ข้อเสนอเพื่อไม่ให้บทเรียนจากพื้นที่วังน้ำเขียว-แก่งกระจานสูญเปล่า หรือเป็นเพียงกระแสทางการเมือง แต่นำไปสู่การค้นหาต้นตอของปัญหา ที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยกฎหมาย หรืออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ
มีการตั้งคำถามกันค่อนข้างเยอะว่าทำไมปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว ได้กลายเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ทั้งที่ปัญหานี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2519-2523 ซึ่งในช่วงเวลานั้นรอบผืนป่าทับลานเป็นที่อยู่ของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทย และต่อมารัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 66/23 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 จึงได้ทำการผลักดันชาวบ้านที่อาศัยในเขตผืนป่า ให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเขต ต.ไทยสามัคคี และ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมาในปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการขอที่ดินในบริเวณดังกล่าวจากกรมป่าไม้มอบให้ชาวบ้านไว้ทำกิน
อ.วังน้ำเขียวมีทั้งหมด 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน มีประชากร 41,636 คน (ปี 2552) มีพื้นที่ทั้งอำเภอประมาณ 700,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มากที่สุด 241,018 ไร่ รองลงมาคือเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ.2524 จำนวน 220,625 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูหลวง พ.ศ.2516 จำนวน 193,050 ไร่ แนวเขตห้ามล่าสัตว์เขาแผงม้า 5,000 ไร่ และพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิของกรมที่ดินมีจำนวน 9,318 ไร่
มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อมวลชนบางฉบับว่า ในช่วงการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา สส.เขต12 (พื้นที่ อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว) พรรคภูมิใจไทย ได้ประกาศไว้เป็นนโยบายเมื่อตอนหาเสียงเรื่องการจัดระเบียบวังน้ำเขียว ด้วยการเสนอให้รัฐบาลเร่งออกเอกสารสิทธิที่ดินให้แก่ชาวบ้านและกลุ่มธุรกิจ เพราะอยู่กินมาทุกวันนี้ล้วนอยู่แบบเสี่ยงดวง ผลปรากฏว่าในพื้นที่เขต 12 พรรคภูมิใจไทยชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งเป็นรัฐบาล ประกอบกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข มาจากพรรคเพื่อไทย ทำให้เป็นที่จับตาของคนในสังคมว่า การออกมาเปิดเกมส์รุกฟ้องขับไล่เจ้าของรีสอร์ทวังน้ำเขียวของกรมอุทยานและ กรมป่าไม้คงไม่ได้เป็นเหตุการณ์ กลั่นแกล้งทางการเมือง แต่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่
ปัญหาการแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ในลักษณะเดียวกับที่ อ.วังน้ำเขียว มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2554 กรณีพิพาทระหว่างเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินชุมชนคลองไทร ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี ได้มีกลุ่มอิทธิพลวางเพลิงเผาบ้านในชุมชน เสียหายทั้งหลังจำนวน 3 หลัง อีกทั้งกลุ่มอิทธิพลดังกล่าวเคยเข้ามายิงข่มขู่เพื่อให้ชาวบ้านออกจาก พื้นที่ ก่อนหน้านี้กลุ่มเกษตรกรได้เข้าไปปฏิบัติการตรวจสอบพื้นที่และตั้งชุมชนใน สวนปาล์ม ทั้งนี้เพื่อกดดันให้หน่วยงานรัฐเจ้าของพื้นที่เรียกที่ดินกลับคืนมาและนำ ที่ดินเหล่านั้นมาจัดสรรให้กับเกษตรกร เนื่องจากที่ดินผืนดังกล่าวได้หมดสัญญาเช่าไปนานแล้วแต่นายทุนอาศัยอิทธิพล เก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มอยู่
กรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและฝ่ายทหาร ได้ใช้กำลังอพยพ ผลักดัน จับกุม เผาบ้านพักและยุ้งฉางรวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมานานกว่า 100 ปี
ถ้าจะพูดว่า “วังน้ำเขียว” คือโมเดลความขัดแย้งในการจัดการที่ดินป่าไม้ เราจะนำความขัดแย้งนี้ไปสู่อะไร? ...
ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินหน้าจับกุมทำลายทรัพย์สินของผู้ที่บุกรุกป่า โดยอ้างว่ามีการตรวจสอบหลักฐานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยการกระทำเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้อาศัยกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับที่มีอยู่ในมือ คือ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งฐานความผิดภายใต้กฎหมายเหล่านี้คือการยึดถือครอบครอง บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถางพื้นที่ป่ามีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือทั้งจำและทั้งปรับ รวมทั้งต้องออกจากพื้นที่พิพาท
ข้อมูลด้านคดีความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมป่า พบว่า มีผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายป่าไม้ในปี 2553 จำนวน 4,580 คดี 2,209 คน นอกจากนี้ยังมีคดีความด้านที่ดินและป่าไม้ที่รวบรวมโดยเครือข่ายปฏิรูป ที่ดินแห่งประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2554 มีทั้งสิ้น 36 คดี 234 ราย
ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายป่าไม้มีเจตนาแยกคนออกจากป่าแต่ไม่ได้มองว่าองค์กรชุมชน สามารถร่วมดูแลรักษาป่าได้ จึงเป็นเหตุให้คดีที่กรมป่าไม้ฟ้องร้องกับคนจนไม่มีคดีไหนเลยที่เกษตรกรคนจน ชนะคดี แม้ว่าจะนำประเด็นสำคัญเรื่องสิทธิชุมชนที่ให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการ จัดการทรัพยากรได้ เพราะจากรัฐมองว่าในทางกฎหมายอำนาจและสิทธิในที่ดินยังเป็นของรัฐที่ไม่ได้ ให้สิทธิแก่ราษฎร
จากข้อกังขาเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่อนุรักษ์โดยอาศัยกฎหมายว่า ทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงในปี 2553 ประเทศไทยมีพื้นที่อนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์, เขตป่าสงวนแห่งชาติ, เขตห้ามล่า) จำนวนทั้งสิ้น 426 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 108,728 ตร.กม.(กรมป่าไม้) อาจสรุปได้ว่า พื้นที่ป่าไม้ในทางกฎหมายได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าวัดจากเหตุการณ์ดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากทำให้พื้นที่การเกษตรจำนวนมากได้รับความเสียหาย คงสามารถเป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งว่าพื้นที่ป่าคงลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ ชัด
เพื่อไม่ให้บทเรียนจากพื้นที่วังน้ำเขียวและแก่งกระจานสูญเปล่า หรือเป็นเพียงกระแสทางการเมืองของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ให้ทั้งสองเรื่องนำไปสู่การค้นหาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาเพราะถ้ามัว แก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการใช้กฎหมายและอำนาจที่มีอยู่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ในอนาคตเรื่องราวเหล่านี้อาจสะสมจนไม่อาจเยียวยาได้
ข้อเสนอเฉพาะหน้าที่น่าสนใจ สำหรับกรณีวังน้ำเขียว คือ ให้มีการทำแนวเขตให้ชัดเจนของ 3 ส่วน ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวง อุทยานแห่งชาติทับลาน และเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ทั้งนี้ ต้องดำเนินการร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรชุมชนด้านอนุรักษ์ หน่วยงานของรัฐ และธุรกิจเจ้าของรีสอร์ท (ที่ไม่ได้บุกรุก) ประการต่อมาคือการเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินตามความเหมาะสม บังคับใช้เงื่อนไขให้ผู้ครอบครองสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เพียงครึ่งเดียว ที่เหลือจะต้องปลูกต้นไม้ที่หลากหลาย ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านวังน้ำเขียวได้ประโยชน์และอยู่ในพื้นที่ได้อย่าง ยั่งยืน
นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ที่ ได้กล่าวไปข้างต้น เช่น การให้อำนาจรัฐในการประกาศพื้นที่โดยไม่ได้มีการตรวจสอบพื้นที่จริง แม้จะกำหนดหน้าที่ให้ประชาชนที่มีสิทธิในที่ดินที่มีการประกาศเขตยื่นคำร้อง เป็นหนังสือ เพื่อแสดงสิทธิของตนภายในที่กฎหมายกำหนด ถ้าไม่มีการดำเนินการถือว่าประชาชนสละสิทธิ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการยากที่ประชาชนจะทราบได้ว่ามีการประกาศเขต ป่าทับที่ดินของตน[1]
ประการต่อมาให้ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดินป่าไม้และวางหลักเกณฑ์ของ กฎหมายให้เกิดความยุติธรรม โดยลำดับความสำคัญของคนที่ควรเข้าถึงทรัพยากรให้เกิดความเป็นธรรมทางนิเวศฯ และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีความสมดุลระหว่างสัดส่วนของทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ รัฐต้องดูแลความเป็นธรรมและสวัสดิการในสังคมควบคู่กันไป อีกทั้งต้องให้มีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรภาคประชาสังคม ตั้งแต่ขั้นการวางแผนการใช้ การตัดสินใจ การเฝ้าระวัง การกำหนดบทลงโทษ และมาตรการฟื้นฟูเยียวยา[2]
ถ้าเราสามารถเดินทางสู่เส้นทางนี้ การออกมาเปิดโปงเรื่องการใช้ที่ดินและการบุกรุกป่าวังน้ำเขียวจะได้ไม่สูญเปล่า
…………………………………….
[1] รายงายการวิจัยโครงการพิสูจน์สิทธิ์ในคดีป่าไม้และที่ดินโดยสุมิตรชัย หัตสาร
[2] สิทธิชุมชนกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย