บริเวณชายแดนภูมะเขือ ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ใกล้กับปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ด้วยปืนใหญ่และอาวุธหนัก
สภาพไม่ต่างจากสงครามขนาดย่อม ชาวบ้านในพื้นที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่หนีตายกันอลหม่าน
ถึงหลายคนจะคาดคิดไว้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์ปะทะกันจะต้องเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นแม้ในระดับผู้นำรัฐบาลจะยืนกรานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับกัมพูชา ด้วยแนวทางเจรจาสันติวิธี
แต่อีกด้านหนึ่งทางการทหารทั้งสองฝ่ายต่างก็ส่งกำลังพล ปืนใหญ่ รถถัง รถหุ้มเกราะ เคลื่อนเข้าประชิดแนวชายแดนในฝั่งของตนเอง มีการซ้อมรบกันด้วยกระสุนจริง ปืนจริง ข่มขวัญกันไปมา
แน่นอนว่าสงครามไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตประชาชน ส่วนจะสูญเสียมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการสู้รบจะยืดเยื้อยาวนาน หรือยุติลงในระยะเวลาสั้นๆ
การสู้รบระหว่างไทย-กัมพูชาครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความปั่นป่วนวุ่นวายภายในไทย
จากกรณีกลุ่มพันธมิตรประชา ชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ และกลุ่มสำนักสันติอโศก จัดชุมนุมกดดันรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ยื่นคำขาดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข 3 ข้อ คือ ให้ถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลก ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 และขับไล่ชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่พิพาททับซ้อน
ซึ่งทั้งหมดเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลและนายกฯ อภิสิทธิ์ ยืนยันไม่อาจทำตามข้อเรียกร้องได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติมากกว่าเกิดผลดี
กลุ่มพันธมิตรฯ ยังยกระดับข้อเรียกร้อง ให้รัฐบาลไทยกดดันให้ทางกัมพูชา "ปลดธง" ออกจากวัดแก้วสิกขาคีรีศวร ที่ถือเป็นพื้นที่ทับซ้อน
พร้อมทั้งประกาศขีดเส้นตายให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือ 2 คนไทย คือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์
ซึ่งศาลกรุงพนมเปญตัดสินจำคุก 8 ปี และ 6 ปี ในความผิด 3 ข้อหา รุกล้ำดินแดน เข้าไปในเขตพื้นที่ทหาร และหนักสุดคือจารกรรมข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง ให้ได้โดยเร็วที่สุด
สังคมมองว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการตั้งเงื่อนไขให้สุดโต่งเข้าไว้เพื่อไม่ให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ จะได้ใช้เป็นเงื่อนไขในการขับไล่รัฐบาล
และยั่วยุให้กองทัพออกมาจัดระเบียบประเทศอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้จากการปราศรัยของแกนนำที่พยายามปลุกเร้าให้ทหารออกมาปกป้องประเทศชาติ ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯ
อย่างไรก็ตาม หากใครติดตามเส้นทางความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชารอบใหม่นี้
จะพบว่ามีจุดเริ่มจากกรณี นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ และคณะคนไทยรวม 7 คน
ถูกทหารกัมพูชาจับกุมในบริเวณพื้นที่พิพาท
สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ที่ได้ก่อหวอดชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ 7 คนไทย
พร้อมทั้งยืนยันแข็งกร้าวว่าพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในเขตแดนไทย ไม่ใช่เขตแดนกัมพูชา ต่อมากลุ่มสันติอโศกนำโดย สมณะโพธิรักษ์ ได้นำสมาชิกกองทัพธรรมเข้าร่วมชุมนุม
ขณะที่รัฐบาลไทยยืนยันจะใช้วิธีทางการทูตเจรจาช่วยเหลือ 7 คนไทย ซึ่งสามารถช่วยเหลือนำตัวกลับประเทศได้เพียง 5 ราย เหลือแต่นายวีระกับน.ส.ราตรี
เป็นจังหวะเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรฯ เดินเครื่องจัดการชุมนุมใหญ่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ากรณี 7 คนไทยน่าจะมีเบื้องหลังแอบแฝง
ตั้งใจจัดฉากเดินไปให้ทหารเขมรจับกุม
เพื่อปลุกกระแส "คลั่งชาติ" เป็น การโหมโรงปลุกประเด็นทวงคืนพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหารหรือไม่
ในตอนแรกมีการตั้งข้อสงสัยเรื่อง 7 คนไทยถูกทหารเขมรจับกุม ไปในสองแนวทาง คือ รัฐบาลมีส่วนรู้เห็นกับการสร้างสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยหรือไม่
หรือรัฐบาลถูกลวงเข้าไปติดกับดักของคนบางกลุ่ม ที่มีเจตนาแฝงเร้น ต้องการสร้างเรื่องเพื่อนำมาขยายผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน
อย่างไรก็ตาม หลังจากแกนนำพันธมิตรฯ ออกมาแถลงข่าวโจมตีนายกฯ และรัฐบาลอย่างรุนแรง มากขึ้นทุกวัน ทั้งยังทิ้งไพ่ตาย ข่มขู่จะบุกยึดทำเนียบรัฐบาลอย่างที่เคยทำมาแล้ว ทำให้ข้อสงสัยข้อแรกถูกโยนทิ้งไป
นายกฯ อภิสิทธิ์ รับมือกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยทางหนึ่งยืนยันว่าพร้อมเจรจาปรับความเข้าใจกับมิตรเก่า
แต่อีกทางหนึ่งก็ให้สัมภาษณ์ตอบโต้แกนนำด้วยถ้อยคำแรงๆ หลายครั้ง พร้อมทั้งสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจวางมาตร การป้องกันทำเนียบฯ ไม่ให้ผู้ชุมนุมบุกรุกเข้ามาโดยเด็ดขาด
นายกฯ อภิสิทธิ์ ยังส่งสัญญาณเตือนตรงๆ ว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ อาจทำให้การช่วยเหลือนายวีระกับน.ส.ราตรี ทำได้ยากขึ้น
ที่สำคัญยังอาจเป็นเหตุให้ไทยต้องเพลี่ยงพล้ำซ้ำสองให้กับทางกัมพูชา ทั้งบนเวทีเจรจาระดับภูมิภาคและระดับโลก ในประเด็นพื้นที่รอบเขาพระวิหาร
ทั้งนี้ การชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 ได้บุกยึดทำเนียบฯ และสนามบินนานาชาติ 2 แห่ง ก่อความเสียหายร้ายแรงให้กับประเทศชาติมากน้อยขนาดไหน เป็นที่รับรู้กันอยู่
ขณะที่การดำเนินคดีกับแกนนำในข้อหาก่อการร้าย ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างเข้มข้นเหมือนกรณีแกนนำคนเสื้อแดง
ปัญหาของรัฐบาลและนายกฯ อภิสิทธิ์ขณะนี้ คือจะปล่อยให้กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีจำนวนอยู่แค่หลักร้อยหรือมากสุดแค่หลักพันต้นๆ ปิดถนนยึดครองพื้นที่สาธารณะชุมนุมข่มขู่รัฐบาลถึงเมื่อใด
ภายหลังการปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาในพื้นที่บ้านภูมิซรอล จนเป็นเหตุให้มีคนไทยเสียชีวิต และทหารได้รับบาดเจ็บ
นอกจากรัฐบาลเองแล้ว การปักหลักชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคม ว่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยหรือไม่