บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

ฝากอนาคตไว้กับอะไร

ที่มา มติชน



โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป นสพ.มติชน



พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุด ยิ่งในยุคยุบพรรคกันเป็น "ขนมหวานล้างปากหลังอาหาร" แล้ว "ประชาธิปัตย์" รอดมาได้พรรคเดียว ยิ่งเป็นพรรคที่ว่ากันด้วยอายุแล้วไม่มีพรรคไหนสูงเท่า

ความสูงอายุเป็นภาพของความเชี่ยวชาญ ช่ำชอง

ประชาธิปัตย์ก็เป็นอย่างนั้น

ความเป็นพรรคเก่าแก่ ทำให้มีสมาชิกและผู้นิยมชมชอบกระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อย่างเหนียวแน่น ภักดีอยู่ไม่น้อย

"ประชาธิปัตย์" น่าจะเป็นพรรคมือวางอันดับหนึ่งของการเมืองไทย

แต่เอาเข้าจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

ยังมีอีกภาพคือ เป็นพรรคเก่าแก่ก็จริง แต่ตั้งแต่ตั้งพรรคมา ชนะการเลือกตั้งน้อยมาก ส่วนใหญ่จะแพ้

การเลือกตั้งแต่ละครั้งมีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา แข่งกับประชาธิปัตย์

เหลือเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ทั้งที่สะสมประสบการณ์ และฐานความนิยมมายาวนานกว่ากลับพ่ายแพ้เสียเป็นส่วนใหญ่

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

หลังความพ่ายแพ้ต่อพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แบบไม่น่าเชื่อว่าจะแพ้ เพราะประชาธิปัตย์มีความพร้อมทุกด้าน และทุ่มเทเพื่อสู้เต็มที่

ที่ชวนให้ช็อกไปมากกว่านั้นคือ แพ้ขาดกว่า 100 คะแนนกับพรรคการเมืองที่ไม่มีสภาพความพร้อมอย่างเพื่อไทย

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ในฐานะประธาน ส.ส.จึงไปทำการวิจัยว่าทำไม "ประชาธิปัตย์จึงแพ้"

ผลวิจัยออกมาละเอียดยิบ แต่สรุปๆ ก็คือ "พรรคประชาธิปัตย์มีภาพเป็นพรรคของชนชั้นกลางและชั้นสูง ห่างเหินจากคนรากหญ้า"

เมื่อคนระดับล่างมีมากกว่าคนชั้นกลางและคนชั้นสูง พรรคที่เข้าถึงกว่าก็ต้องชนะ

ซึ่งว่าไปข้อมูลนี้ไม่ใช่ข้อมูลใหม่สักเท่าไร

ก่อนหน้านั้น ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เขียนหนังสือเรื่อง "การเมืองสองนครา" สรุปว่า "คนชนบทเลือกตั้งบาง แต่คนเมืองล้มรัฐบาล"

ซึ่งเป็นทฤษฎีที่นักรัฐบาลและนักการเมืองยอมรับ

เพราะพิสูจน์ได้จากประวัติศาสตร์การเมืองไทย

พรรคที่ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากส่วนใหญ่เป็นพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้น มาสู้กับประชาธิปัตย์ แต่ตั้งรัฐบาลได้ไม่นานก็ถูกล้ม ด้วยรัฐประหาร

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ถูกเลือกเข้ามามีบทบาทในช่วงวิกฤตการเมือง

กลายเป็นภาพมีอำนาจเพราะ "พรรคทหารเลือก" ไม่ใช่ "ประชาชนเลือก"

เป็นพรรคที่เป็นรัฐบาลหลังการปฏิวัติ

อาจจะเป็นเหราะเหตุนี้ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม บทบาทของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นไปในทางสร้างเงื่อนไขให้เกิดการ ปฏิวัติ มีความสามารถสูงยิ่งที่จะทำให้เห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นพวกที่สกปรกโสมม เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่สมควรจะให้บริหารประเทศ

การเมืองที่มาตามกรอบของระบอบประชาธิปไตยจึงมีแต่ความเลวทรามต่ำช้าตลอดมา

และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งสร้างภาพให้เป็นนักการเมืองสะอาดบริสุทธิ์ จะเป็นพระเอกขี่มาขาวมาขจัดกวาดล้างความโสมมนั้น

นั่นเป็นยุทธศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จในวันเก่าของพรรคประชาธิปัตย์

เพียงแต่วันนี้ยังจะเป็นอย่างนั้นได้หรือ

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่าสำนึกของประชาชนในเรื่องประชาธิปไตยไปไกลแล้ว

ไกลกว่าที่นักการเมืองจะเข้าใจเสียด้วยซ้ำ

การเป็นพรรคที่รอ หรือพยายามผลักให้คู่ต่อสู้พลาดพลั้งลื่นล้ม ยังเป็นพรรคที่ประสบความสำเร็จได้อยู่หรือ

ไม่จำเป็นหรือจะต้องฮึดขึ้นมาเพื่อเป็นพรรคที่สร้างชัยชนะด้วยตัวเองให้ได้ ไม่ใช่หวังแต่พึ่งพาอำนาจนอกระบบมาอำนวยวาสนาให้

งานวิจัยของ "คุณหญิงกัลยา" เหมือนพยายามจะบอกอย่างนั้น

เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคอีกหลายคนยกตัวเองเช่น นายถาวร เสนเนียม ก็พยายามบอกว่าให้เอาผลวิจัยนี้มาปรับตัว

แต่ดูเหมือนว่าสมาชิกได้แค่พยายาม

หลัง "หัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ประกาศในงานสัมมนาพรรคที่พิษณุโลก ว่า "ผลงานวิจัยของคุณหญิงกัลยาถือเป็นความเห็นของคนที่ไม่เลือกเราเท่านั้น อย่าให้ผมพูดเลย กลัวจะถูกฟ้องหมิ่นประมาท"

ทุกอย่างก็จบ สมาชิกคนอื่นต้องยอมรับสภาพ "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็อยู่ที่นั่น" เดินไม่ถึงความสำเร็จสักที

ความสำเร็จที่จะให้ "หัวหน้าพรรค" มองเห็นว่า "ความเห็นของคนที่ไม่เลือกเรา" ที่ไม่ให้ราคาคุณค่านั้น

เป็น "ความเห็นที่ทำให้คู่แข่งชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า"


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker