รูปตัวแทนคณะกรรมการญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53 ขึ้นอ่านแถลงการณ์บนเวที
24 มิ.ย.54 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) จัดเวทีอภิปราย
"1 ปี เหตุการณ์ 1 เม.ย.-พ.ค. 53 ความยุติธรรมที่หายไป" ซึ่งมีการอภิปรายในหลายหัวข้อ
ใน ช่วงหนึ่งได้มีคณะกรรมการญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53 ที่เพิ่งก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองในภาระหน้าที่แสวงหาความยุติธรรมกลับคืนสู่ สังคมไทย โดยระบุข้อเรียกร้องทุกพรรคการเมืองให้สัญญาประชาคม ดังนี้ 1.ตั้งองค์กร คณะกรรมการที่เป็นกลางและสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง นำผู้กระทำผิดในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐมารับผิดอาญา 2.จะต้องรับประกันว่าไม่มีการนิรโทษใดๆ 3. เร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และผู้ถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ยังมีการแถลงจุดยืน ของ ศปช. ต่อประเด็น"ความจริง" และ "ความยุติธรรม" vs "ปรองดอง" และ "นิรโทษกรรม" โดยอ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า สังคมไทยในอดีต ความปรองดองมีด้านมืด คือ ความเงียบต่อความยุติธรรมและการลืม โดยสังคมไทยโอบอุ้มและชาชินกับวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มี อำนาจลอยนวล ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มักกล่าวว่ารัฐบาลของตนยึดหลักนิติรัฐ แต่จนบัดนี้ กระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดดูจะถูกเตะถ่วงและบิดเบือน แม้มีมูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายกระทำให้ประชาชนเสียชีวิต แต่รัฐบาลยังโยนความผิดทั้งหมดไปให้กับคนชุดดำและผู้ชุมนุม องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถเรียกศรัทธาแก่ประชาชนได้เลย
“ฉะนั้น ศปช. จึงขอประกาศว่า เราไม่ได้ปฏิเสธการปรองดอง แต่การแสวงหาความปรองดองใด ๆ หลังการเลือกตั้งจะต้องควบคู่ไปกับการสถาปนาความจริง และคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามปี 2553 ด้วย หากไม่มี “ความจริง” และ “การยอมรับผิด” จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน การนิรโทษกรรมก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ การปรองดองที่ปราศจากความยุติธรรมย่อมไม่ต่างอะไรกับการช่วยกันเหยียบย่ำศพ และกระหน่ำตีบาดแผลของผู้สูญเสีย” คำประกาศจุดยืนของ ศปช.
คำประกาศจุดยืนของ ศปช. ต่อประเด็น
“ความจริง” และ “ความยุติธรรม” vs. “ปรองดอง” และ “นิรโทษกรรม”
25 มิถุนายน 2554
ไม่มีความจริงก็ไม่มีความยุติธรรม
ปราศจากความยุติธรรม การปรองดอง-นิรโทษกรรม
ก็เป็นแค่การสมรู้ร่วมคิดกันเหยียบย่ำคนตาย
ยิ่ง เข้าใกล้เลือกตั้ง เสียงเรียกร้องหาความปรองดองโดยกลุ่มต่าง ๆ ก็ดังเซ็งแซ่ควบคู่ไปกับเรื่องนิรโทษกรรม แม้จะไม่มีความชัดเจนนักว่าหมายถึงอะไรแน่ ใครปรองดองกับใคร ใครบ้างจะได้นิรโทษกรรม ในความผิดเรื่องอะไร ฯลฯ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ก็เห็นความสำคัญที่สังคมไทยจะต้องมีความปรองดองเช่นกัน ศปช. จึงขอเข้าร่วมมหกรรมปรองดองด้วยข้อเสนอดังต่อไปนี้
บทเรียนจากวิธีสร้างความปรองดองในอดีตที่ผ่านมาในสังคมไทยชี้ว่า ความ ปรองดองหมายถึง “การลืม” หรือ “ความเงียบงัน” ต่อความอยุติธรรม ความเจ็บปวด และความสูญเสียที่ผู้มีอำนาจรัฐกระทำต่อประชาชน เพื่อแลกกับ “ความมั่นคง” ของระบอบที่อุปถัมภ์ค้ำชูและสนับสนุนความรุนแรงต่อประชาชน ความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้งหลายหน จึงจบลงด้วยการนิรโทษกรรมให้กับผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามประชาชน เปลี่ยนอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชน ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ใครที่พยายามขุดคุ้ยเรียกร้องหาความจริงและความยุติธรรม จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกชอบสร้างความแตกแยกปั่นป่วนให้กับสังคม
ความเงียบ การยอมจำนน และความพ่ายแพ้ของเหยื่อจึงเป็นด้านมืดของการปรองดอง รัฐบาลตอบแทนพวกเขาด้วยเศษเงิน พร้อมประกาศว่านี่คือ “การเยียวยา” ผู้มีอำนาจทำราวกับว่าบาดแผลและความตายสามารถลบล้างได้ด้วยเงินเพียงเล็ก น้อย สังคมไทยช่างโอบอุ้มและชาชินกับวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล (culture of impunity) ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ใน สังคมอื่นที่เคยประสบกับความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐ เช่น แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ฯลฯ การสร้างความปรองดองล้วนต้องเดินควบคู่ไปกับการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ อย่างน้อยที่สุด ความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่จะต้องมีให้ได้ คือ การเปิดเผยความจริงว่าใครคือผู้กระทำและอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมต่อประชาชน แต่ในกรณีของไทย ความปรองดองไม่เคยเกิดขึ้นบนฐานของความยุติธรรมและความจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มักกล่าวว่ารัฐบาลของตนยึดหลักนิติรัฐ “พร้อม พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนพร้อม ๆ ไปกับการค้นหาความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายบนความเสมอภาคที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียว กัน” แต่สิ่งที่ผิดปกติอย่างยิ่งก็คือ จนกระทั่งบัดนี้ กระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดดูจะถูกเตะถ่วงและบิดเบือน โดยเฉพาะในกรณีที่มีมูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายกระทำให้ประชาชนเสียชีวิต ซ้ำร้ายรัฐบาลยังโยนความผิดทั้งหมดไปให้กับคนชุดดำและผู้ชุมนุม ทั้ง ๆ ที่ความจริงที่รับรู้กันคือ กองทัพใช้กำลังพลและอาวุธสงครามจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อสลายการชุมนุมครั้ง นี้ ทั้ง ๆ ที่จนบัดนี้รัฐบาลก็ไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากไปกว่าภาพของชายชุดดำไม่กี่คน ที่ปรากฏกายในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่สามารถแสดงหลักฐานว่า พลเรือนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมแล้ว 1,400 รายเป็นอย่างน้อยนั้น ครอบครองอาวุธไว้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ฯลฯ แต่รัฐบาลก็ยังยืนกรานเสียงแข็งว่าตนไม่ได้ปราบปรามประชาชน
ในทางตรงกันข้าม มีแต่ฝ่ายผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรงและจำนวนมากถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการประกันตน “ความ ยุติธรรมแบบด้านเดียว” นี้ จึงเป็นเสมือนการใช้อำนาจรัฐกดปราบประชาชนซ้ำสองภายใต้ข้ออ้าง “นิติรัฐ” อันฉาบฉวยและสองมาตรฐานอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเศร้าใจไม่น้อยก็คือ หนึ่งปีนับแต่การปราบปรามประชาชน กระบวนการค้นหาความจริงของทั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อ ความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ไม่สามารถเรียกศรัทธาจากประชาชนได้เลย กลายเป็นองค์กรปิดที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน และยังไม่สามารถรายงานความคืบหน้าของการแสวงหาความจริงที่น่าเชื่อถือแก่ ประชาชน หรือไม่ก็เฉื่อยชาต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ในขณะที่พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สังคมต้องรับรู้ “ความจริง” และมี “ความยุติธรรม” แต่ดูเหมือนพวกเขาก็ไม่สามารถสลัดหลุดออกจากความปรองดองแบบไทย ๆ ที่มุ่งปกป้องสถาบันอำนาจในสังคมเป็นสำคัญ
ฉะนั้น ศปช. จึงขอประกาศว่า เราไม่ได้ปฏิเสธการปรองดอง แต่การ แสวงหาความปรองดองใด ๆ หลังการเลือกตั้งจะต้องควบคู่ไปกับการสถาปนาความจริง และคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามปี 2553 ด้วย หากไม่มี “ความจริง” และ “การยอมรับผิด” (accountability) จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน การนิรโทษกรรมก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ การปรองดองที่ปราศจากความยุติธรรมย่อมไม่ต่างอะไรกับการช่วยกันเหยียบย่ำศพ และกระหน่ำตีบาดแผลของผู้สูญเสีย
ศปช. ขอย้ำว่าวัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล และการเหยียบย่ำสิทธิในชีวิตและความเป็นคนจะต้องยุติลงในสังคมไทย
0 0 0 0 0
แถลงการณ์คณะกรรมการกลุ่มญาติวีรชน เม.ย.- พ.ค. 53
เรื่องข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมือง
ในภาระหน้าที่แสวงหาความยุติธรรมกลับคืนสู่สังคมไทย
นับ ตั้งตการชุมนุมครั้งใหญ่ของพี่น้องประชาชนชาวไทยในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2553 เพื่อเรียกร้องให้มีการยุบสภาฯ และเลือกตั้งใหม่ เพราะต่างเห็นว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐบาลที่มาจากการหนุนหลังของอำนาจกองทัพจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549
เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในวันที่ 7 เมษายน 2553 และนำไปสู่การใช้อำนาจพิเศษนี้สลายการชุมนุมของประชาชนอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 10 เมษายน ทั้งนี้มีหลักฐานเพียงพอว่าเป็นการใช้กองกำลังทหารเกินความจำเป็น จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งพลเรือนและทหารรวม 27 ราย และระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม ปีเดียวกัน บริเวณแยกราชประสงค์และใกล้เคียง จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 55 ราย รวมผู้ที่ถูกไล่ล่าประหัตประหารตามสถานที่ต่างๆ รวมแล้วเสียชีวิตอย่างน้อย 93 ราย ผู้บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน สถานที่ราชการและอาคารพาณิชย์หลายแห่งถูกวางเพลิง ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนถูกควบคุมตัวโดยพลการต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีการทำให้สูญหาย และมีการไล่ล่าประหัตประหารทางการเมือง การปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ภายใต้ข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร
ณ วันนี้ เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้วที่เหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชน, การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในลักษณะต่างๆ ตลอดจนเหตุการณ์ก่อความรุนแรงเผาทำลายสถานที่ราชการและอาคารพาณิชย์ ปราศจากขั้นตอนสืบสวนสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเพียงพอ การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ฯ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของประชาชนผู้ชุมนุม ทางการเมือง ก็เป็นเพียงการซื้อเวลาและสร้างความชอบธรรมทางการเมืองเท่านั้น ปราศจากกลไกการสอบวสวนที่มีที่มาจากองค์กรที่เป็นอิสระหรือมีที่มาจาก ประชาชนอย่างแท้จริง
ในวาระที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในวัน อาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ พวกเราในนามของ “คณะกรรมการกลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53” ซึ่งเป็นคณะกรรมการกลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค. 53” ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจากญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์สังหารหมู่ ประชาชน มีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตัดสินใจร่วมกัน และเรียกร้องความยุติธรรมและเรียกร้องสิทธิในการช่วยเหลือเยียวยาของสมาชิก กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมว่า
- จะเร่งดำเนิน การจัดตั้งคณะกรรมการ องค์กร หรือหน่วยงานอิสระ เป็นกลาง และสามารถตรวจสอบได้เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และเป็นตัวแทนในการผลักดันให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าในการนำผู้กระทำผิด ในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐมารับผิดทางอาญา
- จะต้องรับประกันว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆ ให้กับการกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อพี่น้องประชาชนชาวไทย
- เร่ง ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ทางการเมืองให้เท่าเทียมและทั่วถึง ทั้งผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมตลอดจน ผู้ที่ถูกทำลายอาคารบ้านเรือนในเหตุการณ์ดังกล่าว
การดำเนิน การทั้งสามประการข้างต้น ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน สามารถตรวจสอบการดำเนินงานผ่านอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลของระบอบประชาธิปไตย คณะกรรมการกลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53 หวังว่าพรรคการเมืองทั้งหลายจะสดับฟังเสียงประชาชน และรับเป็นสัญญาประชาคมที่จะต้องปฏิบัติตามต่อไป
คณะกรรมกากรลุ่มญาติวีรชน เม.ย.- พ.ค.53
25 มิถุนายน 2554
หมายเหตุ ท่านที่ประสงค์จะสนับสนุนการดำเนินงานของ
คณะกรรมการกลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.53 สามารถบริจาคได้ที่
ชื่อบัญชี "คณะกรรมการกลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค. 53"
ประเภท เผื่อเรียก
เลขที่บัญชี 02004 062 80073
ธนาคาร ออมสิน สาขา สำนักราชดำเนิน