นประธานกรรมการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง เลขานุการประจำเทศบาล (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศส CE 9 novembre 1966, Commune de Clohars-Carnoët c/ Demoiselle Podeur) เป็นต้น

คำ วินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชน ยุโรปที่อาจนำมาเทียบเคียงได้อีกกรณีหนึ่ง คือ คำวินิจฉัยในคดี Incal c/ Turquie, 9 juin 1988 และ Ergin c/ Turquie, 4 mai 2006 ซึ่งวางหลักไว้ว่า พลเรือนต้องถูกดำเนินคดีอาญาในศาลทหารพิเศษซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาซึ่ง แต่งตั้งโดยทหารเอง ศาลลักษณะนี้ย่อมไม่เป็นกลางและไม่เป็นอิสระ

จะ เห็นได้ว่า หลักความเป็นกลางเป็นหลักการที่นานาอารยประเทศให้ความสำคัญและเคร่งครัดมาก เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ได้สำคัญที่ “อำนาจ” ที่บังคับการให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปเท่านั้น แต่กระบวนการยุติธรรมต้องสร้างความมั่นใจให้แก่คู่กรณีและสาธารณชนว่าพวกเขา จะได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการดังกล่าว สมดังคำกล่าวของ Lord Hewart (๑๘๗๐-๑๙๔๓) ผู้พิพากษาอังกฤษว่า “ความยุติธรรมต้องไม่เพียงถูกมอบให้ แต่ความยุติธรรมต้องถูกมองเห็นว่ามอบให้”

๒. ๔ ในคดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านอนุกรรมการไต่สวน (นายกล้านรงค์ จันทิก, นายบรรเจิด สิงคะเนติ, นายแก้วสรร อติโพธิ) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นกลางทางอัตวิสัยว่าอนุกรรมการไต่สวนเป็น ปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาทำให้การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไม่ชอบด้วย กฎหมาย แต่ศาลฎีกาฯเห็นว่าการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนทั้งสามคนชอบด้วยกฎหมาย แล้ว การให้เหตุผลของศาลในกรณีนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นโดยละเอียดว่าอนุกรรมการไต่ สวนทั้ง ๓ คน ปราศจากความไม่เป็นกลางอย่างไร ศาลฎีกาฯเพียงแต่อธิบายยกถ้อยคำพรรณนาโดยนำบทบัญญัติมาตรา ๔๖ ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อ ๑๑ ของระเบียบ ป.ป.ช.ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.๒๕๔๗ มาไล่เรียงทีละข้อว่า “บุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นอนุกรรมการไต่สวน... ได้แก่ บุคคลผู้รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหามาก่อน หรือมีส่วนได้เสียในเรื่องที่กล่าวหา หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา” และศาลก็แปลความ-ยกตัวอย่างว่า “การรู้เห็นเหตุการณ์จำกัดเฉพาะการเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องโดยตรงใน เหตุการณ์หรือพฤติการณ์ที่กล่าวหานั้น เช่น การมีส่วนร่วมในการดำเนินการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาด้านโทรคมนาคมต่างๆที่มีการกล่าวหาในคดีนี้ เป็นต้น” จากนั้นศาลก็นำพฤติกรรม-การกระทำของอนุกรรมการทั้งสามซึ่งถูกสงสัยว่าอาจจะ ไม่เป็นกลางมาเทียบ แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของนายกล้านรงค์ “เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย” “เป็นการแสดงออกโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” “เป็นการดำเนินการโดยใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ” การกระทำของนายบรรเจิด “เป็นการแสดงออกในฐานะนักวิชาการและประชาชน” และ “เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย” การกระทำของนายแก้วสรรเป็นการ “แสดงความคิดเห็นทางวิชาการ และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความชอบธรรมตามสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ รับรอง ไม่มีเหตุโกรธเคืองเป็นการส่วนตัวกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่มีส่วนรู้เห็นเหตุกาณ์โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่มีการกล่าวหา”

๒. ๕ คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่า การกระทำใดจะถือว่าไม่เป็นกลางทางอัตวิสัยหรือไม่ ต้องพิจารณาจากลักษณะและเนื้อหาของการกระทำนั้นเป็นรายกรณีไป การกระทำของบุคคลหนึ่งในอดีตซึ่งถูกสงสัยว่าจะส่งผลต่อความไม่เป็นกลางของ บุคคลนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ แม้การกระทำในอดีตนั้นจะเป็นการกระทำตามกฎหมาย หรือเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ปราศจากข้อสงสัยในเรื่องความเป็นกลาง จะเห็นได้ว่าศาลไม่ได้ยกเหตุผลหรืออธิบายให้เห็นชัดเลยว่าการกระทำของบุคคล ทั้งสามมีความเป็นกลางหรือไม่ ศาลเพียงแต่บอกว่า “เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย” “เป็นการแสดงออกโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” “เป็นการดำเนินการโดยใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ” “เป็นการแสดงออกในฐานะนักวิชาการและประชาชน” “เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย” “เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ วิพากษ์วิจารณ์ด้วยความชอบธรรม ไม่มีเหตุโกรธเคืองเป็นการส่วนตัว ไม่มีส่วนรู้เห็นเหตุกาณ์โดยตรง” เหตุผลเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าพฤติกรรมหรือการกระทำเหล่านี้จะไม่ได้ แสดงถึง “ความไม่เป็นกลาง” ของบุคคลทั้งสาม ตรงกันข้าม สมมติว่าหากพิจารณาโดยเนื้อแท้แล้วการกระทำนั้นยังคงมีสภาพร้ายแรงเพียงพอ ที่จะเห็นได้ว่าอาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลางได้ อย่างไรเสียก็คือ “ ความไม่เป็นกลาง” แม้การกระทำนั้นจะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการก็ตาม

๒. ๖ เป็นที่ทราบกันดีว่า คตส. แต่งตั้งโดย คปค. ภายหลังจากที่ คปค.รัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณฯ ในครั้งแรก คปค. แต่งตั้ง คตส. (ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๓) โดยมีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน และกรรมการอีก ๗ คน ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งตามหน่วยงานต่างๆ หกวันให้หลัง คปค. กลับออกประกาศยกเลิก คตส. ชุดดังกล่าว และแต่งตั้ง คตส. ชุดใหม่ โดยกำหนดชื่อตัวบุคคลเป็นกรรมการ คตส. รวม ๑๒ คน (ตามประกาศ คปค ฉบับที่ ๓๐) เมื่อพิจารณาถึงรายชื่อกรรมการแต่ละคน ก็ชวนให้สงสัยว่าเหตุใด คปค.ต้องยกเลิก คตส.ชุดเดิม (ซึ่งกำหนดจากตำแหน่ง) และตั้ง ๑๒ คนนี้ (กำหนดเป็นบุคคลเฉพาะเจาะจง) เป็น คตส. ชุดใหม่ เมื่อ คตส. กำเนิดจากการแต่งตั้งของ คปค. และ คปค.เป็นผู้ก่อการรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่ คตส. เลือกพิจารณาตรวจสอบเฉพาะเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ ความข้อนี้ย่อมเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยถึงความไม่เป็นกลางของ คตส. ต่อการพิจารณาเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ฯได้

๒.๗. เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมและทัศนคติของคตส.และอนุกรรมการไต่สวนทั้งสามคน ในแง่การให้ความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณฯหลายครั้งทั้งก่อนและ ระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ คตส. การร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีอภิปรายกับกลุ่มพันธมิตรฯซึ่งต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณฯ การอภิปรายและเขียนบทความวิจารณ์การดำเนินนโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณ (ใน ๕ กรณีตามคำร้องในคดีนี้) ไปในทางไม่เห็นด้วยและเห็นว่าน่าจะส่อทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบ (ตัวอย่างรูปธรรม คือ เอกสารความยาว ๓๒ หน้าในชื่อ “หยุดระบอบทักษิณ” ที่นายแก้วสรร อติโพธิ เป็นหนึ่งในผู้จัดทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อที่ ๓ “ระบอบทักษิณ โกงกินชาติบ้านเมือง”) การจัดงานเลี้ยงอำลาเนื่องในโอกาส คตส.หมดวาระ โดยจัดทำชื่อรายการอาหารล้อเลียนนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ควรที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบ ด้วย”

..................................................................................................................

ข้าพเจ้า เห็นว่า บางครั้งการประเมินเชิงคุณค่าเรื่องความยุติธรรมอาจไม่ได้ยากจนเกินไป หากเพียงเราลองสมมติว่าถ้าตนเองถูกกระทำอย่างนั้นบ้าง ยังจะว่าเป็นความยุติธรรม ยังจะว่าเป็นกฎหมายอีกหรือไม่ 7

หาก ยังไม่เห็นภาพ ก็ลองสมมติดูว่า คณะรัฐประหารได้ตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อสอบสวนคดีของ นายแก้วสรรฯ กรรมการแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่ไม่ชอบนายแก้วสรรฯทั้งสิ้น แม้คณะรัฐประหารจะกำหนดว่าเมื่อคณะกรรมการชุดนี้สอบสวนแล้วเสร็จให้ส่ง เรื่องไปยังศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปก็ตาม ถามว่านายแก้วสรรฯยังคิดว่ายุติธรรมหรือไม่ หรืออีกสักตัวอย่าง เอาให้แคบเข้าไปอีกสักหน่อย นายแก้วสรรฯถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการที่เคย ทะเลาะเบาะแว้งกับนายแก้วสรรฯ ไม่ชอบนายแก้วสรรฯ มีทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์กับนายแก้วสรรฯชัดเจน เช่นนี้ นายแก้วสรรฯจะว่ากระบวนการสอบสวนทางวินัยนี้มีความเป็นกลางและจะมอบความ ยุติธรรมให้นายแก้วสรรฯได้หรือไม่?

อนึ่ง ข้าพเจ้าขอสารภาพว่าเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๓ ข้าพเจ้าได้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ด้วยการไปลงคะแนนเสียงให้นายแก้วสรร อติโพธิ ผู้สมัครหมายเลข ๓๕ (ข้าพเจ้าจำได้แม่นยำ เพราะเป็นการใช้สิทธิครั้งแรกในชีวิตของข้าพเจ้า) นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังเชิญชวนให้สมาชิกในครอบครัวของข้าพเจ้าไปลงคะแนนให้ นายแก้วสรรฯอีกด้วย ที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ มิใช่หมายมาลำเลิกบุญคุณแต่ประการใด เมื่อข้าพเจ้าลงคะแนน ข้าพเจ้าได้พินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่และได้ลงคะแนนไปตามจิตสำนึกของ ข้าพเจ้า และเมื่อครั้งนายแก้วสรรฯ เป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ได้ทำประโยชน์อยู่หลายประการ ข้าพเจ้าจึงมิได้รู้สึกว่าการลงคะแนนของข้าพเจ้าเป็น “บุญ” แล้วต่อมาข้าพเจ้ารู้สึก “บาป” จึงต้องเขียนประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้เพื่อ “ล้างบาป” ข้าพเจ้าเพียงแต่อ่านความเห็นและเห็นการกระทำของนายแก้วสรรฯ ณ เวลานี้ แล้วไม่เห็นด้วย จึงเขียนแย้ง ก็เท่านั้นเอง

- ๒ -

ใน ห้วงเวลานี้ ประเด็น “นิรโทษกรรม” เริ่มปรากฏเป็นข้อถกเถียงในสังคมไทย ข้าพเจ้าเห็นว่าการนิรโทษกรรมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นั้น นอกจากจะไม่ชัดเจนว่าใคร เหตุการณ์ใด ที่นับรวมอยู่ในขอบเขตของการนิรโทษกรรมแล้ว การนิรโทษกรรมยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาอีกด้วย เพราะ การนิรโทษกรรม คือ มีการกระทำที่เป็นความผิดแล้วมีการตรากฎหมายในภายหลังเพื่อกำหนดว่าการกระทำ นั้นไม่เป็นความผิดแล้ว ในเมื่อเดินหน้าเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ การกระทำใดที่ถือเป็นความผิดอันเนื่องมาจาก “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร ไม่ควรถือว่าเป็นความผิด เมื่อไม่เป็นความผิด ย่อมไม่มีอะไรให้นิรโทษ ในขณะเดียวกันผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของอำนาจรัฐตลอดช่วงเวลาเกือบ ๕ ปี พวกเขาต้องได้รับการเยียวยา

ถ้าไม่นิรโทษกรรม แล้วเราควรทำอย่างไร?

ความ คิดหนึ่งที่ยังมิเคยปรากฏในการถกเถียง แต่ในหมู่ผู้ก่อตั้งคณะนิติราษฎร์เริ่มหยิบยกมาสนทนากัน คือ การประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และ “ผลิตผล” ของคณะรัฐประหาร เป็นการกระทำที่เป็นโมฆะ หรือเป็นการกระทำที่ไม่เคยปรากฏขึ้น แน่นอน อาจมีคนโต้แย้งโดยหยิบยกหลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะมาใช้อ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา มีจำนวนมาก มีผลทางกฎหมายผูกพันบุคคลหลายคน หากประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และ “ผลิตผล” ของคณะรัฐประหารเสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลยแล้วล่ะก็ ย่อมส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่กระทบคนจำนวนมากและก่อให้เกิดความเสีย หายมหาศาล อีกทั้งในความเป็นจริงแล้ว คงไม่อาจลบล้างเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วได้ครบถ้วน ความข้อนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า หากเรื่องใดไม่อาจเยียวยาย้อนหลังให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้จริง หรือหากเรื่องใดพิจารณาแล้วว่าสมควรให้มีผลดำรงอยู่ในระบบกฎหมายต่อไป ก็สามารถกำหนดความสมบูรณ์ให้แก่เรื่องนั้นๆได้เป็นรายกรณี แต่หลักใหญ่ใจความ คือ ต้องประกาศให้เป็นสัญลักษณ์ว่า “รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙” ไม่ถูกต้อง ไม่ควรให้ดำรงอยู่ต่อไปในระบบกฎหมาย

( อ่านต่อ ที่นี่ )

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker