บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

′ด่า′ รัฐบาล

ที่มา มติชน



โดย ปราปต์ บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 15 กันยายน 2554)

รัฐบาลเพื่อไทยของ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีลักษณะเด่นประการหนึ่ง

คือ "ด่า" ได้

เพราะมีที่มาจากการเลือกตั้ง

"ประชาชน" ที่ทั้ง "เลือก" และ "ไม่เลือก" เพื่อไทย จึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ได้เต็มที่

ผิดกับช่วงตั้งไข่ของ "รัฐบาลสุรยุทธ์" หรือ "รัฐบาลอภิสิทธิ์"

ที่ "ด่า" ได้ไม่เต็มปากเต็มคำมากนัก กระทั่งไม่กล้า
"ด่า"

เพราะมิได้มีที่มาจาก
"ประชาชน"

เราสามารถ "ด่า" รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้

"ด่า" เรื่องอะไร นโยบายอะไร

ก็ "ด่า" ได้ทั้งนั้น

เนื่องจากตามหลักการ รัฐบาลชุดนี้มีภาระรับผิดชอบสูงสุดต่อประชาชนอยู่แล้ว

แต่จะ "ด่า" อย่างไรนี่สิ ที่น่าสนใจ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคิดจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก

ที่คงเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาล

จากจุดยืนว่า นโยบายดังกล่าวจะเพิ่มปัญหาการจราจรติดขัดและสร้างปัญหามลพิษให้แก่สิ่งแวดล้อม (ตามประสาคนรักษ์โลก)

ตรรกะการ "ด่า" จะไม่บิดเบี้ยวเลย หาก "ผู้ด่า" ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวอยู่ในครอบครอง

แต่ถ้าตัวเองมีรถขับ จนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจรและมลพิษ

แล้วไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นที่อยากจะมีรถส่วนตัวใช้บ้าง (เพื่อรองรับภาระในชีวิตของเขาที่อาจเหมือนหรือต่างกับเรา)

และด่ารัฐบาลที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย

"ผู้ด่า" ก็เหมือนกำลัง "ด่า" ตัวเองอยู่

หรือเรื่องประเด็นการโยกย้ายข้าราชการล็อตใหญ่

ส่วนหนึ่งคงมิอาจปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่า รัฐบาลชุดนี้เข้ามารับหน้าที่ในช่วงฤดูกาลการเกษียณอายุพอดี

อย่างไรก็ตาม สำหรับการโยก "คนของตัวเอง" มารับตำแหน่งสำคัญ

แล้วย้าย "คน (ของคน) อื่น" พ้นจากตำแหน่งหลักนั้น

เราคงนำกรอบคิดเรื่อง "ความเป็นธรรม" มาด่ารัฐบาลในประเด็นดังกล่าวได้ลำบากเสียหน่อย

เนื่องจากรัฐบาลชุดไหนๆ ต่างก็ทำอย่างนี้เหมือนกันหมด

ดังนั้น "ความเป็นธรรม" จึงอาจไม่มีความหมายมากเท่ากับ "ประสิทธิภาพในการทำงาน" เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล และเพื่อ
"ประชาชน"

ขณะเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์ว่า "ฝ่ายการเมือง" เข้าแทรกแซง "ระบบราชการ" ก็ดูมีปัญหาอยู่มิใช่น้อย

เพราะรัฐไทยปัจจุบันเป็น "รัฐประชาธิปไตย" ไม่ใช่
"รัฐราชการ"

ผู้ทำหน้าที่หลักในการปกครองประเทศ จึงต้องเป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามา

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงสามารถโยกย้ายปรับเปลี่ยน "ข้าราชการ"

ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะถูกรัฐบาลใช้สอยไปในการบริหารจัดการประเทศได้

หากทุกอย่างดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของ
"ประชาชน"

ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์และข้าราชการในเครือข่ายจะต้องพิสูจน์ฝีมือกันต่อไป

ส่วนเรา ในฐานะ "ประชาชน" เจ้าของประเทศ ก็คงต้องตาม "ดู" ตาม "ด่า" ตามตรวจสอบกันอย่างไม่ลดละ

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker