คุยกับอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งเขาเห็นว่า อินเตอร์เน็ตได้กลายสถานะมาสู่ความเป็นสื่อกระแสหลักแล้ว คาดหากรัฐประหารอีกครั้ง ก็คงไม่มีการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตอย่างเลวร้ายเพราะไทยยังต้องอยู่ในสังคมโลก
การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มีผลหรือนัยสำคัญยังไงต่อการใช้พื้นที่ออนไลน์
“ผมคิดว่ามันใช้กันอย่างหนักก่อนรัฐประหารแล้ว ดูช่วงไล่ทักษิณ ว่าง่ายๆ เป็นช่วงที่คึกคักมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเมเนเจอร์ออนไลน์ที่เสนอข่าว มีนก๊อปปี้ข่าวจากเว็บไซต์ ตอนนั้นมีประชาไทด้วยที่นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นเวทีที่สวนลุมพินี ไล่ต่อมาเรื่อยๆ รายการที่ถูกทอด รายการที่ถูกถอดออกจากผังรายการของทักษิณ รายการของเจิมศักดิ์ คลิปของรายการต่างๆ มันเคลื่อนไหวออนไลน์มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว คือช่วงปีสองปีที่ไล่ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นฟอร์เวิร์ดเมล เว็บบอร์ดพันทิพ เมเนเจอร์ ประชาไท เคลื่อนไหวคึกคักอยู่แล้วในช่วงนั้น แต่รัฐประหารมันนำคนใหม่ๆ มาสู่ออนไลน์ เท่าที่ผมสังเกตดูก่อนรัฐประหาร ออนไลน์คึกคักจริง แต่วงก็ยังอยู่จำกัดอยู่ อาจจะเรียกรวมๆ เป็นชนชั้นกลางก็ได้ เป็นพนักงานออฟฟิศ ก่อนกลับบ้านอยู่ในออฟฟิศก็กดดูข่าวเมเนเจอร์หน่อย โพสต์เว็บบอร์ดหน่อย อะไรก็ว่าไป อาจจะปริ้นต์อะไรออกมาอ่านในรถไฟฟ้าก็ว่าไป
“นอกจากเว็บบอร์ด หรือว่าเมเนเจอร์ หรือประชาไท ช่วงนั้นยังมีอีกอันหนึ่งที่คึกคักในช่วงไล่ทักษิณก็คือ บล็อก บล็อกเกอร์ทั้งหลายเกิดขึ้นมากมายในช่วงปี 2004 ถึง 2006 ตอนนั้นมี ไบโอลอว์คอม ที่เป็นนักเรียนไทยในเยอรมันเขียนวิเคราะห์กฎหมาย หรือว่า fringer.org ที่มีการลงบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นชินฯ ว่าเป็นอะไรยังไง ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนที่รัฐประหารเปลี่ยนออนไลน์ มันไม่ใช่ว่าคึกคักหรือไม่คึกคัก แต่ว่ามันนำคนใหม่ๆ เข้ามา เราจะเห็นคนที่ในคืนวันนั้นมาจากไหนไม่รู้ มาถ่ายรูปรถถังอัพโหลดขึ้นบล็อก ตอนนั้นมีบล็อก 19 sep. blogspot.com ขึ้นมาวันนั้นเลย แล้วก็กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่ามันนำคนใหม่ๆ มาในโลกออนไลน์มากกว่า แล้วคนใหม่ๆ ที่เข้ามาในออนไลน์จากกระแสออนไลน์ที่มันค่อนข้างไปในทางเดียว คือไม่เอาคอร์รัปชั่น ไม่เอาทักษิณ มีอีกอันหนึ่งเข้ามาในออนไลน์แล้วก็เกิดการปะทะกัน ก่อนหน้านั้นที่เราเห็นว่ามีการควบคุมอะไรกัน มันออกจะเป็นที่รัฐกับประชาชนขัดกัน แต่หลังรัฐประหารที่มันชัดคือว่า มันเริ่มมีประชาชนสองกลุ่มละที่เริ่มขัดกันเองที่มันชัดขึ้น”
ใน แง่ที่ความเห็นของประชาชนเห็นแตกต่างต่างกันแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ พื้นที่ออนไลน์สามารถสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนมากขึ้นไหม หรือว่าจริงๆ เป็นพื้นที่สร้างความแตกแยกมากขึ้น
“แตกแยกมากขึ้นไหม ไม่รู้ แต่คิดว่าออนไลน์มันไปเข้ากันกับลักษณะนิสัย ‘สาวไส้ให้กากิน’ เรื่องการแฉ ตั้งแต่ก่อนมีออนไลน์เราก็ชอบกันอยู่แล้วล่ะ ผมคิดว่าทุกที่ไม่ใช่แค่เมืองไทยหรอก แฉการคอร์รัปชั่น อย่างกรณีทักษิณก็ชัดเจน หลังรัฐประหารก็มีแฉ คมช.ใช้งบนั้นนี้ ช่วงนั้นก็จะมีการนำนายทหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารไปนั่งเป็น บอร์ดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีโอที การบินไทย รัฐวิสาหกิจ มันก็มีการแฉเรื่องพวกนี้ออกมา ผมคิดว่าออนไลน์มันเอื้อในลักษณะที่ว่า คุณไปดึงข้อมูลต่างๆ ออกมา คุณอาจจะไม่รู้เรื่องพวกนี้มาก่อน คุณไปเสิร์ชดูเจออะไรบางอย่างสนใจ ก็เอาโพสต์ในเว็บบอร์ดมาแบ่งให้เพื่อนดู คือลักษณะการแฉทำได้ง่ายมากขึ้น การส่งข้อมูลตรงนี้เยอะ ถ้าเป็นเมื่อก่อน หนังสือพิมพ์หรือทีวี มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันไม่สามารถมีลักษณะที่เจาะที่แฉกันขนาดนี้ได้ จากตรงนี้แหละที่นำไปสู่ อย่างสมัยนี้ต้องเรียกว่าดรามาร์ คือคนจะบอกว่าข้อมูลนี้ไม่เชื่อ ไม่จริง ข้อมูลถูกต้องหรือเปล่า มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือไหม คนมันอัดกันเรื่องนี้มากกว่า คุณก็แฉเฉพาะเรื่องที่คุณคิดว่ามันเข้าทางคุณ เรื่องอื่นคุณไม่เห็นพูดเลย จะมีดรามาร์ลักษณะอย่างนี้ คุณเลือกพูดนี่ จะออกไปลักษณะนี้มากกว่า”
“ผมว่า โดยตัวมันเอง ออนไลน์ทำให้แตกแยกอะไรไหม ผมไม่ได้เชื่ออย่างนั้น ผมก็ยังมองในแง่ดีว่ามันก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าของตั้งต้นที่มีมาก่อนหน้านั้น ความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง ออนไลน์ช่วยขยายมันมากขึ้นมากกว่า คือมันมีรอยปริอยู่แล้ว ออนไลน์อาจจะเร่งตรงนี้มากขึ้น”
เรา จะพูดอย่างนี้ได้ไหมว่า รัฐประหารเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การปะทะสังสรรค์ทางความคิดในโลกออนไลน์ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วก็เปิดพื้นที่ให้ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายทางการเมือง
“พูดได้ ก็ใช้คำว่า ‘ตาสว่าง’ ใช่ไหม แต่ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่คนมันกระหาย คือก่อนหน้านี้มันอาจจะมีความต้องการอะไรลักษณะนี้อยู่ แต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ได้มีจุดที่จะดึงมาสนใจเรื่องนี้กันมากๆ เถอะ ผมก็ดูคลิปพี่ที่เป็นนักการตลาด แล้วก็มาเป็นนักข่าวไทยฟรีนิวส์ ผมคิดว่ามันมีคนที่สนใจข่าวสารบ้านเมืองอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว ทุกคนก็อ่าข่าวหลายคนก็ติดตามข่าว แต่ไม่ถึงจุดที่ต้องมาทำอะไรมาพูดอะไรของตัวเอง แต่ว่าอย่างที่เราว่ารัฐประหารก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนที่เป็นคนรับรู้ ข่าวสาร ติดตาม อยากจะออกมาพูดอะไรของตัวเองบ้าง เพราะรู้สึกทีเราอ่านมาไม่เหมือนกับที่เราเข้าไปพบเข้าไปเห็น ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต้องมาอธิบายอะไรกันแล้ว ผมคิดว่าคนที่ดูคลิปอันนี้อยู่ก็คงเป็นหนึ่งในคนจำนวนมากมายที่เป็นคนรับ สารอยู่ ก็น่าจะเห็นปรากฏการณ์นี้อยู่แล้วในตัว ผมคิดว่าไม่ต้องการคำอธิบายอะไร เป็นเรื่องที่เห็นๆ กันอยู่แล้วว่าอินเตอร์เน็ตออนไลน์มันทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ คนมันเรียกรวมๆ ว่าตาสว่างก็ได้ ไม่ได้พูดถึงประเด็นอะไรเป็นการเจาะจงนะ ผมยืมคำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มันทำให้คนเห็นมากขึ้น พอเห็นแล้วมันก็อดไม่ได้ที่จะพูดอะไรบางอย่าง ที่จะพูดอะไรบางอย่าง อาจจะพุดในห้องลับ ในกรุ๊ปลับ เฟซบุ๊คเดี๋ยวนี้มีกรุ๊ปลับเยอะแยะ หรือในเว็บบอร์ดที่อาจจะรู้กันเฉพาะกลุ่ม หรืออาจในเว็บบอร์ดที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย พอตาสว่าง ปากมันก็อยากสว่างด้วย มันจะมีผลกระทบอะไรกลับมาถึงตัวหรือเปล่า อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ว่ารัฐจะเข้ามาควบคุมว่า มึงอย่าปากสว่างนะ กูจะต้องบล็อกมึง อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งละ แต่จุดต่างๆ มันเริ่มจากว่า พอรัฐประหารมันพลิก ทำให้คนรู้สึกว่าไม่ได้ละ”
ใน บรรยากาศแบบนี้ ถึงจะมีการไล่บล็อกกัน ปิดกั้นความเห็นในโลกออนไลน์อยู่บ้าง ถ้ามีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งการควบคุมการรับรู้ก็จะยากขึ้นด้วยใช่ไหม
“ไม่แน่เหมือนกันนะ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าครั้งที่แล้วที่รัฐประหาร เขาอาจจะประเมินอินเตอร์เน็ตต่ำไปหรือเปล่า เพราะมันก็เข้าสูตรเดิม ส่งคนไปคุมสถานีวิทยุ โทรทัศน์ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมา ตัวอินเตอร์เน็ตไม่ได้ทำอะไรกับมันมากนัก แล้วก็ปรากฏว่าในคืนเดียวกันนั้น ภาพข่าวต่างๆ จากเมืองไทยก็ไปโผล่ตามเว็บต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะครั้งรัฐประหารปี 35 มันก็มีซีเอ็นเอ็นที่ภาพออกไปเกือบจะคืนนั้นเหมือนกัน มันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใหม่มาก คนที่เข้าถึงซีเอ็นเอ็นตอนนั้นกับคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตตอนนี้ จำนวนมันเทียบกันไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าจะมีรัฐประหารใหม่อีกรอบ บางทีมันอาจจะเหมือนกับซีเรียก็ได้ คือเขาคงไม่ปล่อยเอาไว้ แต่ก็อาจจะทำอะไรที่โหดร้ายรุนแรงขนาดนั้นไม่ได้ เพราะไทยก็รู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องอยู่ในประชาคมโลก อาจจะไม่สามารถเล่นบทกูไม่เอาอเมริกันเต็มที่อย่างในภูมิภาคนั้นได้ เพราะกูไม่จำเป็นต้องแคร์ใครแล้ว เพราะอเมริกันก็ไม่แคร์เขา จริงๆ ประเทศไทยก็ยังต้องแคร์หลายประเทศอยู่ มันอาจจะไม่รุนแรงโหดร้ายขนาดเอาคนไปฆ่าไปขัง เอาบล็อกเกอร์ไปทรมานขนาดนั้น
“ผมคิดว่าการปิดกั้นมันต้องมากกว่าครั้งที่แล้วแน่ๆ สุดท้ายสถานะของอินเตอร์เน็ตตอนนี้มันถือว่าเป็นสื่อกระแสหลักไปแล้ว แต่ถ้าใช้กรอบคิดเดิมว่าจะรัฐประหาร คุณจะต้องควบคุมสื่อให้ได้ อินเตอร์เน็ตตอนนี้มันถูกนับรวมไปแล้วด้วยไง คือปิดทีวี เขาคงไม่เอาผู้ประกาศข่าวไปทรมานใช่ป่ะ แต่มันก็มีวิธีว่าควบคุมอะไรบางอย่าง”