บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เผยผลสอบสลายกลุ่มม็อบ 7 ตุลาฯ

ที่มา เดลินิวส์

ไม่มีใบสั่งจากนักการเมืองแต่โยนบาปให้ฝ่ายปฏิบัติ

เผยผลสอบสลายม็อบ 7 ตุลา ชี้อุ้มนักการเมืองรัฐบาล"สมชาย"ไม่เกี่ยวสั่งการสลายม็อบ โยนแพะฝ่ายปฏิบัติเป็นคนสั่ง “สาทิตย์” ระบุผลสอบเป็นคนละส่วนกับข้อมูลของ ป.ป.ช. “สุริยะใส” ชี้ไม่น่าเชื่อถือ ระบุที่มากรรมการไม่ชอบ ซัดตำรวจอย่าเลือกปฏิบัติเร่งคดีพันธมิตร แต่คดี นปช.กลับเฉย “อภิสิทธิ์” ยอมรับสถานการณ์เสี่ยง ย้ำไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง เชื่อทุกฝ่ายให้โอกาสรัฐบาลแก้ไขปัญหาประเทศวอนอย่าสร้างความ รุนแรงหวั่นกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ “ตำรวจ-ทหาร-กทม.” ประชุมร่วมรับมือม็อบเสื้อแดงบุกทำเนียบ ผบช.น.คนใหม่-คนเก่า มั่นใจคุมสถานการณ์ได้ ด้าน “อำนวย” ให้ทนาย ยื่นอุทธรณ์ คดีฟ้อง ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบอีก เมื่อเวลา 07.10 น. วันที่ 20 ก.พ. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย ถึงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีการประเมินช่วงการชุมนุมว่าเป็น 4 วันอันตราย ว่า ในส่วนของการชุมนุมก็ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องบางเรื่องไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการดำเนินคดี ที่รัฐบาลได้ให้มีการรายงานเข้ามาของคดีต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองรัฐบาลได้เดินหน้าอยู่ ส่วนประเด็นอื่น ๆ เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวรัฐมนตรี หรือการตัดสินใจของ ตน ก็คงเป็นเรื่องการตัดสินใจทางการเมืองนั้น ตนได้ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องต่าง ๆ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับเรื่องการดำเนินคดี

ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีคิดว่าจะเป็น 4 วันอันตรายอย่างที่มีการประเมินหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็คงพูดกันไป แต่ก็ต้องถือว่าเวลาที่มีสถานการณ์การชุมนุมมันก็มีความเสี่ยง ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลให้เกิดความเรียบร้อย เวลามีการชุมนุมของคนจำนวนมาก ๆ เราก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการดูแลให้เกิดความสมดุล ไม่ให้เกิดความตึงเครียด สำคัญที่สุดคือไม่ให้เกิดความรุนแรง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษากฎหมายได้ด้วย ซึ่งก็ธรรมดาว่าเป็นงานหนักสำหรับเจ้าหน้าที่ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ที่ถือเป็นภาระรับผิดชอบ แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องบริหารจัดการให้ได้

“สิ่งที่ผมห่วงที่สุดคือไม่อยากให้มี ความรุนแรงและไม่อยากให้ประเทศเสียภาพลักษณ์ เพราะผมคิดว่าสิ่งที่เราพยายามทำมาเกือบ 2 เดือน ก็ทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ ต่างประเทศก็ให้ความมั่นใจมากขึ้นดังนั้นจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง อย่าให้ประเทศเดินถอยหลังกลับไปเป็นสถานการณ์ในช่วงปีที่แล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขอทุกกลุ่มให้โอกาสบ้านเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่มีรายงานว่า ขณะนี้มีแกนนำและมีการขนประชาชนไปเตรียมการชุมนุมที่หัวหินระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิท นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าชุมนุมอยู่ในกรอบปกติของสังคมประชาธิปไตยก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าหากมีความรุนแรงหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม ก็จะเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งตนคิดว่าขณะนี้ทุกคนก็มีความวิตกกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ตัวเลขการส่งออกก็บ่งบอกชัดว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมันรุนแรงมาก ประชาชนก็จะเริ่มมีปัญหามากขึ้นในเรื่องเศรษฐกิจ จึงอยากให้ทุกฝ่ายให้โอกาสกับ บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้บนพื้นฐานของความเชื่อมั่น เมื่อถามว่าจะมีการเจรจากับทางแกนนำกลุ่มเสื้อแดงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ได้เจาะจงไปยังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่อยากให้ทุกกลุ่มให้โอกาสกับบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และรัฐบาลก็จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

อาจมีบางฝ่ายต้องการรุนแรง

ต่อข้อถามว่าทางการข่าวมีรายงานหรือไม่ ว่ามีความพยายามที่จะเคลื่อนไหวให้เกิด ความรุนแรง เพื่อให้ผู้นำต่างประเทศที่จะเดินทางมาร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทเกิดความวิตก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็อาจจะมีบางคนบางฝ่ายวางเป้าหมายไว้ แต่ตนเชื่อว่าไม่ใช่ความต้องการของคนส่วนใหญ่ ขณะนี้ทุกคนต้องการให้ทุกอย่างมีความเรียบร้อยประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่น เดินหน้าในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้คิดว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลได้ และขณะนี้ทุกประเทศก็ยังยืนยันที่จะเดินทางมาร่วมประชุม และตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปก็จะมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีตลอดทั้งสัปดาห์ อีกทั้งก็ได้มีการนัดพบปะแบบทวิภาคี ระหว่างตนกับประเทศผู้นำทุกประเทศที่ตนยัง ไม่ได้เดินทางไปเยือน หรือยังไม่มีโอกาสพบแบบทวิภาคี ก็ได้รับการยืนยันมาทั้งหมด เมื่อถามว่าแนวคิดที่จะจัดเวทีให้มีการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงจะต้องดูว่ามีการเคลื่อนไหวและการชุมนุมในลักษณะใดก็จะมีการบริหารจัดการให้เหมาะสม

“สาทิตย์” ยันจัดการทำตาม ก.ม.

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 24 ก.พ. นี้ ว่า เข้าใจว่าหลายฝ่ายคงวิตกกังวลกับการชุมนุม ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ประเมินสถานการณ์มาก่อนหน้านี้ว่า ในวันดังกล่าวจะมีประชาชนมาชุมนุมจำนวนมากพอสมควร ซึ่งรัฐบาลมีจุดยืนการชุมนุมถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าผู้ชุมนุมบุกรุกสถานที่ราชการก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และได้เตรียมในส่วนของตำรวจและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยพนักงานไว้เรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่าถ้าผู้ชุมนุมบุกเข้าทำเนียบจะเข้าจับกุมแกนนำทันทีหรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เจ้าหน้าที่มีขั้นตอนในการทำงาน โดยจะยึดถือ 2 หลัก คือ ยึดตามคำสั่งศาลปกครอง และ ยึดตามหลักสากล ทั้งนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านความมั่นคง ได้ประสานกับตนว่าจะขอพื้นที่สื่อให้ ผบช.น. ได้ชี้แจงขั้นตอนการทำงานของตำรวจถ้าจะต้องดำเนินการกับกลุ่มคนเสื้อแดงว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง โดยในวันนี้ตนจะประสานไปทาง บช.น.ว่าจะสามารถชี้แจงได้เมื่อไหร่ คาดว่าจะเป็นวันจันทร์ที่ 23 ก.พ. เบื้องต้นเนื้อหาจะเป็นกรอบความรับผิดชอบของตำรวจ และขั้นตอนการทำงานหากมีความจำเป็นที่ต้องจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีขั้นตอน วิธีใดบ้าง ซึ่งลำดับแรกคือต้องใช้การเจรจาก่อนทุกครั้ง

ใช้ เอ็นบีที เป็นแกนหลักชี้แจง

ผู้สื่อข่าวถามว่ารูปแบบการชี้แจงจะเป็นการแถลงข่าวเพียงอย่างเดียวหรือออกทีวีพูล นายสาทิตย์ กล่าวว่า ตรงจุดนี้จะให้มีการแถลงข่าวและเชิญสื่อร่วมรับฟังและซักถาม จากนั้นจะประสานไปทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ในการชี้แจงเป็นหลัก ซึ่งคงไม่ถึงขั้นทีวีพูล ขั้นต้นจะแถลงข่าวก่อนปฏิบัติงานว่ามีขั้นตอนอย่างไร ที่สำคัญคือการไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ใช้อาวุธหนัก ส่วนเหตุการณ์ต่อ ๆ ไปก็คงต้องพิจารณาไปตามขั้นตอน เมื่อถามว่าประเมินสถานการณ์ความรุนแรง และมือที่สามไว้หรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงได้ประเมินอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณความรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล อย่างไรก็ตามที่มีข่าวว่าคนเสื้อแดงหลายกลุ่มจะเดินทางไปชุมนุมบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่จัดประชุมอาเซียนซัมมิท เพื่อแสดงออกให้นานาชาติได้รับรู้ เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงต้องดูความเรียบร้อยอีกครั้ง

ต่อข้อถามว่าในส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงทางรัฐบาลได้พูดในประเด็นนี้หรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับการติดต่อจากคนเสื้อแดงจากการทวงถามข้อเรียกร้อง 4 ข้อ แต่ทางคนเสื้อแดงจะประสานมา ทาง นายสุเทพหรือไม่ตนยังไม่ทราบ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะให้มีการเจรจาพูดคุยกันมากที่สุด ถ้าฝ่ายเสื้อแดงต้องการเจรจาก็สามารถยื่น ข้อเสนอมาได้ตลอดเวลา

ผลสอบสลายม็อบไปดูเองได้

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบวันที่ 7 ตุลา 2551 ว่า เนื้อหารายงานฉบับนี้เป็นการดำเนินงานในสมัยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็น นายกรัฐมนตรี ดังนั้นข้อเท็จจริงและความเห็นต่าง ๆ จึงเป็นความเห็นของคณะกรรมการก่อนหน้าที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์จะเข้าไปดำเนินการ สรุปเป็นเอกสาร 3 กล่อง 11 แฟ้ม 2,289 แผ่น ซึ่งรายงานทั้งหมดจัดเก็บอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ชั้น 2 ตึกสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ประชาชน หรือผู้สนใจสามารถติดต่อขอดูข้อมูลดังกล่าวได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ยกเว้นข้อมูล 2 ส่วน คือเอกสารที่ระบุชื่อพยาน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยข้อมูล และเอกสารที่เป็นแผนปฏิบัติการของหน่วยราชการที่ตีตราลับมาก สำหรับผู้ไม่มาให้ปากคำ จาก 199 คนมีผู้มาให้ปากคำเพียง 72 คน รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 9 คนอาทิ 1.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี 2.นายชูศักดิ์ ศิรินิล 3.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ 4.นายชัย ชิดชอบ 5. นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ 6.นายวิทูร พุ่มหิรัญ 7.นางสุวิมล ภูมิสิงหราช และคนอื่น ๆ ส่วนข้าราชการประจำไม่พบว่า ผบ.ตร.ให้ปากคำ มีเพียง รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้น

ไม่มีข้อสรุปเป็นการให้ปากคำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการสรุปรายชื่อผู้สั่งการให้ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมหรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า มีการอ้างถึงว่าเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการขณะนั้น รวมทั้งพยานจากฝ่ายตำรวจเองก็ยืนยันว่าไม่มีการสั่งการจากฝ่ายการเมือง ตอนหนึ่งในเนื้อหามีพยานระบุว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมจะไปสอบสวนคงต้องไปสอบสวนบนพื้นฐานข้อเท็จจริง เพราะรายงานได้กล่าวไว้เพียงเท่านี้ ซึ่งพยานได้เล่ารายละเอียดไว้ชัดเจนว่าก่อนเกิดเหตุช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. ได้ชี้แจงลักษณะการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และการเตรียมยิงแก๊สน้ำตาของตำรวจ เรื่องนี้สามารถไปดูได้ในรายงาน

ต่อข้อถามว่าในรายงานได้ระบุถึงการเสียชีวิตของ พ.ต.ท.เมธา ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ ไว้หรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า มีการพูดถึงลักษณะ สภาพศพ สภาพรถที่ระเบิด เมื่อถามว่ามีการรายงานถึงผลการประชุมครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ต.ค. ไว้หรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ในคืนวันดังกล่าวได้มีการระบุไว้ชัดเจนว่า ในวันประชุมดังกล่าว ครม.มีแนวทางการ หารือออกมาเป็นอย่างไร และระบุชัดว่ามอบหมายใครเป็นผู้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้ให้ปากคำกับกรรมการสอบสวนและเนื้อหาสอดรับผลประชุม ครม. อย่างไรก็ตามมีการตั้งประเด็นเรื่องความรับผิดชอบของฝ่ายการเมือง และเจ้าหน้าที่ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในที่สุดจะไม่มีข้อสรุปเพราะเป็นเพียงการให้ปากคำของฝ่ายต่าง ๆ

“สุริยะใส” ไม่เชื่อถือผลสอบ

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวถึงผลการสอบสวนกรณีเหตุการณ์ 7 ตุลา โดยคณะกรรมการฯ ที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นคนแต่งตั้งและระบุว่าไม่สามารถเอาผิดใครได้นั้น ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าสามารถระบุคนผิดได้ นายสมชายก็คงไม่ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง จุดยืนของพันธมิตรฯ ไม่ยอมรับคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเข้าข่ายมีส่วนได้เสียเพราะผู้ลงนามคือนายสมชาย ถูกกล่าวหาว่าสั่งการให้มีการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ซึ่งผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ดังนั้นในช่วงที่มีการสอบสวนแกนนำพันธมิตรฯ จึงไม่ไปให้การกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพราะเท่ากับไปสร้างความชอบธรรมให้กับความไม่ชอบธรรม จึงไม่แปลกที่ในรายงานการสอบสวนเป็นการให้ข้อมูลจากตำรวจฝ่ายเดียว และกลุ่มบุคคลที่ไป ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการก็ไม่รู้ว่าจัดตั้งมาหรือเปล่า ซึ่งกรรมการสอบสวนหลายคนก็รู้ตัวดีอยู่แล้วว่าทำงานต่อไปไม่ได้ จึงสรุปรายงานการทำงานต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่รายงานสรุปผลการสอบสวนแต่อย่างใด

จวกตำรวจอย่าเลือกปฏิบัติ

นายสุริยะใส ยังตั้งข้อสังเกตถึงการเตรียม ออกหมายจับแกนนำพันธมิตรฯ อีก 21 คนว่า คงเป็นการออกหมายจับเพิ่มเติมจาก 9 แกนนำที่โดนข้อหากบฏก่อนหน้านี้ ซึ่งทางพันธมิตรฯก็จะยื่นเรื่องคัดค้านการออกหมายจับทันที เหมือนช่วงที่ 9 แกนนำโดนมาก่อนหน้านี้ และทำไมถึงไม่มีการออกหมายเรียกจู่ ๆ ก็จะออกหมายจับ ทั้ง ๆ ที่แกนนำหรือผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกดำเนินคดีในนามพันธมิตรฯ ไม่มีใครหลบหนีไปไหนเพราะเรายืนยันจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ทั้งนี้ตนค่อนข้างแปลกใจทำไมทางตำรวจให้ความสนใจกับคดีพันธมิตรฯฝ่ายเดียว ในขณะที่คดีที่เกี่ยวข้องกับแกนนำ นปช. และคนในเครือข่ายระบอบทักษิณไม่เห็นตำรวจรายงานให้ประชาชนทราบว่าถึงไหนแล้ว ทั้ง ๆ ที่หลายคดีเป็นคดีสำคัญร้ายแรงและก่อเหตุก่อนที่พันธมิตรฯ จะมาชุมนุมอีกด้วยซ้ำแต่กลับเงียบหายไป เช่น คดีบุกบ้านสี่เสาฯ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของแกนนำ นปช. หรือแม้แต่คดีที่คนของพันธมิตรฯ ถูกทำร้ายร่างกายในหลายจังหวัดและได้ไปแจ้งความไว้ตาม โรงพักต่าง ๆ กลับไม่มีความคืบหน้าเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่อย่าได้เลือกปฏิบัติ

“เทพไท” จี้ สตช.ประสานจีน

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกส่วนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทยจะเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เกาะฮ่องกงว่า ประเทศจีนมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายังประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่ของ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องประสานไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) และกระทรวงการต่างประเทศ แต่จากการสอบถามไปยัง สตช.พบว่า ยังไม่มีการดำเนินการขอตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทยเลย และขอเรียกร้องไปยังพ.ต.ท.ทักษิณ ว่าขอให้ยุติการอยู่เบื้องหลังของกลุ่มที่เคลื่อนไหว ทั้งนี้การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มาอยู่ที่เกาะฮ่องกงคงเป็นเพราะสามารถสื่อสารและไปมาหาสู่กับสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้สะดวก เพราะอยู่ใกล้กับประเทศไทย และขอให้กลุ่มเสื้อแดงเว้นวรรคความเคลื่อนไหวสักระยะ และใช้ดุลพินิจ เพราะหากเคลื่อนไหวในช่วงนี้ จะสร้างความเสียหายต่อประเทศ

ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ระบุว่ารัฐบาลไม่กล้าเปิดเผยผลสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เพราะผลสอบพบมีสารซีโฟร์อยู่ในศพ น.ส.อังคนา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้อง โบว์ว่า ขอประณามความพยายามบิดเบือนข้อมูลเพื่อใส่ร้าย นายณัฐวุฒิ ควรระอายใจแก่ญาติและผู้เสียชีวิต เพราะที่ผ่านมามีรองโฆษก สตช.เคย ออกมาระบุว่าน้องโบว์หนีบระเบิดที่พกมา ทำให้ระเบิดใส่ตัว และได้ออกมาขอขมาญาติของน้องโบว์ไปแล้ว ดังนั้น นายณัฐวุฒิ ควรสำนึกและควรเยียวยาแก้ไขการกระทำของตัวเองด้วย

ตำรวจ-ทหาร ประชุมรับมือ

เมื่อเวลา 14.30 น. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ท. วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.คนใหม่ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ควบคุมสั่งการดูแลความสงบเรียบร้อยรักษาความปลอดภัยการชุมนุม เรียกประชุมนายตำรวจระดับ รอง ผบช.น. ผู้บังคับการตำรวจนครบาล (ผบก.น.1-9) ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) ผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ (ผบก.ตปพ.) วางแนวทางปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ชี้แจงทำความเข้าใจแผนปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมประเมินสถานการณ์การเคลื่อนไหวกลุ่ม นปช.ร่วมกับผู้แทนจากกองทัพ แม่ทัพภาคที่ 1 ตัวแทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตัวแทนจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ปลัด กทม.พร้อมคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงเข้าแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร อย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่นมี อดีต ผบช.น.และ ผบช.น.คนใหม่ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานคู่กัน

พล.ต.ท.สุชาติ กล่าวว่า ตำรวจมีมาตรการ ดำเนินการอยู่แล้ว และพร้อมปฏิบัติดูแลความสงบเรียบร้อยผู้ชุมนุมตลอดเวลา โดยเชิญ พล.ต.ท.วรพงษ์ ผบช.น. คนใหม่เข้ารับฟังแผนปฏิบัติด้วย เพื่อให้สามารถสานต่องานได้ในทันที เพราะการดูแลผู้ชุมนุมนั้น เป็นภารกิจสำคัญของตำรวจนครบาล ซึ่งในทางปฏิบัติตำรวจยังคงยืนยันไม่ใช้ความรุนแรง เน้นการเจรจา ดำเนินการไปตามขั้นตอนหลักสากล ส่วนการเปลี่ยน ผบช.น.นั้นไม่มีผลต่อการทำงาน เพราะผู้ปฏิบัติเข้าใจแผนงานอยู่แล้ว และตามมารยาทคงต้องเป็นหน้าที่ของ ผบช.น.คนใหม่ที่จะให้ข่าวต่อไป แต่หากผู้บังคับบัญชาระดับสูงเห็นควรให้ตนเองมาช่วยดูแลม็อบเสื้อแดงก็ยินดี

“อำนวย” ยื่นอุทธรณ์ฟ้อง ป.ป.ช.

ที่งานอุทธรณ์-ฎีกา ศาลอาญา พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. มอบอำนาจให้ นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความ ยื่น อุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลอาญารับฟ้องคดีไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้อง ในคดีที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะรวม 9 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีมีมติแต่งตั้ง นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.และโจทก์ ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ สั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 ทั้งที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลอาญา มีคำพิพากษายกคำฟ้องไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

ศาลอาญารับคำฟ้องไว้พิจารณา เพื่อมีคำสั่งต่อไป.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker