ที่มา ศูนย์ศึกษาการก่อการร้าย (Terrorism Studies Center)
ก.การก่อการร้ายสากล
-ความหมายของคำว่าการก่อการร้ายสากล
ในการประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๑๕ คณะกรรมการร่างกฎหมายองค์การสหประชาชาติกำหนดว่า “การก่อการร้ายสากล” เป็นการกระทำที่
๑) มุ่งกระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ผู้นำของรัฐ หรือนักการทูต
๒) เป็นสลัดอากาศกระทำต่อเครื่องบินโดยสารพลเรือน
๓) ส่งผู้ก่อการร้ายไปปฏิบัติการนอกประเทศ
๔) ใช้ชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์เป็นเครื่องมือของการก่อการร้าย
รัฐบาลไทยกำหนดนิยามคำว่าการก่อการร้ายสากลไว้ในนโยบายการแก้ปัญหาการก่อการร้ายสากล ว่า เป็นการปฏิบัติการคุกคาม หรือใช้ความรุนแรงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มุ่งหวังผลตามเงื่อนไขข้อเรียกร้องทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะปฏิบัติการล่วงล้ำเขตแดนหรือเกี่ยวพันกับชาติอื่น การกระทำนั้นอาจเป็นไปโดยเอกเทศปราศจากการสนับสนุนจากรัฐใด หรือมีรัฐใดรัฐหนึ่งสนับสนุนรู้เห็นก็ได้ เมื่อเกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของชาติ พันธกรณีระหว่างประเทศ นโยบายของชาติด้านการเมือง การป้องกันประเทศ เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา ชื่อเสียง และเกียรติภูมิของชาติ
ข.ลักษณะพิเศษของการก่อการร้ายสากล
๑) ผู้ก่อการร้ายอาจไม่เคยมีความบาดหมางและไม่เคยมีความสัมพันธ์มาก่อนกับฝ่ายปราบปรามหรือรัฐที่ทำการปราบปราม แต่ต้องการให้รัฐนั้นปฏิบัติตามหรือจัดให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตนต้องการ เงื่อนไขดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐนั้นหรือความสัมพันธ์กับรัฐอื่น หรือทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ชื่อเสียง และเกียรติภูมิของชาติเสียหาย
๒) การก่อการร้ายจะทำให้เกิดการตื่นตระหนกจนควบคุมสถานการณ์ได้ยาก อาจมีการใช้เด็กและผู้หญิงเป็นตัวประกัน ถ้าไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องอาจเกิดอันตรายแก่ตัวประกัน แต่ถ้ายอมทำตามข้อเรียกร้องอาจขัดต่อนโยบายของชาติ และกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การใช้กำลังเข้าปราบปรามอาจเกิดความผิดพลาด ทำให้เสียชีวิตผู้บริสุทธิ์ สื่อมวลชนจะประโคมข่าวโจมตีปฏิบัติการปราบปราม จนอาจทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปราบปรามต้องโทษถูกจำคุก
๓) ผู้ก่อการร้ายจะกระทำต่อเป้าหมายด้วยวิธีการที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นชนชาติใดและทรัพย์สินเป็นของชาติใด เช่น การปล้นยึดอากาศยานจะมีหลายชาติเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกเรือ ผู้โดยสาร เครื่องบิน สนามบินที่แวะเติมเชื้อเพลิง สนามบินที่จี้ไปลง ฯลฯ ประชาชนผู้บริสุทธิ์มีความผิดเพียงสถานเดียวคืออยู่ผิดสถานที่และเวลา
๔) การแก้ไขสถานการณ์การก่อการร้ายสากลมีกฎหมายเข้าเกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่กฎหมายภายในประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ ความตกลงทวิภาคี ไปจนถึงความตกลงพหุภาคี การแก้ไขวิกฤตการณ์จึงต้องให้หัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการ
๕) ในวิกฤตการณ์การก่อการร้ายสากลจะมีสื่อมวลชนจำนวนมากและทุกแขนงมาชุมนุมกันทำข่าว และจะหาวิธีเข้าไปใกล้เหตุการณ์ให้มากที่สุด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปราบปราม และในทางตรงกันข้ามจะเกื้อกูลต่อฝ่ายผู้ก่อการร้าย โดยผู้ก่อการร้ายสามารถสดับตรับฟังความเคลื่อนไหวและเห็นภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งผู้ก่อการร้ายย่อมปรารถนาจะให้สื่อมวลชนกระจายข่าวการกระทำ ข้อเรียกร้องและอุดมการณ์ของกลุ่มไปสู่ชาวโลก
๖) การแก้ไขวิกฤตการณ์การก่อการร้ายสากลต้องการความมีเอกภาพในการตัดสินใจและสั่งการเป็นที่สุด ผู้รับผิดชอบแก้ไขการณ์จะต้องมีเสรีในการตัดสินใจโดยไม่ถูกแทรกแซงจากผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่น มิฉะนั้นจะเกิดการลังเลใจ การเสียเวลา และการพลาดจังหวะจัดการขั้นเด็ดขาดเมื่อโอกาสมาถึง
ค. วัตถุประสงค์การก่อการร้าย
ค.๑ วัตถุประสงค์ในระยะสั้น (Immediate goals)
ค.๑.๑ สร้างการยอมรับของการกระทำในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือนานาชาติ
ค.๑.๒ สร้างสถานการณ์ให้รัฐบาลตอบโต้ กระทำรุนแรงเกินเหตุ และกำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ
ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่พอใจของสาธารณชน
ค.๑.๓ รบกวน ทำให้อ่อนกำลังหรือสร้างความอับอายให้รัฐบาล กำลังทหารหรือหน่วยรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ
ค.๑.๔ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลขาดความสามารถในการปกป้องพลเมือง นักการทูตหรือชาวต่างชาติ
ค.๑.๕ รวบรวมเงินทุนและยุทโธปกรณ์
ค.๑.๖ ขัดขวางและทำลายระบบสื่อสารคมนาคม
ค.๑.๗ แสดงพลังและภัยคุกคามที่น่ากลัว
ค.๑.๘ ขัดขวาง หรือก่อให้เสียเวลาในการตัดสินใจในระดับรัฐบาล ระดับชาติ
ค.๑.๙ ก่อให้เกิดการนัดหยุดงาน หรือทำงานให้ช้าลง
ค.๑.๑๐ ทำให้การลงทุนหรือการช่วยเหลือจากต่างชาติหยุดชงัก
ค.๑.๑๑ สร้างอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง
ค.๑.๑๒ ปลดปล่อยนักโทษ
ค.๑.๑๓ สนองแรงจูงใจในการแก้แค้น
ค.๒ วัตถุประสงค์ระยะยาว (Long-range goals)
ค.๒.๑ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในระดับรัฐบาล เช่นการปฏิวัติ สงครามกลางเมืองหรือสงครามระหว่างชาติ
ค.๒.๒ ให้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระหว่างชาติ ในการตัดสินใจนโยบายสำคัญ ๆ และประชามติ
ค.๒.๓ ให้ได้รับการยอมรับในทางการเมือง ในฐานะผู้แทนที่ชอบธรรมของกลุ่มชนของชาติหรือกลุ่มการเมือง
ง.ขั้นตอนของการก่อการร้ายสากล
การก่อการร้ายสากลส่วนใหญ่ มักจะเป็นการกระทำ เพื่อบีบบังคับรัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่งให้ปฏิบัติตามความต้องการของตนโดย พฤติการณ์ ต่างๆ เช่น การจี้เครื่องบิน, การก่อวินาศกรรม, การลอบสังหาร และการลักพาตัว เป็นต้น แต่สิ่งที่ผู้ก่อการร้ายจะต้องกำหนดไว้ในขั้นต้น คือ เป้าหมายของการก่อการร้ายซึ่งจะเป็นเครื่องบังคับหรือต่อรองให้ได้ผลมากที่สุด
จ.เป้าหมายในการก่อการร้าย อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. เป้าหมายที่ดำเนินการแล้วเกิดผลกระทบรุนแรง อาทิ สถานที่ราชการ, บุคคลที่สำคัญของรัฐ และบุคคลสำคัญต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศหรือเดินทางผ่าน
2.เป้าหมายที่ดำเนินการแล้วเกิดผลกระทบเล็กน้อยแต่มีผลทำให้มวลชนเสื่อมศรัทธาต่อรัฐที่ไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้ อาทิ สถานีตำรวจ, กิจการขนส่งมวลชน, คลังสินค้า เป็นต้น
ฉ. เป้าหมายผู้ก่อการร้าย
๑. เป้าหมายทางทหาร ได้แก่ ทหาร, ที่ตั้งทางทหาร, อาวุธ, กระสุน/วัตถุระเบิด, ศูนย์เครือข่ายคอมพิวเตอร์, สถานที่พักผ่อน รถโรงเรียน เป็นต้น
๒. เป้าหมายทางพลเรือน ได้แก่ ระบบพลังงานและวิศวกรรม (เขื่อน, โรงไฟฟ้า, บ่อขุดเจาะน้ำมัน, ท่อส่งน้ำมัน/ก๊าซ, โรงน้ำมัน ฯลฯ) ระบบคมนาคม (เส้นทางรถไฟ, ท่ารถ, ท่าเรือ, สนามบิน ฯลฯ) ระบบการติดต่อสื่อสาร (เครื่องมือ/อุปกรณ์การติดต่อสื่อสาร, ศูนย์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ) และบุคคลสำคัญ (จนท.รัฐ/สถานทูต, ตำรวจ, จนท.ติดต่อประสานงาน ฯลฯ)
ช. เครื่องมือต่อต้านลัทธิการก่อการร้าย
การโจมตีทางทหารนับเป็นมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และเป็นวิธีที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการเอาชนะผู้ก่อการร้ายมากที่สุด
จาก Thai E-News