มติชน 19 สิงหาคม 2555 >>>
พร้อมๆ กับการเดินหน้าในคดีกระชับพื้นที่ 98 ศพ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งหลายคดีขึ้นสู่การพิจารณาไต่สวนชันสูตรศพชั้นศาลแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดฉากคดีใหม่นั่นคือ "พยายามฆ่า"
หลังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมร้องทุกข์กล่าวโทษนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
คดีนี้มีพยานหลักฐานไม่น้อยกว่าคดี 98 ศพ เพราะผู้บาดเจ็บมีกว่า 2 พันคน หลายเหตุการณ์ชัดเจนว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
ทำสำคัญคดีพยายามฆ่าจะดำเนินการสอบสวนในลักษณะกฎหมายอาญา ซึ่งจะเดินหน้าได้เร็วกว่าเหตุ 98 ศพ ที่มีขั้นตอนพิสูจน์ทราบที่มากกว่า และซับซ้อนกว่า
ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าทุกข์ในคดีพยายามฆ่ายังมีชีวิตอยู่ สามารถให้ปากคำได้ทันทีว่าที่ได้รับบาดเจ็บเป็นฝีมือของใคร และสถานที่ใดบ้าง
แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งออกมาปฏิบัติหน้าที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่คนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองคือผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ขนอาวุธหนักออก มาปราบประชาชน แถมใช้กระสุนจริงหมดไปนับแสนๆ นัดนั่นเอง !!!
เดินหน้าคดี "พยายามฆ่า"
จุดเริ่มคดีพยายามฆ่ามาจากพยานที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 2 ราย เข้าให้ปากคำและร้องทุกข์กล่าวโทษนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ซึ่งมีบทบาทออกคำสั่งให้ทหารพร้อมอาวุธหนักออกมาปราบปรามประชาชน ในข้อหาพยายามฆ่า พยานระบุว่าเห็นกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐใช้ปืนยิงใส่ผู้ชุมนุม
ขณะที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดี 98 ศพ ระบุว่าจากการหารือร่วมกับพนักงานอัยการและตำรวจชุดใหม่ที่ร่วมสอบสวนคดี กำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยจะนำสำนวนการสอบสวนคดีทั้งหมดมาร่วมกันพิจารณา
"หลายคดีพบว่าพยานหลักฐานมีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณบ่อนไก่"
พ.ต.อ.ประเวศน์ ระบุว่า ดีเอสไอจะพิจารณาภาพรวมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในช่วงเวลา ที่เกิดเหตุ ว่ามีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไรบ้าง และมีผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกับสำนวนการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาได้สอบสวนพยานแวดล้อมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วเกือบทุกสำนวน
เป้าหมายของดีเอสไอเฉพาะหน้าขณะนี้ คือรวบรวมคำให้การของตำรวจและทหารที่ได้รับคำสั่งออกปฏิบัติหน้าที่ช่วงการสลายผู้ชุมนุม
"ดีเอสไอจะเรียกตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับทหารในช่วงเหตุรุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นตำรวจที่มาจากต่างจังหวัดมาสอบปากคำ ส่วนที่ระบุว่ามีมือที่สามหรือชายชุดดำเข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงเหตุจลาจลนั้น จะเร่งพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่ามีอยู่จริงหรือไม่"
พร้อมกันนี้ดีเอสไอจัดทีมตรวจสอบภาพเคลื่อนไหว ภาพถ่าย ในเว็บไชต์ รวมทั้งภาพที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนในช่วงวันเวลาที่เกิดเหตุ ที่มีภาพเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อประมวลเหตุการณ์จุดที่เกิดในแต่ละจุดว่ามีการเสียชีวิตและบาดเจ็บกี่ ราย และมีเจ้าหน้าที่เข้าประจำการจุดดังกล่าวกี่ราย หัวหน้าชุดปฏิบัติการเป็นใคร ก่อนออกหมายเรียกหัวหน้าชุดมาสอบปากคำถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เรียกสอบสไนเปอร์ลุมพินี
ทหารชุดแรกที่ดีเอสไอเล็งเรียกมาสอบปากคำคือ ชุดสไนเปอร์ หรือพลแม่นปืน 2 คนที่ปักหลักอยู่บนตึกบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี โดยมีภาพและคลิปเสียงชัดเจนว่าใช้ปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมบริเวณบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553
ภาพชาย 2 คน ที่ปรากฏผ่านเว็บไชต์และสื่อมวลชนแต่งกายชุดทหาร รายแรกยืนถือกล้องเล็งเหมือนเป็นคนชี้เป้า ส่วนอีกคนมีผ้าขนหนูคล้องคอในท่านั่งเล็งปืน ทำหน้าที่ลั่นไกใส่เป้าหมาย
จากการตรวจสอบล่าสุด คนที่ใช้ปืนยิงในท่านั่งมียศสิบตรี เป็นพลทหารประจำรถถัง ล่าสุดออก จากราชการไปแล้ว ปัจจุบันทราบว่าเป็นนักการเมืองท้องถิ่น
ที่มาของคลิปและภาพดังกล่าวมีผู้นำไปโพสต์บนเว็บไซต์ยูทูบ เห็นใบหน้าและเสียงพูดคุยกันชัดเจน
โดยภาพดังกล่าวบันทึกเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 มีกลุ่มผู้ชุมนุมจุดไฟเผารถเก็บขยะและยางรถยนต์ เป็นเหตุให้เพลิงไหม้ลุกลามไปยังหม้อแปลงและสายไฟฟ้าหน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาลุมพินี ไม่ไกลจากอาคารลุมพินีทาวเวอร์ ระหว่างนั้นมีเสียงระเบิดและยิงกระสุนปืนดังสนั่นตอบโต้กันหลายครั้ง
ภาพจับขึ้นมายังสไนเปอร์ 2 นายบนตึก ซึ่งทหารคนที่มีอายุมากกว่าพูดขึ้นว่า "ขว้างระเบิดขวดหลายครั้งแล้วไอ้ตัวนี้" ทันใดนั้นเองทหารสไนเปอร์ที่อายุน้อยกว่าและนอนเล็งเป้าอยู่ก็ลั่นไกเข้าใส่ เป้าหมาย
ขณะที่ทหารอายุมากกว่ากล่าวว่า "ล้ม ล้มแล้ว ล้มแล้วๆ อย่า อย่า อย่า อย่าซ้ำ" แต่มือสไนเปอร์ไม่ฟังพร้อมกับลั่นไกยิงออกไปอีกนัด ทำให้ทหารคนดังกล่าวพยายามยกมือห้าม และเอื้อมไปตีศีรษะสไนเปอร์เตือนให้หยุดยิง โดยพูดว่า "ปล่อย อุ้ย ปล่อย"
ที่น่าสนใจจากหลักฐานพบว่าบริเวณชุมชนบ่อนไก่ ใกล้กับจุดที่ สไนเปอร์ลั่นไกออกไปจนมีคลิปออกมานั้น ในห้วงเวลาเดียวกันพบข้อมูลว่ามีผู้เสียชีวิต 2 ศพ หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาพระราม 4 และมีผู้บาดเจ็บ 2 ราย
ดีเอสไอมีหลักฐานยืนยันว่าการเสียชีวิตน่าจะมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ !??
"เหลิม" เล็งเป้าคนบงการ
หลังจากดีเอสไอประกาศดำเนินคดีพยายามฆ่ากับผู้เกี่ยวข้องในเหตุสลายการ ชุมนุม ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นว่า ต้องดูผลการสืบสวนของดีเอสไอ เกี่ยวกับการสั่งการของ ศอฉ. ที่มีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ รับผิดชอบ โดยหลักการสั่งการต้องสั่งตำรวจโดยตรง ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากจะให้ทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน จะต้องประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
"นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต้องสั่งตำรวจโดยตรง จะไปสั่งทหารโดยตรงไม่ได้ ตรงนี้จะต้องไปดูให้ชัดเจนว่าดำเนินการอย่างไร แต่ผมจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสอบสวน เขาต้องดูพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น คนทำผิดต้องได้รับโทษ ถ้าใครไม่ผิด ผมไปสร้างเรื่องไม่ได้ เพราะเมื่อพ้นหน้าที่ไปแล้วผมก็ติดคุกได้เหมือนกัน แต่ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด จะไปเช็กบิลได้อย่างไร"
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า เจ้าพนักงานที่พ้นราชการไปแล้วต้องเรียกมาให้ปากคำ แต่คนที่รับผิดชอบคือคนที่สั่ง เพราะเจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 และมาตรา 70 แต่คนที่สั่งถ้ามีหลักฐานก็ลำบากและอันตราย สำหรับเจ้าหน้าที่ปลอดภัยแน่นอน
มีรายงานในส่วนของสไนเปอร์ หรือพลแม่นปืนที่อยู่ในข่ายจะเรียกมาสอบเป็นคนแรกนั้น ลาออกจากราชการไปสมัครเป็น อบต. ในจังหวัดหนึ่ง ดีเอสไอติดต่อได้แล้ว และสามารถเชิญมาสอบปากคำได้ทันทีเนื่องจากไม่ได้รับราชการทหารแล้ว โดยนัดกันว่าจะเข้าให้ปากคำต้นเดือนกันยายนนี้ และหากให้การเป็นประโยชน์กับคดี อาจจะกันตัวไว้เป็นพยาน
อย่างไรก็ตาม หลังดีเอสไอเริ่มเดินหน้าคดีพยายามฆ่าและจะเรียกสอบทหารชุดต่างๆ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แสดงความกังวลว่ากำลังพลจะเสียขวัญ
โดย ผบ.ทบ. ย้ำว่า ทหารทำตามหน้าที่ และทำทุกอย่างตามกรอบกฎหมาย จน ร.ต.อ.เฉลิม ต้องออกมาย้ำและส่งตัวแทนเข้าพบยืนยันว่า ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่นั้นได้รับความคุ้มครอง ไม่มีความผิดใดๆ เพราะผู้รับผิดชอบตัวจริงคือผู้สั่งให้ทหารออกมาเท่านั้น
มาร์คเดือด-ขู่ฟ้องกลับ
ขณะที่ดีเอสไอกำลังเดินหน้าเต็มที่ ตัวละครสำคัญคือนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯและผู้สั่งตั้ง ศอฉ. เมื่อปี 2553 ออกมาแสดงความไม่พอใจโดยระบุว่าเป็นความพยายามของฝ่ายการเมืองจะดำเนินการใน เรื่องนี้ ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตรงไปตรงมา หากมีการกลั่นแกล้ง พวกตนก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้
"ร.ต.อ.เฉลิม พยายามทำผลงานในเรื่องนี้ แต่ขอเตือนว่าหากกลั่นแกล้ง หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะต้องถูกฟ้องร้อง ไม่รู้สึกกังวล เพราะทราบว่าข้อเท็จจริงคืออะไร"
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า วันที่ตัดสินใจกระชับพื้นที่ มีเป้าหมายเพื่อคืนความปกติสุขให้สังคม และย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยยึดหลักกฎหมาย แต่ในวันนั้นมีคนติดอาวุธเข้ามา
ในส่วนของคดี 98 ศพ ซึ่งศาลเริ่มไต่สวนไปแล้วหลายสำนวน รวมทั้งคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ที่มีพยานออกมาให้การยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งประจำอยู่บนรถรางรถไฟฟ้า หน้าวัด และมีหลักฐานภาพถ่าย-คลิป และพยานเห็นว่าสาดกระสุนเข้ามาในวัดจนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียขึ้น
แต่อีกคดีที่น่าสนใจเป็นการตายของนายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าอาคารไอดีโอ คอนโดมิเนียม ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีพยานและหลักฐานผลพิสูจน์หัวกระสุนในศพชัดเจนว่ายิงมาจากปืนของเจ้า หน้าที่ ศาลสืบพยานโจทก์ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้ว นัดฟังคำสั่งในวันที่ 17 กันยายน นี้
อย่างไรก็ตาม ทนายความผู้เสียชีวิตยื่นร้องขอให้ศาลไต่สวนนายอภิสิทธิ์, นายสุเทพ และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทน ผบ.ตร. โดยศาลออกหมายเรียกให้มาเบิกความในวันที่ 21 สิงหาคม นี้ เวลา 09.00 น.
ถือเป็นครั้งแรกที่นายอภิสิทธิ์ จะต้องขึ้นเบิกความต่อศาลในคดี 98 ศพ และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน !??