Thu, 2012-08-16 19:59
16 ส.ค. 55 -
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 9
สิงหาคม 2555 ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี
ในฐานะต้นสังกัดของ กอ.รมน.ภาค 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่นายมะเซาฟี
แขวงบู อายุ 20 ปี และเด็กชายอาดิล สาแม อายุ 14 ปี
สองเยาวชนที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย
ในระหว่างการลาดตระเวนและตรวจค้นตัว โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 52 บริเวณถนนริมแม่น้ำปัตตานี ตำบลสะเตง
อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ศาลได้พิพากษาว่า
แม้กฎอัยการศึกจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะ
แต่ในระหว่างตรวจค้นได้มีการทำร้ายเยาวชนทั้งสองจนได้รับบาดเจ็บ
จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิด
เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักนายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดให้
นายมะเซาฟี แขวงบู เป็นค่าขาดแรงงานในครัวเรือนและประโยชน์จากการทำงาน
ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดยะลา วันละ 250 บาท
และแพทย์มีความเห็นให้หยุดพัก 5 วัน จึงคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน
1,200 บาท ส่วนเด็กชายอาดิล สาแม กำลังศึกษาอยู่
จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้
และค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย อนามัย และจิตใจ
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารได้กระทำการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย
และจิตใจของบุคคลทั้งสอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 32
อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
และศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เพื่อเยียวยาความเสียหายตาม ว.5
จึงกำหนดให้คนละ 100,000 บาท
เหตุคดีนี้ เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 52
เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายนายมะเซาฟี และด.ช.อาดิล โดยการเตะ ตบ
ใช้ด้ามปืนตีที่ศีรษะ และตบที่กกหู และท้ายทอย
จนทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ
โดยต่อมาพนักงานอัยการศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ทหาร
ดังกล่าวเป็นคดีอาญา ข้อหาทำร้ายร่างกายจนทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ
และวันที่ 26 เม.ย. 53 จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ศาลจังหวัดทหารบกปัตตานี ได้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน ปรับ 2,000
บาท จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีความประพฤติดี
โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้บังคับโทษปรับ
คดีอาญาดังกล่าวเป็นอันถึงที่สุด
และนำมาสู่การฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดในคดีนี้
หมายเหตุ:
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
การทรมาน ทารุณกรรม
หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม
จะกระทำมิได้แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือ
ว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้
การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบ
ต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย
พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย
มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น
รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็
ได้