เห็นคุณสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ, อ.กิตติศักดิ์ ปรกติ และ อ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียงหน้าออกมาโต้นิติราษฎร์แล้ว ก็รู้สึกครั่นคร้ามอยู่ไม่น้อย อะโห แต่ละท่านมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมีวิชามีสถาบัน ผมมันเรียนไม่จบปริญญา อย่าว่าแต่ไม่จบนิติศาสตร์ ปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 ยังไม่จบกะเขาเลย จะแสดงความเห็นดีหรือเปล่าหนอ
แต่ก็พอดี๊มี อ.พนัส ทัศนียานนท์, คุณกฤติกร วงศ์สว่างพานิช และคุณพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล จัดให้คนละดอก ผมก็เลยโล่งอก ขอเป็นผู้ตาม แบบไม่ต้องตอกย้ำประเด็นกฎหมายมากนัก เอาประเด็นแบบบ้านๆ ก็แล้วกัน
สำหรับ อ.พนัสเนี่ยยกให้เลย นอกจากเป็นอดีตคณบดีนิติ มธ. สมัยเป็น สว.เลือกตั้ง ท่านยังเป็นคู่ซี้ อ.แก้วสรร วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ แต่ท่านมีหลักมีเกณฑ์ ยึดมั่นประชาธิปไตย เป็นผู้ใหญ่ที่ควรคารวะ (อ.แก้วสรรคงไม่ว่าท่านรับจ๊อบ)
แต่คุณกฤติกรบอกเองว่าไม่ใช่นักกฎหมาย ส่วนคุณพุฒิพงศ์ ยังเป็นนักศึกษากฎหมาย ถามไปถามมาได้ยินว่ายังเรียนปี 4
คริคริ เด็กสมัยนี้สุดยอดเลย ถ้าไม่บอกเป็นนักศึกษาผมคงเรียก อ.พุฒิพงศ์ไปแล้ว นิติราษฎร์ยังไม่ต้องโต้ซักคำ เอ้า สมคิด-กิตติศักดิ์กดคำตอบแข่งเด็กปี 4 หน่อย....กริ๊ง
รอฟังอยู่นะครับ รอฟัง ท่านอธิการบดีเขียนอะไรอีกหน่อย อย่าปล่อยให้ผมเชื่อ อ.พุฒิพงศ์มากกว่า
หน้าหอรัฐประหาร
ในบรรดาท่านที่เอ่ยนาม คุณสักน่าสงสารที่สุด เพราะไม่ยักมีใครโต้แกเลย ทั้งที่อุตส่าห์แถลงในนามนายกสภาทนายความ (อ้าว เหรอ นึกว่าแกโต้ในนามอดีต คตส.) ซึ่งน่าจะตีความแบบบ้านๆ ได้ว่า สภาทนายความที่มีสมาชิก 5 หมื่นคน การันตีคำแถลงคุณสัก ไม่ใช่แค่ความเห็นของแกคนเดียว แต่ทนายทั้งประเทศร่วมหัวจมน้ำด้วย
ส่วนตัวผมชอบคุณสัก เคยสัมภาษณ์แก 2 ครั้ง (มั้ง) แถมตอนเป็น คตส.แกยังจัดงานราตรีใบตองแห้ง โดยบอกว่าสาเหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะอ่านเจอคอลัมน์ว่ายทวนน้ำในไทยโพสต์ นั่นแปลว่าแกก็อ่านที่ผมเขียนอยู่เหมือนกัน และเท่าที่ติดตามบทบาทมาตลอด ผมเชื่อว่าแกเป็นพวกปากกับใจไม่ตรงกัน อ้าว! ไม่ใช่ด่า คือพวกที่สนับสนุนและร่วมมือกับรัฐประหารมีจำนวนไม่น้อย ที่ใจจริงรักประชาธิปไตย แต่เลือกข้างไปแล้ว ก็จำเป็นต้องตะแบง ปากอย่างใจอย่าง
ฉะนั้นด้วยความสงสารคุณสัก ผมก็ต้องเริ่มด้วยการแสดงความเห็นใจแกซักหน่อย ว่าสาเหตุประการสำคัญที่ไม่มีใครเขาโต้คุณสัก เพราะแกซื่อมาก ไม่เนียนเหมือนคนอื่นๆ
แค่ลงท้ายว่า “การโกงบ้านโกงเมืองนั้นเลวร้ายยิ่งกว่ารัฐประหาร ที่มุ่งทำลายความเลวของนักการเมืองบางคน และกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ที่ประชาชนให้การรับรอง”
แค่นั้นคุณสักก็พาสภาทนายความที่มีสมาชิก 5 หมื่นคนลงน้ำไปเรียบร้อยแล้ว มิพักต้องไปโต้แย้งอะไรมาก
คนอื่นๆ ที่ตอบโต้เขายังเนียนกว่าคุณสัก คือไม่กล้ายอมรับตรงๆ ว่าสนับสนุนรัฐประหาร (มุ่งทำลายความเลวของนักการเมืองบางคน แต่ล้มล้างอำนาจอธิปไตยของปวงชนเนี่ยนะ) เขาเลี่ยงฮุ้นไปโต้ประเด็นอื่น เช่นคำพิพากษาลบล้างไม่ได้ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ตั้งโดย คมช.ฯลฯ เขาไม่ “ซื่อ” เหมือนคุณสักหรอก
ร้ายกว่านั้น คุณสักยังลงท้ายให้ประชาชนติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มนิติราษฎร์ พูดยังกะนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ตอนต้นคุณสักบอกว่าจะ “แสดงความเห็นทางกฎหมาย”
“ความเห็นทางกฎหมาย” ของคุณสักตั้งแต่ข้อ 1-7 ผมอ่านแล้วเหนื่อยใจ นี่ถ้าผมโดนคดีอะไรซักอย่าง คงไม่กล้าขอคุณสักเป็นทนาย เพราะคุณสักตีความไม่แตก แย้งไม่ตรงประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (แกล้ง?) ไม่เข้าใจว่านิติราษฎร์เสนอให้ “เสียเปล่า” เฉพาะประกาศ คปค.ตั้งแต่วันที่ 19-30 ก.ย.2549 และรัฐธรรมนูญ 2549 มาตรา 36,37 คุณสักกลับไปพูดเหมือนไม่ใช่นักกฎหมายว่ารัฐบาล รัฐสภาปัจจุบัน ต่างมีที่มาจากกระบวนการที่ต่อเนื่องจากรัฐประหารทั้งสิ้นไม่ควรให้สิ้นผล
คุณสักสอบตกทั้งสำนวนภาษาและการจับประเด็น เพราะข้อ 1 ขึ้นต้นมาบอกว่า “สภา ทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดย ชอบธรรม เนื่องจากเป็นการทำให้ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องสะดุดและต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดมาถึง 17 ครั้ง” แต่ต่อมาก็บอกว่า “การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกัน” (อะไรคือเช่นเดียวกัน) จากนั้นก็บอกว่า “สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้นได้ใช้อำนาจ เงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารและอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน และองค์กรอิสระ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร”
ตกลงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เนื้อความขัดแย้งกันเอง (กระทั่งมาชัดเจนในข้อ 7)
ข้อ 1 บอกว่ารัฐประหารทำให้ประชาธิปไตยต้องสะดุดถึง 17 ครั้ง แต่พอข้อ 6 คุณสักกลับบอกว่า
“ระบบการเมืองในประเทศไทยที่สถาบัน พระมหากษัตริย์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยโดยมิได้มีการ เสียเลือดเนื้อและไม่เคยมีการทำร้ายเข่นฆ่ากันแต่อย่างใด เพียงแต่มีนักการเมืองบางคนที่สืบทอดเจตนารมณ์ทางการเมืองในระบอบ ประชาธิปไตยนั้น ทุจริตคิดมิชอบต่อทรัพย์สินของรัฐอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุให้มีการรัฐประหารช่วงชิงอำนาจกันตลอดมา”
แปลว่าอะไร แปลว่าคุณสักไม่ใช่แค่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 2549 แต่เห็นว่ารัฐประหาร 17 ครั้งจำเป็น เพราะนักการเมือง(บางคน)ทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างนั้นหรือ
ข้อเดียวกันคุณสักยังต่อท้ายว่า “พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยได้ต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างยากลำบาก จนสามารถก่อตั้งประเทศขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เสียดินแดนเพื่อเสริมสร้างอิสรภาพเพื่อให้ทุกคนได้อยู่อย่างร่มเย็นเช่น ทุกวันนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดตลอดมา”
มึนตึ้บ ผมไม่เข้าใจ คุณสักเอามาต่อท้ายข้อนี้ทำไม เนื้อความไม่เกี่ยวกันเลยกับเรื่องรัฐประหาร-ประชาธิปไตย ถ้าจะเอาไปต่อท้ายข้อ 3 ที่คุณสักคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 ยังพอเข้าใจได้
เอ๊ะ หรือว่าคุณสักจะอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาสนับสนุนรัฐประหาร หรืออ้างว่ารัฐประหารทำเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็อ้างอย่างก้ำๆ กึ่งๆ ยังไงไม่รู้ ไม่เข้าใจตุ้ม
ผมยังงงอยู่ว่าคุณสักแกเขียนเองหรือใช้ทนายฝึกหัดตัดแปะ แต่สรุปได้ว่าคำแถลงนี้นอกจากเลอะเทอะทางความคิดอุดมการณ์แล้ว ยังสอบตกเรื่องการทำสำนวน การใช้ภาษา การเรียงลำดับ สับสนไปมา
บอกแล้วว่าถ้าผมโดนคดีคงไม่กล้าขอสภาทนายความ ฉะนั้น ฝากเตือน คปค.ด้วย ถ้าถูกลากคอขึ้นศาล อย่าเอาสภาทนายความแก้ต่างให้เชียว มีหวังติดคุกหัวโต
ย้อนกลับไปที่ข้อ 2 ความจริงข้อนี้ข้อเดียวคุณสักก็จบเห่แล้ว เพราะเป็นการ defend คตส.โดยนายกสภาทนายความ รอบหน้าท่านคงไปแถลงในฐานะ ส.ว.ลากตั้ง ภาษากฎหมายเขาเรียกว่าท่านเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ถ้าจะตอบโต้ก็ควรประชุมอดีต คตส.แล้วให้คุณหญิงจารุวรรณนั่งหัวโต๊ะตอบโต้ไปเลย ไม่มีใครเขาว่าหรอก
ยังดีกว่าแอบไปใช้องค์กรโน้นองค์กรนี้
คำแถลงข้อ 3 ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะกระแสปัจจุบัน แม้แต่ คอป.ก็ยังเห็นว่ามาตรา 112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ (ไม่อยากอ้างวิกิลีกส์ ที่ว่าในหลวงทรงเตือนอภิสิทธิ์เรื่องการใช้ ม.112) แต่สภาทนายความกลับแสดงความเห็นสุดโข่งล้านปีแสง เหมือน ผบ.ทบ.กับพวกสลิ่มในเว็บบอร์ดเสรีไทย
คือถ้าท่านเป็นสมาคมฌาปนกิจอะไรซักอย่าง จะแถลงอย่างนี้ก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าลืมว่า “สภาทนายความพึงเป็นสถาบันของสังคมในการส่งเสริมการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย สภาทนายความเป็นแถวหน้าของผู้เรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจนิยมและผลักดันให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” อย่างที่พวกทนายเด็กๆ เข้าชื่อถอนหงอกเขาพูดไว้ หรือสภาทนายความจะเห็นว่าการดำเนินคดีแบบใครก็แจ้งความได้ ใครเป็นผู้ต้องหาไม่มีสิทธิประกัน ขังลืมไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน มีโทษหนักเกินสมควรแก่เหตุ และปิดกั้นสิทธิประชาธิปไตยในการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เป็นกฎหมายที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว
แต่อย่างว่า สภาทนายที่ควรส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นอย่างนี้มา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียกร้อง ม.7 และเข้าไปร่วมมือกับรัฐประหาร จะเป็นเดชอุดม ไกรฤทธิ์, สัก กอแสงเรือง หรือเสรื สุวรรณภานนท์ ก็ไม่ต่างกัน นี่มันยุคอะไรของสภาทนายความ
ศาลนาซีกับตุลาการภิวัตน์
ในบรรดาผู้ออกมาโต้แย้งนิติราษฎร์ รายที่น่าฟังเห็นจะเป็นกิตติศักดิ์ ปรกติ สาเหตุเพราะ หนึ่ง กิตติศักดิ์ (คนรุ่น 6 ตุลาเพื่อนผม) โต้แย้งในประเด็นกฎหมาย และสอง กิตติศักดิ์ไม่เคยรับตำแหน่งใดๆ ในรัฐประหารหรือในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ได้เป็น คตส.ไม่ได้เป็น ส.ส.ร.และไม่ได้เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ แม้จะเป็นกระบอกเสียงให้ตุลาการภิวัตน์ตลอดมา (โฆษกศาลประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
กิตติศักดิ์เลี่ยงไม่โต้เรื่องการลบล้างนิรโทษกรรมรัฐประหาร หรือลบล้างประกาศ คปค.แถมยังขึ้นต้นอย่างนุ่มนวลว่าขอคารวะนิติราษฎร์ที่กล้าคิดกล้าแสดงความ เห็น (คุณสักไม่รู้จักเนียนแบบนี้มั่ง) กิตติศักดิ์เลือกโต้เรื่องการลบล้างคำพิพากษา 2 ประเด็นหลักๆ คือ โต้ว่ากรณีที่นิติราษฎร์ยกเรื่องลบล้างคำพิพากษาในยุคนาซีของเยอรมนีและ ฝรั่งเศสนั้น นำมาเทียบกับศาลไทยไม่ได้ ศาลไทยไม่ใช่ศาลนาซี ซึ่งฟังดูเหมือนมีน้ำหนักในสายตาคนทั่วไป แต่กรณีนี้ต้องแยกว่า หนึ่ง นิติราษฎร์ก็ไม่ได้บอกว่าเหมือนกัน เพียงแต่นิติราษฎร์ชี้ให้เห็นว่าการลบล้างคำพิพากษาให้เสียเปล่านั้น เป็นไปได้ในหลักกฎหมาย ไม่ใช่จะต้องยึดถือคำพิพากษาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลบล้างไม่ได้ ซึ่งนิติราษฎร์ไม่ได้ยกตัวอย่างแค่เยอรมนี ฝรั่งเศส แต่รวมถึงตุรกี ที่มีการรื้อฟื้นเอาผิดรัฐประหาร
ในหลักกฎหมาย คำพิพากษาจึงลบล้างได้ แล้วจึงค่อยมาเทียบเคียงกับกรณีของเราอีกครั้ง
สอง ในกรณีของเรา ศาลไทยไม่ใช่ศาลนาซีก็จริง แต่ตุลาการมีส่วนร่วมกับการรัฐประหารอย่างผิดสังเกต ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์รัฐประหาร 17 ครั้งของการเมืองไทย ตุลาการเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี เป็น คตส. สนช. ส.ส.ร.ซึ่งก็ร่างรัฐธรรมนูญให้ตุลาการเข้ามาฮุบองค์กรอิสระ กระทั่งทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันตุลาการ คำพิพากษาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงไม่ได้รับความเชื่อถือ
คำพิพากษาเหล่านี้ควรถูกลบล้าง และเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือไม่
ประเด็นนี้ผมอาจพูดล้ำไปในข้อเท็จจริงมากกว่าข้อกฎหมาย เพราะข้อกฎหมาย อ.กฤติกรกับ อ.พุฒิพงศ์ตอบโต้ไว้แล้ว อ.พุฒิพงศ์เขียนชัดเจนว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองต้องยึดสำนวน ของ ป.ป.ช. (กรณีนี้ คตส.ทำหน้าที่แทน ป.ป.ช.)เป็นหลัก โดยผู้พิพากษาส่วนใหญ่มีทัศนะว่า ป.ป.ช.(คตส.) มีสถานะเหมือน “ศาลไต่สวน” เราจะใช้ความเข้าใจทั่วไปว่า คตส.เป็นเหมือนตำรวจหรืออัยการในคดีอาญาปกติไม่ได้ (ไม่ใช่ตำรวจกับศาลอย่างที่สมคิดยกตัวอย่าง)
คตส.เป็นศาลไต่สวน แล้วศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองเป็นศาลตัดสิน ศาลไทยไม่ใช่ศาลนาซีก็จริง แต่ที่มาและความชอบธรรมของ คตส.ส่งผลต่อคำพิพากษาสูงกว่าคดีอาญาปกติอย่างมาก ซึ่งเมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่เด็กอมมือก็ดูออก ว่าตุลาการภิวัตน์ร่วมมือกับรัฐประหารอย่างไร
คำพิพากษาเหล่านี้ควรถูกลบล้างและเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือไม่
ถามกิตติศักดิ์อีกที ถ้าในปี 2524 มีนักวิชาการนิติศาสตร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 6 ตุลา ลบล้างนิรโทษกรรมคนที่เข่นฆ่าเพื่อนเรา ลบล้างคำพิพากษาที่อ้างประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน กิตติศักดิ์จะเห็นด้วยหรือไม่
ประเด็นที่สองที่กิตติศักดิ์โต้แย้งคือ อ้างว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนลบล้างคำพิพากษาไม่ได้ โดยหลังจากทำหน้าที่โฆษกศาลยกย่องสดุดีผู้พิพากษาจนไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาที่มี กิเลสตัณหาอย่างพวกเราแล้ว กิตติศักดิ์ก็ยกตัวอย่างคดีเพอรรี vs คนเหล็กอาร์โนลด์ ชวาเซนเนกเกอร์ (ตอนเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย) ซึ่งศาลสูงสุดพิพากษาว่า การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐแคลิฟอร์เนียห้ามพวกรักร่วมเพศแต่งงาน กันนั้น ขัดต่อหลักความเสมอภาคและรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา โดยกิตติศักดิ์ชี้ว่า ศาลตัดสินขัดต่อมติมหาชน แต่เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด ศาลซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยก็ชี้ถูกชี้ผิดได้
อ.กฤติกรวิจารณ์ว่า อ.กิตติศักดิ์เทียบเคียงผิดฝาผิดตัว ใช่เลยครับ ศาลสูงสุดของอเมริกาพิพากษาเช่นนั้นก็เพื่อปกป้องหลักความเสมอภาค ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ปกป้องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย ชายกับชาย หญิงกับหญิง เขาจะแต่งงานกันมันหนักหัวใคร นี่คือสิทธิที่จะเอาเสียงข้างมากหรืออำนาจใดๆ มาลิดรอนไม่ได้
ศาลตัดสินขัดต่อมติมหาชนก็จริง แต่ยังอิงรัฐธรรมนูญ อิงหลักการประชาธิปไตย ซึ่งตรงกันข้าม ถ้าเรามองศาลไทยบ้าง เหตุใดศาลไทยจึงยอมรับรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยอมรับประกาศรัฐประหารเป็นกฎหมาย และเหตุใดศาลไทยจึงไม่ยึดหลักสิทธิเสรีภาพ ยึดหลักการประชาธิปไตย หรือหลักนิติรัฐ โต้แย้งอำนาจรัฐประหาร ซึ่งเป็นอำนาจที่ได้มาจากการใช้กำลัง แย่ยิ่งกว่า “กฎหมู่” ของเสียงข้างมากอย่างที่กิตติศักดิ์อ้างเสียอีก
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คดียุบพรรคไทยรักไทย เหตุใดตุลาการเสียงข้างมากจึงยอมรับเอาประกาศ คปค.มาลงโทษ 111 กรรมการบริหารพรรคย้อนหลัง ทั้งที่ขัดต่อหลักกฎหมายไม่ให้มีผลย้อนหลังในกรณีที่เป็นโทษ
เรื่องนี้ผมจำได้ว่า อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก็เคยไม่เห็นด้วยกับตุลาการรัฐธรรมนูญ (ฉะนั้นที่สมคิดอ้างว่าปริญญาก็ไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ต้องแยกแยะดีๆ นะครับ)
ตัวอย่างที่กิตติศักดิ์ยกมาจึงเทียบเคียงได้ในกรณีที่เป็นการลงประชามติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักนิติรัฐ ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย สมมติเช่น ลงประชามตินิรโทษกรรมทักษิณ นี่ทำไม่ได้แน่นอน แต่ถ้าเป็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่พร้อมบัญญัติหมวดว่าด้วยการลบล้างผล พวงรัฐประหาร ลบล้างประกาศ คปค.ที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ และคำพิพากษาที่เป็นผลพวง กรณีนี่ทำได้แน่นอน
อาจารย์กับเด็ก
คราวนี้มาว่าถึงกรณีของ ด.ช.สมคิด ซึ่งเขียนคำถามมา 15 ข้อ อ.วรเจตน์บอกว่ามีประเด็นกฎหมายให้ตอบข้อเดียวคือข้อแรก
ข้อเดียวจริงๆ นอกนั้นเป็นการกระแนะกระแหน เหมือนเด็กพาโล หวงของเล่นของตัวเอง
ข้อแรก วรเจตน์โต้ไปแล้ว ข้อสอง สมศักดิ์ เจียมฯ โต้ซะหงายไปแล้ว ข้ออื่นๆ ก็กวนซะมากกว่าใช้หลักกฎหมาย เช่นคดีซุกหุ้น สมคิดก็รู้ไม่ใช่หรือว่า วรเจตน์ก็วิพากษ์วิจารณ์มาด้วยกัน สมคิดเป็นนักกฎหมายมหาชนระดับศาสตราจารย์ ทำไมต้องทำเป็นไม่เข้าใจเจตนาของนิติราษฎร์ว่าการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เช่น จะลบล้างสิ่งที่รัฐบาลสุรยุทธ์ทำไปทั้งหมดไม่ได้ ลบล้างกฎหมายที่ สนช.ออกไปทั้งหมดไม่ได้ และถ้าจะลบล้างรัฐประหารย้อนหลังไปอีกก็ทำได้ แต่ต้องแยกแยะทีละประเด็นเพราะเหตุการณ์มันผ่านมานานแล้ว ผลกระทบต่อสังคมและประชาชนมีกว้างขวาง (แต่ถ้าจะลบล้างทีละประเด็นได้ เช่นรื้อฟื้นการสอบสวนเหตุการณ์ 6 ตุลา)
ที่น่าเกลียดมากคือสมคิดตั้งคำถามเรื่องลงโทษคณะรัฐประหาร โดยยกสุจินดา ถนอม ประภาส สฤษฏ์ จอมพล ป. แล้วลงท้ายด้วย อ.ปรีดี ผู้ก่อการปฏิวัติประชาธิปไตย ขอย้อนถามว่านี่หรือคือจิตสำนึกของคนเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณเอาผู้ประศาสน์การซึ่งก่อการปฏิวัติยึดอำนาจอธิปไตยมาให้ปวงชนชาวไทย ไปเปรียบกับผู้ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชน
นี่หรือคืออธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมคิดออกอาการปกป้องรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่าง อย่างมีอารมณ์มากกว่าสาระ อ้างประชามติ (ซึ่งนิติราษฎร์ชี้แล้วว่าจอมปลอม ไม่มีตัวเปรียบเทียบ) อ้างบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ (สิทธิเสรีภาพกับผีอะไร ตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพมากที่สุด) แต่ไม่ยักเอาบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพไปใช้กับมาตรา 112 (กวนซะอีกว่าถ้า 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญ 50 แล้วจะยกเลิก 50 ทำไม ความจริงนิติราษฎร์ชี้แล้วว่าขัดตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 ที่บัญญัติหลักความสมควรแก่เหตุไว้)
ลงท้าย สมคิดก็ยังตีรวนไม่ให้วรเจตน์เข้าไปเป็น ส.ส.ร.อ้างเลอะเทอะว่าถ้า คมช.เลว ส.ส.ร.ชุดที่แล้วเล้ว รธน.2550 เลว รัฐบาลก็ต้องเลวด้วย
รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามกลไกประชาธิปไตยครับ ซึ่งไม่ว่ารัฐธรรมนูญเลวฉบับไหนก็จำใจต้องให้มีการเลือกตั้ง ส่วนที่เลวคือมันตั้งกลไกสกัดขัดขวาง บิดเบือนล้มล้างอำนาจอธิปไตยของปวงชน แล้ว ส.ส.ร.ชุดนี้ถ้าจะมี รัฐบาลก็ประกาศไว้แล้วว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง ร่วมกับการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิโดยรัฐสภา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ชอบธรรมกว่ารัฐประหาร
ตอนรัฐประหารไร้ความชอบธรรมกว่านี้ สมคิดยังอ้างว่า ในฐานะที่เรียนและสอนเรื่องรัฐธรรมนูญตลอดมา เมื่อถึงเวลาร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเข้าร่วมเพื่อให้เนื้อหาออกมาเป็น ประชาธิปไตยมากที่สุด
ตอนนี้ สมคิดตีกันวรเจตน์เฉยเลย
อ.พุฒิพงศ์จึงบอกว่าไม่แปลกใจเลยที่รัฐธรรมนูญ 50 ร่างได้ห่วยแตก มักง่าย เมื่อได้เห็นวิธีการตั้งคำถามและมองประเด็นของสมคิด ซึ่งไม่ได้ใช้สติปัญญาทางวิชาชีพ พร้อมกับเรียกร้องความกล้าหาญให้อธิบายเป็นเนื้อความ
ในเฟซบุ๊กซึ่งสมคิดลากอาจารย์อีกหลายคนให้ก้นร้อนไปด้วย (อาจารย์เหล่านี้จำต้องเขียนความเห็นนะครับ ไม่เขียนก็จะถูกสังคมมองว่าไม่กล้าหาญ) ผมชอบใจความเห็นของนักศึกษา 3 คนที่เรียกร้องให้ผู้ไม่เห็นด้วยแสดงความเห็นทางวิชาการ ซึ่งทำให้เราเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่มีความคิดอ่านน่าเลื่อมใสเพียงไร
“Bird Jakkit ด้วยความเคารพต่ออาจารย์นะครับ ผมมองว่า การที่กลุ่มนิติราษฎร์กล้าเสนอข้อเสนอครั้งนี้ถือเป็นความกล้าทางวิชาการ อย่างมาก แล้วมันไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงตรงไหน
มันสำคัญอยู่ที่ว่าการเป็นนัก กฎหมายเราจะต้องยึดมั่นในหลักวิชาที่เราเรียนมา การที่อาจารย์คณะเราคนอื่นซึ่งไม่เห็นด้วยไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกคนมีเสรีภาพทางความคิด แต่ที่ไม่เห็นด้วยจะต้องบอกเหตุผลว่าเพราะอะไร ตัวคำอธิบายหรือหลักการที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอมามีปัญหาในทางวิธีคิดอย่างไร หรือมีการบิดเบือนในทางกฎหมายอย่างไร
การบอกว่าไม่เห็นด้วยไม่ใช่เรื่อง ยาก แต่ที่ยากคือการให้เหตุผลประกอบที่มีน้ำหนักในทางวิชาการ การที่จะวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มนิติราษฎร์ ผมว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์ที่สารัตถะของข้อเสนอ ไม่ใช่เอาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งของนักกฎหมายคือการโต้เถียงกันในทางเหตุผล เพื่อให้เกิดผลในทางสติปัญญาไม่ใช่หรือครับ
Natpakhan Latcharojana ผมอยากรู้จังเลยครับอาจารย์ ว่า อ.สุรศักดิ์ อ.เอกบุญ อ.อุดม อ.สุรพล อ.วิจิตรา อ.ไพโรจน์ อ.กิตติพงศ์ อ.ทวีเกียรติ อ.สมเกียรติ อ.วีรวัฒน์ อ.กิตติศักดิ์ อ.ปริญญา…..ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ ท่านอาจารย์เหล่านี้มีเหตุผลทางกฎหมายอย่างไร ?
Wanut Kosasu ผมว่านะครับ ความจริงถ้าอาจารย์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดหรือการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่ม อาจารย์คณะนิติราษฎร์ ผมคิดว่า อาจารย์ก็น่าจะออกมาแสดงความเห็นทางวิชาการบ้าง ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนักในช่วง 4-5 ปีหลังการรัฐประหารนี้นะครับ (อันนี้ผมหมายถึงเฉพาะการที่นักวิชาการทากฎหมายซึ่งมีความเห็นต่างกันจะมาถก กันเอง)
ตรงนี้ผมมองว่า ถ้าผมเป็นอาจารย์ผมคงไม่มาคอยห่วงหรือพะวงเรื่องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย หรอกครับ จริงอยู่การที่อาจารย์เป็นอธิการบดีอาจทำให้ภาพลักษณ์ถูกโยงไปที่เรื่องของ การเคลื่อนไหวของธรรมศาสตร์ทั้งมหาวิทยาลัย แต่ในเมื่อเรายึดถือสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง แล้วทำไมจะต้องเอากรอบอย่างอื่นมาเป็นที่ตั้งเพื่อขัดขวางการแสดงความคิด เห็นซึ่งเป็นการกระทำที่สุจริตด้วยล่ะครับ
คำกล่าวที่ว่า "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" มันมีข้อยกเว้นว่าเพราะเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ เสรีภาพมันจึงมีเหมือนคนอื่นไม่ได้อย่างนั้นหรือครับ ผมเกรงว่า ผมจะเศร้าเสียใจมากกว่านี้ หากความแหลมคมทางวิชาการมันถูกบดบังโดยอคติบางอย่างซึ่งเราไม่รู้ตัว มัวแต่กลัวนั่นกลัวนี่ จนลืมทำหน้าที่รักษาความถูกต้องตามความเชื่อของตนเอง และโดยเฉพาะความแหลมคมทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่ต้องมีการถกเถียงกัน แต่อีกฝ่ายกลับเป็นฝ่ายเงียบเฉยไม่ทราบว่ารออะไร
มาวันนี้ผมอยากเห็น "ความกล้าหาญทางวิชาการ" จากผู้ชายคนที่ชื่อ สมคิด เลิศไพฑูรย์อีกครั้งครับ
ในฐานะที่เป็นคนสนใจกฎหมายมหาชน คนหนึ่ง ผมอยากทราบเหตุผลมากจริงๆ ครับ เป็นไปได้ไหมครับอาจารย์ที่ท่านอาจารย์เหล่านี้จะออก “แถลงการณ์” ชี้แจงเหตุผลทางกฎหมายมาหักล้างเหตุผลของกลุ่มนิติราษฎร์
ถ้าสามารถทำเช่นนี้ได้จริงๆ ผมจะยินดีมากๆ เลยละครับ แต่ขอเป็นเหตุผลทางกฎหมายเพียวๆ นะครับ เหตุผลเช่นที่ว่า รับงาน รับเงิน ใช้สถานที่ของคณะนิติศาสตร์ ผมว่าเหตุผลแบบนี้มันไม่ใช่แค่ไร้น้ำหนัก แต่ถึงขั้นไร้สาระเลยละครับ”
ก้นร้อนไหมละครับ ถ้าคุณแน่ ออกแถลงการณ์มาเลย ตามที่เด็กมันเรียกร้อง หรืออยากจัดแถลงแสดงความเห็นโต้กัน ท่านอธิการก็จัดได้เลย จัดเอง ไม่ต้องกลัวคนเสื้อแดงจะเข้าไปขว้างปาโห่ฮาเหมือนหมอตุลย์ (ซึ่งแน่นอนผมยอมรับว่ามวลชนเสื้อแดงยังไม่ใช่ผู้ฟังที่ดี แต่ถ้าท่านอยากโต้ก็มีอีกหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องอ้างเรื่องนี้)
หลักวิชาไม่ได้เอาชนะกันที่จำนวนคน ดีกรี หรือยศถาบรรดาศักดิ์ ถ้าจะเอาจำนวนคนนั่นมันนักเลงยกพวกตีกัน นักวิชาการต้องวัดกันด้วยหลักการเหตุผล ไม่ใช่ดูว่าใครมีคนเข้าชื่อสนับสนุนมากกว่า พูดเหตุผลมาแล้วสังคมจะตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์หรือนักศึกษาปี 4
อย่า “กลวง” อย่างที่เด็กมันปรามาสก็แล้วกัน คริคริ
ใบตองแห้ง
29 ก.ย.54