บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

"สภาทนาย"ออกแถลงการณ์ อัด "นิติราษฎร์" ยับ

ที่มา thaifreenews

โดย bozo

"สภาทนาย" ออกแถลงการณ์ อัด "นิติราษฎร์" ยับ
ชี้เอื้อประโยชน์อดีตพวกพ้องนักการเมือง ทำสังคมแตกแยก


เมื่อวันที่ 27 กันยายน ทางเว็บไซต์สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2554
เรื่อง "คำแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์" โดยภายในแถลงการณ์ระบุว่า
ตามที่กลุ่มนิติราษฎร์ประกอบด้วยอาจารย์สาขากฎหมายมหาชน 7 คน
จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์
เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ "การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549"
และการชี้แจงเพิ่มเติมของกลุ่มดังกล่าวสรุปได้ว่า
กลุ่มนิติราษฎร์ได้เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549,
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,
กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย
และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549,
การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยชี้แจงเพิ่มเติมว่ามีตัวอย่างในต่างประเทศที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว นั้น


ทางสภาทนายความเห็นว่า ประเด็นการนำเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์
อาจทำให้ประชาชนที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในระบบประชาธิปไตยภาคปฏิบัติของประเทศอย่างถ่องแท้
ที่แตกต่างกับนักวิชาการและโดยที่เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ
ในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้รู้เท่าทันกลไกการเมืองและนักวิชาการบางท่าน


สภาทนายความจึงขอให้ความเห็นทางกฎหมายอันอาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปดังนี้



1.สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดยชอบธรรม
เนื่องจากเป็นการทำให้ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องสะดุดและต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดมาถึง 17 ครั้ง
สำหรับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกัน
สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้น
ได้ใช้อำนาจเงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมือง
ที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารและอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน
และองค์กรอิสระ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผล
ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ
เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร
รัฐบาลผู้ใช้อำนาจบริหารก็ดี สภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา
ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งใช้อำนาจตุลาการที่มีการดำเนินการหลังการรัฐประหาร
มีส่วนที่สร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน
มีการตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
และมีส่วนในการสร้างความสงบสุขให้เกิดแก่สังคม
ซึ่งไม่ควรให้ตกเป็นเสียเปล่า หรือไม่มีผลทางกฎหมาย
ซึ่งรวมถึงรัฐบาล และรัฐสภาในปัจจุบันต่างก็มีที่มาจากกระบวนการที่ต่อเนื่อง
จากการรัฐประหารทั้งสิ้น อันไม่สมควรให้สิ้นผลตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์



2.การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ
การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นการช่วยให้การสอบสวนในคดี
ที่มีความสับสนและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่มีกลไกสนับสนุนจากนักการเมือง
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ต้องส่งแก่อัยการสูงสุด และนำไปฟ้องยังศาลยุติธรรม
ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
และวิธีพิจารณาในศาลฎีกาดังกล่าว เป็นศาล
และวิธีพิจารณาที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ซึ่งใช้บังคับก่อนที่จะมีการรัฐประหาร จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
และมีบางคดีที่ศาลดังกล่าวมีคำพิพากษายกฟ้อง
ซึ่งเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่จาเลยได้เป็นอย่างดี



3.ความผิดทางอาญาตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น
อยู่ในหมวดของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นตัวบทกฎหมาย
ซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์ของชาติไทยอันมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์อยู่ในทุกรัฐธรรมนูญ
เมื่อพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ทรงไม่อาจดำเนินการใดๆ โดยลำพัง
การดำเนินการใดๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา จะมีบทบัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่
ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดังนั้น มาตรา 112 ดังกล่าว
จึงมุ่งที่จะคุ้มครองพระมหากษัตริย์มิให้มีผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
และให้ความสำคัญเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีโทษรุนแรง
สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ดังกล่าว

4.การประกาศใช้รัฐธรรมนูญในประเทศไทย มีมาหลายฉบับแล้ว ในฉบับหลังๆ
มักจะมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่แก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็เป็นรัฐธรรมนูญ
ที่มีการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน การนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้บังคับ
ย่อมทำให้ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาต้องสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนย่อมต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของกลุ่มนักการเมือง
และพวกพ้องย่อมต้องได้รับการคัดค้านอย่างเต็มที่



5.อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มนิติราษฎร์ได้ชี้แจงเวลาต่อมาว่า
มิได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นการทั่วไป
แต่ที่ให้ลบล้างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เนื่องจากมีการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร
สภาทนายความเห็นว่า เป็นการเลือกใช้หลักการที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม
ที่ตนเองต้องการสนับสนุนเท่านั้น มิได้ยึดถือหลักการที่ต้องใช้เป็นการทั่วไป

6.ตัวอย่างที่กลุ่มนิติราษฎร์นำเสนอว่าเคยมีกรณีลบล้างคาพิพากษาและการกระทำที่เสียเปล่า
ในนานาอารยประเทศนั้น เป็นกรณีการกระทาที่เกิดขึ้นจากอำนาจเผด็จการที่ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์
ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีการรัฐประหาร
และทำการตรวจสอบความผิดของผู้มีอำนาจบริหารประเทศ
ที่ใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง
อีกทั้งในประเทศไทยก็เคยมีกรณีที่ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร
ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
การยกตัวอย่างในประเทศเยอรมัน ความเสียเปล่าของกลุ่มนาซี
กลุ่มเสียเปล่าในระบบวิซี (Vichy) ในประเทศฝรั่งเศสรวมถึงคำพิพากษาลงโทษบุคคล
ที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีลี้ภัยนาซีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในประเทศกรีก
และในประเทศตุรกีนั้น สภาทนายความเห็นว่า
ระบบการเมืองและระบบกฎหมายของประเทศที่กล่าวอ้างมานั้น
แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ระบบการเมืองในประเทศไทยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ให้แก่ปวงชนชาวไทยโดยมิได้มีการเสียเลือดเนื้อและไม่เคยมีการทำร้ายเข่นฆ่ากันแต่อย่างใด
เพียงแต่มีนักการเมืองบางคนที่สืบทอดเจตนารมณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น
ทุจริตคิดมิชอบต่อทรัพย์สินของรัฐอย่างต่อเนื่อง
จึงเป็นเหตุให้มีการรัฐประหารช่วงชิงอำนาจกันตลอดมา
พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยได้ต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างยากลำบาก
จนสามารถก่อตั้งประเทศขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้
ได้เสียดินแดนเพื่อเสริมสร้างอิสรภาพเพื่อให้ทุกคนได้อยู่อย่างร่มเย็นเช่นทุกวันนี้
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดตลอดมา



7.สภาทนายความขอตั้งข้อสังเกตว่า
กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ส่วนที่เป็นผลร้ายต่อนักการเมืองในอดีตเป็นอันสูญเปล่า เสียไป
แต่กลับเป็นประโยชน์ต่ออดีตนักการเมืองมากกว่าการแสวงหาความยุติธรรมให้แก่สังคม
การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ
ซึ่งไม่มีนักการเมืองคนใดที่จะทำให้สังคมไทยรับรู้ว่าการโกงบ้านโกงเมืองนั้น
เลวร้ายยิ่งกว่าการรัฐประหารที่มุ่งทำลายความเลวของนักการเมืองบางคน
และกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงที่ประชาชนให้การรับรอง
ประชาชนควรต้องติดตามตรวจสอบพฤติการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างใกล้ชิดต่อไป



(นายสัก กอแสงเรือง)
สภาทนายความ
27 กันยายน 2554


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1317106599&grpid=00&catid=&subcatid=

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker