บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

วงเสวนามช.แนะวิธีไปให้พ้น "ปชต.ครึ่งใบ": ต้องมี "รัฐธรรมนูญใหม่" และ "ปฏิรูปกองทัพ"

ที่มา มติชน



เมื่อวันที่ 21 กันยายน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ และสำนักข่าวประชาธรรม ร่วมกันจัดงานเสวนา "5 ปี รัฐประหาร และการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่" ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


มติชนออนไลน์ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนจากงานเสวนาดังกล่าว ที่เรียบเรียงโดยเว็บไซต์ประชาธรรม มาเผยแพร่ดังนี้


อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลสรุปของ 5 ปี รัฐประหาร อยากชวนมองให้เป็นกระบวนการ เกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา ในวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้เพื่อเคลื่อนเข้าสู่สังคมประชาธิปไตย ในการต่อสู้ที่ผ่านๆ มามันมีปัญหาอยู่ตรงไหนที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม คนส่วนมากจะมองไปที่มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ถ้ามองอะไรที่ยาวไกลมากไปอาจจะทำให้ไม่เข้าใจปัจจุบัน ฉะนั้นการมองไปที่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไกลไป แน่นอนว่านักประวัติศาสตร์ไม่สามารถมองข้ามประเด็นนี้ได้ แต่คิดว่ามรดกที่ตกทอดที่ใกล้กว่านั้นและทำให้เป็นปัญหาจนถึงทุกวันนี้ คือ การจัดความสัมพันธ์ใหม่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์


เพราะสภาวะหลังปี 2516 ระบบอำนาจเด็ดขาดมันอยู่ไม่ได้ จึงเกิดประชาธิปไตยแบบครึ่งใบขึ้นมา มีระบบการเลือกตั้งขึ้นมา แต่อำนาจสูงสุดยังอยู่ในมือของพล.อ.เปรม (ภาคราชการ) อำนาจในสมัยรัฐบาลเปรมเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาแบบครึ่งๆ การเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบของรัฐบาลเปรมถือว่ายังมีความชอบธรรมไม่มากนัก จึงใช้วิธีการเดียวกับรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ เข้าไปแอบอิงกับสถาบัน ดังนั้นกระบวนนี้น่าสนใจคือ เกิดการสถาปนาอำนาจแบบใหม่ขึ้นมา มีการรักษาระบบราชการกึ่งเลือกตั้ง โดยใช้อำนาจนอกระบบเป็นครั้งคราว สิ่งนี้เป็นผลตกทอดจากสมัยพล.อ.เปรม มาจนถึงปัจจุบัน


การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในสมัยพลเอกเปรม เป็นผลมาจากการปรับตัวของชนชั้นนำระหว่างปี 2516-2519 เป็นการปรับตัวที่ชนชั้นนำรู้ว่าทำแบบเดิมนั้นไปไม่รอด เป็นการปรับตัวที่ใช้ระบบราชการแช่แข็งนโยบายของนักการเมืองอีกปีกหนึ่ง เพื่อรักษาสถานภาพเดิมทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุน และเริ่มมีการเริ่มต้นประชานิยม เมื่อ นายบุญชู โรจนเสถียร สร้างนโยบายประชานิยม พลเอกเปรมก็ดึงกลับไปเป็นของรัฐเพื่อไม่ปล่อยให้นักการเมืองใช้ประชานิยมได้ อย่างเสรี กลุ่มทุนเก่าก็ร่ำรวยขึ้น ซึ่งระบบ 8 ปีนี้น่าสนใจและยังไม่มีใครศึกษาการสร้างเครือข่าย ทุกคนโดดไปด่าสถาบันอื่นโดยลืมดูโครงสร้างอันนี้


หลังสมัยพลเอกเปรม สมัยรัฐบาลชาติชายมีความพยายามในการรุกคืบเข้าไปในอำนาจของระบบราชการ ทำให้เกิดการโต้กลับของอำนาจ เกิด รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ขึ้นมา อย่างไรก็ตามหลังยุครสช. มีความพยายามในการรักษาประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่ตลอดมา พรรคประชาธิปัตย์ที่ได้อำนาจในช่วงหลังก็ไต่เส้นลวดประชาธิปไตยแบบครึ่งใบมา ตลอด ซึ่งพยายามให้อำนาจราชการไว้ครึ่งหนึ่ง ไม่ก้าวไปล่วงล้ำ เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ประชาธิปัตย์พยายามรักษาดุลอำนาจนี้ไว้


ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการร่าง รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการปลดล็อคอำนาจประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นจุดเริ่มต้นในการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง


การเมืองในสมัยทักษิณ ด้วยหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งปลดล็อคอำนาจระบบราชการ เกิดการจัดความสัมพันธ์อำนาจในระบบประชาธิปไตยใหม่ โดยลดทอนอำนาจระบบราชการในทุกส่วน ปรับเปลี่ยนระบบราชการทุกระดับ ทั้งการศึกษา โรงพยาบาล ฯลฯ รวมทั้งทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้อำนาจประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเดิมสั่นคลอน ทั้งหมดนำไปสู่การรัฐประหาร 2549


รัฐประหารที่เกิดขึ้นและการเมืองหลัง จากนั้น รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ถือเป็นการสืบทอดอำนาจในสมัยพล.อ.เปรมอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการพยายามรักษาประชาธิปไตยครึ่งใบไว้ พยายามเข้าไปแอบอิงสถาบันดั้งเดิม พยายามสร้างกฎเกณฑ์ที่ทำให้ราชการมีอำนาจ เช่น การตั้งกฎโยกย้ายทหารต้องผ่านกรรมการทั้ง 7 คน เป็นต้น ทำให้เกิดความขัดแย้งสูงมาก


กระบวนการที่เกิดขึ้นใน 5 ปีหลัง เป็นการยื้ออำนาจระหว่างระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบกับอำนาจที่อ้างความชอบธรรม จากการเลือกตั้ง (ระบบราชการกับภาคการเมือง) ความรุนแรงปี 2552 และ 2553 จึงเป็นผลผลิตของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจคู่นี้ที่ยังไม่ลงตัว


นอกจากนี้ การยื้อแย่งทางการเมืองดังกล่าวยังสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงอันนี้ทำให้ชนบทไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนในชนบทในงานวิจัยของหลายท่านล้วนสะท้อนให้เห็นว่าคนชนบทไม่ใช่ชาวนา ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทได้เปลี่ยนไปแล้ว อาจจะไม่มีชนบทเหลืออยู่ในความหมายเดิมอีกต่อไป


ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมันนำมาสู่ "การเมืองเรื่องความหวัง" (Politic of Hope) ซึ่งเมื่อเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจนี้ แล้วคุณต้องมีความหวังว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร จากบทสัมภาษณ์ของงานวิจัยเรื่องเสื้อแดง สิ่งที่ปรากฏชัด คือ ประชาชนมีสำนึกทางพลเมือง ความเปลี่ยนแปลง 2 ด้านนี้ จึงนำเข้ามาสู่การต่อสู้ทางการเมืองด้วย


ผลสรุป คือ การยื้อทางอำนาจไม่ก่อผลดีต่อสังคมไทยโดยรวม ตนคิดว่าทางออกคือ หนึ่ง ปลดล็อคทางอำนาจ ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจให้ลงตัวมากขึ้น (ถ้ายื้อแบบนี้โดยไม่ร่างกติกาก็จะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีก) การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยกลไกของปี 2540 จะทำให้สังคมไทยเคลื่อนไปสู่การตกลงกันได้ง่ายมากขึ้น


ซึ่งหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงประชามติเสร็จแล้ว ควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นี่คือสิ่งที่สำคัญเพราะจะทำให้เราเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งอันนี้ แต่มีข้อกังวลคือ ถ้ารัฐบาลปัจจุบันมีความสุขกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่อาจจะไม่เกิด เพราะเป็นการให้อำนาจกับระบบราชการอยู่ ถ้ารัฐบาลยังคงอยู่ได้ โดยสามารถเปลี่ยนอำนาจระบบราชการมาอยู่ในมือ ประชาชนก็อาจต้องผลักดันมากขึ้น


สอง เราจะสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น ทั้งในรัฐสภาและในที่อื่นๆ โดยให้สังคมเป็นคนตัดสินได้อย่างไร เพื่อไม่ให้มีการรัฐประหารอีก เช่น การโยกย้ายทหาร ถ้ารัฐบาลต้องการโยกย้ายทหาร โดยผ่านคณะกรรมการทั้ง 7 คน แล้วมีเสียงครหา สังคมเป็นคนตัดสิน อาจจะด้วยการโหวตหรืออะไรก็แล้วแต่ ทหารก็จะไม่กล้ารัฐประหาร


กลุ่มที่สนับสนุนทางการเมืองต้องใจ เย็นๆ และมองการณ์ไกล ไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม ถ้าเกิดรัฐประหารครั้งต่อไปต้องมีจุดยืนให้ชัด เพราะคิดว่ารัฐปนะหารครั้งต่อไปโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากทหารทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งเดิมที่พยายามรักษาประชาธิปไตยครึ่งใบ กับทหารอีกฝั่งหนึ่งที่เราเรียกกันว่า "ทหารแตงโม" เราต้องมีจุดยืนให้ชัดว่าเราต้านรัฐประหารจากทุกกลุ่ม เพราะการรัฐประหารเป็นการลากสังคมไทยไปสู่จุดดับ


ภัควดี ไม่มีนามสกุล นักเขียน นักแปลอิสระ กล่าวว่า ตนอยากจะมองให้แคบลงมาในเรื่องของ กองทัพ เพราะสถาบันกองทัพถือเป็นสถาบันที่ไม่ค่อยเปลี่ยนบทบาท ในสังคมไทยถือเป็นสังคมของรัฐทหาร แม้ในระบบเศรษฐกิจทหารก็เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น กรณี กสทช.ที่มีทหารเข้าไปเป็นกรรมการจำนวนมาก ก็แสดงถึงความไร้เหตุผลของสังคมไทยอย่างมาก


หลังปี 2535 เราพูดกันมากว่า ต้องการให้กองทัพไทยกลับสู่กรมกอง แม้มีการผลักดันเข้ากรมกองจริง แต่ยังไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงอยากยกตัวอย่างการปฏิรูปกองทัพในสองประเทศ ประเทศแรกคืออาร์เจนตินา ซึ่งเคยเป็นเผด็จการ มีการกวาดล้างพลเมืองไปเป็นจำนวนมาก แต่ก็สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และสามารถเอาผิดผู้นำประเทศที่เป็นทหารได้ หลังจากเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลพลเรือนพยายามปฏิรูปกองทัพ คือจำกัดความรับผิดชอบของทหารเฉพาะการป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละเมือง หรือขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนกลางเหมือนประเทศไทย


ในบางประเทศ ฐานทัพทหารจะอยู่ในเขตชายแดน ไม่เหมือนประเทศเราที่ค่ายทหารที่ใหญ่ๆ กลับอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แล้วตอนนี้พยายามมาสร้างกองพันทหารม้าที่เชียงใหม่ ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของประเทศไทย ที่เอาระบอบอาณานิคมแบบตะวันตกมาใช้ในระบอบการปกครอง ซึ่งไม่ต่างจากสมัยรัชกาลที่ 5 โดยถือเอากรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง และภูมิภาคเป็นอาณานิคม


เรื่องที่สองที่อาร์เจนตินาทำในการปฏิรูปกองทัพ คือ ย้ายหน่วยข่าวกรองและหน่วยปราบจลาจลให้ออกจากความรับผิดชอบของกองทัพ


เรื่องที่สาม คือ ปรับระบบการศึกษาของกองทัพ ถ้ากรณีของไทยการศึกษาของทหารแยกออกจากระบบการศึกษาโดยทั่วไป ซึ่งวิธีการศึกษาแบบนี้มันทำให้ทหารถูกครอบงำทางอุดมการณ์ได้ง่าย แต่ถ้ามีการปรับระบบการศึกษาให้ทหารมาเรียนกับพลเรือนอย่างที่อาร์เจนตินา หรือเวเนซูเอล่าทำ จะทำให้ทหารได้เรียนรู้กับประชาชนทั่วไป ผูกพันกับประชาชน รับรู้ข่าวสาร ไม่แปลกแยก และทหารมีความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้าขึ้น


เรื่องที่สี่ กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน ประธานาธิบดีของเขาจะเป็นผู้นำเหล่าทัพ เสนาธิการแต่ละเหล่าทัพก็เป็นพลเรือนด้วย และห้ามนายทหารรับตำแหน่งทางการเมือง และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง


เรื่องที่ห้า ลดจำนวนตำแหน่งนายทหารระดับสูง ส่วนใหญ่ประเทศที่ก้าวหน้ามากๆ อย่างสหรัฐฯ ระดับพลเอก จะไม่เยอะเหมือนบ้านเรา การพิจารณาตำแหน่งก็พิจารณาที่ผลงาน ไม่ใช่เส้นสายหรือนามสกุล


เรื่องที่หก ลดงบประมาณป้องกันประเทศ ลดการใช้จ่ายของกองทัพ ยกเลิกการจัดซื้ออาวุธด้วยวิธีพิเศษ การซื้ออาวุธต้องตรวจสอบได้


เรื่องที่เจ็ด ลดการเกณฑ์ทหารลงเหลือ 1 ใน 3 ขณะที่ประเทศไทยนั้นถ้ายกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ก็จะดี รวมถึงยกเลิกระบบศักดินาในกองทัพที่ทหารเกณฑ์ยังต้องไปเป็นคนรับใช้นายพลด้วย


เรื่องที่แปด ห้ามนายหารมีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ กองทัพห้ามทำธุรกิจ นายทหารที่เกษียณห้ามไปรับตำแหน่งทางองค์ธุรกิจด้วย


เรื่องที่เก้า เขาระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่า การรัฐประหารทุกรูปแบบเป็นกบฏของแผ่นดิน และยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมคนที่ทำรัฐประหารทั้งหมดไป


อันนี้คือการปฏิรูปกองทัพในประเทศอาร์เจนตินาซึ่งผ่านระบอบเผด็จการทหารที่โหดร้าย


ต่อมาอยากจะยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เราและมีประสบการณ์คล้ายๆ กับอาร์เจนตินา แล้วเขาก็เปลี่ยนผ่านมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และก็มีการปฏิรูปกองทัพพอสมควร ซึ่งหลังผ่านยุคซูฮาร์โตที่เป็นเผด็จการทหารและกวาดล้างประชาชนไปมากมาแล้ว ประชาธิปไตยของเขาค่อนข้างมีความมั่นคงกว่าประเทศไทย หลายเรื่องที่เคยล้าหลังกว่าเรา ตอนนี้เริ่มล้ำหน้าเรา ส่วนหนึ่งก็มีการปฏิรูปกองทัพมากพอสมควรแต่ทำสำเร็จน้อยกว่าอาร์เจนตินา


ในช่วงต้นๆ หลังยุคซูฮาร์โต เขาสามารถปฏิรูปกองทัพได้ถึง 17 เรื่อง ขอยกตัวอย่างบางเรื่อง เช่น ห้ามไม่ให้ทหารมาดำรงตำแหน่งของพลเรือน (อาทิ ตำแหน่งรัฐมนตรี) มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นพลเรือน มีการระบุภาระหน้าที่ของทหารอินโดนีเซียว่าจะต้องรักษาความมั่นคงระหว่าง ประเทศเท่านั้น ห้ามทหารไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศ ให้ยกเลิกหน่วยงานด้านความมั่นคงภายในประเทศของกองทัพ (เปรียบได้อย่างยกเลิก กอรมน.ในไทย) มีการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนขึ้น มีความพยายามทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยให้เลือกประธานาธิบดีโดย ตรงและให้เลือกตั้งส่วนท้องถิ่นมากขึ้น สร้างระบบตรวจสอบงบประมาณกองทัพ สิ่งที่น่าสนใจที่เขาสำเร็จ คือ การให้ศาลทหารอยู่ภายใต้ศาลสูงสุด สร้างความโปร่งใสของศาลทหารให้มากขึ้น


ทั้งนี้มีบทความหนึ่งซึ่งพูดถึงปัจจัยที่จะทำให้ของการปฏิรูปกองทัพยากหรือง่าย มีอยู่ 5 ข้อ


ข้อแรก ความผูกพันของกองทัพกับชนชั้นนำเดิมในประเทศมีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีมากก็ปฎิรูปยาก ถ้ามีน้อยก็ปฏิรูปง่ายหน่อย


ข้อสอง ในประเทศนั้น ประชาชนมีความเห็นพ้องต้องกันต่อระบอบประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน ยิ่งมีมากแค่ไหน การปฏิรูปก็ง่ายขึ้น


ข้อที่สาม คือปัจจัยระหว่างประเทศ เช่น ประเทศตุรกี เขาปฏิรูปกองทัพได้ง่ายเพราะอยากเข้าเป็นสมาชิกของอียู เขาก็ต้องปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เข้าเงื่อนไขอียู แต่อาเซียนอยากให้แต่ละประเทศแก้ไขปัญหาภายในประเทศเอง ปัจจัยนี้จึงไม่เอื้อให้ประเทศเรา


ข้อที่สี่ การปฏิรูปกองทัพทำให้เกิดความขัดแย้งของชนชั้นนำมากน้อยแค่ไหน


ข้อที่ห้า คือ วัฒนธรรมของกองทัพ เช่น วัฒนธรรมของกองทัพในการทำธุรกิจข้างนอก กองทัพไทยก็มีวัฒนธรรมในการทำธุรกิจข้างนอกด้วยเช่นกัน


บทความนี้ยังมีข้อเสนอว่าด้วย เรื่องการปฏิรูปกองทัพในอนาคต ซึ่งมีอยู่ 8 ข้อ คือ


หนึ่ง กฎหมายสิทธิมนุษยชนควรมีความเข้มแข็งมากขึ้น ควรมีอำนาจในการบังคับใช้มากขึ้น


สอง ศาลควรได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น


สาม กองทัพต้องอยู่ใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหม


สี่ กองทัพควรมีวัฒนธรรมของพลเรือนมากขึ้น


ห้า ผู้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ ควรมีอำนาจทำได้มากขึ้น


หก ผลประโยชน์ทางธุรกิจของกองทัพทั้งหมด ต้องโอนให้เป็นของรัฐ


เจ็ด สภาความมั่นคงแห่งชาติควรมีผู้นำพลเรือน มีทหารเป็นส่วนประกอบ


สุดท้าย ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ผู้มีบทบาททางการเมือง เช่น พรรคการเมือง ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ภาคประชาชนต้องเข้มแข็งในการผลักดันระบอบประชาธิปไตยด้วย ทั้งหมดนี้จะทำให้ การปฏิรูปกองทัพประสบความสำเร็จ


สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจาก 5 ปีผ่านไป ตนถือว่ารัฐประหารนี้ประสบความล้มเหลวที่สุด มีการรำลึกถึงรัฐประหารในเชิงต่อต้านกันมายาวนานมาก จนบัดนี้ก็ยังระลึกถึงอยู่ ทุกฝ่ายที่พูดถึงรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย แม้ในตอนเริ่มบางส่วนอาจจะเห็นด้วย แต่ตอนนี้ก็ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารนี้เลย เช่น กรณีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ดังนั้นผมจึงคิดว่ารัฐประหาร 2549 นั้นล้มเหลว


อยากให้มอง รัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้าเทียบการเมืองหลัง 2520 กับการเมืองหลังปี 2550 นั้นจะเห็นว่าเหมือนกันคือการสร้างระบอบการเมืองกึ่งรัฐสภา กึ่งอำมาตยาธิปไตย คือยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีการออกแบบรัฐธรรมนูญกำกับระบอบการเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง


ปัจจุบันเราจะเห็นอารมณ์ของสังคมไทย ปีนี้มีการจัดงานวาระครบรอบ 5 ปี รัฐประหารอย่างกว้างขวาง เราเห็นอารมณ์ร่วมของสังคมได้ คือ รัฐธรรมนญ 2550 เป็นปัญหา มีคนเสนอแก้รัฐธรรมนูญ แต่ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เป็นหลักการของสังคมไทย เท่าที่ผมจับประเด็นได้มีอยู่ 2 สองเรื่อง เรื่องแรก การต่อต้านรัฐประหาร และการพยายามล้มล้างผลของการรัฐประหาร สอง มีความพยายามจะพูดถึงรากฐานของระบอบการปกครอง มีความพยายามจะเสนอหลักการประชาธิปไตยอันใหม่ให้เกิดขึ้น


ข้อเสนอของนิติราษฎร์นั้นน่าสนใจ ในอดีตมีการเขียนกฎหมายเพื่อป้องกันการรัฐประหาร (เช่นรัฐธรรมนูญปี 2517) แต่ก็ถูกฉีกตลอด ข้อเสนอใหม่มีความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญให้เพิกถอนผลของการรัฐประหาร อันนี้จะสำเร็จหรือไม่ ไม่รู้ แต่คิดว่านี่เป็นอุดมการณ์ของสังคมไทยโดยรวมว่า การ รัฐประหารเป็นสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้ และรวมถึงการพยายามที่จะทำให้การรัฐประหาร ไม่มีผลผูกพันกับสังคมอย่างมั่นคงยาวนานอย่างเช่นที่เคยเป็นมา


ข้อเสนอเรื่องที่สอง มีการพูดถึงความพยายามในการวางรากฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตย มีเรื่องสำคัญที่กำลังถูกผลักดันอยู่ 5 เรื่องใหญ่ คือ หนึ่ง อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับระบบราชการ (โดยเฉพาะทหาร) โดยหลักการนั้นตามความคิดตนนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรจะมีอำนาจเหนือราชการ โยกย้ายได้ ข้าราชการเป็นกลไกของรัฐบาล


สอง กระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ เป็นปัญหาอันหนึ่งที่สำคัญ ถ้าเราสังเกตการล้มของรัฐบาลสมชายและสมัคร จะล้มลงเพราะองค์กรอิสระ ไม่ได้ล้มลงเพราะการเคลื่อนไหวของมวลชน นี่ถือเป็นการกุมอำนาจของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยผ่านองค์กรอิสระ ทำให้เราตั้งคำถามกับองค์กรอิสระที่มีความสัมพันธ์กับประชาชน จะมีการรับผิดอย่างไร เช่น กรณี กกต.กับการยื่นฟ้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ล่าช้า ซึ่งเป็นทำหน้าที่บกพร่องจะรับผิดชอบกับประชาชนอย่างไร นอกจากนี้เวลาเกิดความขัดแย้งทางการเมือง องค์กรอิสระมีการชี้ถูกชี้ผิดที่ไร้มาตรฐาน แต่ไม่มีการผิดชอบการกระทำของตนเอง (ในการที่ตนเองทำให้สังคมเสียหาย หรือทำให้เกิดข้อกังขาในสังคม)


สาม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญมีการเขียนระบุไว้ แต่มักจะมีกฎหมายพิเศษ กับกฎหมายยกเว้น เช่น พ.ร.บ.คอมฯ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งกฎหมายยกเว้นนี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาที่สุด สิ่งที่เป็นข้อยกเว้นกลับถูกใช้เป็นอย่างมาก ในขณะที่หลักการรัฐธรรมนูญกลับไม่ค่อยใช้ ดังนั้นจึงเห็นว่า ควรทำให้เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องหลัก ทำให้กฎหมายพิเศษ หรือ กฎหมายยกเว้นมันเล็กลงกว่ารัฐธรรมนูญ เพราะมีคนจำนวนมากที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้เพราะสังคมไทยยังมีเรื่องที่ยังเบลอ และไม่มีใครกล้าพูด


สี่ ทำอย่างไรให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายวางบนหลักการที่อยู่บนเหตุผลและความ ชอบธรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เช่น เรื่องข้อเรียกร้องเรื่องสองมาตรฐาน ดังนั้นจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ Rule of laws (หลักนิติธรรม) ได้รับการยอมรับ


ห้า เรื่องสถาบันจารีตและองคมนตรี คงจะต้องมีการจัดวางสถานะให้พ้นจากการเมือง เช่น องคมนตรีไม่ควรให้กำลังใจนักการเมืองหรือข้าราชการประจำ เป็นต้น


สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่การเปลี่ยน แปลงใหม่ ไม่ใช่แค่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญที่มีการวางหลักการพื้นฐานสำคัญ ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ มันจะทำให้สังคมไทยหรือรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมีอนาคต กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่เราควรจะต้องทำ คือ เมื่อเราวิจารณ์เขาแล้ว ถ้าเราจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เราไม่ควรทำเหมือนที่เขาทำมา แต่เราควรทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ เป็นของคนทุกคน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนเสื้อแดง หรือรัฐธรรมนูญที่ปิดปากอีกฝ่าย ทุกฝ่ายสามารถขัดแย้ง โต้เถียงกันได้ คนเสื้อแดงต้องแสดงให้เห็นว่าเรากำลังผลักสังคมไทยไปข้างหน้าด้วยความเสมอ ภาคและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง


(คลิกอ่านรายงานเสวนาฉบับเต็มได้ที่นี่)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker