บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

We have made history ! โค่นเผด็จการตูนิเซีย

ที่มา ประชาำไท


ยุทธบทความ

.........................................
"ในทุกรูปแบบของรัฐบาล
ประชาชนคือผู้ออกกฎหมายที่แท้จริง"

เอ็ดมันด์ เบิร์ก
นักปรัชญาชาวอังกฤษ
...............................................

ยุคก่อนเอกราช

ตูนิเซีย เป็นประเทศอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และถือได้ว่าเป็นประเทศเก่าแก่ เนื่องจากเป็นที่ตั้งเดิมของพวกคาเธจ ซึ่งเป็นนักรบในยุคโบราณที่เคยทำสงครามกับจักรวรรดิโรมมาแล้วถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งในที่สุดพ่ายแพ้ และถูกกวาดล้างแบบถอนรากถอนโคน จนอาณาจักรคาเธจต้องสูญสิ้นไป

หลังจากปี ค.ศ.1574 จักรวรรดิออตโตมันได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองพื้นที่ในส่วนนี้ และได้กลายเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของชาวอิสลามมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งในปี ค.ศ.1881 อิทธิพลของจักรวรรดิออตโตมันเริ่มอ่อนแอลง พร้อมกับการขยายตัวของจักรวรรดิตะวันตก และฝรั่งเศสได้เข้ามาเป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้แทน แต่ก็ยังดำรงการปกครองให้อยู่ภายใต้ผู้ปกครองเดิมที่เรียกว่า "Bey"

จักรวรรดิฝรั่งเศสได้บริหารจัดการพื้นที่ พร้อมๆ กับการกำหนดเส้นพรมแดนระหว่างประเทศ และเตรียมจัดตั้งให้ตูนิเซียเป็นประเทศสมัยใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชในชื่อของ "ขบวนการรัฐธรรมนูญใหม่"

ยุคหลังเอกราช

ในที่สุด รัฐบาลฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกจากการปกครองตูนิเซียในปี ค.ศ.1956 และคืนอำนาจให้แก่ Bey ในการแต่งตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้กลุ่มรัฐธรรมนูญใหม่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ โดยมีอดีตทนายความ ฮาบิบ บัวร์กิบา (Habib Bourguiba) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ เขาได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพแรงงานซึ่งเป็นฐานหลักในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง เอกราช ต่อมาได้มีการล้มล้างระบอบการปกครองเก่า พร้อมกับประกาศให้ตูนิเซียเป็นสาธารณรัฐ

กลุ่มผู้นำใหม่เข้ามาบริหาร ประเทศพร้อมกับแนวคิดทางสังคมใหม่ที่ต้องการล้มล้างระบอบของผู้ปกครองอิสลาม แบบเดิม พร้อมกับการนำเอาแนวคิดของการปฏิรูปทางสังคมแบบฝรั่งเศสมาใช้ จนทำให้ตูนิเซียกลายเป็นประเทศก้าวหน้าในโลกอาหรับ

ไม่ว่าจะเป็นการยึดที่ดินจากการถือครองของศาสนจักรมาเป็นของรัฐ การยกเลิกโรงเรียนและศาลศาสนา แม้กระทั่งประกาศยกเลิกเทศกาลบางงานของศาสนาอิสลาม ตลอดรวมทั้งการยกสถานะของผู้หญิงในสังคม และยกเลิกประเพณีทางศาสนาบางประการ เป็นต้น

ตูนิเซียมีความ ก้าวหน้าอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศโลกที่สามอื่นๆ เพราะประเทศมีกองทัพขนาดเล็ก และไม่มีภาระจากงบประมาณทหารเป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศโลกที่สามทั้งหลาย ทำให้รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาทางสังคมได้มากขึ้น

ผลจากสภาพเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า อย่างน้อยประมาณ 25 ปีหลังจากประเทศได้รับเอกราช บทบาทของทหารในการเมืองตูนิเซียอยู่ในระดับต่ำมาก

จนกลายเป็นกรณีแปลกสำหรับประเทศโลกที่สาม ซึ่งยุคหลังเอกราช มักจะเป็นยุคของการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ

ยุคของการปราบปราม

แต่ผลของการครองอำนาจอย่างยาวนานของผู้ปกครองจากยุคหลังเอกราช ทำให้ลักษณะการปกครองเป็นไปในทิศทางแบบอำนาจนิยมมากขึ้น การถอยออกจากนโยบายแบบสังคมนิยม จึงไม่ได้เป็นปัจจัยนำไปสู่การปกครองแบบเสรีนิยมแต่อย่างใด และในช่วงกลางทศวรรษของปี 1970 รัฐบาลได้ขยายบทบาทของกองทัพในการเมือง โดยเฉพาะการใช้กองทัพในการปราบปรามการประท้วงที่ขยายตัวมากขึ้น

แม้การเมืองจะมีความผันผวนอย่างมาก แต่ผลจากการค้นพบแหล่งน้ำมัน ทำให้ทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศมากขึ้น แม้กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะอัตราการว่างงานสูง และแรงงานเป็นจำนวนมากไหลออกไปสู่ตลาดงานในยุโรป ประกอบกับการไหลเข้าพื้นที่เขตเมืองของแรงงานจากชนบท

แต่เมื่อการลง ทุนจากต่างชาติลดลง พร้อมกับการตกต่ำของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้เศรษฐกิจของตูนิเซียอยู่ในภาวะวิกฤต และอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนไอเอ็มเอฟ (IMF) ได้ตัดสินใจเข้าแทรกแซง และบังคับให้รัฐบาลต้องขึ้นราคาอาหาร โดยเฉพาะขนมปังและแป้งที่ใช้ทำอาหาร อันนำไปสู่การประท้วงและขยายตัวเป็นการจลาจลจากชนบทไปสู่เมือง และขยายตัวไปสู่เมืองใหญ่ของประเทศ

รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการปราบปรามเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการล้อมปราบ จับกุม ปิดหนังสือพิมพ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็น "หุ่นของอิหร่าน" ที่ถูกส่งเข้ามาก่อความวุ่นวายในตูนิเซีย

ผลจากสถานการณ์เช่นนี้ทำให้นายพล ซินี เอล-อบิดีน เบน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหัวหน้าหน่วยความมั่นคงทางทหาร ได้รับคำสั่งให้ขยายการปราบปรามให้มากขึ้น

ซึ่่งก็เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้หันมาพึ่งพากองทัพในการปราบปรามประชาชน ต่างจากเดิมที่มักจะพึ่งกลไกของตำรวจ

ยุคหลังรัฐประหาร

แต่แล้วในที่สุด ผู้รับคำสั่งปราบก็ตัดสินใจทำรัฐประหารเสียเองในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1987 พร้อมกับสั่งปลดประธานาธิบดีบัวร์กิบาออกจากตำแหน่ง

ซึ่งผลของการ เปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ทำให้การเมืองเปลี่ยนทิศทางแต่อย่างใด ส่วนที่แตกต่างจากเดิมได้แก่ รัฐบาลใหม่ใช้กลไกทางทหารในการควบคุมและการปราบปรามทางการเมืองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล เบน อาลี พยายามสร้างภาพลักษณ์ของ "ความปรองดอง" ด้วยการเปิดระบบการเมืองมากขึ้น การประกาศนิรโทษกรรม การเชื้อเชิญให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับประเทศ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และการหาทางเจรจากับกลุ่มผู้นำอิสลาม

พร้อมทั้งแสดงท่าทีใหม่ของ รัฐบาลด้วยการสร้างมัสยิด การประกาศการสวดมนต์ผ่านสถานีวิทยุของรัฐ ความพยายามจัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลาม เป็นต้น

จุดเริ่มต้นของจุดจบ

แต่ในที่สุด สถานการณ์การเมืองในช่วงปลายปี ค.ศ.1989 ก็เริ่มถอยกลับสู่ที่เดิม ด้วยการจับกุมผู้นำฝ่ายค้านและห้ามการแข่งขันทางการเมือง (กับพรรครัฐบาล) และปี ค.ศ.1990 จึงเป็นการเริ่มต้นการปราบปรามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดการขยายตัวของการต่อต้านรัฐบาล พร้อมๆ กับเศรษฐกิจของประเทศก็ตกต่ำลงอย่างมาก...สังคมการเมืองตูนิเซียตกอยู่ภาย ใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเมืองตูนิเซียกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมอย่างเต็มรูปอีกครั้งนับจากปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา

ในสังคมเผด็จการของตูนิเซียนั้น เศรษฐกิจของประเทศก็ตกต่ำอย่างมาก ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจที่ประสบปัญหามาตั้งแต่เมื่อครั้งไอเอ็มเอ ฟต้องเข้าแทรกแซงนั้น ไม่สามารถฟื้นตัวได้แต่อย่างใด

ยิ่งประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่ประชาชนไม่สนับสนุนรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับอยู่ในอำนาจได้ด้วยการค้ำประกันของกองทัพ และการใช้กลไกการปราบปรามเป็นเครื่องมือ

ก็ยิ่งทำให้การเมืองตูนิเซียอยู่ในลักษณะของการรอให้วิกฤตการณ์เกิดระเบิดขึ้นเพื่อให้การเมืองคลายตัวออกได้

จุดจบ

ดังนั้นเมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจ "เผาตัวเอง" เพื่อประท้วงรัฐบาล อันเป็นผลจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ห้ามไม่ให้เขาขายผักบนถนน เพราะเขาไม่มีใบอนุญาต...ผลของการ "เผาตัว" ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.2010 (2553) ได้กลายเป็นดังการจุดประกายไฟให้เกิดการประท้วงและนำไปสู่การจลาจลในหลายพื้นที่ของประเทศ

จุดเริ่มต้นจากการเริ่มต้นของชายหนุ่มยากจนบนถนน ที่ห่างไกลอำนาจรัฐ ได้นำพาให้คนจนอีกเป็นจำนวนมากในประเทศตระหนักว่า รัฐบาลเผด็จการไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขา พร้อมๆ กับคนในเมืองที่ต้องประสบกับภาวะตกงาน พวกเขาก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่า รัฐบาลเผด็จการไม่ใช่เครื่องมือของการแก้ปัญหาปากท้อง พวกเขาเชื่อมากขึ้นว่า ปัญหาของประเทศต้องแก้ไขด้วยการให้เสรีภาพแก่ประชาชน

แต่รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการกล่าวว่า ผู้ประท้วงถูกจ้างโดยพรรคฝ่ายค้าน รวมไปถึงการกล่าวหาว่า คนเหล่านั้นเป็น "ผู้ก่อการร้าย" และตามมาด้วยการสั่งให้ตำรวจปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง

ผลจากการ ตัดสินใจที่กองกำลังของรัฐใช้อาวุธยิงผู้ประท้วง แทนที่จะทำให้เกิดความกลัว กลับทำให้เกิดความโกรธ และยิ่งทำให้การประท้วงขยายตัวมากขึ้น การปะทะระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับกองกำลังของรัฐบาลในวันที่ 8-9 มกราคมที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 23 คน แต่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวว่าผู้เสียชีวิตไม่น่าต่ำกว่า 60 คน และผลของการใช้มาตรการเด็ดขาดและรุนแรงก็ยิ่งกลายเป็นการ "เติมเชื้อไฟ" ให้การต่อต้านรัฐบาลขยายตัวจนกลายเป็นการประท้วงขนาดใหญ่ในเมืองหลวง

รัฐบาล แก้ปัญหาด้วยการสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อให้คนหนุ่มสาวอยู่กับบ้านและไม่ออกไปร่วมการประท้วง และประกาศจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคอร์รัปชั่น พร้อมๆ กับประกาศนโยบายประชานิยมด้วยการขยายงานอีกมากกว่า 3 แสนตำแหน่ง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสัญญาว่าจะควบคุมราคาอาหาร ให้เสรีภาพแก่สื่อและอินเตอร์เน็ต และสัญญาอย่างสำคัญว่าจะสร้างประชาธิปไตยในตูนิเซีย

แต่ดูเหมือนว่าข้อเสนอและคำสัญญาดังกล่าวจะไม่มีใครเชื่อ หลังจากการถูกควบคุมเสรีภาพมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการใช้กำลังปราบปราม การควบคุมข่าวสารในสื่อ และการควบคุมอินเตอร์เน็ต ทำให้ประชาชนไม่เชื่อรัฐบาล และการต่อต้านยังดำเนินต่อไป

ไพ่ใบสุดท้าย!

ผู้นำรัฐบาล "ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย" ด้วยการประกาศลาออกและเตรียมเปิดการเลือกตั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ก็ตามมาด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมๆ กับการประกาศห้ามออกนอกบ้านทั่วประเทศ ห้ามชุมนุมเกินกว่า 3 คน และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่สามารถยิงผู้ใดก็ได้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งนี้

ผลก็คือประชาชนยิ่งไม่เอารัฐบาลมากขึ้น จนในที่สุด ผู้นำรัฐบาลและครอบครัวต้องหนีออกนอกประเทศ จุดจบของเผด็จการไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร มีอำนาจมากเท่าใด หรือยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม คำสัญญาและคำหลอกลวงลมๆ แล้งๆ ไม่เคยช่วยอะไรได้จริง!

การประท้วงในขอบเขตทั่วประเทศใช้ระยะเวลา 4 สัปดาห์ ก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่มีอายุถึง 23 ปีภายใต้การสนับสนุนของทหารลงได้ และคงไม่ผิดนักที่จะสรุปดังคำกล่าวของชายหนุ่มที่ชื่อ อลาดีน เดอร์บารา (Alaedine Derbala) ว่า "พวกเราได้สร้างประวัติศาสตร์แล้ว...14 มกราคมจะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่สำหรับตูนิเซีย และเป็นวันที่เราเปลี่ยนแปลงประเทศของเราตลอดไป"

บทเรียนการล้มลงของรัฐบาลเผด็จการตูนิเซีย เป็นข้อคิดทางการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างดี ส่วน "ท่านผู้นำ" คนไหนจะคิดได้หรือคิดไม่ได้ ก็คงขึ้นอยู่กับ "สติ" และ "สมอง" ที่ยังหลงเหลืออยู่ เท่านั้นเอง!

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker