ผมเขียนเรื่อง “อภัยทาน” ไปสองตอน ด้วยหวังว่าจะเห็นคนไทยรู้จักการยอมกันเสียบ้าง เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะนั่นคือ ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของคนไทยและประเทศไทย จะหวังได้หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ก็ได้แต่หวังว่าที่รัฐสภาเมื่อวาน คงไม่ถึงกับนองเลือดอย่างที่พูดกัน นองเลือดเมื่อไรบ้านเมืองพังยับเยินยิ่งกว่านี้แน่นอน
ผมเห็นด้วยกับ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้วที่ออกมาเตือนสติว่า เวลานี้บ้านเมืองเกิดวิกฤติทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ประชาชนแตกแยก เราต้องทำตัวเหมือนขึ้นภูดูเขารบกัน อย่าลงไปรบกับเขาด้วยดีที่สุด
ส่วนที่พันธมิตรฯบอกว่าเป็นการรบครั้งสุดท้าย พระพยอม บอกว่า ต้องเตือนสติเขา ถ้าชนะแล้วใครได้ดี เพราะถ้าชนะแล้วอีกฝ่ายยับเยิน คนที่ยับเยินไม่ใช่คนไทยหรอกหรือ ดังนั้น คำว่าชนะครั้งนี้ไม่ใช่ประเทศชาติชนะ เป็นเพียงคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้อยากชนะ แต่ประเทศชาติประชาชนพัง
ทุกคนอ้างประชาชนเป็นใหญ่ จะทำความสุขให้กับประชาชนหรือสร้างความทุกข์ให้กับประชาชน ก็ใคร่ครวญดูด้วย
ผมฟัง พระพยอม ท่านเทศน์แล้วก็นำมาใคร่ครวญดู
ใคร่ครวญแล้วก็เห็นจริงอย่างที่พระท่านเตือนสติ คนไทยรบกันเองจนเลือดนองแผ่นดิน ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะ บ้านเมืองก็พังยับเยิน คนที่จะเดือดร้อนมากที่สุดก็คือประชาชนนั่นเอง
หลังจากนองเลือดแล้ว คนไทยก็ต้องถามตัวเองต่อว่า...แล้ว ยังไงต่อไป
เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนจะต้องหันมาถามตัวเอง และต้องตอบเอง ในฐานะที่ท่านก็เป็นเจ้าของประเทศและหุ้นส่วนประเทศไทยคนหนึ่ง
ท่านต้องการให้ประเทศของท่านเดินไปทางไหนต่อ เช่น ต้องการให้ “ทหารปฏิวัติ” เพื่อล้มรัฐบาลชุดปัจจุบัน แล้ว “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” เพื่อสร้างการเมืองใหม่ หรือต้องการให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน “ยุบสภา” เพื่อเลือกตั้งใหม่จนกว่าจะเกิดความพอใจทุกฝ่าย
แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ผมก็ยังมองไม่เห็นว่าจะยุติปัญหาที่มีอยู่ลงได้
ตราบใดที่ “คนมีอำนาจ” และ “นักการเมือง” ไม่มีการพัฒนา “จิตสำนึก” ในเรื่อง “ความซื่อสัตย์สุจริต” เรื่อง “คุณธรรมจริยธรรม” ให้เกิดขึ้นในมโนสำนึก การเมืองไทยก็ยังวกวนอยู่ในอ่างนํ้าครําที่เน่าเหม็นเหมือนเดิม
“ประชาชน” เป็นเพียงตัว “เบี้ย” ที่นักการเมืองทุกคนใช้เป็นฐานอำนาจในการเดินหมากเท่านั้น โดยอาศัยความซื่อสัตย์ของประชาชน และอาศัยนโยบายประชานิยมซื้อใจประชาชนระดับรากหญ้าที่ยากจน
แต่ ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง นั้น ไม่มีทางลัด ตัวอย่างประชาธิปไตยในประเทศแม่แบบของไทยอย่าง สหรัฐฯ และ อังกฤษ ก็มีให้เห็น กว่าจะแข็งแรงได้อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ก็ผ่านการพัฒนามากว่าสองร้อยปี
พัฒนาทั้ง “ตัวนักการเมือง” และ “ประชาชน” ควบคู่กันไป โดยมี “กระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น” เจาะลึกลงไปถึง “พฤติกรรมส่วนตัว” และ “ชีวิตครอบครัว” นักการเมือง เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนในชาติอย่างที่เห็นในสหรัฐฯ ไม่ถือเป็น “เรื่องส่วนตัว” เหมือนในเมืองไทย
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งผมนำมาเล่าไว้ตรงนี้หลายครั้ง ก็เพื่อให้เห็นว่า “การเมืองภาคประชาชน” ในสหรัฐฯ เป็นอย่างไร การเมืองระดับพรรค ก็ต้อง ขึ้นอยู่กับเสียงของสมาชิกพรรค และ การเมืองระดับชาติ ก็ต้อง ขึ้นอยู่กับเสียงของคนทั้งชาติ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับ “นายทุนพรรค” หรือ “หัวหน้าพรรค” เพียง “คนเดียว” เป็นผู้สั่งการซ้ายหันขวาหันอย่างที่เป็นอยู่ในเมืองไทย
เมื่อ “การเมืองในพรรค” ยังเป็น “ระบบเผด็จการ” แล้ว “การ เมืองระดับชาติ” จะเป็น “ประชาธิปไตย” ไปได้อย่างไร เป็น “การบ้าน” ที่คนไทยทุกคนต้องไปคิดหาคำตอบเอาเอง ไม่ใช่นองเลือดเสร็จแล้วก็จบกัน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”