นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนแรกและคนปัจจุบัน ถึงแก่กรรม ช่วงเย็นวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2551
“เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” เกิดขึ้นจากแนวความคิดของคุณหมอสงวนที่อยากเห็นคนไทย ไม่ว่ายากดีมีจนมีสุขภาพดี ไม่ต้องล้มละลายกับค่าใช้จ่าย ในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง
คงเคยได้ยินกันบ่อยๆ “เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย...คนที่มีฐานะยากจนต่างร้องห่มร้องไห้ จะหาเงินที่ไหนไปรักษา หรือเมื่อไปโรงพยาบาล ก็ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว”
เฉกเช่นที่ผ่านมา...คนไข้รายหนึ่งที่เขียนถอดความในใจว่า ได้รับการผ่าตัดหัวใจ ที่โรงพยาบาลทรวงอกได้รับประโยชน์จากการใช้บัตรทอง หรือบัตร 30 บาทมาก
“แม่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจโดยไม่ต้องเสียเงินหลายแสนบาท ซึ่งหากต้องเสีย เราคงเป็นหนี้ ขายที่นาจำนองบ้าน ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโรคทรวงอก คุณหมอโครงการ 30 บาท ผ่าตัด ดูแลให้กำลังใจด้วยดี...ขอบคุณด้วยความจริงใจ”
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เขียนบทความไว้ว่า
ในบรรดาข้าราชการทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบันจะหาใครที่มีผลงาน ที่ก่อคุณูปการแก่วงการสาธารณสุขของประเทศไทยมากมาย เท่ากับคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คงไม่มีอีกแล้ว
คงไม่มีใครเห็นแตกต่าง ถ้าจะกล่าวว่า...คุณหมอสงวนเป็นหนึ่งในผลผลิตของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งสามารถธำรงรักษา และหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ 14 ตุลาฯ ไว้ได้อย่างหมดจดงดงาม และยิ่งใหญ่...ตราบจนวาระสุดท้าย
เริ่มจากสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ในคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ท่ามกลางการต่อสู้อันแหลมคมระหว่างอุดมการณ์สองขั้ว ที่ต่อสู้กันอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ...หลายกรณีก็ถึงชีวิต
“สงวน เป็นนักศึกษาแพทย์ที่ต่อสู้อย่างโดดเด่นอยู่แถวหน้าจนได้รับเลือกตั้ง เป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษา ที่เผชิญเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาอย่างเจ็บปวด”
หมอสงวนเป็นหนึ่งในหัวขบวนที่ตัดสินใจไม่เข้าป่า ไม่เคยแปรธาตุเปลี่ยนสี หรือละทิ้งอุดมการณ์ คือ ความใฝ่ฝันอันงดงามในวัยหนุ่มสาว
ตลอดชีวิตได้ทุ่มเทอุทิศให้แก่การสร้างสรรค์บ้านเกิดเมืองนอนโดยเฉพาะงาน สาธารณสุข เพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
เริ่มตั้งแต่ตัดสินใจไปเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
หลายคนคงจำได้ ถึงข่าวการถูกคุกคามระหว่างใช้ชีวิตเป็นแพทย์ชนบท โดยเฉพาะที่ราษีไศล
เคราะห์ดีที่ทางการฝ่ายความมั่นคงขณะนั้น มีความฉลาด และอดทนเพียงพอ ทำให้คุณหมอสงวนรอดจากชะตากรรมอันเลวร้าย กลับเข้าสู่กรุงเทพฯ
สำหรับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข นอกจากประสบการณ์ในฐานะแพทย์ชนบท เบ้าหลอมสำคัญที่จะทำให้เข้าใจงานสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคได้อย่างลึกซึ้งและ ถ่องแท้คือ...ตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด
คุณหมอสงวนเป็นคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสผ่านงานนี้ แต่ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น เพื่อประเทศชาติ และประชาชน ก็เข้าใจงานได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้
สมัยที่เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน ต่อมาย้ายมาอยู่ที่สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คุณหมอสงวนได้สร้างผลงานที่มีผลกระทบสำคัญต่อระบบบริการสาธารณสุข ที่สำคัญๆได้แก่
การสร้างระบบจูงใจใหม่ในการปฏิบัติงานนอกเวลา ของโรงพยาบาลและ สถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนตามปริมาณงาน
เป็นที่ทราบกันดี...การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอกาลิโก จะเกิดขึ้นยามไหนเมื่อใดก็ได้ การจัดบริการของโรงพยาบาลตามระบบราชการ มุ่งเน้นให้บริการเต็มที่เฉพาะในเวลาราชการ จึงไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่ควรจัดบริการให้ตอบสนอง
งานนี้ชิ้นเดียว...ก่อคุณูปการให้แก่ประชาชนคนไข้มากมายมหาศาลทั่วประเทศ
“มิใช่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ต้องใช้เวลาศึกษาเตรียมการกันอย่างยาวนาน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และเป็นระบบจูงใจให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง”
ปัญหาสมองไหล ปัญหาใหญ่ของวงการสาธารณสุขในประเทศไทย ทำให้โรงพยาบาลรัฐอ่อนแอเป็นโรงพยาบาลชั้นสอง...สาม...สี่ ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนจะเติบโตทิ้งห่าง
คุณหมอสงวนคนนี้ พัฒนาระบบแรงจูงใจบุคลากรให้คงอยู่ในระบบราชการ
ที่สำคัญคือ ระบบการจ่ายเงินค่าตอบแทนการไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัว, จ่ายตอบแทนตาม ปริมาณงาน, เพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแพทย์ชนบท, จ่ายค่าวิชาชีพแก่พยาบาล และจ่ายค่าตอบแทนแก่พยาบาลที่ปฏิบัติงานในเวรบ่าย เวรดึก...ควบคู่กับการพัฒนาระบบบริการอื่นๆ
ส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐ ยังคงระดับมาตรฐานการบริการไว้ได้ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมในปัจจุบันจึงไม่ได้ด้อยไปกว่าบริการในโรงพยาบาลเอกชน
นอกเหนือจากงานในกระทรวงสาธารณสุข คุณหมอสงวนยังขยายความสนใจ ออกไปนอกกระทรวงฯ ด้วยการเข้าไปวางรากฐานระบบบริการการแพทย์ของประกันสังคม
หลังจากรอนานกว่า 30 ปี...ระบบประกันสังคมก็ถือกำเนิดขึ้น สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เริ่มให้บริการทางการแพทย์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2534
คุณหมอสงวนและทีมงานได้เข้าไปวางระบบบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม เริ่มจากเป็นผู้มีบทบาทในการฟอร์มคณะกรรมการการแพทย์ชุดแรก และเข้าไปเป็น กรรมการคนหนึ่ง มี 3 เรื่องสำคัญที่มีผลต่อความมั่นคงของกองทุนมาจนถึงทุกวันนี้
(1) การตัดสินใจใช้ระบบเหมาจ่ายแทนระบบการจ่ายตามที่โรงพยาบาลเรียกเก็บ ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ไม่บานปลาย
(2) การเริ่มอัตราเหมาจ่ายที่ 700 บาท/คน/ปี โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกดดันขอที่ 1,200 บาท ด้วยการประกาศไม่เข้าร่วมโครงการ ถ้าไม่ได้ตามที่เสนอ
แต่...คุณหมอสงวนและทีมงาน เสนอการคำนวณ จนคณะกรรมการแพทย์ตัดสินใจ เคาะที่ 700 บาท และยืนอัตรา 700 บาท มาได้ตลอด 4 ปีแรก
(3) การตัดสินใจใช้บริการของโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้ว ไม่สร้างโรงพยาบาลของตนเอง เพราะโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนที่มีอยู่ มีศักยภาพพอเพียงในการให้บริการผู้ป่วย ในระบบประกันสังคม ซึ่งระยะแรกมีราว 3 ล้านคน
ข้อสำคัญประกันสังคมควรเป็นผู้ซื้อบริการ ไม่ควรเป็นผู้จัดบริการเอง
“การตัดสินใจในเรื่องสำคัญเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยข้อมูลจากการศึกษาวิจัย อย่างเป็นระบบ และการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์อย่างดี การวางคนเข้ามาเป็นกรรมการ การผลักดัน แก้ปัญหาจึงต้องมีจังหวะจะโคน”
นอกจากคิดไตร่ตรองได้อย่างรอบคอบแล้ว คุณหมอสงวนยังเป็นนักเจรจาผลักดันที่เยี่ยมยอด รู้ว่าจะต้องไปพบใครหรือพูดกับใคร อย่างไร
ทุกครั้งที่คุณหมอสงวนโทรศัพท์ถึงใคร มักจะมีแต่เรื่องงานเป็นหลัก และจะมีการเจรจาทำความเข้าใจ ตลอดจนมีข้อเสนอและขอคำตอบจนแจ่มแจ้ง ชัดเจน เรียกว่าคุยจน “ได้งาน” เสมอ
งานสำคัญที่คุณหมอสงวนตั้งใจมุ่งมั่นเป็นงานชิ้นเอกในชีวิตนี้คือ การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ (Health Care Reform)
บ่อยครั้งที่ประสบปัญหาหรือมีคนรู้สึกว่าคุณหมอสงวนจะไปแย่งตำแหน่งบริหารสูงสุด ในกระทรวงสาธารณสุข แต่คุณหมอจะพูดย้ำเสมอว่า “ขอทำงานนี้งานเดียวแล้วพอแล้ว”
จากประสบการณ์ในงานประกันสังคม หล่อหลอมจนเป็นระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคจนถึงรักษาฟรี ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) น่ายินดีที่คุณหมอสงวนทำงานนี้จนสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน ก่อนที่จะละสังขารไปจากโลก
ตลอดระยะเวลาที่ได้รับคัดเลือกและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. คุณหมอสงวนได้ทุ่มเททำงานที่เป็นความฝันสุดท้ายในชีวิตได้อย่างดียิ่ง
แม้รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้อย่างกระเบียดกระเสียร แต่ก็บริหารได้อย่างโปร่งใส มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างที่ดีของระบบการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
สิ่งที่คุณหมอสงวนอยากจะทำต่ออีกอย่างหนึ่งคือโครงการเพื่อนช่วยเหลือ มิตรภาพบำบัด บรรดาคุณหมอหัวเรือใหญ่ได้มีแนวคิดจัดตั้ง “กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่อมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อสนับสนุนกองทุนย่อย และกิจกรรม มิตรภาพบำบัดในโรงพยาบาลต่างๆ
ขณะเดียวกัน กองทุนนี้จะส่งเสริม เชิดชูเครือข่ายอาสาสมัครที่ทำงานมิตรภาพบำบัด ยกระดับความตื่นตัวของสังคมในเรื่องจิตอาสา เพื่อช่วยเหลือสังคมส่วนรวมสืบสานเจตนารมณ์สร้างจิตอาสาของคุณหมอสงวนสืบต่อไป...
ขอให้ดวงวิญญาณของคุณหมอสงวน จงไปสู่สุคติ...