Tue, 2012-08-21 16:23
นักวิชาการแจงหลักกฎหมายสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ นักกฎหมายสิทธิฯ ชี้ไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศฯ ซึ่งคุ้มครองสิทธิการชุมนุมแล้ว แม้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่รัฐซึ่งหมายรวมถึงศาลต้องปฏิบัติตาม ขณะผู้นำแรงงานสงสัยทำไมตั้งข้อหาแค่สามคน ทั้งที่ไปเป็นร้อยๆ
(19 ส.ค.55) ในการเสวนา เรื่อง “สิทธิการชุมนุมของกรรมกรต่อกรณีคนงานไทรอัมพ์ฯ” จัดโดยเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิ ร่วมกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กลุ่มคนงาน Try Arm และกลุ่มประกายไฟ ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ร่วมเสวนาโดยจิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และผู้ต้องหาในคดี ศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน ทั้งนี้ ผู้จัดแจ้งว่าได้ติดต่อกระทรวงแรงงานแล้ว แต่อธิบดีและผู้อำนวยการแรงงานสัมพันธ์ติดราชการต่างประเทศจึงไม่สามารถมา ร่วมได้
จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืนมาตรา 215-216 ประมวลกฎหมายอาญา เล่าที่มาของคดีดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากการเลิกจ้างพนักงานขนานใหญ่ของบริษัทบอดี้แฟชั่น ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในไทรอัมพ์ ในวันที่ 27 มิ.ย.52 ซึ่งสหภาพแรงงานมองว่าขัดต่อสภาพการจ้างที่ตกลงกันไว้ว่าถ้าจะมีการเลิกจ้าง จำนวนมาก ต้องแจ้งล่วงหน้า 60 วัน และจ่ายค่าชดเชยมากกว่ากฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม บริษัทได้แจ้งว่าประกาศเลิกจ้างจะมีผลในวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งเข้าข่ายแจ้งล่วงหน้า 60 วันแล้ว รวมถึงขอให้คนงานไม่ต้องมาทำงานในช่วงดังกล่าว แต่จะได้รับค่าจ้างจน 27 ส.ค. ส่วนเรื่องการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายนั้น บริษัทระบุเพียงว่าไม่เข้าข่าย
จิตรา เล่าต่อว่า จากนั้น สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เดินทางไปชุมนุมยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา ให้มีการรับคนงานกลับเข้าทำงานและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล บีโอไอ ซึ่งอนุมัติเงินลงทุนให้บริษัท สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ ฯลฯ จนวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่การเลิกจ้างจะมีผล จึงได้เดินทางไปทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลอีกครั้ง โดยยืนยันว่าไม่ได้มีวาระทางการเมืองใดๆ แต่ดูเหมือนรัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับกลุ่มเสื้อแดงซึ่งจะชุมนุมใน วันที่ 30 ส.ค.ในขณะนั้น
อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เล่าว่า โดยวันดังกล่าว เมื่อไปถึงทำเนียบรัฐบาล ไม่มีใครมารับหนังสือจึงเดินทางต่อไปที่รัฐสภา ซึ่งได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเดินทาง พอไปถึงหน้ารัฐสภา ได้รับแจ้งว่านายกฯ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ไม่ออกมารับหนังสือ และจากการประสานงาน ท้ายที่สุด ได้เข้าพูดคุยกับประธานวิปฝ่ายค้านและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งรับปากว่าจะแก้ปัญหา จากนั้นจึงได้เดินทางกลับ
จิตรา เล่าว่า ขณะที่อยู่ที่หน้ารัฐสภานั้น คนงานเห็นเครื่อง LRAD (Long Range Acoustic Device) ตั้งอยู่ใกล้รั้ว แต่ไม่รู้ว่าคือเครื่องอะไร ยังนึกกันว่าเป็นเครื่องถ่ายทอดสด และเมื่อมีการใช้เครื่องดังกล่าว ก็ยังเข้าใจกันว่าเป็นเสียงไมค์หอนด้วยซ้ำ เพราะเครื่องดังกล่าวส่งเสียงดังรบกวนจนทำให้การสื่อสารระหว่างกันไม่รู้ เรื่อง จนคนงานต้องตะโกนร้องเพลงตอบโต้ ทั้งนี้ ภายหลังเพิ่งรู้ว่าเครื่องดังกล่าวคือ LRAD ที่ใช้กันในสงครามอิรัก ใช้กับโจรสลัดโซมาเลีย หรือศัตรูระยะไกลที่มองไม่เห็นตัว เพื่อทำให้ศัตรูวิ่งออกจากที่ซ่อน
จิตรา กล่าวว่า ผลจากวันนั้น มีคนงานที่หูชั้นกลางอักเสบ รวมถึงร่างกายอ่อนเพลียต้องพักหลายวัน ขณะที่ตนเองและเพื่อนคนงานอีก 2 คนถูกออกหมายจับ ด้วยข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และ พ.ร.บ.จราจร โดยมี พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และสุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนายประกัน ต่อมา อัยกาารสั่งฟ้องด้วยข้อหามั่วสุมเกินสิบคน สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ส่วน พ.ร.บ.จราจร นั้นหมดอายุความ จึงฟ้องไม่ได้ ในชั้นนี้ได้ ส.ส.สุชาติ ลายน้ำเงิน ใช้ตำแหน่งประกันตัวให้วงเงินคนละ 200,000 บาท โดยจะมีการนัดสืบพยานที่ศาลอาญา ในวันที่ 23-24 และ 28-30 ส.ค.นี้
จิตรา กล่าวด้วยว่า ยังเชื่อมั่นในสิทธิการชุมนุม และยืนยันว่าวันดังกล่าวไม่มีการก่อความวุ่นวาย พร้อมตั้งคำถามด้วยว่าอะไรคือความวุ่นวายที่หมายถึง
มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัว หน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สิทธิการชุมนุมในบริบทสากลและปัญหาการตีความ
ศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ถูกรับรองอยู่แล้วในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการ เมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 21 และไทยก็เข้าภาคีของกติกาฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม กรณีประเทศไทย เมื่อมีการรับรองกฎหมายระหว่างประเทศแล้วไม่สามารถอนุวัตใช้กับกฎหมายภายใน ได้ทันที แต่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติก่อน ขณะที่ในกฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า หลังเข้าเป็นภาคี รัฐนั้นๆ ต้องทำให้กฎหมายของตัวเองสอดคล้องกับกติกาดังกล่าว ซึ่งส่วนตัว เขามองว่ารัฐในที่นี้หมายรวมถึงอำนาจทั้งสามส่วน คือ ตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติ
ศราวุฒิ กล่าวว่า การชุมนุมเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพื่อทำให้เห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ชุมนุม และให้รัฐบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ควรต้องใช้กฎหมายอาญามาจัดการ โดยควรดูเจตนาและองค์ประกอบต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ เขามองว่า กฎหมายอาญา มาตรา 215 นั้น เป็นเรื่องของการรวมตัวกันเพื่อทำผิดกฎหมาย ก่อความไม่สงบ เปลี่ยนแปลงการปกครอง หรืออั้งยี่ มากกว่า
เขาชี้ว่า ที่ผ่านมา การชุมนุมตั้งแต่ 14 ต.ค.16 พ.ค.35 พ.ค.53 หรือการชุมนุมเรื่องราคาพืชผลต่างๆ แม้จะอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐก็มักอ้างเหตุการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อสลายการชุมนุม นั่นเพราะเรายังไม่มีกฎหมายการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า หากจะมีกฎหมายการชุมนุมจะต้องมีเพื่อส่งเสริมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดย สงบ
เขามองว่าชุมนุมป็นการแสดงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เช่น การจุดเทียนเพื่อบอกว่ามีความมืดในการใช้เสรีภาพหรือระลึกผู้เสียชีวิต การนอนกีดขวางเส้นทาง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำชั่วคราวแล้วเลิก บอกให้รัฐรู้ว่ากำลังละเมิดสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐไม่ออกมารับหนังสือ คนงานที่อยากแสดงความรู้สึกเดือดร้อน บางครั้งก็เลือกปิดถนน
เขาตั้งคำถามว่า ความเดือดร้อนจากการปิดถนนกับการถูกเลิกจ้าง จะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งนี้ เขาเห็นว่า ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องสละเสรีภาพของตัวเองชั่วคราวเพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนได้ ใช้เสรีภาพในการเรียกร้องให้รัฐมาแก้ไขปัญหา ดีกว่ามาบอกว่าเมื่อปิดถนนทุกครั้งต้องสลายการชุมนุม
การชุมนุม 101
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีคดีของจิตราและเพื่อนคนงาน ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมต้องไม่เป็นคดีแต่แรก เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรดำเนินคดี และพนักงานอัยการไม่ควรสั่งฟ้องเลยด้วยซ้ำ
จันทจิรา กล่าวว่า เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพระดับรัฐธรรมนูญ และเป็นเสรีภาพที่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน การนัดหยุดงาน การชุมนุมเพื่อต่อรองกับนายจ้าง ดังนั้น จะต้องผูกพันทุกองค์กรของรัฐ รวมทั้งศาลด้วย ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ (สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองโดยชัดแจ้งย่อมได้รับความคุ้มครองผูกพัน รัฐสภา รัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ) เราสามารถกล่าวอ้างสิทธินี้ต่อศาล ต่อรัฐสภา ต่อกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมดได้
ทั้งนี้ มาตรา 63 วรรคแรก ระบุว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คำว่า "โดยสงบ" นั้นไม่ได้หมายถึง พับเพียบเรียบร้อย อยู่นิ่งๆ ไม่มีกิจกรรม แต่คำว่า "โดยสงบ" หมายความรวมถึงการใช้เครื่องเสียง ซึ่งบางทีอาจเป็นการก่อกวน เดือดร้อน รำคาญ หรือการเดินบนถนนทางเท้า จะเห็นว่ารบกวนทั้งสิ้น แต่อยู่ในข่ายที่รัฐธรรมนูญยังให้การรับรอง ถ้าใช้เสรีภาพอย่างสุจริต
จันทจิรายกตัวอย่างว่า ผู้ชุมนุมมากัน 200 คน ก็ต้องแบ่งพื้นที่ให้รถใช้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ ต้องแปรตามสภาพข้อเท็จจริง เช่น ถ้ามากันเป็นแสน ตำรวจก็ต้องปิดถนน จัดการจราจรเลี่ยงเส้นทางชุมนุม เป็นต้น "โดยสงบ" จึงไม่ใช่ไม่รบกวน หรือก่อความรำคาญเลย แต่ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน ดูตามสภาพข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป
นอกจากนี้ คำว่าโดยสงบ ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ไปหน้าทำเนียบ หรือ หน้ารัฐสภา ถ้าเรื่องที่ต้องชุมนุมต้องเจรจากับผู้ออกกฎหมาย สถานที่ชุมนุมก็ต้องเป็นหน้ารัฐสภา ดังนั้นการดูว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบหรือไม่ต้องดูเรื่องวัตถุประสงค์ ข้อเรียกร้องของการชุมนุม ต่อสถานที่และเวลาในการชุมนุม แม้ว่าจะรบกวนบุคคลที่ไม่ได้เห็นพ้องกับการชุมนุมก็ตาม
ส่วน "ปราศจากอาวุธ" นั้น จันทจิรา กล่าวว่า การชุมนุมสมัยใหม่ ที่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากสังคมและสื่อ ก็ต้องมีอุปกรณ์ ริ้ว ธง รถ ประกอบ หากอธิบายได้ว่า ใช้ในการชุมนุม ก็เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริต โดยยกตัวอย่างคดีที่จะนะ ตำรวจฟ้องว่า ชาวบ้านไม่ได้ปราศจากอาวุธ มีด้ามธงไม้ไผ่เหลาปลายแหลมจำนวนมาก ชาวบ้านพกมีดสปาร์ต้า ตะกั่วถ่วงอวนปลา กรรไกร มีดพก ซึ่งศาลปกครอง ระบุว่า อาวุธมีสองประเภทคือ อาวุธโดยสภาพ หมายถึงมองแล้วรู้ว่าเป็นอาวุธ เช่น ปืน มีด และสิ่งที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แต่กรณีนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม ชาวบ้านจึงใช้สิ่งใกล้มือเพื่อป้องกันตัว การชุมนุมดังกล่าวจึงถือเป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ
จันทจิรา กล่าวว่า ในกฎหมายของต่างประเทศ รัฐอาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้ เมื่อชุมนุมในที่สาธารณะ หมายถึง ที่เปิดโล่ง ไม่มีกำแพง รั้วหลังคา เช่น สี่แยก ถนน ลานกว้าง ทางพิเศษ เวลาวิกาล โดยเฉพาะต่อเนื่องหลายวันหลายคืน และมีลักษณะการชุมนุม ที่ยุยงให้ใช้กำลัง ก่อจลาจล หรือฝ่าฝืนกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรณีประเทศไทย หากรัฐจะจำกัดเสรีภาพ ต้องเสนอต่อรัฐสภา เพื่อออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว ต้องเป็นไปเพื่อให้บุคคลที่สามมีโอกาสใช้พื้นที่ สาธารณะร่วมด้วย
จันทจิรา แสดงความเห็นต่อคดีที่ฟ้องคนงานไทรอัมพ์ฯ ว่า โดยหลักทั่วไป การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้นไม่ต้องขออนุญาต มาตรา 108 ของ พ.ร.บ.การจราจรทางบก ที่กล่าวว่าต้องขออนุญาตพนักงานจราจรก่อน ต้องหลีกทางให้กับเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ การแจ้งให้พนักงานจราจรทราบ ควรเป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสอำนวยความสะดวกเท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งใช้พื้นที่สาธารณะและสร้างสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพของผู้ ชุมนุมกับผู้ใช้ถนน และแม้ว่า ไม่ได้แจ้งเพราะเป็นการจัดการชุมนุมโดยเร่งด่วน ในกฎหมายยังระบุว่า กรณีที่มีเหตุผลอันสมควร รัฐธรรมนูญยังคุ้มครองเสรีภาพให้เป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกคำสั่งให้ปฏิบัติตามในการแบ่งพื้นที่ได้
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า ประมวลอาญา 215 และ 216 เป็นกฎหมายอาญายอดฮิตที่พนักงานตำรวจมักตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมในปัญหาปาก ท้อง หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองก็จะพ่วงมาตรา 116 ว่าด้วยกบฏในราชอาณาจักรมาด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรา 215 และ 216 จะเป็นความผิดเมื่อการชุมนุมนั้นมีวัตถุประสงค์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น รวมตัวกันเพื่อปล้น เผา ก่อความวุ่นวาย ขณะที่การชุมนุมไม่ว่าจะเรียกร้องทางการเมืองให้ยุบสภา ไม่ให้ออกกฎหมาย หรือแก้ปัญหาปากท้อง เป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เข้าลักษณะข่ายมั่วสุม
ส่วนการใช้เครื่องมือก่อกวนขัดขวางการชุมนุมอย่าง LRAD นั้น จันทจิรากล่าวว่า ในหลักสากล เมื่อประชาชนใช้เสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ในทางตรงกันข้าม รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวก หรืออย่างน้อยไม่ขัดขวางการใช้เสรีภาพของประชาชน กรณีนี้ เจ้าหน้าที่บอกว่าใช้เป็นลำโพง แต่ไม่แจ้ง ก่อให้เกิดการข่มขวัญ กดดันผู้ชุมนุม อาจเข้าข่ายขัดขวางการใช้เสรีภาพโดยสงบของประชาชน ซึ่งในกฎหมายต่างประเทศ ถือเป็นโทษทางอาญา
จันทจิราเรียกร้องว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เสรีภาพให้ชัดเจน ให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้ว่าทำอะไรได้ไม่ได้ ขณะที่คนงานเองควรทำงานในเชิงรุก โดยใช้กลไกขององค์กรต่างๆ เช่น ผลักดันให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอรายงานเชิงนโยบายต่อรัฐบาลเรื่องการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ให้ตำรวจไม่ตั้งข้อหามาตรา 215-216 หรือออกหมายจับโดยง่าย เพราะหลายครั้งเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมักอ้างว่าอยู่นอกเหนืออำนาจของตนเองแล้ว
ต่อข้อเสนอดังกล่าว จิตราให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีที่คนงานไทรอัมพ์เคยไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องการเลิกจ้าง ทำลายสหภาพฯ และการใช้เครื่อง LRAD ของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อปี 52 เมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา รายงานออกมาแล้ว โดยเชื่อตามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บอกว่าไม่ได้ใช้เครื่องดังกล่าว ทั้งที่ฝ่ายคนงานมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอชัดเจน
สงสัยไปเป็นร้อยๆ ทำไมตั้งข้อหาแค่สามคน
ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คนงานที่จะเรียกร้องสิทธิของตัวเองต้องเกาะกลุ่มกัน แต่นายจ้างอาจจะไม่ให้ตามข้อเรียกร้อง การชุมนุมจึงถือเป็นอาวุธหนึ่งของคนงานในการสร้างอำนาจต่อรอง โดยเมื่อ 30 ปีก่อน การชุมนุมจะอยู่ในบริเวณสถานประกอบการ พอชุมนุมก็ปิดโรงงานไม่ให้นายจ้างเข้าไปได้ ส่วนคนงานก็มีน้ำ-ไฟใช้ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ทำให้คนงานมีพลังและมีอำนาจต่อรองมาก ต่อมาในช่วงประมาณปี 2520 เมื่อมีการชุมนุมมากๆ เข้า นายจ้างก็ตอบโต้ด้วยการใช้กฎหมาย ใช้พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมถึงตำรวจ มาไล่คนงานออกจากโรงงาน ทำให้คนงานกำลังต่อสู้ถดถอย เพราะการชุมนุมอยู่ตามท้องถนนหรือหน้าบริษัท มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเต๊นท์
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวต่อว่า ในช่วงหลัง ขบวนการแรงงานเปลี่ยนรูปแบบโดยออกไปหาผู้บริหารประเทศ หรือไปตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน ทำเนียบ รัฐสภา ลานพระบรมรูปทรงม้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้สังคมเห็น ให้สื่อมาทำข่าว เพื่อสะท้อนปัญหาออกไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า การชุมนุมของคนงานนั้นไม่ได้ต้องการสร้างความเดือดร้อน แต่เพราะไม่ได้รับการเหลียวแล จึงต้องมาเรียกร้องกับผู้มีอำนาจ แต่เมื่อไปเป็นจำนวนมาก รถก็อาจจะติด ทำให้เดินทางไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าไม่เคยทำลายทรัพย์สินราชการ
ชาลี กล่าวต่อว่า ถ้าชุมนุมแล้วรถติด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ควรเข้ามาดูแล ไม่ใช่ใช้เครื่องมือ LRAD อย่างไรก็ตาม มองว่า กรณีที่มีการใช้กับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ นั้นเป็นการทดลองเครื่องมือใหม่ ไม่ใช่เพื่อป้องปราม ทั้งนี้ การปราบปรามผู้ชุมนุมต้องมีขั้นตอน มีการเตือนก่อน ไม่ใช่ใช้ทันที อย่างกรณีไทรอัมพ์ ชุมนุมอยู่เพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นก็ใช้เครื่องดังกล่าวเลย ในวันดังกล่าว ตนเองก็ร่วมชุมนุมอยู่ด้วย ยืนยันว่าไม่ได้ทำทรัพย์สินราชการเสียหาย หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะมีการเปิดเส้นทางให้สัญจรได้
ทั้งนี้ เขากล่าวด้วยว่า ลูกจ้างมาชุมนุมด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ไม่ได้จะทำให้ประเทศเสียชื่อเสียง หรือทำให้ปกครองกันไม่ได้ การกระทำดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าการชุมนุมดังกล่าวผิดจริง ทำไมไม่จึงแจ้งข้อหาทุกคน ทั้งที่ไปกันหลายร้อยคน ทำไมจึงมีการแจ้งข้อหาแค่สามคน