ตอนนี้รัฐเผด็จการนี้กำลังเร่งออกกฎหมายต่าง ๆ ที่ไม่สามารถจะออกเป็นกฎหมายในยุคที่ประเทศอยู่ในช่วงประชาธิปไตยเต็มใบได้ เพราะเป็นกฎหมายที่กดขี่ประชาชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือเป็นกฎหมายส่งเสริมระบอบอำมาตรยาธิปไตย
ผมคิดว่า ภารกิจแรกๆ ของรัฐบาล คุณสมัคร สุนทรเวช และ รัฐสภาที่มาจากเลือกตั้งคือ "การสะสางกฎหมายเผด็จการเหล่านี้" สะสางกฎหมายที่ตราขึ้นโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นโดย คมช. โดยจะต้องนำมาทบทวนใหม่ในทุกฉบับ เพื่อไม่ให้ “มรดกบาปของเผด็จการ” เหล่านี้เหลือเป็นตราบาปให้ประเทศไทยต่อไป
เมื่อเขาถือ “โอกาสที่ไม่ปกติ” นี้ ออกกฎหมายที่กดขี่ประชาชน รัฐบาลประชาธิปไตย ก็ต้องยกเลิกการกระทำเหล่านี้เสีย เมื่อประชาธิปไตยกลับมา เพื่อสั่งสอนให้พวกเขารู้ว่า กฎหมายใดๆ ที่ออกโดยเผด็จการย่อมไม่สามารถอยู่รอดได้ เมื่อยามประเทศอยู่ใน “ยุคประชาธิปไตย” แล้ว
กรณี TITV หรือ ITV เป็นกรณีแรกๆ ที่จะต้องทบทวนทันที ทั้งเป้าหมาย อุดมการณ์ที่ต้องการ “สถานีโทรทัศน์ที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ” ตามเจตนารมย์ดั้งเดิมของการก่อตั้ง ITV ตั้งแต่เริ่มต้นขึ้นหลัง “พฤษภาทมิฬ” ที่สื่อต่างๆ ถูกควบคุมโดยรัฐทั้งหมด หาสื่อที่ประชาชนเป็นที่พึ่งไม่ได้เลย
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในยุครัฐประหารของ คมช. ที่สื่อต่างๆ โดนรัฐเผด็จการควบคุมหมด แต่อย่างไรก็ตาม พนักงานของ ITV ก็ได้แสดงให้เห็นว่า เผด็จการไม่อาจครอบงำได้อย่างสมบูรณ์ ยังมีสัญญาณของการต่อสู้ การต่อต้านจากองค์กรแห่งนี้ เพื่อรักษาจิตวิญญาณของ “สถานีโทรทัศน์อิสระ” เอาไว้
ITV กำเนิดจาก รัฐบาลหลัง รสช. ถูกโค่นล้ม โดยพลังประชาชน และตายในรัฐบาลรัฐประหารของ คมช. ก็ควรกำเนิดใหม่ใน "รัฐบาลประชาธิปไตย" ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่ยืนขึ้นสู้กับเผด็จการ
เมื่อ “รัฐเผด็จการ” อาศัยเวลาชุลมุนวุ่นวาย ชิงยุบ TITV ได้ ก็สามารถตั้งใหม่ได้ในยุคประชาธิปไตยเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องที่ยุติกันได้ในตอนนี้หรือเวลานี้ มันเป็นประเด็นที่สังคมจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดกับประชาชน ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดกับพวกอำมาตย์ทั้งหลาย
ส่วนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายปราโมทย์ รัฐวินิจ นั้น ผมไม่ค่อยเป็นห่วงเท่าไหร่ เพราะเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา เขาก็ต้องไปเป็นผู้ตรวจราชการ หรือไม่ก็ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว อนาคตราชการเขาอยู่ได้อีกสองสามเดือนเป็นอย่างมาก ข้าราชการพลเรือนที่ทำตัวเป็น “ผู้รับใช้เผด็จการ” อย่างขยันขันแข็ง ก็ควรไปพร้อมกับรัฐเผด็จการนี้
การยุบ ITV ผมคิดว่ามีสภาพไม่ต่างจากตอนที่เผด็จการ คมช. ยุบ "พรรคไทยรักไทย" นั่นเองครับ หากองค์กร จิตวิญญาณคงยังอยู่ สุดท้ายแล้ว การยุบด้วยกฎหมาย หรืออำนาจเผด็จการ มันก็ไม่สามารถยุบได้อย่างถาวร เพราะมันจะเกิดขึ้นใหม่อีกในเวลาไม่นานนัก เช่นเดียวกับที่ “พรรคพลังประชาชน” กำเนิดขึ้นใหม่ หลังจากการยุบพรรคไทยรักไทยได้ไม่นาน และกลับเข็มแข็งมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีกด้วย
ผมคิดว่า ITV หรือ TITV ก็จะเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน คือ กำเนิดขึ้นมาใหม่ ด้วยความเข็มแข็งมากกว่าเดิม จิตวิญญาณที่หล่อหลอมจากการต่อสู้ ย่อมเป็นจิตวิญญาณที่เข็มแข็งและมีพลัง ใครก็ทำลายไม่ได้
ที่สำคัญคือ "บุคคลากรของ ITV" จะต้องต่อสู้ เพื่อหล่อหลอมจิตวิญญาณของคนในองค์กรให้เข็มแข็งมีพลัง อาศัยวิกฤตให้เป็นโอกาส อาศัยสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมอุดมการณ์ของการเป็น “สื่ออิสระจากอำนาจรัฐ” ขึ้นมา
พรรคไทยรักไทย ก็เคยโดนยุบมาแล้ว แต่เขาก็ฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกอย่างยิ่งใหญ่เป็นตัวอย่างให้พนักงาน ITV ได้เก็บเอาไปเป็นบทเรียน
องค์กรใดๆ ก็ตาม ความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่ถูกอำนาจรัฐเผด็จการยุบไป แต่มันอยู่ที่จิตวิญญาณในการต่อสู้กับเผด็จการต่างหาก เมื่อจิตวิญญาณยังคงอยู่ แม้เผด็จการจะยุบ “องค์กรตามกฎหมายไป” แต่ตัวตนมันยังอยู่ พนักงานยังอยู่ จิตวิญญาณมันยังอยู่ มันย่อมกลับมาใหม่ได้อีกตลอดเวลา
ผมจึงไม่เห็นว่า การยุบ ITV จะเป็นการปิดฉากการต่อสู้ของ "องค์กรไอทีวี" แต่อย่างใด
แต่มันคือ อุปสรรคที่เข้ามาทดสอบ เพื่อทำให้ ITV เข็มแข็งขึ้นต่างหาก เหมือนกับที่ “พรรคพลังประชาชน” ยืนได้อย่างเข็มแข็ง ไม่หวั่นเกรงกับเผด็จการอยู่ทุกวันนี้
ขอต้อนรับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราถือกำเนิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เป็นสายเลือดแห่งนักรบประชาธิปไตยด้วยกัน
จาก thaifreenews