บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วิกฤติสุขภาพไทย คลี่ปมปัญหาคนแก่

ที่มา ไทยรัฐ

โรคหมอนรองกระดูก เป็นความกังวลใจสำคัญของผู้ใส่ใจสุขภาพยุคใหม่...มีผลการสืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมากกว่า 50,000 แห่ง

เว็บบล็อก http://blog.eduzones.com/wanwan เริ่มสร้างบล็อกวันที่ 12 ธ.ค. 2551 มีเรื่องทั้งหมด 500 จำนวนผู้ชม 46,616 โพสต์ เรื่อง หมอนรองกระดูก ภัยเงียบ!!คุกคามคนออฟฟิศ เอาไว้ว่า....

สาเหตุสำคัญ เกิดจากการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ยกของหนัก เล่นกีฬาผิดท่าหรือรุนแรง ก่อให้เกิดอาการปวดคอ ปวดหลังเรื้อรัง ปวดร้าวชาลงแขนหรือขา ไปจนถึงกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง

เหล่านี้...ล้วนเป็นสัญญาณร้ายของภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

โรคภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไขสันหลัง ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน หรืออาจถึงขั้นพิการได้...วัยเสี่ยงอยู่ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป

นพ.ธีรศักดิ์ พื้นงาม หัวหน้าศูนย์ระบบประสาทไขสันหลัง เครือโรงพยาบาลพญาไทบอก

คุณหมอธีรศักดิ์บอกว่า ผู้ป่วยที่มีอาการ แพทย์จะตรวจละเอียดด้วยเครื่อง MRI Spine หรือเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจหาความผิดปกติของหมอนรองกระดูก เพื่อวางแผนรักษาโดยไม่เปิดแผลผ่าตัด

โรคหมอนรองกระดูก แม้ว่าจะทำการรักษาแล้ว แต่มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก...การป้องกันจึงเป็นข้อเตือนใจที่สำคัญ นับตั้งแต่การจัดท่านั่งทำงาน หรือกิจวัตรประจำวันให้ถูกต้อง

ข้อมูลในเว็บบล็อกแนะว่า...พยายามให้แนวกระดูกสันหลังอยู่ ในแนวตรงเสมอ หลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อหลังมากๆ หมั่น บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงไว้เสมอ

คนวัยทำงานควรนั่งหลังตรงชิดเก้าอี้ ขาวางติดพื้น แป้นพิมพ์และเม้าส์คอมพิวเตอร์ควรอยู่ในระนาบเดียวกัน ทำมุม 45 องศากับจอคอมพิวเตอร์ สลับกับการปรับเปลี่ยนท่านั่ง หรือมีการเคลื่อนไหวทุกๆ 1 ชั่วโมง

โรคหมอนรองกระดูกเป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆสำหรับข้อกังวลเรื่องสุขภาพ...ภาพใหญ่วิกฤติสุขภาพคนไทยยังมีหลายปัจจัยที่น่าเป็นห่วง

งานประชุมวิชาการ เนื่องในวันสถาปนาศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง วิกฤติของชาติ : ประเทศไทยจะไปทางใด?” ศ.นพ.สุทธิชัย จิตะพันธ์กุล บอกว่า การขยายตัวของความเจ็บป่วย เป็นภาพสะท้อนที่จะชี้ให้เห็นว่าคนไทยเจ็บป่วยมากขึ้น...พิการมากขึ้น

สะท้อนถึงปลายทาง...ความไม่ประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาระบบสุขภาพ และการสาธารณสุขของประเทศไทย

ผลการเก็บข้อมูลวิจัยกว่า 10 ปี พบว่า ประเทศไทยมีการขยายตัวของความเจ็บป่วยมาก โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง

ตั้งแต่ปี 2541 คนไทยทั้งผู้ชาย..ผู้หญิง เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอายุ

ปี 2541-2547 คนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ...ยกเว้นในปี 2549 ลดลงอันอาจเป็นผลจากการรักษาที่ช่วยลดการเสียชีวิต

ผลสำรวจผู้สูงอายุ...มีความพึ่งพาหลากหลายด้านมากขึ้นทั้งผู้ชาย ผู้หญิง นับตั้งแต่การกินอาหาร สวมใส่เสื้อผ้า อาบน้ำ

พบด้วยว่า ความชุกของการพึ่งพาของผู้สูงอายุในแต่ละภาคมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สูงที่สุดในเขตกรุงเทพมหานคร ปานกลางในภาคกลาง และภาคใต้

ต่ำที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ลดหลั่นกันไปตามความเจริญทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้หัวข้อ สังคมผู้สูงอายุ : เราจะเตรียมรับมือกันอย่างไร? ในแง่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า ประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.48 ล้านคนในปี 2551...เป็น 70.65 ล้านคนในปี 2568 และจะค่อยๆลดลง เป็น 70.63 ล้านคนในปี 2573

จำนวนประชากรวัยเด็ก ช่วงอายุ 0-14 ปี จะลดลงอย่างสม่ำเสมอจาก 15.95 ล้านคนในปี 2533...เหลือเพียง 9.54 ล้านคนในปี 2573

คิดเป็นสัดส่วน...ลดจากร้อยละ 29.23 เหลือเพียงร้อยละ 13.50

ประชากรวัยทำงาน ช่วงอายุ 15-59 ปี จะเพิ่มจาก 34.59 ล้านคนในปี 2533 เป็น 46.34 ล้านคนในปี 2560...จากนั้นจะลดลงเป็นลำดับ เหลือ 43.35 ล้านคนในปี 2573

คิดเป็นสัดส่วน เพิ่มจากร้อยละ 63.40 เป็นร้อยละ 67.67 แล้วลดลงเป็นร้อยละ 61.38

ประชากรวัยสูงอายุ...อายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 4.02 ล้านคนในปี 2533 เป็น 17.74 ล้านคนในปี 2573 คิดเป็นสัดส่วนจะเพิ่มจากร้อยละ 7.36 เป็นร้อยละ 25.12

สะท้อนตามนิยามสังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2547 เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 เป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ในปี 2567

หรืออีก 15 ปีข้างหน้า...เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน มากกว่าร้อยละ 20

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้ ทำให้อัตราส่วนภาระพึ่งพิงหรือภาระโดยรวมที่ประชากรวัยทำงานจะต้องเลี้ยงดูประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น

จากการสำรวจประชากรสูงอายุโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 71.4 อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล...อีกร้อยละ 28.6 อยู่ในเขตเทศบาล

ร้อยละ 62.5 เป็นผู้ที่สมรส ร้อยละ 34.8 เป็นม่าย หย่าหรือแยกกันอยู่ และอีกร้อยละ 2.7 เป็นโสด

ด้านการศึกษา...ผู้สูงอายุส่วนใหญ่คือร้อยละ 68.9 เรียนจบชั้นประถมศึกษา มีเพียงร้อยละ 9.5 ที่เรียนจบสูงกว่าระดับประถมศึกษา อีกร้อยละ 21.6 ไม่เคยเรียนหนังสือ หรือจบต่ำกว่าชั้นประถมศึกษา

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุ 3 ใน 4 คน หรือร้อยละ 76.1 สามารถอ่านออกเขียนได้

ด้านสุขภาพ กลุ่มโรคที่ผู้สูงอายุป่วยมาก 3 อันดับแรก คือ กลุ่มโรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ...กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ...กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด

ส่วนสาเหตุการตายของผู้สูงอายุที่สำคัญ คือ โรคมะเร็งทุกชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มพิการมากขึ้น จากร้อยละ 5.8 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 15.3 ในปี 2550 โดยความพิการที่พบมาก คือ สายตาเลือนรางทั้งสองข้าง หูตึงสองข้าง และอัมพฤกษ์

ศ.นพ.สุทธิชัย จิตะพันธ์กุล เสนอข้อแนะนำต่อหน่วยงานสุขภาพภาครัฐว่า ควรเร่งดำเนินการจัดสรรงบและทรัพยากรอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพคนไทยที่เลวลง พัฒนาให้เกิดการหดตัวของการเจ็บป่วยขึ้นแทนที่

จัดตั้งศูนย์แห่งชาติด้านวิจัย สนับสนุนนโยบายปัญหาการขยายตัวของความเจ็บป่วย ระดับชาติ เพื่อติดตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง แก้วิกฤติที่เกิดขึ้น

วันนี้...ชีวิตคนไทยอยู่นานขึ้น แต่สุขภาพแย่ จำเป็นต้องมีคนดูแล ผู้สูงอายุคือเหตุตอนปลาย ที่มีผลมาจากการใช้ชีวิตในตอนต้น

คุณหมอสุทธิชัย กล่าวทิ้งท้าย.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker