โดย นพ
26 กันยายน 2554
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 เวลา 12.00 น. บริเวณลานลั่นทม หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มศิลปินอิสระ นำโดยนายมิตร ใจอินทร์ และศิลปินอีก 6 คน ร่วมกัน “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
มิตร ใจอินทร์และกลุ่มศิลปินร่วมกันถ่ายภาพในช่วงเริ่มกิจกรรม
ใน ช่วงระหว่าง 4 วันเศษของการอดอาหารนั้น นายมิตรกล่าวว่าจะใช้เป็นช่วงเวลาเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มศิลปินและผู้คนที่ แวะมาเยี่ยมเยียน ทั้งในปัญหาเรื่องมาตรา 112 ปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหาของการเมืองไทย โดยกิจกรรมอดอาหารจะสิ้นสุดลงในเวลา 4.00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 2554 และในเวลาสิ้นสุดกิจกรรมดังกล่าว กลุ่มศิลปินผู้จัดกิจกรรมจะร่วมกันออกคำประกาศในเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
นายมิตรกล่าวถึงกิจกรรมของตนเองว่าทำในฐานะของงาน ศิลปะและการแสดงออกเชิงวัฒนธรรม โดยลักษณะของการจัดกิจกรรมเป็นการเปิดประเด็นทำให้กลุ่มศิลปินและผู้ที่สนใจ สามารถมาช่วยกันระดมความเห็น และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยในการอดอาหารไม่ได้มีข้อเรียกร้องซึ่งมีเส้นตายกำหนดไว้ หรือมีป้ายรณรงค์ประท้วงในแบบการเรียกร้องทางการเมือง หากกิจกรรมนี้เพียงแต่ต้องการเปิดประเด็น สร้างพื้นที่ที่ทำให้คนมีโอกาสได้นั่งคุยและศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน
มิตร เห็นว่างานศิลปะสำหรับเขาไม่ใช่ก้อนปิดๆ ก้อนหนึ่งซึ่งจัดแสดงอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ศิลปะอยู่ในสังคม และประสบการณ์ของสังคม ซึ่งทั้งศิลปะและสังคมควรจะไหลไปด้วยกัน อีกทั้งงานศิลปะร่วมสมัยจำนวนมากในเมืองไทยยังถูกครอบงำอย่างหนัก ทั้งที่ศิลปินถือได้ว่าเป็นเสรีชน และการวิพากษ์วิจารณ์ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเสรีทางศิลปะด้วย การทดลองอดอาหารซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งที่คนรู้อยู่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความสนใจและจุดประเด็นทางสังคมขึ้นมาได้
นาย มิตรกล่าวว่าในส่วนตัวนั้น เขาเห็นด้วยให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่อิหลักอิเหลื่ออยู่ในการเมืองไทย และประชาชนจำนวนมากเริ่มเห็นปัญหา อีกทั้งกฎหมายมาตรานี้ในทางปฏิบัติก็มีปัญหาเพราะมีถูกใช้ฟ้องร้องกันไปมา ไม่จบสิ้น โดยเขายังไม่มีข้อเสนอในทางปฏิบัติหรือในทางวิชาการ แต่เห็นด้วยกับแนวทางข้อเสนอทางวิชาการของนิติราษฎร์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
มิตร ใจอินทร์
โดยความตอนหนึ่ง ในคำประกาศของหัวข้อในปีนี้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานไว้ว่า “การเปิดโอกาสในการแสดงออกถึงความจริงอันแตกต่างหลากหลาย และการแยกแยะให้เห็นถึงความลักลั่น ขัดแย้ง บิดเบือน ในมิติต่างๆ ทะลุกรอบ กับดักต่างๆ คลี่คลาย ถอดชั้น ถึงสาเหตุและเงื่อนไขของปัญหา จะช่วยเปิดพื้นที่ของการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงคนกลุ่มเดิม แต่หมายถึงการยอมรับมนุษย์กลุ่มอื่นๆ ที่ล่องหนเป็นปีศาจ หรือถูกกดขี่ ให้ได้รับโอกาสมีชีวิตในฐานะมนุษย์ ที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียม และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าร่วมกันได้”
ทั้งนี้นายมิตร ใจอินทร์ ปัจจุบันอายุ 51 ปี เป็นศิลปินอิสระในสาขาทัศนศิลป์ และเคยศึกษาที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ไม่จบการศึกษา มิตรเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกิจกรรมเชียงใหม่จัดวางสังคมมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งสนใจศิลปะในมิติที่สัมพันธ์กับปัญหาในสังคม และต่อมาศิลปินในเชียงใหม่ได้พัฒนากิจกรรมมาเป็น madiFESTO ที่จัดต่อเนื่องมาในปัจจุบัน
ตารางกิจกรรมในงาน madiFESTO 2011