บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

นักปรัชญาชายขอบ: นิติราษฎร์กับคำถามท้าทายสังคมไทย

ที่มา ประชาไท

น่าสังเกตว่า “ปฏิกิริยา” ต่อข้อเสนอ 7 ข้อ เพื่อล้างรัฐประหารของนิติราษฎร์ แทนที่จะถกเถียงใน “ประเด็นหลัก” กลับไปถกเถียง “ประเด็นรอง” เช่น เรื่องเทคนิคทางกฎหมายว่าจะทำได้หรือไม่ จะเอื้อประโยชน์แก่ทักษิณหรือไม่ จะทำให้เกิดความแตกแยก เป็นชนวนให้เกิดรัฐประหารรอบใหม่หรือไม่ ระบอบทักษิณ และลัทธิรัฐประหารอะไรเลวกว่ากัน กระทั่งเสียดสีว่านิติราษฎร์ คือ “นิติเรด” ฯลฯ

ยิ่งกว่านั้นเหตุผลคัดค้านของบรรดาสื่อ นักการเมือง ทหาร นักวิชาการ นักกฎหมาย ทนาย หรือบรรดาผู้อ้างว่ารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ทั้งหลาย ทำให้เรารู้สึกได้ชัดแจ้งว่า สำหรับประเทศนี้การลบล้างรัฐประหารเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญกว่าการล้ม ประชาธิปไตยอย่างเทียบกันไม่ได้
ประเด็นหลักที่นิติราษฎร์เสนอคือ “การล้างรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” เป็นการล้างรัฐประหารบนจุดยืนที่ว่า รัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ผิดในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดๆ ก็ตาม เช่น อย่างที่ สัก กอแสงเรือง อ้างว่า รัฐประหาร 19 กันยาเป็นรัฐประหารขจัดการโกงชาติบ้านเมือง ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ควรยอมรับ เพราะหากมีการโกงชาติบ้านเมืองจริงก็ต้องขจัดการโกงนั้นตามกระบวนการ ยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่แก้ด้วยรัฐประหาร
ถ้าจะโต้ข้ออ้างแบบสัก กอแสงเรือง โดยไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนนัก แค่เรามองตามข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ถ้าทักษิณโกงชาติบ้านเมืองจริงตามที่คณะรัฐประหารและฝ่ายสนับสนุนกล่าวหา ถามว่าผลเสียหายจากการโกงของทักษิณ กับผลเสียหายที่ตามมาหลังใช้วิธีรัฐประหารขจัดทักษิณ อันไหนเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองมากกว่า
ความแตกแยกและความรุนแรงทางสังคมที่เกิดขึ้นกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เราจะโยนความผิดให้ทักษิณคนเดียวได้อย่างไร ฝ่ายที่ใช้วิธีรัฐประหารขจัดทักษิณจะรับแต่ “ชอบ” ไม่ยอมรับ “ผิด” ใดๆ เลยเช่นนั้นหรือ?
ที่สำคัญในเชิงหลักการ หากถือว่ารัฐประหารควรเป็นวิถีทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ประเทศของเราจะไม่ต้องทำรัฐประหารเป็นรายปีงบประมาณกันเลยหรือ?
แต่ประเด็นของนิติราษฎร์ ไม่ใช่การชวนถกเถียงว่ารัฐประหารกับทักษิณใครผิดกว่า มันเป็นข้อเสนอที่ “ฟันธง” ไปเลยว่า แม้ทักษิณจะผิดจริงตามข้อกล่าวหาของคณะรัฐประหาร การกระทำรัฐประหารนั้นก็เป็นสิ่งที่ผิด และสมควรถูกลบล้างไป โดยให้ถือเสมือนว่าการทำรัฐประหารและการเอาผิดทางการเมืองกับฝ่ายที่ถูกทำ รัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น คือไม่มีสถานะและอำนาจที่ชอบธรรมทางกฎมายของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หรือสภาพนิติรัฐ นิติธรรมภายใต้ระบบอำนาจที่มาจากรัฐประหารอยู่จริง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า คดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ทักษิณก็ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าทักษิณไม่ได้เคยทำผิดในทางความเป็นจริง ฉะนั้น ข้อกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวของทักษิณจึงสามารถนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปกติในระบอบประชาธิปไตยได้ ทักษิณก็ไปสู้คดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่มีความเป็นกลางต่อไป
ฉะนั้น ข้อเสนอของนิติราษฎร์จึงเป็นการชวนให้สังคมมาตั้งคำถามพื้นฐานที่สุดในทาง สังคมการเมือง คือคำถามที่ว่า สังคมเราควรจะอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบสังคมการเมืองแบบไหน และภายใต้ระบบสังคมการเมืองแบบนั้น เราจะอยู่ร่วมกันด้วยกฎกติกาอะไร จึงจะถือว่ายุติธรรมแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม
แน่นอนว่า ข้อเสนอให้ล้างรัฐประหาร หรือปฏิเสธรัฐประหารอย่างถาวร ก็คือข้อเสนอที่ว่าเราต้องอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่เป็น ประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของราษฎรอย่างแท้จริง และภายใต้ระบบสังคมการเมืองเช่นนี้ กฎหมายหรือกติกาใดๆ ที่ถือเป็นข้อผูกพันที่สมาชิกของสังคมการเมืองทุกคนต้องปฏิบัติร่วมกัน จะต้องเป็นกฎหมายหรือกติกาที่สร้างขึ้นบน “หลักความยุติธรรม” (the principles of justice) ที่เป็นธรรมแก่ทุกคน นั่นคือหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาค อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบบนิติรัฐประชาธิปไตย
รัฐประหารคือการล้มนิติรัฐประชาธิปไตย กฎหมายหรือกติกาใดๆ ที่คณะรัฐประหารกำหนดขึ้น และการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเอาผิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ได้ยึดโยงอยู่กับหลักความยุติธรรมอันเป็นพื้นฐานของนิติรัฐ ประชาธิปไตย ฉะนั้น ถ้าเรายืนยันว่าสังคมของเราควรเป็นสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตย ก็หมายความว่าเรายืนยันหลักความยุติธรรมหรือนิติรัฐประชาธิปไตย เมื่อยืนยันเช่นนี้ การล้างรัฐประหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ
ความจริงไม่ใช่แค่การล้างรัฐประหารเท่านั้นที่เป็นสิ่งจำเป็น ต้องทำ กฎหมายหรือกติกาใดๆ ที่ขัดแย้งกับหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค เช่น ม.112 เป็นต้น ก็ต้องถูกยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุงด้วย
ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. บอกว่า “กฎหมายมาตรา 112 ไม่ผิด แต่คนละเมิดกฎหมายดังกล่าวต่างหากที่ผิด” แสดงว่า เขาไม่เข้าใจว่ากฎหมายดังกล่าวลิดรอนเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ บุคคลสาธารณะของประชาชน จึงเป็นกฎหมายที่ผิด เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักความยุติธรรมคือหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค ส่วนที่ว่าคนผิดนั้น เพราะกฎหมายไปบัญญัติให้การกระทำที่ถูก (ตามหลักเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ) ของประชาชนกลายเป็นการกระทำที่ผิด ฉะนั้น กฎหมายที่ผิดเช่นนี้ (เป็นต้น) จึงควรยกเลิก หรือแก้ไขปรับปรุงไม่ให้ขัดต่อหลักความยุติธรรมแห่งนิติรัฐประชาธิปไตย
ปรากฏการณ์ “คณะนิติราษฎร์” ไม่ว่าจะเรื่องรณรงค์ให้แก้ไข ม.112 หรือข้อเสนอ 7 ข้อ เพื่อล้างรัฐประหาร ถึงที่สุดแล้วก็คือการตั้งคำถามกับสังคมนี้ว่า เราจะอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่เป็นนิติรัฐประชาธิปไตยไหม หากจะอยู่เราจำเป็นต้องปฏิเสธรัฐประหารให้เด็ดขาด ซึ่งจำเป็นต้องล้างรัฐประหาร และให้มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่กระทำรัฐประหารได้ เมื่อฝ่ายทำรัฐประหารนั้นๆ หมดอำนาจไป หรือบ้านเมืองคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ข้อเสนอดังกล่าวนี้ จึงเป็นการบังคับอยู่ในตัวของมันเองว่า ฝ่ายที่คัดค้านข้อเสนอจะกลายเป็นฝ่ายที่เอารัฐประหาร หรือสนับสนุนรัฐประหารไปโดยปริยาย และฝ่ายที่สนับสนุนข้อเสนอนี้คือฝ่ายที่เอาระบบสังคมการเมืองที่เป็นนิติรัฐ ประชาธิปไตยโดยปริยาย มันจึงไม่ใช่คณะนิติราษฎร์จะไปกล่าวหาฝ่ายคัดค้านว่าสนับสนุนรัฐประหาร แต่หลักการของข้อเสนอมันบังคับอยู่ในตัวของมันเองว่าต้องเป็นเช่นนั้น
โดยข้อเสนอนี้ไม่เกี่ยวโดยตรงกับเรื่องเอา-ไม่เอาทักษิณอีกแล้ว เพราะแม้คดีที่ดินรัชดาและคดียึดทรัพย์จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่การกระทำของทักษิณที่ถ้าเป็นความผิดจริงก็ยังสามารถดำเนินการตามกระบวน การยุติธรรมปกติในระบอบประชาธิปไตยต่อไปได้
ถามว่าทักษิณได้ประโยชน์ไหม ก็ได้ประโยชน์ในแง่ว่าได้รับโอกาสที่จะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมที่ เป็นกลางจริงๆ ซึ่งโอกาสดังกล่าวนี้ก็เป็นโอกาสที่ทุกคนพึงได้รับอยู่แล้ว ภายใต้หลักความเสมอภาคตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย
โดยสรุป หากสังคมเราไม่ใช่สังคมหลอกตัวเอง หรือไม่ถูกทำให้ติดกับดักการหลอกตัวเอง แต่เป็นสังคมที่ชัดเจนแล้วว่า เราจะอยู่ร่วมกันภายใต้ระบบสังคมการเมืองแบบนิติรัฐประชาธิปไตย ก็ไม่มีใครสามารถมีเหตุผลเพียงพอที่จะปฏิเสธหรือคัดค้าน “ประเด็นหลัก” ของข้อเสนอแห่งคณะนิติราษฎร์ได้
เมื่อเรายอมรับ “ประเด็นหลัก” ร่วมกันได้ “ประเด็นรอง” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย (น่าโมโหไหมที่เวลาเกิดรัฐประหารแล้วบรรดา “เนติบริกร” ต่างเสริฟ “เทคนิคทางกฎหมาย” แก่คณะรัฐประหารอย่างเอาการเอางาน) หรือเรื่องทักษิณ (และ ม.112 ฯลฯ) ก็เป็นเรื่องที่สามารถปรับ หรือแก้ไขให้สอดคล้องกับประเด็นหลักได้อยู่แล้ว

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker