"ไม่ว่าเราจะคิดยังไงกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง จะชอบหรือไม่ชอบ ข้อเท็จจริงก็คือ มี “คน” อยู่ในนั้น คนที่ความเป็นมนุษย์ควรจะเท่าเทียมกับเรา" กานต์ ทัศนภักดิ์ กับผลงานภาพถ่ายขาว-ดำ เพื่อทดสอบว่าความคิดของผู้คน ต่อกลุ่มคนในนาม "เสื้อแดง"
‘สี’ อาจไม่ได้มีความสำคัญในฐานะตัวแทนหรือสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างเข้มข้นกว้างขวางมาก่อน กระทั่งมีการอุบัติขึ้นของกลุ่มคนภายใต้เสื้อ ‘สีเหลือง’ ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนเหตุการณ์นำไปสู่การรัฐประหาร 2549 จึงมีคนอีกกลุ่มหนึ่งสวมเสื้อ ‘สีแดง’ ออกมาต่อต้านการยึดอำนาจและการแทรกแซงการเมืองจากอำนาจนอกระบบ สังคมมีการแบ่งเป็น 2 สีอย่างชัดเจน และ ‘สี’ ก็มีนัยสำคัญที่ลึกซึ้งต่อการเมืองไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เหตุรุนแรงในเดือน เม.ย.และ พ.ค.2553 เมื่อรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามคนเสื้อแดงจนเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ มีคนเสื้อแดงเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก แต่คำถามคือ เหตุใดคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยไม่รู้สึกแยแสต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น นั่นเพราะชีวิตของคนที่สวมอุดมการณ์ทางการเมืองในชุดเสื้อสีแดงด้อยค่ากว่าชีวิตมนุษย์ปรกติทั่วไปกระนั้นหรือ สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ กานต์ ทัศนภักดิ์ ซึ่งติดตามถ่ายภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่อง ตัดสินใจถอดสีสันในภาพถ่ายออกทั้งหมด และนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำชุด Gray “RED SHIRT” เพื่อทดสอบว่าเมื่อถอดสีแล้ว คนอื่นๆ ที่สังกัดตนอยู่ในสีหนึ่งสีใดหรือไม่มีสีก็ตาม จะมองเห็นความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ที่สวมความคิดทางการเมืองในเสื้อแดงหรือไม่ และต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่ประชาไทได้มีโอกาสพูดคุยกับเขา
........................................................
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้จัดนิทรรศการภาพถ่ายของคนเสื้อแดงครั้งนี้
ที่ผมรู้สึกมานานมากคือ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ไม่ค่อยมีภาพคนเสื้อแดงในมิติที่เป็น “มนุษย์” ในสื่อสาธารณะเท่าไหร่ คือหลายปีมานี้มีข่าวออกมามาก แต่ก็เป็นอีกเนื้อหาหนึ่ง คือในข่าวก็เป็นไปตามเนื้อหาของข่าว ขณะที่ด้านนี้ ที่เราได้เข้าไปเห็น แล้วก็รู้สึกว่าไม่ค่อยถูกเผยแพร่
ที่ผมรู้สึกมานานมากคือ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ไม่ค่อยมีภาพคนเสื้อแดงในมิติที่เป็น “มนุษย์” ในสื่อสาธารณะเท่าไหร่ คือหลายปีมานี้มีข่าวออกมามาก แต่ก็เป็นอีกเนื้อหาหนึ่ง คือในข่าวก็เป็นไปตามเนื้อหาของข่าว ขณะที่ด้านนี้ ที่เราได้เข้าไปเห็น แล้วก็รู้สึกว่าไม่ค่อยถูกเผยแพร่
ทราบว่าภาพถ่ายเหล่านี้เคยถูกนำไปจัดนิทรรศการที่ประเทศฟิลิปปินส์ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
เป็นงานครบรอบ 10 ปี ทุน API (Asian Public Intellectuals Fellowships: ทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย) จัดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว ที่มะนิลา นอกจากปาฐกถา เสวนาอะไรต่างๆ แล้ว ส่วนหนึ่งของงานก็จัดให้มีนิทรรศการศิลปะ โดยให้สมาชิก API ทั้ง 5 ประเทศ ที่ทำงานอยู่ในสายศิลปะสาขาต่างๆ ส่งงานเข้าไปคัดเลือกเพื่อจัดแสดง
ตอนแรกที่ส่ง proposal ให้ curator คัดเลือก ผมเสนองานดนตรี 1 ชุด เป็นเพลงพูดถึงเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน แล้วก็ภาพถ่าย 2 ชุด เป็นภาพสี แต่ตอนใกล้หมดกำหนดก็ขอเปลี่ยนเป็นชุดนี้แทนครับ
แล้วทำไมไม่ใช้ภาพสีเหมือนนิทรรศการภาพถ่ายทั่วๆ ไป ตรงนี้ต้องการจะสื่อถึงอะไร
คือพอใกล้วันที่ต้องส่งชิ้นงานไปให้พิจารณา ช่วงปลายเดือนเมษา สถานการณ์ทางนี้ (ประเทศไทย) มันลุกลามไปมากแล้ว ผมก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ทั้งใจทั้งอะไร ก็เลยเขียนไปแจ้งถอนงานภาพถ่ายเหลือชุดเดียว แล้วก็ขอแก้ proposal ใหม่ เปลี่ยนจากภาพสีเป็นขาวดำ ส่วนดนตรีนี่ถอนเลย เพราะตอนนั้นนึกสภาพตัวเองคงเล่นสดไม่ไหวแล้ว
ที่เปลี่ยนจากสีเป็นขาวดำ มันเริ่มตรงพอหลังวันที่ 10 เมษา มีคนตายแล้ว ทำให้เรารู้แล้วว่ามีการยิงจริง กระสุนจริง พอปลายเดือนเมษา ก็มีกระแสจะสลายที่ราชประสงค์ ทุกคนที่ตามอยู่ก็รู้ว่าเป็นไปได้ตลอดเวลา เพื่อนที่ประชาไทก็ชวนให้ช่วยกันคัดรูป อยากจะเอารูปในที่ชุมนุมที่เห็นคนชัดๆ เผยแพร่ออกไป ให้คนข้างนอกเห็น ว่ามีคนอยู่ในนั้น มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก คนแก่ คนเหมือนกับเรานี่แหละ อยากให้คนข้างนอกเห็นแล้วช่วยเบรกกระแสการใช้กำลังเข้าสลาย จากนั้นประชาไทก็เอาภาพขึ้น อีกด้านหนึ่งผมก็เอาขึ้น pantip (ราชดำเนิน) ด้วย พยายามเอาขึ้นทุกวันที่มีเวลาพอ
ตอนนั้นเป็นภาพสี ?
ใช่ครับ เป็นภาพสี ที่จริงทุกภาพที่ถ่ายช่วงนั้น ต้นฉบับเป็นภาพสีทั้งหมด
ผลคือ ?
ฟีดแบ็กที่ประชาไทผมไม่ทราบนะครับ เพราะช่วงนั้นได้เข้าเน็ตน้อยมาก แต่ที่กระทู้ผม pantip นี่ชัดเจน คือไม่ช่วยอะไรเลย เพราะคนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าถ้าเป็นเสื้อแดงคือเป็นคนเลว และสมควรโดน ก็เสียใจมาก โกรธด้วย ทำไมคนเรารู้สึกต่อกันได้ขนาดนี้ ไม่แคร์เลยเหรอที่จะมีคนตาย ต่อให้เป็นคนที่คุณไม่ชอบ
ฟีดแบ็กที่ประชาไทผมไม่ทราบนะครับ เพราะช่วงนั้นได้เข้าเน็ตน้อยมาก แต่ที่กระทู้ผม pantip นี่ชัดเจน คือไม่ช่วยอะไรเลย เพราะคนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าถ้าเป็นเสื้อแดงคือเป็นคนเลว และสมควรโดน ก็เสียใจมาก โกรธด้วย ทำไมคนเรารู้สึกต่อกันได้ขนาดนี้ ไม่แคร์เลยเหรอที่จะมีคนตาย ต่อให้เป็นคนที่คุณไม่ชอบ
ผมคิดเรื่องนี้กลับไปกลับมากลับมาอยู่นาน เริ่มสงสัยว่า นอกจาก “สี” ที่เป็นนามธรรมจะทำให้คนเป็นอย่างนั้นแล้ว สีที่เป็นรูปธรรม ที่สัมผัสกับตาเรา ก็ยังทำให้คนนึกถึงแต่ “สี” ที่เป็นนามธรรม นึกถึงอยู่แค่นั้น เห็นอยู่แค่นั้น ไม่เห็นอะไรเลยเหรอ
ก็เลยเอาสีออกไป ?
ครับ ที่จริงตอนนั้นมีอารมณ์ประชดอยู่ คือ โอเค ถ้ามีสีแล้วมันจะทำให้อคติ และเห็นแค่ “สี” ผมก็จะเอาสีออกให้ ก็แจ้งไปทางมะนิลา เขียน proposal ส่งไปใหม่ เป็น Gray “RED SHIRT”
แปลว่าสีมีความหมายมากสำหรับการเมืองไทยในช่วงหลายปีมานี้
มันอาจเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างที่หลายคนบอกก็ได้ ทำให้เรายังไม่สามารถจะคิดต่างกันได้อย่างเท่าเทียม หรือแย่กว่านั้นคือ บางทีการที่เราเลือก “สี” หนึ่งแล้วมันทำให้เราไม่เห็นคนที่คิดต่างเป็นมนุษย์อีกต่อไป จะถูกกระทำอย่างไรก็ไม่แคร์อีกต่อไป
บางคนบอกว่าเทคโนโลยีที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารเคลื่อนที่เร็ว ปริมาณมาก ก็มีส่วนทำให้เราเห็นทุกอย่างเป็นแค่ “ข่าว” ด้านชาลงทุกที ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่กับความขัดแย้งทางการเมืองในระดับนี้อาจจะยังใหม่สำหรับคนไทยด้วย เวลาพูดถึง “สีแดง” “สีเหลือง” เราเลยมักนึกถึง “สี” ก่อน นึกถึงจุดยืนตัวเองก่อน ซึ่งก็อาจเป็นเรื่องปกติ แต่ปัญหาคือบางทีเราลืมนึกถึงคนที่อยู่ใน “สี” นั้น
เรื่องนี้ชัดเจนขึ้นหลัง 10 เมษายน 2553 ซึ่งมีคนตายหลายสิบภายในไม่กี่ชั่วโมง เจ็บอีกไม่รู้เท่าไหร่ แต่สังคมไทยเฉยมาก ไม่นับที่สะใจ ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะข่าวที่ออกมาจากสื่อไทยส่วนหนึ่งเป็นลบกับฝ่ายเสื้อแดงมาก รัฐเองก็เน้นย้ำเรื่องชุดดำอะไรต่ออะไร แต่ถึงจะเชื่ออย่างนั้นก็ตาม การที่คนไม่มีอาวุธถูกยิงตายกลางถนนจำนวนมากขนาดนี้มันน่าอนาถมาก แต่คนไทยกลับเงียบ บางคนเชียร์รัฐซะอีก นอกจากคนเสื้อแดงเองกับคนที่เห็นใจฝ่ายแดงอยู่ก่อนแล้ว (ย้ำว่า เห็นใจอยู่ก่อนแล้ว) แทบจะไม่มีใครเห็นใจคนตาย ไม่ต้องพูดถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ ไม่ต้องพูดถึงองค์กรหรือนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์อื่นผมว่าไม่มีทางนะ หรือเหตุการณ์ในประเทศอื่นเราก็ยัง “อิน” กว่านี้
อยากเล่าเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ในมุมของกานต์บ้างไหม
สั้นๆ คือ ผมอยู่ในนั้นหลายชั่วโมง และไม่เห็นอย่างที่รัฐบอก ซึ่งอาจจะไม่สำคัญอะไร เพราะยังเถียงกันได้ว่าผมอาจจะไม่เห็นเอง เพราะส่วนหนึ่งมันมืด มันชุลมุน เหตุการณ์มีหลายจุด หรืออะไรก็ตาม แต่ประเด็นของผมคือ ต่อให้เราเชื่ออย่างที่รัฐบอก คนที่ตายก็คือคนไม่มีอาวุธ เขาไม่มีค่าหรือ
แล้วเสียงตอบรับตอนจัดที่มะนิลา เป็นยังไง
ผมได้ดูวันเดียว คือวันเปิดนิทรรศการ เพราะต้องกลับเมืองไทยวันรุ่งขึ้นเลย คนที่เข้าชมในวันนั้นส่วนใหญ่คือคนไปร่วมงาน 10 ปี API หลักๆ คือ API จาก 5 ประเทศ ทีนี้เงื่อนไขในการจัดงานวันนั้นอย่างหนึ่งก็คือ ติดตั้งแต่ละนิทรรศการของงานนี้กระจายไปทั่วเมือง นัยว่าอยากให้คนที่ไปชมงานได้เที่ยวชมเมืองไปด้วย แต่ปัญหาคือ คุณเลือกขึ้นรถได้คันเดียว และรถคันนั้นจะผ่านเฉพาะบางนิทรรศการเท่านั้น
กลุ่มเพื่อนต่างชาติส่วนใหญ่จะเข้ามาบอกว่าชอบ บางคนก็บอกว่าดูแล้วเศร้ามาก บางคนถามถึงคุณป้า-คุณยายในภาพว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ซึ่งผมพูดไม่ออก มันเป็นคำถามที่เราถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน
แต่ที่ลุ้นมากคือเพื่อน API ที่เป็นคนไทยและไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดง ปรากฏว่ามีพี่ 2 คนที่ไม่ได้แดงมาบอกว่า ตัดสินใจเลือกขึ้นรถคันนี้เพราะผ่านนิทรรศการเรา แล้วก็บอกว่าชอบงาน โดยที่เค้าก็ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง ซึ่งทำให้ผมดีใจมาก เราควรจะแตกต่างกันได้ โดยที่ยังเห็นฝ่ายอื่นๆ เป็นคนเท่าๆ กับเราอยู่ แล้วก็มีอีกคนหนึ่งไม่สนิทเลย มาบอกว่า งานสวย แต่ขอสารภาพว่า ถ้าเป็นภาพสีนี่พี่คงดูไม่ได้จริงๆ (หัวเราะ)
แสดงว่ามีเพื่อนที่คิดต่างกันอยู่มากพอสมควร
ใช่ครับ ที่จริงคือตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา ผมเสียเพื่อน-คนรู้จักไปเพราะการเมืองเยอะมาก ระลอกแรกคือปี 49 ถัดมาคือช่วงที่เขียนคอลัมน์ประจำให้ประชาไท (หัวเราะ) แล้วก็ระลอกล่าสุดคือปี 53
ใช่ครับ ที่จริงคือตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา ผมเสียเพื่อน-คนรู้จักไปเพราะการเมืองเยอะมาก ระลอกแรกคือปี 49 ถัดมาคือช่วงที่เขียนคอลัมน์ประจำให้ประชาไท (หัวเราะ) แล้วก็ระลอกล่าสุดคือปี 53
แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ยังมีเพื่อน มีพี่ หลายคน ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง หรือแม้แต่เปิดเผยเลยว่าเป็นพันธมิตร แต่เรายังคบกันได้เป็นปกติ หลายคนยังสนิทกันดี เพราะเรายังมีด้านที่รักและนับถือกันได้สนิทใจอยู่มากพอ ที่สำคัญคือ เราต่างกันแค่จุดยืน โดยไม่ได้มีใครเหยียดหยามเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์ของฝ่ายที่เห็นต่าง ซึ่งสำหรับผมมันสำคัญมาก เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ต่อให้จุดยืนทางการเมืองตรงกันแค่ไหนก็คงเป็นเพื่อนกันไม่ได้
ในที่สุดก็ได้มาจัดที่เมืองไทย
หลังจากนั้นก็คิดๆ อยู่ว่าน่าจะจัดในเมืองไทยบ้าง เพราะเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นที่นี่ และกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องการสื่อไปถึงก็คือคนในสังคมไทย ซึ่งต้องขอบคุณทางกลุ่ม SIAM INCEPTION ART & CULTURE CLUB (SIACC) ที่จัดงาน “ฝังความทรงจำ” และติดต่อไปร่วมครับ
แง่มุมของภาพที่นำเสนอในนิทรรศการนี้ มีเรื่องราวอะไรบ้าง
ทั้งหมดคือ ไม่ว่าเราจะคิดยังไงกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง จะชอบหรือไม่ชอบ ข้อเท็จจริงก็คือ มี “คน” อยู่ในนั้น คนที่ความเป็นมนุษย์ควรจะเท่าเทียมกับเรา
ภาพถ่ายที่มีอยู่ มีเยอะไหม แล้วมีวิธีการคัดเลือกภาพยังไง
ทั้งหมดมีอยู่ราวๆ 5,000 กว่า เป็นภาพตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม – 2 พฤษภาคม 2553 คือวันสุดท้ายที่ผมได้เข้าไปที่ราชประสงค์ แต่ตอนที่ต้องคัดภาพส่งไปเป็นช่วงปลายเดือนเมษายน เนื่องจากจำนวนค่อนข้างจำกัด จำได้ว่าพยายามเลือกมุมที่ไม่ค่อยเห็น เน้นคนสูงอายุมากหน่อย ที่ขาดไปคือภาพคนในวัยหนุ่มสาว แต่ด้วยเวลาคัดก็จำกัดอีก พอส่งไปแล้วก็เสียดายอีกหลายภาพที่น่าจะได้เห็นกัน
ทำไมถ่ายไว้เยอะขนาดนั้น ตั้งใจจะเอาไปทำอะไร
หลังวันที่ 10 เมษา เรารู้แล้วว่ามีเหตุการณ์อย่างนั้นได้ และภาพที่จะช่วยยืนยันมันสำคัญมาก จากที่เคยเข้าไปวันละ 5-6 ชั่วโมง ก็พยายามอยู่ให้ยาวขึ้น ช่วงที่มีข่าวว่าจะสลายก็อยู่จนสว่าง เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์เลวร้ายมันจะเกิดขึ้นอีกตอนไหน ระหว่างนั้นก็ถ่ายไปเรื่อยๆ มันก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ได้เผยแพร่ในช่องทางอื่นบ้างรึเปล่า
มีใน slide.com บ้าง เอาขึ้นช่วงเดียวกับที่โพสต์ใน pantip แล้วก็มีนักข่าวเกาหลีมาขอไปส่วนหนึ่ง ปัญหาของผมคือหลังจากเหตุการณ์นั้น (พ.ค.53) ช่วงหนึ่งผมแทบไม่กล้าเปิดดูไฟล์ภาพที่เก็บไว้ เพราะเราเคยอยู่ตรงนั้น เข้าไปเกือบทุกวัน คนในภาพจำนวนหนึ่งเห็นกันจนคุ้นหน้า ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่เรารู้สึกว่าโหดเหี้ยมมาก แล้วเราแทบไม่รู้เลยว่าตอนนี้แต่ละคนอยู่ที่ไหน เป็นยังไง
วิดีโอคลิป หรือภาพที่คนอื่นถ่ายก็เหมือนกัน บางทีดูได้แป๊บๆ ก็ต้องรีบปิด และเท่าที่ถามๆ ดู ไม่เฉพาะผม หลายคนก็มีอาการคล้ายๆ กัน พี่ก็คงเป็นเหมือนกัน
คิดว่าสาเหตุคืออะไร
ถ้าส่วนตัวผม ความรู้สึกหนึ่งคือรู้สึกผิด เราเคยอยู่ในนั้น ตรงที่ที่มีคนตายคนเจ็บ แต่เราปลอดภัย ตอน 10 เมษาผมไม่มีแผลอะไรเลย นอกจากโดนแก๊สน้ำตา แล้วก็มาโดนลูกหลงที่สีลมนิดหน่อย ไม่ได้เจ็บมากอะไร และที่ราชประสงค์ก็มาเกิดเรื่องตอนที่ผมกลับต่างจังหวัดไปแล้ว สรุปคือ มีคนตายคนเจ็บมหาศาล เจ็บและตายเพื่อเรียกร้องสิ่งที่เราเห็นด้วย ขณะที่เราปลอดภัยทุกอย่าง และช่วยอะไรคนเหล่านั้นไม่ได้เลย
ส่วนเรื่องภาพ ช่วงหลังก็เริ่มคุยกับหลายคน ก็เห็นตรงกันว่าถ้าเผยแพร่ภาพออกไปมันมีประโยชน์กว่าเก็บเอาไว้แน่ๆ ก็เข้าใจ เพียงแต่ช่วงก่อนนั้นยังทำใจยาก ตอนนี้ก็เริ่มมองเริ่มคิดหาทางเอาออกมาทำให้เป็นประโยชน์มากขึ้น
เห็นในโปสเตอร์งานที่สถาบันปรีดีบอกว่ารายได้จากการขายภาพจะนำไปช่วยช่างภาพที่ถูกยิงในเหตุการณ์ ตั้งราคาภาพไว้เท่าไหร่ แล้วจะติดต่อซื้อได้ยังไง
ตั้งไว้ภาพละ 1,500 ครับ พร้อมกรอบ จำนวนเงินที่ได้คงไม่มากเท่าไหร่ แต่หวังว่าจะเป็นกำลังใจให้กันได้บ้าง ติดต่อซื้อได้กับทางผู้จัดงาน 081-611-4260 ครับ
ทราบมาว่าจะจัดที่เชียงใหม่เดือนหน้าด้วย เป็นภาพเดิมรึเปล่า หลังจากนั้นจะจัดที่ไหนอีกบ้าง
เชียงใหม่จัดที่ “ร้านเล่า” ถนนนิมมานเหมินทร์ มีพี่ๆ กลุ่มอิสระทางนั้นเป็นคนจัดให้ เปิดงานวันที่ 5 (มีนาคม) มีเสวนา วิทยากรที่ทราบตอนนี้คืออาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล กับอาจารย์วันรัก สุวรรณวัฒนา หลังจากนั้นจะไปจัดที่ร้านหนังสือ “เอกาลิเต้” ที่ลำปาง แล้วก็มีพี่ทางอุบลฯ ชวนไปจัด แต่ยังไม่ได้คุยรายละเอียดครับ
ภาพชุดนี้ก็คงต้องคงไว้เหมือนเดิม ส่วนภาพอื่นๆ ที่มีอยู่ก็อาจจะหาทางเผยแพร่ด้วยวิธีอื่นต่อไป
มีความคาดหวังกับผู้ที่มาชมนิทรรศการครั้งนี้บ้างไหม ยังไง
นอกจากความคาดหวังเดิมใช่มั้ยครับ คือนอกจากคราวนี้คือสนามในประเทศ ในที่เกิดเหตุแล้ว จากวันนั้นมันยังเกิดอะไรขึ้นเยอะมาก โดยที่แผลของคนจำนวนมากยังไม่ถูกรักษา ถูกฉีกให้กว้างออกไป ขณะที่คนจำนวนหนึ่งก็ต้องการให้สังคมลืม
ผมก็อยากจะบอกว่า เรื่องพวกนี้เคยเกิดขึ้นจริง เคยมี “คน” อยู่ในนั้น และขอโทษที่เรายังไม่ลืม
สุดท้าย อยากเห็นการเมืองไทยเป็นยังไง
ตอนจัดที่มะนิลา พี่คนหนึ่งก็สัมภาษณ์ผมด้วยคำถามที่คล้ายๆ กันนี้เป็นคำถามสุดท้าย ซึ่งตอบยากมาก คือผมคิดว่าโดยพื้นฐานที่สุด จำเป็นต้องทำให้พื้นที่ทางการเมืองของทุกคนเท่ากันก่อน ให้คนที่คิดต่างกันสามารถพูดออกมาได้เท่าๆ กันก่อน ดังนั้น ตอนนี้ผมขอยังไม่ตอบดีกว่าครับ (หัวเราะ)
…………………………………………………………….
กานต์ ทัศนภักดิ์ เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2535 หลังเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด” ได้ลาออกจากโรงเรียนมาสอบเทียบ และทดลองศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายครั้ง ก่อนตัดสินใจออกมาทำงานด้านศิลปะ วรรณกรรม และดนตรี ควบคู่ไปกับการสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมของหลายกลุ่ม/องค์กรจนถึงปัจจุบัน
กานต์ได้รับเลือกให้รับทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (API) ประจำปี 2008-2009 และไปศึกษาวิจัยในหัวข้อ “ศิลปะใน ‘สื่อรณรงค์’: ศิลปะการนำเสนอของ ‘สื่อกระแสรอง’ ในโลกแห่ง ‘สื่อกระแสหลัก’” ที่ประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของศิลปินและนักกิจกรรม ในการใช้ศิลปะเพื่องานรณรงค์ของขบวนการทางสังคม
ปัจจุบันกานต์พักอาศัยอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นและเชียงใหม่ โดยทำงานอิสระ อาทิ งานกวีและงานเขียนอื่นๆ งานบรรณาธิการต้นฉบับ และงานศิลปะในหลายสาขา เช่น ภาพถ่าย ภาพเขียน ดนตรี ทั้งในชื่อจริง และภายใต้นามปากกา ‘กานต์ ณ กานท์’