บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

หยุดเขื่อนไซยะบุรี! คนแม่น้ำโขงยังรอสัญญาณ รัฐบาลไทยจะ ‘ฟัง’ หรือ ‘เมิน’

ที่มา ประชาไท

 
รณรงค์หยุดเขื่อนไซยะบุรี ชาวบ้านแม่น้ำโขงยังรอสัญญาณเข้าพบนายกยิ่งลักษณ์ ลุ้นรัฐบาลไทยจะฟัง หรือเมิน เสียงคนไทยริมโขงและคนภูมิภาค
การเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนลำน้ำโขงทวีความร้อนแรง ขึ้นอีกระลอก ในช่วงหนึ่งอาทิตย์ของนิทรรศการและการรณรงค์ “ปกป้องแม่น้ำโขง หยุดเขื่อนไซยะบุรี” โดยเครือข่ายประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงภาคอีสาน 7 จังหวัด ร่วมกับพันธมิตรกลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ ตั้งโต๊ะลงชื่อคัดค้านเขื่อนกับโปสการ์ดปลาบึก

ภาพถ่ายวิถีชีวิตใน พื้นที่สร้างเขื่อน โดย สุเทพ กฤษณาวารินทร์ และคณะจากกลุ่ม Photo Journ วางเคียงกับหุ่นปลาแม่น้ำโขงฝีมือจากชาวบ้านอุบลราชธานี ทำให้พื้นที่ห้องกระจกทั้ง 6 ห้อง ชั้นล่าง ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ใจกลางเมืองหลวง อบอวลด้วยเรื่องราวของแม่น้ำโขง สายน้ำแห่งชีวิต และการรณรงค์เพื่อปกป้องและหยุดเขื่อนไซยะบุรีมาตั้งแต่วันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา
ท่ามกลางกิจกรรมที่กำลังดำเนินไป ชาวบ้านและเครือข่ายพันธมิตรกำลังรอคำตอบในการให้เข้าพบของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังการร้องขออย่างเป็นทางการจากตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำ โขง 7 จังหวัดภาคอีสาน, เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปอพช.) และประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

“ภาคประชาสังคมและตัวแทนประชาชนขอพบ เพื่อยื่นรายนามประชาชนต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลไทยหยุดการสนับสนุนเขื่อนแม่น้ำโขงและระงับการซื้อไฟฟ้าจาก เขื่อนไซยะบุรีในประเทศ สปป.ลาว” นี่คือจุดประสงค์ของการเข้าพบในครั้งนี้

‘โปสการ์ด รูปปลาบึก’ สัญลักษณ์แม่น้ำโขงที่เดินทางไปหลายจังหวัดริมแม่น้ำโขง เพื่อให้ประชาชนร่วมรับรู้และลงนามจะถูกรวบรวมจนถึงวันปิดนิทรรศการที่ 16 กันยายน ในขณะนี้มีผู้ลงนามแล้วกว่า 8,000 ใบ และคาดหวังจะส่งตรงถึงมือนายกรัฐมนตรีในวันจันทร์ที่ 17 กันยายน 2555 ที่ทำเนียบรัฐบาล ด้วยเหตุผลการเข้าพบส่วนหนึ่งว่า

“ฯพณฯ คงตระหนักเป็นอย่างดีว่า ประเทศไทยมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการเกิดขึ้นของโครงการเขื่อนไซยะบุรี เพราะไฟฟ้าร้อยละ 95 ที่ผลิตได้ จะส่งมาขายยังประเทศไทย”

การเข้าพบ นายกรัฐมนตรีของไทยในครั้งนี้ ยังมีตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมจากประเทศกัมพูชาและเวียดนามเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ในวันที่ 27 กรกฏาคม 2555 เครือข่ายพันธมิตรแม่น้ำกัมพูชา (The River Coalition on Cambodia [RCC]) ส่งจดหมายถึงทั้งนายกรัฐมนตรีไทยและสปป.ลาว โดยมีความตอนหนึ่งว่า

“เรา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและลาวเคารพต่อข้อตกลงแม่น้าโขงที่ทำขึ้นในปี 2538 และเคารพต่อคำขอร้องจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม ที่ขอให้ระงับการก่อสร้างหรือเตรียมการก่อสร้างในพื้นที่เขื่อนโดยด่วน”
เช่นเดียวกันกับ เครือข่ายแม่น้ำประเทศเวียดนาม (Vietnam Rivers Network [VRN]) เผยแพร่ข้อความเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 แสดงความเป็นห่วงในสถานการณ์การสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยระบุว่า “แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ และมีความสำคัญในระดับนานาชาติ ไม่ควรถูกใช้ให้เป็นพื้นที่ทดลองเทคโนโลยีการสร้างเขื่อน”

เสียง เรียกร้องจากประชาชนไทย และเพื่อนบ้านในภูมิภาคแม่น้ำโขง เพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทย อาจถือได้ว่าเป็นตัวบ่งชี้และหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อ ระงับโครงการเขื่อนไซยะบุรีของเครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งทำร่วมกันในตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกระบวนการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ริม แม่น้ำโขง

ดังที่ อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้กล่าวไว้ในการเปิดตัวการนิทรรศการและรณรงค์ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ในวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมาว่า

“เราประสานกับนักการเมืองในจังหวัดของเราอย่าง เป็นทางการ ขอให้ช่วยเราให้ได้พบนายกฯ ในวันที่ 17 กันยายน เพื่อถามท่านนายกโดยตรงว่าประเทศไทยมีแผนการอย่างไรในเรื่องเขื่อนไซยะบุรี สำหรับพวกเราการได้พบนายกหรือไม่ในครั้งนี้ จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า นักการเมืองของเราจะยืนอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจาก โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงหรือไม่”

หากเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งถูกขนานนามว่า “เขื่อนไทยบนแผ่นดินลาว” ถูกสร้างขึ้นตามแผนการ จะกลายเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ตัวแรกที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายหลัก ทางตอนล่าง ทั้งนี้ การก่อสร้างที่กำลังเดินหน้าในพื้นที่สร้างเขื่อน นำโดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ด้วยเงินสนับสนุนจากธนาคารไทยชั้นนำ 4 แห่ง

อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งบัดนี้ รัฐบาลทั้งไทยและลาวยังคงปิดปากเงียบ โดยไม่ตอบคำถามประชาชนทั้งในประเทศของตน รวมทั้งสาธารณะชนในภูมิภาค และนานาชาติ

ทั้งนี้ กิจกรรมรณรงค์ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะมีต่อเนื่องไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน นี้ ตามด้วยกิจกรรมการเดินเพื่อรณรงค์ในใจกลางกรุงเทพมหานครในช่วงบ่ายสี่โมง เย็นของวันที่ 16 กันยายน  และต่อเนื่องด้วยการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในตอนเช้าของวันที่ 17 กันยายน เพื่อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ: ดูกำหนดการ (คลิก)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker