สมคำร่ำลือปลาไหลๆ จริงสำหรับพรรคชาติไทย หลังจากที่อยู่ดีๆ วิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัคร สส.เชียงราย เขต 3 ค่ายชาติไทย ก็ตัดสินใจถอนฟ้อง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ว่าที่ สส.แบบสัดส่วนกลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน ในคดีการซื้อเสียงที่เชียงราย
ทั้งๆ ที่ท่าทีก่อนหน้านี้ยืนกรานต้องเดินหน้าถึงขั้นยุบพรรค ซึ่ง สุดท้ายก็เป็นแค่มวยล้มต้มคนดู แต่โชคยังดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันหนักแน่นถึงจะถอนฟ้องก็ไม่มีผลต่อกระบวนการในการสอบสวน
มองปัจจัยลึกๆ ในเรื่องนี้แล้วบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ เนื่องจากอยู่ในภาวะการจับขั้วตั้งรัฐบาล ที่พรรคชาติไทยเองต้องการเข้าไปร่วมขบวนรัฐนาวาพรรคพลังประชาชน แต่พอมาเกิดเรื่องฟ้องร้องกันระหว่าง 2 พรรคขึ้น บวกกับแกนนำระดับหัวแถวของพรรคพลังประชาชนอย่าง สมัคร สุนทรเวช, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือแม้กระทั่ง เนวิน ชิดชอบ ไม่พอใจกับท่าทีของพรรคชาติไทย ในเรื่องที่ดึงพรรคเพื่อแผ่นดิน มาเป็นตัวประกันเพื่อประวิงเวลาใน การฟอร์มรัฐบาลด้วยแล้ว พรรคพลังประชาชนจึงเตรียมที่จะกาชื่อพรรคชาติไทยทิ้งออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
ในเมื่อพรรคชาติไทยเริ่มรู้ตัวแล้วตัวเองกำลังตกขบวน วิธีการเดียวจะทำให้สถานการณ์ไม่สายเกินแก้คือ การต่อสายไปยัง ดร.วิจิตรให้เข้ามายื่นเรื่องถอนฟ้องต่อ กกต.เป็นลายลักษณ์อักษรทันที
คำสั่งฟ้าผ่านี้ส่งตรงมาจากบิ๊กบอสตระกูล จงสุทธามณี ขาใหญ่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นตระกูลที่ติดสอยห้อยตาม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ มาตลอดตั้งแต่ เสธ.หนั่นทำพรรคมหาชน
ฉะนั้น เท่ากับว่า เมื่อหัวส่ายหางก็ต้องย่อมกระดิกตาม โดยหัวเรือใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เสธ.หนั่น เพราะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ควบเก้าอี้ ซีอีโอดูแลภาคเหนือ ของพรรครายนี้ เป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจจากบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ในการมอบหมายให้ไปประสานสิบทิศกับพรรคพลังประชาชน
จึงไม่แปลกที่คนระดับ เสธ.หนั่น จะไม่รู้ว่าอะไรไม่ควรทำ และอะไรควรทำยิ่งคนที่ถูกฟ้องร้องด้วยชื่อ ยงยุทธ ติยะไพรัช เบอร์ 2 ของพรรคพลังประชาชนด้วยแล้ว มีหรือคนอย่าง เสธ.หนั่นจะไม่รู้เลยว่าอะไรที่ควร หรือไม่ควรทำในช่วงที่สถานการณ์ร่วมรัฐบาลยังลูกผีลูกคนอย่างนี้
การถอนฟ้องเป็นวิธีเดียวที่พอจะประสานรอยร้าวระหว่าง 2 พรรคได้ แม้ว่าจะไม่มีผลใดๆ ต่อการสอบสวนของ กกต.ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นการบอกแล้วว่าชาติไทยต้องการสมานฉันท์กับพลังประชาชน เพื่อให้สร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองในการประกาศร่วมรัฐบาลในวันที่ 17 ม.ค. เพราะคงจะไม่ดีนักหากพรรคชาติไทยไปร่วมรัฐบาล แต่ยังมีคดีการเมืองที่ฟ้องร้องกันอยู่ ที่สำคัญที่สุดของการเดินเกมครั้งนี้ ก็เพื่อให้การต่อรองทางการเมืองทำได้ง่ายมากขึ้นนั่นเอง
กลับกันหากขืนไปปล่อยให้กระบวนการต่างๆ ดำเนินการต่อไป โดยที่พรรคชาติไทยไม่ทำอะไรเลย จะมีแต่บั่นทอนอำนาจในการต่อรองให้พรรคชาติไทยมีค่าทางการ เมืองน้อยลง จนส่งผลต่อการขอโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีหลายตัว ที่ล้วนแล้วมีชื่อคนในมุ้งศิลปอาชาเป็นแคนดิเดตทั้งสิ้น เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีชื่อ แกนนำพรรคอย่าง กัญจนา ศิลปอาชา, วีรศักดิ์ โควสุรัตน์, สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล, นิกร จำนงค์, ประภัตร โพธสุธน เป็นต้น จึงเป็นตัวเร่งให้พรรคชาติไทยต้องถอนฟ้อง
ขณะเดียวกันพรรคชาติไทยเองก็รู้ดีว่า การถอนฟ้องในครั้งนี้ย่อมถูกจับตามองของสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงได้มอบหมายให้ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรค และ ฐนนท์ศรณ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล เลขาฯ ส่วนตัวพญา ชาละวันออกมาให้ข่าวในทำนองเดียวกันว่า เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับพรรค ทั้งนี้เพื่อลดกระแสสังคมและให้พรรคลอยตัวจากปัญหาพร้อมกับผลักภาระไปให้ ดร.วิจิตรแต่เพียงผู้เดียว
นอกเหนือไปจากเหตุผลเรื่องการเมืองที่ทำให้ ดร.วิจิตรยุติการเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องพื้นที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า จ.เชียงราย ถูกผูกขาดด้วยตระกูลติยะไพรัชมาตลอด
ดังนั้น ในเมื่อหัวหน้ามุ้งภาคเหนือพรรคพลังประชาชนกำลังโดนไล่ถล่มขนาดนี้ ย่อมสร้างความไม่พอใจกับประชาชนที่เป็นฐานกำลังหลักให้กับพรรคพลังประชาชนแน่นอน อาจทำให้โอกาสแจ้งเกิดที่เชียงรายสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปของ ดร.วิจิตรมีโอกาสน้อยตามไปด้วย จึงดีดลูกคิดแล้วเห็นว่าควรถอยจะดีกว่าเพื่ออนาคตของตัวเองและของพรรค
แต่เหนือสิ่งอื่นใดการถอนฟ้องครั้งนี้ได้กลายเป็นคำตอบกับสังคมด้วยว่าพรรคชาติไทยกระหายอยากจะร่วมรัฐบาลขนาดไหน