ระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าดีหรือเลว ไม่ว่าพัฒนาแล้วหรือยังด้อยพัฒนามันก็มีกฎกติกาของมันที่จะเดินไป อย่างวันนี้ ก็จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกหลังเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ให้กฎกติกาประชาธิปไตยสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง คือ เลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นมาตั้งรัฐบาลใหม่
ไม่ใช่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งตามอำเภอใจของคณะปฏิวัติ ที่เล่นพวกเล่นพ้องไม่แพ้รัฐบาลที่ถูกปฏิวัติ
และก็ไม่แปลกอะไรที่วันนี้พรรคพลังประชาชนจะเสนอ นายยงยุทธ ติยะไพรัช หนึ่งในผู้ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็น ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ เพราะผู้ชนะย่อมได้อำนาจทั้งหมด นี่คือกฎกติกาการเมือง
ที่สำคัญ นายยงยุทธ นอกจากจะเป็นผู้ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว ยังเป็น 1 ใน 3 ตัวแทนพรรคพลังประชาชน ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็น ผู้มีอำนาจเจรจาแบ่งโควตารัฐมนตรี กับพรรคร่วมรัฐบาล เคียงคู่กับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค
เพราะตำแหน่ง ประธานรัฐสภา เป็นตำแหน่งสำคัญ มีหน้าที่ต้องนำชื่อ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย จึงต้องเป็นคนที่พรรคไว้ใจที่สุด
เช่นเดียวกับตำแหน่ง รัฐมนตรีกลาโหม ไม่ต้องไปเฟ้นชื่อให้เสียเวลา ผมฟันธงล่วงหน้าตรงนี้เลยว่า จะต้องเป็น คนของพรรคพลังประชาชน ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใครจะไปไว้ใจคนอื่นที่ไกลตัว ทั้งๆที่เพิ่งถูกปฏิวัติมาหมาดๆ
วันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า พรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ฟื้นคืนชีพมาเต็มตัวแล้ว และมีอำนาจเด็ดขาดในรัฐบาลเหมือนเดิมไม่ว่าจะใช้ชื่อพรรคอะไรก็ตาม นี่คือความเป็นจริงที่สังคมต้องยอมรับ
แม้แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะกลายเป็นอดีต ก็ออกมายอมรับกับนักข่าวที่บ้านเขายายเที่ยงว่า
พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯมาถึง 6 ปี ก็ต้องมีพวกมีเพื่อน รวมทั้งมีเงินด้วย สังคมก็มองเหมือนกันว่า คนที่อยู่ในฐานะแบบนี้ก็น่าจะมี บารมีและอิทธิพลบ้าง เพราะไปถามชาวบ้านในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ ก็ยังมีความชื่นชอบในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ
สรุปก็คือ 1 ปีกับ 4 เดือนที่ผ่านมา คมช.และรัฐบาลขิงแก่ ที่ช่วงชิงอำนาจมาอยู่กับมือ บริหารประเทศล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
เวลา 1 ปี 4 เดือนของประเทศไทยและคนไทยที่สูญหายไปกับความว่างเปล่า จากการปฏิวัติที่ไม่เอาไหนของทหารที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
นอกจากสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของชาติบ้านเมือง และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับคนไทยทุกคนแล้ว คณะปฏิวัติ หรือ คมช.ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยังพาเศรษฐกิจบ้านเมืองและการเมืองไทยถอยหลังลงคลองอีกด้วย
ถ้าหากรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นชีวิตใหม่ของพรรคไทยรักไทยจะคิดบัญชีกับพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะปฏิวัติ ด้วยการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาสอบสวน ในฐานะผู้ทำให้เศรษฐกิจของชาติบ้านเมืองเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทำให้บ้านเมืองถอยลงคลอง ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม
อนาคตข้างหน้าจะได้ไม่มีใครคิดปฏิวัติอีก
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากต่อ “รัฐสภาชุดใหม่” ก็คือ การเดินหน้า “แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ คมช.” ในบทบัญญัติที่บ่อนทำลายความมั่นคงของพรรคการเมือง เพื่อทำลายความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งเป็นการทำร้ายชาติบ้านเมืองทางอ้อม เพื่อจะได้สร้าง “รัฐบาลที่มั่นคงแข็งแรง” ขึ้นในอนาคต เมื่อมีรัฐบาลที่มั่นคง ประเทศก็แข็งแรงครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย