บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

นิติราษฎร์แจงข้อเสนอลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!

ที่มา Thai E-News

ที่มา ประชาไท
25 กันยายน 2554


นัก วิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐ ประหาร หลังข้อเสนอถูกบิดเบือนจากสื่อและนักการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา อัดกลับสื่อมวลชนที่บิดเบือนข้อเสนอถามตัวเองบ้างหรือเปล่าว่ากระทำต่อสังคม และประชาชนอยู่ใช่หรือไม่

25 กันยายน 2554 ที่ห้อง LT 1. คณะนิติศาสตร์ มธ. นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์แถลงข่าวกรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร หลังข้อเสนอในครั้งแรกถูก ตอบโต้จากฝ่ายการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางประชาชนที่สนใจรับฟังล้นหลาม โดยผู้จัดต้องขยายห้องสำหรับการติดตามฟังการแถลงข่าวเพิ่มอีก 1 ห้อง โดยถ่ายทอดผ่านกล้องวงจรปิด

ผู้ ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สาวตรี สุขศรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ธีระ สุธีวรางกูร, ปูนเทพ ศิรินุงพงศ์ และ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

“เรา ไม่มีความสามารถทางอื่นเลย นอกจากสู้กันด้วยเหตุด้วยผลทางวิชาการ เรื่องสำนวนโวหารนั้นเราสู้ไม่ได้” จันทจิรา เอี่ยมมยุรา กล่าวเปิดการแถลงข่าว โดยกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงที่มาทำข่าวการแถลงข้อเสนอทางวิชาการ 4 ประการของคณะนิติราษฎร์ และร่วมกันเสนอข่าวจนกว้างขวางต่อสาธารณชน และขอบคุณที่รับคำเชิญของคณะนิติราษฎร์มาทำข่าวข้อถกแถลงเพิ่มเติม เกี่ยวกับข้อเสนอทางวิชาการ 4 ประเด็น และหวังว่าจะนำเสนอข่าวอยางครบถ้วนทุกประเด็น

จัน ทจิรากล่าวว่าเมื่อข้อเสนอของนิติราษฎร์ออกสู่สาธารณชน ก็มีคนสนใจอย่างกว้างขวาง ได้รับกำลังใจและข้อเสนอแนะมากมาย แต่ก็พบว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์มีผู้ที่ยังสงสัย ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และส่วนหนึ่งก็เป็นไปในทิศทางการนำเสนอด้วยภาพลบอย่างยิ่ง ทำนองว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะทำให้เกิดกลียุคในบ้านเมือง ระส่ำระสายวุ่นวาย นองเลือด จึงเห็นว่าจำเป็นต้องมาถกแถลงอีกครั้ง

“ถ้า ท่านเป็นสุจริตชนที่อ่านข้อเสนอแนะของเราอย่างละเอียดพอสมควร และถ้ามีใจเป็นกลางไม่มีอคติไม่มีประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับรัฐประหาร ก็จะเห็นว่าข้อเสนอป็นการผ่าทางตันและข้อขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ด้วยการเสนอว่าเราไม่ยอมรับผลพวงของรัฐประหาร มุ่งหมายให้เปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติ ไม่เสียเลือดเนื้อต่อไป ด้วยการเสนอให้ทำประชามติ เพื่อให้ไทยพ้นจากวังวนของรัฐประหาร ด้วยการไม่ยอมรับการนิรโทษกรรมจากการรัฐประหาร และเป็นการเสนอโดยไม่มองหน้าคน แต่ให้ทุกคนที่ถูกกล่าวหาได้เข้าสู่กระบวนการการพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการ ตามปกติ”

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
“ฝ่ายที่ทำให้ข้อเสนอของนิติราษฎร์ดูไม่มีความหมายไม่มีคุณค่า เพราะเขากลัวอำนาจประชาชน”
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อธิบายรายละเอียดของข้อเสนอแนะ “หลังจากที่เราได้ออกแถลงการณ์ไปเมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมก็ไม่คิดว่าเราต้องมาอธิบายขยายความเพิ่มเติม”

อย่าง ไรก็ตาม เขาเริ่มอธิบายความเกี่ยวกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ว่า เขารู้ดีว่าการเสนอประเด็นนี้จะมีความสั่นสะเทือนสังคมอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ไม่คาดคิดว่าจะส่งผลต่อเนื่องหลายวงการ โดยครั้งนี้เขาได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2 มีใจความโดยย่อว่า

หนึ่ง ในแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร มีข้อเสนอ 4 ประเด็น คือการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร

แต่ปรากฏว่าสื่อมวลชนทั่วไปกลับมุ่งไปที่การล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหาร และพบว่าสื่อมวลชนเข้าใจคลาดเคลื่อนทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

สอง ข้อ เสนอไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรม อภัยโทษ หรือล้างมลทินของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็ทำได้ตามปกติ จึงไม่ควรมีบุคคลใดไปกล่าวอ้างว่า นิติราษฎร์เสนอให้ล้างความผิดผู้ที่ถูกกล่าวหา

สาม เหตุที่ให้ล้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะได้นำเอาประกาศ คปค. มาใช้บังคับคดี จึงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นผลจากการรัฐประหาร 19 กันยายน
สี่ ยืนยันว่าผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยายนต้องลบล้าง แต่ผลพวงของรัฐประหารต้องกระทำโดยคำนึงบุคคลผู้สุจริตด้วย และไม่ได้เสนอให้ลบล้าง รธน. ชั่วคราว 2549 และ รธน. 2550 ที่ให้ล้าง เฉพาะ 36-37 ใน รธน. 2549 เพราะเป็นการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร

ห้า การ ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหารทำได้ตามกฎหมายดังที่ปรากฏในนานาอารยประเทศ เช่น การประกาศความเสียเปล่าของนาซี ระบอบวิชี่ ฝรั่งเศส เป็นต้น

หก ต่อ ข้อสงสัยว่า เหตุใดคณะนิติราษฎร์จึงให้ลบล้างผลพวงเฉพาะรัฐประหาร 19 กันยายน ขอชี้แจงว่า นิติราษฎร์ปฏิเสธการรัฐประหารทุกครั้ง แต่ที่ให้ล้างผลพวงของ 19 กันยายน เพราะผลพวงยังดำรงอยู่และเป็นต้นตอของความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยขณะ นี้

เจ็ด ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์มีความชอบธรรมในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร

“นิติ ราษฎร์ยืนยันที่จะปกป้องหลักการทั้งหลายอย่างสุดกำลังด้วยความบริสุทธิ์ใจ” วรเจตน์กล่าวย้ำ และอธิบายขยายความเพิ่มเติมว่า ที่ปรากฏในสื่อว่า นิติราษฎร์จะล้างความผิดให้ทักษิณ ชินวัตร และเป็นไปเพื่อช่วยคนเพียงคนเดียว เป็นความพยายามบิดเบือนแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าละอาย และไม่พึงกระทำ

“ใน แถลงการณ์ของเรานั้นชัดเจนว่า ไม่ใช่การนิรโทษกรรม ไม่ใช่การล้างมลทิน แม้แต่พูดอย่างนี้สื่อบางสำนักก็ยังบอกว่าเป็นการล้างความผิด ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่เสนอให้ตรงไปตรงมาในเบื้องต้นก่อน ไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้สังคมเข้าใจผิด อาจะเป็นไปได้ว่า ข้อเสนอครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองระบอบประชาธิปไตย 2475 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน สื่อจึงไม่สามารถเสนอตามความเป็นจริง และเหตุผลของเรามีน้ำหนักมากจนกระทั่งการเสนอข่าวตามความเป็นจริงจะทำให้ สังคมคล้อยตามพวกเรา”

“เหตุผล ที่ต้องลบล้างคำวินิจฉัยนั้น ถ้าเราปฏิเสธการรัฐประหารต้องปฏิเสธผลของรัฐประหารนั้นด้วย และการที่เราประกาศลบล้างคือการไม่เคารพอำนาจศาลหรือไม่ ผมเรียนว่า ศาลจะขุ่นเคืองใจหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้พิพากษาท่านนั้นเป็นคนอย่างไร ถ้าผู้พิพากษาท่านนั้นมีจิตใจฝักใฝ่เผด็จการรับเผด็จการทหาร เขาย่อมขุ่นเคืองใจ แต่ถ้าเกิดผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งมีจิตใจฝักใฝ่ประชาธิปไตย และสถานการณ์ขณะรัฐประหารทำให้เขาไม่สามารถทำอะไรเป็นอย่างอื่นได้นอกจาก ต้องตัดสินไปตามคำสั่งนั้น ผู้พาพากษานั้นต้องขอบใจกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะสิ่งที่เราทำอยู่คือการช่วยศาล ดังนั้นข้อเสนอกระทบศาลหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปว่า ผู้พิพากษานั้นมีจิตใจอย่างไร และขอความกรุณาสื่อว่า เวลาไปเสนอข่าวช่วยเสนอให้ตรงความจริงหน่อย อย่าบอกว่านี่คือการล้างความผิด เพราะกระบวนการต่างๆ นั้นสามารถเริ่มต้นใหม่ เป็นการพิสูจน์บนกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม

ประเด็น สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการลงโทษผู้ที่กระทำรัฐประหารซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่พูด ถึง ทั้งๆ ที่มีการพูดแล้วในการแถลงข่าวครั้งที่แล้ว ข้อเสนอของเรามีข้อเสนอที่น่าสนใจคือ การเสนอให้ลบล้างมาตรา 36-37 ของ รธน. 2549 เพราะเป็นบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารซึ่งประเทศไทยมักมีการ นิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารทุกครั้ง และนวัตกรรมการรับรองรัฐประหารในสังคมไทยนั้น ได้สร้างให้เกิดการพัฒนาการเขียนกฎหมายสนับสนุนรัฐประหารซึ่งพัฒนาสสูงสุด ถึงขั้นรับรองการนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการดำเนินคดีกับคณะรัฐประหาร

ถ้า ประชาชนออกเสียงประชามติใน รธน. ที่จะสถาปนาขึ้นใหม่ อำนาจนั้นสูงสุดพอที่จะประกาศได้ว่า นิรโทษกรรมนั้นเสียเปล่าได้ เท่ากับไม่เคยมีการนิรโทษกรรม และให้บุคคลที่ทำรัฐประหารต้องถูกลงโทษ

“ผม พอจะทราบว่าท ทำไมสื่อมวลชนไม่เสนอประเด็นนี้ หลังจากมีการแถลงข่าวแล้ว มีทนายความท่านหนึ่งซึ่งเป็นทนายความของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร มาพบผม นำเอกสารให้ผมชุดหนึ่ง เอกสารนี้เป็นคำฟ้องและคำพิพากษาเนื่องจาก ร.ต. ฉลาด ฟ้องคณะรัฐประหาร คตส. ครม. และบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติรวม 308 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นกบฏ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของคณะรัฐประหารนั้น แม้จะเป็นความผิดก็ถูกนิรโทษกรรมไปแล้วโดยบทบัญญัติมาตรา 37 ของ รธน. 2549 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษผู้กระทำการรัฐประหาร ซึ่งศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า การกระทำดังกล่าวนั้น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ถูกใช้ ไม่ว่ากระทำฯ นั้นแม้ผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสินเชิง ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 308 คนหากเป็นการขัดหรือแย้งกับ รธน. 2540 หรือผิดกฎหมายอาญามาตราใดก็ให้พ้นความผิดโดยสิ้นเชิง จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

“มาตรา 37 เป็นกล่องดวงใจของคณะรัฐประหาร ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นั้นเป็นการทำลายกล่องดวงใจของคณะรัฐประหาร จึงเป็นที่เข้าใจว่า ทำไมข้อเสนอของเราจึงถูกทำให้กลายเป็นการช่วยคนๆ เดียวให้พ้นผิด”

“มี คนบอกว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นข้อเสนอที่สุดโต่ง ผมเป็นบุคคลอันตราย และผมเป็นบุคคลอันตรายแน่ต่อคนที่ทำรัฐประหาร จริงๆ แล้วเราลบล้างประกาศ คปค. ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 เราไม่ได้ลบล้างรัฐธรรมนูญ 2549 หรือ รัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย แปลว่า ถ้าเขาไม่เข้าใจเพียงพอ เขาก็อาจจะแกล้งไม่เข้าใจ เพราะรัฐธรรมนูญ 2549 เราก็ไม่ได้เสนอให้ลบทั้งหมด เราลบเฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับผู้ทำรัฐประหาร เพราะถ้าลบทั้งหมดจะเกิดความวุ่นวายทางกฎหมายที่ตามมา เพราะรัฐบาลได้ทำกิจกรรมทางกฎหมายมากมาย เราเห็นประเด็นนี้ เราจึงไม่เสนอให้ลบทั้งหมด แต่เมื่อมีคนถามอีกว่า ถ้าเกิดลบล้างประกาศ คปค. ก็เท่ากับ รธน. 40 ถูกใช้บังคับเรื่อยมา เราก็ถือว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ใช้มาจนสิ้นสุดไปเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549

“มี คนลบล้างรัฐธรรมนูญ แล้วคุณบอกว่าไม่ผิด แล้วตัวกฎหมายก็ไม่มีผลบังคับใช้อย่างนั้นหรือ ผมเรียนว่า เราได้ไตร่ตรองข้อเสนอนี้แล้วอย่างรอบคอบ และมีการกระทำกันแล้วในต่างประเทศ แต่จะเป็นของใหม่มากๆ ในระบบกฎหมายของไทย ซึ่งถ้ามันทำได้สำเร็จ ผมเชื่อว่าการทำรัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ยากมากหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย”

“ข้อ เสนอนี้ไม่ใช่เพียงการต่อสู้ทางความคิดระหว่างฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยกับ ฝ่ายชื่นชมเผด็จการ แต่เป็นการต่อสู้อย่างแหลมคมทางความคิดของบรรดานักกฎหมายด้วยกันด้วย ยังไม่มีนักกฎหมายแม้แต่คนเดียวออกมาบอกว่า ข้อเสนอของเราทำไม่ได้ ผมเรียนว่า ถ้าเกิดนักกฎหมายคนไหนเห็นว่าข้อเสนอของเราทำไม่ได้ ให้อออกมาบอกด้วยว่าทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันทำได้ ถ้าจะทำ”

“ปกติ แล้วเวลาที่เกิดการรัฐประหารสำเร็จ ก็จะมีการเรียกบรรดานักกฎหมายเข้าไป ซึ่งมีความช่ำชองในการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และอบรมฝังลึกกันมาว่า เมื่อมีการรัฐประหารแล้วเขาก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เขาก็จะปฏิบัติตามอย่างเชื่องๆ และมีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานเป็นลำดับ และวงการกฎหมายไทยก็ยอมรับความคิดแบบนี้ เราขังตัวเองอยู่ในกรอบในกรงของความคิดแบบนี้ คณะนิติราษฎร์เปิดกรงนี้ออกไปเพื่อบอกว่า เราควรจะเป็นอิสระจากความคิดแบบนั้นได้แล้ว"

“ถ้า คุณสามารถเขียน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมได้ นักกฎหมายอย่างเราก็สามารถที่จะคิดค้นการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่และ ประกาศลบล้าง ความเสียเปล่าของการนิรโทษกรรมได้ จริงๆ แล้วข้อเสนอเรื่องนี้มันชัดเจนในตัวเอง แต่รายละเอียดปลีกย่อยอาจจะต้องมาพูดคุยกันว่า จะมีเรื่องอะไรที่ต้องลบล้างอีก แต่หลักการต้องทำแบบนี้ เพื่อให้เห็นว่าในที่สุดแล้วเมื่อคุณทำรัฐประหารสำเร็จ วันหนึ่งเมื่ออำนาจคืนสู่เจ้าของอำนาจตัวจริงคือประชาชนแล้ว เขาก็อาจตัดสินใจเอาโทษคุณได้”

ประเด็น สุดท้าย คือ ทำไมข้อเสนอของนิติราษฏร์จึงถูกมุ่งไปที่คดีของทักษิณ กลายการเป็นชวนทะเลาะ “เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะฝ่ายที่ทำให้ข้อเสนอของนิติราษฎร์ดูไม่มีความหมาย ไม่มีคุณค่า เพราะเขากลัวอำนาจประชาชน เขากลัวว่า หากวันหนึ่งข้อเสนอนี้ถูกผลักดันให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา และประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เห็นด้วยกับพวกเรา เขาจะไม่มีที่ยืน มีคนบอกว่า ข้อเสนอของเราไม่ต่างกับเผด็จการที่ได้อำนาจแล้วออกกฎหมายตามใจชอบ เขากล่าวว่ามันต่างกันมากราวสวรรค์กับนรก เพราะคณะนิติราษฎร์ไม่มีอำนาจอะไรที่จะล้มล้างอำนาจรฐัประหาร เราสอนหนังสือ มีแค่กำลังความคิดและกำลังสติปัญญา แต่ข้อเสนอของเรา ถ้ามันเป็นไปได้ ก็จะถูกเอาไปให้ประชาชนตัดสินใจ ใครก็ตามที่เคารพประชาชนจริงต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน และอำนาจประชาชนเป็นอำนาจที่สูงสุดแล้วของระบอบประชาธิปไตยและชอบธรรมเต็ม เปี่ยม อย่าได้พึงเอาอำนาจของประชาชนไปเปรียบเทียบกับอำนาจของคณะรัฐประหารเด็ดขาด”

“ถ้า ท่านเข้าใจไม่ชัด ผมจะอธิบายจนกว่าจะสิ้นลม จนกว่าท่านจะเข้าใจ คนเราถ้าไม่รู้ต้องถาม อย่าไปคิดเอาเอง อย่าไปตีความบิดเบือน” วรเจตน์กล่าวในที่สุด

ปิยบุตร แสงกนกกุล
"พวกที่ไม่ได้อ่าน แต่ด่าไว้ก่อน แล้วเอาแถลงการณ์ไปบิดเบือนให้เข้าใจผิด สื่อแบบนี้ผมเห็นว่าค่อนข้างเลวนะครับ"
ปิย บุตร แสงกนกกุล กล่าวว่า เขาสำรวจพบว่า หลังนิติราษฎร์แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา มีคนพูดประเด็นกฎหมายและหลักการน้อยมาก แต่ถูกบิดเบือนเป็นเรื่องการช่วยทักษิณเป็นส่วนใหญ่ มีนักวิชาการที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐและไทยโพสต์ ข้อหนึ่งคือการยืนยันว่า “โมฆะ” ไม่มีในทางกฎหมายมหาชน แต่ปิยบุตรยืนยันว่า “มี” เพียงแต่ไม่เรียกว่า โมฆะ แต่ที่จริงผลไม่ต่างกัน

“ถ้า เปิดรัฐธรรมนูญดูจะเห็นชัดว่า การตรา พ.ร.ก. ที่มีเหตุในการตราได้ เช่น ความปลอดภัยของสาธารณะ เป็นต้น และศาล รธน. จะตรวจดูว่า เหตุนั้นครบถ้วนไหม ถ้าศาล รธน. วินิจฉัยว่า ไม่ครบองค์ประกอบ ก็ถือว่าเป็นโมฆะ ในทางกฎหมายปกครอง คำสั่งทางปกครองก็มีการประกาศความเสียเปล่า เพราะให้ถือว่าไม่มีมาแต่ต้น”

ปิย บุตรยกตัวอย่างประเทศต่างๆ ที่มีกระบวนการทางกฎหมายในลักษณะเช่นนี้มาแล้ว “ผมยืนยันว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นทำมาแล้ว และทำด้วยวิธีแตกต่างไป” ในเยอรมัน ฝรั่งเศส เคยทำมาแล้ว บางประเทศที่น่าสนใจ เช่น

สวิสเซอร์แลนด์ ปี 2003 รัฐสภาสวิสเซอร์แลนด์ ตรา พ.ร.บ. เพิกถอนคำพิพากษาของศาลที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากนาซี ให้ประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาเหล่านั้นทั้งหมดและตั้งคณะกรรมการเยียว ยาขึ้นมาชุดหนึ่ง

กรณีประเทศกรีซ รธน. 1952 มีกษัตริย์เป็นประมุข ปี 1967 มีการรัฐประหาร และปกครองมาได้สักพักก็ไปไม่รอดสุดท้ายปี 1974 ก็เอานายคารามาริส มาตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และประชาชนหวังมากว่าเขาจะนำพาประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย สิ่งแรกที่รัฐบาลนี้ทำคือ การประกาศฟื้นฟูความชอบด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย ประกาศความเสียเปล่าของกฎหมายจากการรัฐประหาร และใช้ รธน. 1952 โดยเว้นหมวดกษัตริย์ไว้ก่อน แล้วให้ประชาชนลงมติว่า จะเป็นสาธารณรัฐหรือจะมีกษัตริย์เป็นประมุข

ประเทศสเปน หลังนายพลฟรังโกออกจากอำนาจแล้ว ก็เข้าสู่ประชาธิปไตย แต่รัฐสภาสเปนพยายามปรองดองและนิรโทษกรรมให้นายพลฟรังโกไป แต่มีกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายบางส่วน รวมทั้งเครือญาติผู้ได้รับผลกระทบจากสมัยฟรังโก มีความพยายามผลักดันกันในระดับสภา

ประเทศตุรกี หลัง เคมาลอาตาเติร์ก เปลี่ยนแปลงตุรกีให้เป็นรัฐสมัยใหม่ แต่ความเป็นประชาธิปไตยยังไม่เกิดเต็มที่ เกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง กระทั่งครั้งสุดท้ายคือ 12 กันยา 1980 มีการรัฐประหารและคณะทหารปกครองประเทศเรื่อยมา มี รธน. 1982 ระหว่างนี้มีคนตายประมาณ 5,000 คน ถูกจำคุก 6,000 คน ถูกดำเนินคดี 200,000 คน เมื่อมาถึงรัฐบาลปัจจุบันเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยและอยากเข้าสู่สหภาพ ยุโรป ต้องการปรับแก้รัฐธรรมนูญให้ปลอดอำนาจศาล ปลอดอำนาจทหาร จึงมีการเสนอแก้ รธน. ปีที่แล้ว และลงประชามติ และเลือกวันลงประชามติ 12 ก.ย. 2010 ประเด็นสำคัญอยู่ที่การยกเลิกมาตรา 15 ที่เป็นบทบัญญัติชั่วคราวของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาให้เอกสิทธิ์ความคุ้มกันแก่บรรดาคณะทหารและพวกที่จะไม่ถูก ดำเนินคดี รธน. ฉบับที่ผ่านประชามติก็เลิกมาตรา 15 นี้ ผลที่ตามมาคือ วันรุ่งขึ้นบรรดานักสิทธิมนุษยชน ก็แห่กันไปฟ้องนายพลและพวกที่ทำการรัฐประหาร

ปิย บุตรชี้แจงว่า กรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์เรียกร้องให้ยกเลิกผลทางกฎหมายเฉพาะการรัฐประหาร 19 กันยายน เพราะว่าผลพวงความเลวร้ายยังเกิดอยู่ในปัจจุบันเต็มไปหมด ในเบื้องต้นต้องจัดการกับผลของการรัฐประหารครั้งนี้ก่อน

“ก็ ขนาดจะจัดการชุดนี้เข้า สื่อบางฉบับยังเหมือนโดนน้ำร้อนลวก ดิ้นกันเป็นแถว ท่านไม่ต้องกังวลหรอกครับ วิธีถอยหลังให้รัฐประหารทุกครั้งมันมี และบางคนบอกว่าให้ถอยไปที่ 24 มิ.ย. 2475 ท่านเข้าใจผิด นั่นคือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เปลี่ยนอำนาจสูงสุดมาเป็นของราษฎรทั้งหลาย เขาเรียกปฏิวัติ ถ้าท่านจะถอยไปให้ถึง 2475 ผมไม่ทำเพราะผมเชื่อในระบอบประชาธิปไตย เรายืนยันจะต่อต้านการรัฐประหารทุกครั้งที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย”

กรณี ศาล ซึ่งแม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับการรัฐประหารเลย ปิยบุตรยืนยันว่า ในเบื้องต้นไม่มีอะไรเกี่ยวกับการรัฐประหารเลย แต่บังเอิญว่าเรื่องที่ชงเข้ามามันเริ่มจาก คตส. “ท่านอย่าความจำสั้น ลองย้อนไปดูก่อนว่า ประกาศ คตส. สมัย สนธิ บุณยรัตกลิน ได้ตั้งสวัสดิ์ โชติพานิชย์ เป็นประธาน แล้วมีกรรมการมาจากที่ต่างๆ ตามตำแหน่ง หลังจากนั้นไมรู้เกิดอะไรขึ้นก็เลิก แล้วตั้ง คตส. ชุดใหม่ กำหนดชื่อคนมา ท่านเห็นชื่อเหล่านี้ท่านคิดว่าอย่างไรล่ะ? แล้วพอมาถึงศาล ศาลก็ตัดสินจากคดีที่เริ่มมาจากตรงนั้น เราจึงตองไปลบล้างคำพิพากษาซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อเนื่องมาจากรัฐ ประหาร 19 กันยา ถามว่า คตส. โดนแบบนี้บ้างเอาไหม เวลาท่านพูดเรื่องความยุติธรรม ท่านต้องคิดถึงใจเขาใจเรา”

อีก ประเด็น คือกรณีที่มีนักกฎหมายตั้งข้อสงสัยว่า สิ่งที่นิติราษฎร์ทำไม่ต่างกับรัฐประหารนั้น ปิยบุตรยืนยันว่าต่างกันชัดเจน “เด็กอมมือก็เห็น ว่าสิ่งที่มาจากรัฐประหารทำโดยคนไม่กี่คน เอามาเทียบกับประชามติของคนทั้งประเทศ ถ้าท่านยืนยันว่าเหมือนกัน แปลว่าท่านไม่ให้น้ำหนักของประชาชน เพราะเขาคิดไม่เหมือนท่าน เสียงของประชาชนดังกว่ารัฐประหารอยู่แล้ว”

ปิย บุตรกล่าวว่า ตลอดเวลาสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยกันขยายผลให้เป็นประเด็นร้อนในสังคม อย่างน้อยสังคมไทยได้หันมาฉุกคิดว่า มีวิธีการลบล้างผลพวงการรัฐประหารจริง เป็นผลพลอยได้ “ต่อไปนี้รัฐประหารไม่หมูอย่างที่คิด บรรดานักกฎหมายที่เข้าไปรับใช้ คอยช่วยงานรัฐประหารไม่หมูอย่างที่คิดแล้ว สื่อมวลชนที่พูดถึงแถลงการณ์ของพวกเขาก็มีทั้งชมทั้งด่า ฝ่ายที่วิจารณ์ตำหนิอย่างสุจริตใจ เรายอมรับนับถือท่านด้วย แต่พวกที่ไม่ได้อ่าน แต่ด่าไว้ก่อนแล้วเอาแถลงการณ์ไปบิดเบือนให้เข้าใจผิด สื่อแบบนี้ผมเห็นว่าค่อนข้างเลวนะครับ พฤติกรรมสื่อบ้านเรา ผมเข้าใจดีว่าเขาจ้องจะขายข่าว ผมก็เข้าใจได้ แต่การขายข่าวของท่านไปบิดเบือนข้อเท็จจริงแล้วนั่งเทียนวิเคราะห์ผู้อื่น คณะนิเทศน์ วารสารฯ ที่ไหนไม่สอนกันหรอก หนังสือพิมพ์เหล่านี้มันไม่ใช่หนังสือพิมพ์ มันกลายเป็นใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อ”

“บรรดา สื่อ นักวิชาการ อย่าความจำสั้นเกินไป คุณไม่ใช่ปลาทอง ก่อนจะวิจารณ์คนอื่นช่วยพิจารณาการกระทำของตัวเองก่อน ข้อเสนอของเรามีคนมาถกเถียงในเนื้อหาน้อยมาก เพราะอะไร เพราะข้อเสนอของเรามันบีบพวกท่านโดยอัตโนมัติ เพราะถ้าท่านยืนยันว่าไม่เห็นด้วย ก็อาจจะบีบให้คิดไปโดยปริยายว่า ท่านสนับสนุนรัฐประหาร บังเอิญว่ายุคนี้คนที่จะยืดอกรับว่าชอบรัฐประหารก็ไม่กล้าพูด จึงมาเถียงไม่ได้ จึงมาแฉลยออกทางว่า เรารับงานใครมา คุณไม่กล้าพูดตรงๆ ว่าคุณชอบการรัฐประหาร ที่บังเอิญไปฆ่าไปทำลายคนๆ หนึ่ง

“สื่อ สารมวลชนบางค่ายและพรรคประชาธิปัตย์โปรดพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมว่า มีนักวิชาการบางคนไปเป็นอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ท่านไปดูว่า หลังรัฐประหารใครไปดำรงตำแหน่งอะไรบ้าง หรือท่านคิดแค่ว่าใครทำงานกับท่านเป็นคนดี สองมาตรฐานแบบนี้ผมว่าพอเสียทีนะครับ แหม...พอหลังรัฐประหารบอกไปช่วยบ้านเมือง รัฐบาลชุดที่แล้วเชิญไปเป็นคณะทำงานบอกไปช่วยบ้านเมือง แต่เราออกแถลงการณ์ 4 หน้า บอกว่าเราไม่ใช่นักวิชาการ ถ้ามีอะคาเดมีแฟนตาเชีย จะเห็นว่าพวกเราเถียงกันนานมาก อย่างนี้ไม่ใช่งานวิชาการหรือครับ หรืองานวิชาการ คืองานที่รับจากส่วนราชการรับเงินวิจัยเป็นล้านๆ แบบนั้นหรือที่เรียกว่างานวิชาการ ผมยืนยันว่า ถ้ามันจะเกี่ยวกับการเมือง ก็เพราะสิ่งที่พวกเราเรียนคือกฎหมายมหาชน ถ้าท่านไม่วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ท่านจะเรียนไปทำไม นักวิชาการต้องอยู่แต่ในห้องสมุดแล้วรับเงินวิจัยเป็นล้านๆ อย่างนั้นหรือ”

ปิย บุตรอ้างคำกล่าวของ ฌอง ปอลซาร์ต ตอนหนึ่งว่า ปัญญาชนต้องผูกมัด (engage) ตนกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับการกดขี่ เราก็ผูกมัดตัวเองกับประชาธิปไตยและประชาชน เราไม่ผูกพันตัวเองกับรัฐประหารและวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นี่คือการขับเคลื่อนทางความคิด เพื่อให้อุดมการณ์แบบประชาธิปไตยและนิติรัฐได้ลงหลักปักฐานจนกว่าวันหนึ่ง อำนาจสูงสุดจะเป็นของราษฎรทั้งหลายอย่างแท้จริง

“มี ข้อกล่าวหาว่าพวกเราเอามหาวิทยาลัยเอาคณะนิติศาสตร์เป็นฐานที่มั่น เรื่องนี้เราคิดมาตลอด ตอนที่พวกเราเป็นกลุ่มห้าอาจารย์ เราก็คิดว่าพวกเราถูกกล่าวหาว่าเอาชื่อคณะไปหากิน เราก็เลยตั้งชื่อใหม่เป็นนิติราษฎร์ เพื่อที่ต่อไปคนจะได้ไม่เอาไปโยงกับคณะนิติศาสตร์ ต่อไปไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงว่าเราเป็นอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ผมยืนยันว่าเวลาทำงานวิชาการเราก็อยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะว่าวันไหนผมไปจัดที่โรงแรม ท่านก็จะบอกว่า ผมไม่ใช่นักวิชาการ และมหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร ก็เพื่อเป็นบ่อบำบัดความกระหายของประชาชน เรายืนยันจัดงานที่นี่จนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาต อีกประการคือ เหตุผลทางเศรษฐกิจ คือพวกเราไม่มีเงินจัด และที่ผ่านมาเราต้องระดมเงินเจียดเงินจ่ายค่าแรงให้เจ้าหน้าที่ที่ทำโอที เอง”

ท้าย ที่สุด ปิยบุตร ยกข้อความจากงานเขียนของอัลแบร์ กามูส์ เรื่อง 'มนุษย์สองหน้า' ว่า “สมัยนี้คนชอบพิพากษ์กันไม่ย่อหย่อนไปกว่าการร่วมประเวณี ต่างกันแต่ว่า การพิพากษานั้นไม่ย่อหย่อนสมรรถภาพ มีหนทางเดียวที่ต้องปกป้องตัวเอง คือรีบพิพากษาคนอื่นก่อนที่ผู้อื่นจะพิพากษาคุณ....ผมเรียนถามท่านสื่อมวลชน บางค่ายและนักการเมืองบางพรรคบางคนว่า ท่านเป็นมนุษย์สองหน้าหรือเปล่า”

ช่วงถามตอบ
วรเจตน์ ตอบคำถามกรณีที่ นายไชยันต์ ไชยพร กล่าวถึงการเรียกร้องให้ยกเลิก 112 เป็นการก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์ วรเจตน์ตอบว่า กรณีมาตรา 112 เป็นข้อเสนอที่ไม่ได้เสนอให้ยกเลิก แม้ถ้ายกเลิกได้ก็ดี แต่เราเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายมาตรานี้ให้เกิดความป็นธรรม ว่ามีความไม่สมดุลระหว่างความผิดและโทษ และที่เสนอไป ยังไม่พบว่ามีใครโต้แย้งในประเด็นนี้”

“อีก กรณีคือ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อต้นสัปดาห์พบว่า มีบางท่านวิจารณ์ขอเสนอของเรา มีสื่อบางแห่งเสนอการให้สัมภาษณ์ของคุณอภิสิทธิ์และคุณถาวร ซึ่งผมเห็นว่า บทสัมภาษณ์นั้นสะท้อนความไม่เข้าใจข้อเสนอของเรา มุ่งเน้นว่าเราทำเพื่อคนๆ เดียวและว่าอาจารย์กลุ่มนี้ทำเพื่อทักษิณมาตลอด ผมเข้าใจว่า หมายถึงผม เพราะสื่อพยายามโยงผมกับคุณทักษิณ อดีตนายกทักษิณไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับผม พรรคไทยรักไทยไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับผม ที่พูดในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นการพูดโดยไม่มีเหตุผลและไม่มีหลักฐาน เราออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหาร การวิจารณ์การยุบพรรคไทยรักไทยเพราะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เราวิจารณ์การยึดทรัพย์เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นทางกฎหมาย ไม่ได้รับค่าตอบแทน เขียนแถลงการณ์เสร็จก็ไปเที่ยวเกาะช้าง ที่พูดกันไปก็เป็นการพูดกันไปเอง คำถามคือข้อเสนอเป็นประโยชน์กับทักษิณไหม ผมยืนยันว่า ผมไม่สนใจว่าข้อเสนอนั้นเป็นประโยชน์กับใคร ผมดูว่ามันเป็นหลักการที่ถูกต้องแล้วถ้าใครจะได้ประโยชน์ก็ให้เขาได้ ถ้าเขาเสียก็ให้เขาเสีย”

กรณี ที่มีการกล่าวอ้างว่า พวกเขาอาจรับตำแหน่งคณะกรรมการยุติธรรม วรเจตน์กล่าวว่า "ผมเรียนว่า ผมไม่มีความปรารถนาจะเล่นการเมืองจนกระทั่งปัจจุบัน ผมอยากเป็นนักวิชาการ ผมรักในวิชาการ แต่วิชาการที่ดีไม่ควรตัดตัวเองออกจากสังคม เราจะนั่งอ่านหนังสืออยู่ได้อย่างไรในขณะที่สังคมไม่มีความยุติธรรมและไม่มี ความป็นประชาธิปไตย”

“ที่ เขียนๆ กันในหน้าสื่อบางฉบับ มันเป็นการกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น และเป็นอสัตย์ เป็นความเท็จ...กรณีประชาธิปัตย์มาท้าให้ไปที่พรรค ผมรู้สึกว่าคุณถาวร (เสนเนียม) และคุณอภิสิทธิ์ ทั้งสองท่านไม่เข้าใจอะไร คุณอภิสิทธิ์บอกว่า ข้อเสนอนี้เป็นไปเพื่อคนๆ เดียว ผมก็เรียนด้วยความเคารพ ว่าถ้าไม่เข้าใจก็มาซักถาม ผมก็โทรศัพท์ไปเรียนเชิญท่านอดีตนายกฯ โดยคุยกับเลขาฯ ของท่านเพื่อเชิญท่านมาที่คณะนิติศาสตร์เพราะเราจะแถลงข่าว เลขาฯ อดีตนายกฯ ก็ถามว่าจะให้มาทำไม ผมก็บอกว่า ถ้าไม่เข้าใจก็จะได้พูดคุยกันให้เข้าใจ ไม่เข้าใจก็มาถามจะได้อธิบายให้ฟัง เพราะสังคมเราพูดกันไปคนละทาง เรื่องที่เชิญมาก็ไม่ใช่การดีเบตอะไร เพราะผมไม่เห็นว่ามันจะดีเบตอะไรกันได้”

“อย่า มาท้า เพราะผมไม่จำเป็นต้องได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน ผมไม่ต้องไปหาเสียง และถ้าท้าตีท้าต่อยแบบเด็กๆ ท่านก็ลาออกจากนักการเมืองสิ แล้วท่านก็ไปเรียนหนังสือ แล้วเรียนให้เข้าใจให้รู้เรื่องแล้วค่อยมาเถียงกับผม เพราะถ้าท่านยังไม่รู้เรื่องยังมาเถียงกับผมได้ยังไง และผมแปลกใจมากว่า ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงเดือดร้อนนักกับข้อเสนออันนี้ ผมไม่เข้าใจว่า ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอเพื่อเปิดทางให้เป็นประชาธิปไตย เป็นนิติรัฐ ไม่ต้องมาพูดว่า ประเทศนี้ต้องการนิติรัฐไม่ใช่นิติราษฎร์ ท่านเข้าใจหรือเปล่าว่า นิติรัฐหมายความว่าอะไร

ต่อ กรณีข้อกล่าวหาว่า นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ต้องการเป็น ส.ส.ร. นั้น เขากล่าวว่า “อยู่ตรงไหนแล้วทำอะไรได้ ก็อยู่ตรงนั้นแล้วทำ ผมเรียนว่า ถ้าผมเป็น สสร. แล้วผลักดันและลบล้างการรัฐประหารได้ ทำไมผมจะต้องไม่เป็น ผมเรียนว่าถึงที่สุดเราเป็นหรือไม่เป็นอะไร ขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน และผมเรียนว่า เราเปิดเผยต่อสาธารณะ เราชัดเจนว่า เราคิดอะไรและจะทำอะไร ไม่ปิดบังอำพราง และที่เราทำทั้งหมด คือเราเคลื่อนไหวทางความคิด ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง นี่คือการก่อร่างสร้างรูปความคิดประชาธิปไตยให้เจริญงอกงามในสังคม ซึ่งถ้าสนับสนุนประชาธิปไตย ก็มีแต่ช่วยกันเผยแพร่ความคิดให้เป็นไปได้”

วรเจตน์ กล่าวว่า สิ่งที่จะผลักดันต่อไปข้างหน้า คือการทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการในเรื่องการล้างผลของการรัฐประหารไป ให้ได้มากที่สุด และกล่าวตอบข้อกล่าวหาว่า กลุ่มนิติราษฎร์ถูกกล่าวหาว่ารับงาน โดยกล่าวว่า “ถ้าใครกลับไปอ่านนิติราษฎร์ฉบับที่ 1 เราเชื่อมโยงกลับไปที่คณะราษฎร เราเห็นว่า ระบอบที่ถูกสถาปนาขึ้นปี 2475 และถูกล้มล้างโดยรัฐประหารครั้งแรกปี 2490 และพรรคไหนตั้งขึ้นก็ไปค้นกันเอาเอง ความคิดเชื่อมโยงกลับไปที่คณะราษฎร เราก็ไม่ปิดบังอำพรางอะไรว่า รธน. ที่ควรเอามาใช้ ควรเป็นสามฉบับแรก เพราะเกิดจากความเป็นประชาธิปไตย เรารับงานและภารกิจจากคณะราษฎรมาทำต่อทางความคิด มันเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เจริญงอกงามก้าวหน้าต่อไปเป็นลำดับ และความคิดเราเปิดเผย ไม่อันตรายกับใครเลย เรายอมรับความคิดที่แตกต่างภายใต้เสรีภาพทางความคิด ที่ผมพูดนี้คือวาจาสัตย์ สู้กับอสัตย์ ใช้เหตุผลสู้กับความไม่มีเหตุผล ที่ทำกันเป็นอสัตย์สักวันหนึ่งก็จะบอกเอง”

วรเจตน์ กล่าวตอบกรณี ผบ.ทบ. กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า นักวิชาการมีเสรีภาพทางความคิด แต่เสนออะไรต้องระวังสังคมแตกแยก ว่านี่คือการเคลื่อนไหวตามกระบวนการประชาธิปไตย “ผมกลับเห็นว่า การใช้กำลังเสียอีกที่ทำให้บ้านเมืองแตกแยก ที่บ้านเมืองแตกแยกวันนี้ไม่ได้เป็นผลจากการัฐประหาร 19 กันยา 2549 หรือครับ ถ้าสังคมนี้เห็นด้วยกับเราทั้งหมดมันต้องผิดปกติ แต่เมื่อเราเสนอไปแล้ว ก็เป็นเรื่องมาพูดคุยกัน แน่นอนว่าความขัดแย้งทางความคิดมันมีตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ต้องถูกตัดสินอย่างสันติ คือการเข้าคูหา เว้นแต่ไม่ยอมรับเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยต้องถูก เสียงข้างมากต้องผิด อย่างนีเทวดาที่ไหนก็ช่วยไม่ได้ มันจนปัญญาที่จะช่วย ที่เรากำลังทำอยู่เพื่อให้สังคมเกิดการเรียนรู้และป้องกันการรัฐประหาร มีคนบอกว่า ข้อเสนอของเรากระตุ้นให้เกิดการรัฐประหารหรือเปล่า ผมคิดว่า ความคิดแบบนี้เมื่อมันเปิดกรงออกไปและโบกบินสู่สังคมแล้ว ต่อให้นิติราษฎร์ทั้ง 7 คนไม่อยู่แล้ว แต่ความคิดนี้จะอยู่ในสังคม มันฆ่าไม่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นจะทำรัฐประหารก็ทำไป มีปืนมีรถถังก็ทำไป แต่ถ้าทำแล้วคุณต้องปกครองโดยปืนโดยรถถังตลอดกาล ถ้ามันไม่สำเร็จในยุคสมัยของเรา รุ่นลูกรุ่นหลานเราก็จะมาพูดต่อ แต่ผมคิดว่ามันจะสำเร็จในยุคสมัยของเรา”

“คน ที่จะเป็นนักการเมืองจะลดความขัดแย้ง จะต้องไม่สร้างผีมาหลอกคน สังคมไทยมีผีทักษิณ คืออะไรๆ ก็สร้างความหวาดกลัวก่อน แล้วใช้ผีทักษิณในการปิดกั้นคนอื่น เช่น ถ้าจะโต้ความคิดนิติราษฎร์ คุณต้องโยนผีทักษิณลงมาเพื่อให้ข้อเสนอของเราไม่มีน้ำหนัก ผมคิดว่ามีคนได้ประโยชน์จากการสร้างผีทักษิณ กรณีทักษิณ ผมมีหลักว่า ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก แต่ต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง ไม่เห็นจะต้องกลัวเลย มันไม่เป็นปัญหาเลย มันต้องใช้กฎหมายเสมอกันกับทุกคน นี่คือนิติรัฐและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

“กรณี ความขัดแย้ง เราไม่เสนอความขัดแย้งก็มีอยู่และถูกซุกไว้ใต้พรม การใช้เหตุผลมาสู้กัน ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไรเลย เราเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ เราเป็นอารยะ จริงๆ ท่าน ผบ.ทบ. นั้น ผมไม่ได้ตำหนิอะไรท่าน ผมสังเกตว่า ท่านมีพัฒนาการอยู่ ก่อนหน้านี้ ผมเคยอ่านเจอท่านพูดว่า ประเทศนี้ให้คนมีเสรีภาพไม่ได้ แต่ล่าสุดว่าบรรดานักวิชาการมีเสรีภาพทางความคิด แต่อยากให้ท่าน ผบ.ทบ. คิดแบบนี้กับประชาชนทั่วไป ถ้ารับได้ผมว่าเราก็อยู่ด้วยกันอย่างป็นปกติสุขได้” วรเจตน์กล่าว

จัน ทจิรา ตอบคำถามว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่เป็นผลทางปฏิบัติได้อย่างไร โดยกล่าวว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์อาจจะเป็นจริงได้หากรัฐบาลเอาข้อเสนอไปปฏิบัติ โดยมาแลกเปลี่ยน และคนที่จะทำให้รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นนี้คือประชาชนที่เป็นเจ้าของเสียง ของประเทศนี้

สาว ตรี ตอบปัญหาเรื่องสื่อกำลังถูกกระทำจากความขัดแย้งที่เกิดในสังคมว่า สื่ออาจจะต้องกลับไปตามตัวเองว่า สื่อกำลังกระทำหรือถูกกระทำ อย่างกรณี ผบ.ทบ. ออกมาพูด แต่สื่อออกมาลงว่า 'ฮึ่ม' พวกนี้คือการที่สื่อกำลังเสี้ยมอยูใช่หรือไม่ จริงๆ แล้วเราจะยืนยันในเสรีภาพของสื่อมาตลอด สื่อต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพในการเสนอ ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และควรจะรู้ว่า ตราบใดที่ยังไม่นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านคือการทำลายเสรีภาพในการนำ เสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชนเสียเอง ความป็นกลางไม่มีอยู่ เว้นแต่จะยอมรับว่า วงการนั้นๆ ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง มันแทรกซึมอยู่แล้วในเนื้อหาของสื่อ แต่ข้อเรียกร้องพื้นๆ คือขอให้ท่านนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน สังคมจะแตกแยกได้อย่างไร ถ้าท่านนำเสนอข้อเสนอของนิติราษฎร์อย่างไม่บิดไม่เฉือน ในเมื่อเราเสนอให้ลบล้างสิ่งที่ผิดกฎหมาย ถ้าท่านบอกว่าท่านถูกกระทำท่านอาจจะต้องตั้งตั้งคำถามด้วยว่าจริงๆ แล้วท่านกำลังลงมือกระทำต่อประชาชนอยู่หรือไม่

วรเจตน์ ชี้แจงในช่วงท้ายของการเสวนาว่า ที่ผ่านมาคณบดีคณะนิติศาสตร์ได้รับข้อร้องเรียนมากมายให้จัดการทางวินัยกับ คณะนิติราษฎร์ และทางกลุ่มฯ ได้พูดคุยกับคณบดีแล้ว โดยคณบดีเห็นว่า เป็นสรีภาพทางวิชาการ และทางกลุ่มยืนยันจะจัดกิจกรรมลักษณะนี้ต่อไป

จัน ทจิรา กล่าวว่า “ถ้าที่ใดที่ควรจะเป็นที่ที่เราได้พูดแถลงการณ์ ก็ควรจะเป็นที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ที่ผู้ประศาสน์การได้ก่อตั้งขึ้น” และอ่านบทกวีซึ่งเขียนโดยสุจิตต์ วงศ์เทศ ซึ่งเขียนถึงความต่างระหว่างนิติรัฐและนิติราษฎร์ลงในหนังสือพิมพ์มติชนราย วัน ฉบับวันที่ 25 ก.ย. 2554 ว่า

"นิติรัฐเลือกสนองผองอำนาจ
นิติราษฎร์เลือกมวลชนคนส่วนใหญ่
นิติรัฐประหารเหี้ยนอธิปไตย
นิติราษฎร์ไล่รัฐประหารนั้น"









ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker