ที่มา ไทยรัฐ
เสียงปรบมือดังเกรียวกราว ลั่นห้องประชุมพรรคเพื่อไทย
ส่งเสียงเชียร์ให้ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
เป้าหมายหลัก คือ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ
แน่นอน การจุดพลุตั้งลำเตรียมยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้
สร้างความคึกคักให้กับวงการเมืองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพลพรรคฝ่ายค้าน
ยิ่งหัวหอกในการทำศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศว่า
มีข้อมูลทีเด็ด เจ๋งกว่าเรื่อง สปก.4-01 ที่จะนำมาโค่นรัฐบาล โดยกำหนดเองเสร็จสรรพวันที่ 11 มีนาคม ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
รวมทั้งจะยื่นเรื่องถอดถอนนายอภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โหมโรงให้เห็นว่า ข้อกล่าวหาหนักหน่วง
แม้ในตอนแรก มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนออกมาปฏิเสธว่า เรื่องการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นเพียงการเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม เท่านั้น ยังไม่ใช่มติพรรค
ทำให้ดูเหมือนว่า ฝ่ายค้านเกิดอาการแกว่ง
แต่ล่าสุด แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล พล.ต.ศรชัย มนตริวัต ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ได้ตั้งวงหารือเรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
โดยได้ข้อสรุปว่า จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 11 มีนาคมนี้ โดยจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมพรรคเพื่อไทยในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เพื่อขอมติจากที่ประชุมอีกครั้ง
สรุปก็คือ ฝ่ายค้านจะต้องเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องดำเนินการในสมัยประชุมสภาฯสมัยสามัญทั่วไป ที่มีห้วงเวลา 4 เดือน
ที่ผ่านๆมาฝ่ายค้านเกือบทุกยุคทุกสมัยมักจะใช้จังหวะเวลาในช่วงท้ายของสมัยประชุมสภาฯ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเล่นงานรัฐบาล
เนื่องจากต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลและปัญหาทุจริตคอรัปชันที่เกิดขึ้นจากการบริหารราชการแผ่นดิน
หลักฐานยิ่งแน่น ฝ่ายค้านยิ่งได้เปรียบ
แต่สำหรับรัฐบาลชุดนี้ ถือว่าไม่ได้เข้ามาตามปกติ เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง
แต่เป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการพลิกขั้วการเมือง
อาการฝังแค้นของฝ่ายค้าน ที่โดนพลิกขั้วให้หลุดจากอำนาจ ก็มีส่วนสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเร็วขึ้น
ที่สำคัญ ไม่ได้มีบทบัญญัติใดๆกำหนดกรอบว่าจะต้องให้เวลารัฐบาลบริหารประเทศไปก่อน 3 เดือน 6 เดือน ถึงจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้
ทั้งนี้ โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 158 กำหนดแค่ว่า
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทน
ราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้วจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้
นอกจากนี้ การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะต้องยื่นเรื่องถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย
โดยในการลงมติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ในขณะที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในหกของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
ทั้งนี้ การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องดำเนินการในสมัยประชุมสามัญทั่วไป เพราะในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติจะเป็นการพิจารณาเฉพาะร่างกฎหมาย
ชัดเจน จากเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่จะเข้าชื่อกันตามจำนวนที่กำหนด เพื่อขอเปิดอภิปราย
ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ได้ตลอดห้วงเวลาในสมัยประชุมสามัญทั่วไป
เร็วหรือช้า ไม่มีข้อห้าม ถ้ามีเสียง ส.ส.ตามเกณฑ์ ยื่นเชือดได้เลย
เหนืออื่นใด ถ้ามีเหตุหรือมีข้อมูลหลักฐานว่ารัฐบาลบริหารราชการทำให้ประเทศชาติเสียหาย รัฐมนตรีประพฤติ
ผิดจริยธรรม มีการทุจริตคอรัปชัน
ฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจทันที ปล่อยให้ช้าไปวันเดียวก็ไม่ได้ เพราะอาจเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ
ถ้าฝ่ายค้านไม่ดำเนินการ ก็เท่ากับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
“ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” เห็นด้วยกับการที่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย จะเดินเครื่องตรวจสอบรัฐบาล ด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เพราะคนที่เข้ามาใช้กลไกอำนาจรัฐและงบประมาณแผ่นดินในการบริหารประเทศ ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และต้องพร้อมที่จะให้ทุกฝ่ายตรวจสอบได้
ทั้งนี้ จากการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านในการเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในครั้งนี้
ก็พอเดาทางกันได้ว่าต้องมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นร้อนๆตามที่ตีปี๊บโหมโรงเอาไว้
ไล่ตั้งแต่ประเด็นที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ บริจาคเงิน 250 ล้านบาท ผ่านบริษัทโฆษณาให้กับพรรคประชาธิปัตย์
ประเด็นการแจกปลากระป๋องเน่าให้ผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดพัทลุง
งานนี้ แม้นายวิฑูรย์ นามบุตร ได้แสดงความรับผิดชอบ ลาออกจากตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมฯไปแล้ว แต่
การตรวจสอบต้นตอยังไม่มีความชัดเจน
ประเด็นที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย แจกเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ พร้อมแจกนามบัตร
ประเด็นเรื่องกองทัพใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการสลายกำลังมวลชนคนเสื้อแดง
ประเด็นการเลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีกับกลุ่มม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บุกยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
รวมไปถึงประเด็นเรื่องความเหมาะสมของบุคคลที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรี
อาทิ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์
เข้าข่าย “ตัวล่อเป้า” ที่ฝ่ายค้านพยายามตามจิกมาตลอด
ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปม เป็นประเด็น ที่จะนำมาอภิปรายถล่มรัฐบาลได้ทั้งสิ้น
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ถูกอภิปรายจะสามารถชี้แจงได้เคลียร์
มากน้อยแค่ไหน
แน่นอน การที่ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลด้วยญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือเป็นการต่อสู้กันในระบบรัฐสภา ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ
ฝ่ายค้านมีสิทธิตั้งข้อกล่าวหา รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชี้แจง และสุดท้ายตัดสินกันด้วยเสียงข้างมากในสภาฯ
เป็นไปตามหลักสากลของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
ดีกว่าไปเล่นเกมตีรวนกันนอกสภา
อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีต หลาย
ยุคหลายสมัยที่ผ่านๆมา ก็มีร่องรอยให้เห็นเหมือนกันว่า
มีการนำเอาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง
ทั้งในลักษณะที่มีคนในซีกฝ่ายค้าน พยายามออกมาตีปี๊บแพลมข้อมูลจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนนั้นคนนี้
แล้วฉวยโอกาสแอบไปเจรจาต่อรองผลประโยชน์ต่างๆนานา สุดท้ายพอถึงตอนยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจริงๆ
รายชื่อรัฐมนตรีคนดังกล่าวก็หลุดโผเชือดไปเฉยๆ
หรือบางครั้งมีชื่อติดโผเชือดจริง แต่ข้อมูลที่นำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คุยนักคุยหนาว่าเป็นข้อมูลเด็ด
กลับกลายเป็นข้อมูลเก่าๆ ที่เคยลงตามหน้าหนังสือพิมพ์
ส่งผลให้การอภิปราย กร่อยไปถนัดตา
นอกจากนี้ คนในซีกพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ก็ยังเอาการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองเช่นกัน
มีทั้งประเภทฉวยโอกาสทุบตู้เอทีเอ็ม ขอค่ายกมือสนับสนุนจากรัฐมนตรี
และประเภทแทงข้างหลังเพื่อน ส่งข้อมูลให้ฝ่ายค้านถล่มรัฐมนตรีที่เป็นเป้าหมายหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วตัวเองจะได้เข้าเสียบแทน
เรื่องแบบนี้ ในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
มาถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ที่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ประกาศจองกฐินเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์
จะเป็นการพิสูจน์ว่า การเมืองไทยมีการพัฒนาไปมากน้อยแค่ไหน
การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้น จะเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้น เพื่อผลประโยชน์
ของประเทศชาติโดยรวม
หรือเป็นแค่เกมแฝงผลประโยชน์ของนักการเมือง
สังคมต้องช่วยกันจับตา.
ทีมการเมือง