บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

อำนาจของประชาชน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

ที่มา มติชน



พงศ์โพยม วาศภูมิ

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานปฏิรูป ร่วมกับกลุ่มองค์กรต่างๆ 27 องค์กร 32 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน จัดสัมมนา “ทศวรรษใหม่ ปฏิรูปโคราช ปฏิรูปประเทศไทย” ณ ห้องอรพิม โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูปโคราชในทุกอำเภอ หลายประเด็น เช่น การปฏิรูปการทำมาหากิน ปฏิรูประบบการจัดการท้องถิ่นและจังหวัด ปฏิรูประบบจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มุ่งหวังให้สังคมโคราชและสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม ไม่มีความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืนและเพิ่มอำนาจให้ประชาชน

นายพงศ์โพยม วาศภูมิ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตกรรมการปฏิรูป (คปร.) กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “อำนาจของประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”

นายพงศ์โพยม กล่าวถึงแนวคิดของคณะปฏิรูป เรื่องโครงสร้างอำนาจ โดยมองว่าปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหาเยอะ ทั้งปัญหาความยากจน สินค้าแพง เป็นหนี้สิน น้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบท ซึ่งปัญหาบ้านเมืองที่เราพบเห็นและพูดถึงอยู่ในขณะนี้เป็นปัญหา ภายนอก ดังนั้น ทางคณะปฏิรูปจึงมองว่า ปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบันเป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจ” กล่าวคือ แบ่งสังคมออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ภาครัฐ (ข้าราชการประจำ พนักงานของรัฐ นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง) ภาคเอกชน (พ่อค้า นักอุตสาหกรรม นักลงทุน) และภาคประชาน (ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน) รวมไปถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่รับใช้ภาคประชาชน

“บ้าน เมืองเราขาดดุลยภาพ ขาดความสมดุลเชิงอำนาจ อำนาจของรัฐมีมากมายมหาศาล สามารถอนุญาต อนุมัติ ยกเว้น จดทะเบียน กำหนดนโยบาย กำหนดงบประมาณ กำหนดหลักการเก็บภาษีมากน้อย เก็บกองทุนน้ำมัน ฯลฯ เห็นได้ชัดว่าทุกอย่างไปอยู่ที่รัฐ”

นายพงศ์โพยม กล่าวอีกว่า บ้านเมือง ณ วันนี้ ได้มีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลง ไป ปัญหาก็เริ่มสลับซับซ้อนมากขึ้น ความต้องการของแต่ละจังหวัด แต่ละภาค แต่ละอำเภอก็ไม่เหมือนกัน ปัญหาภูเขา แม่น้ำ ทะเล ที่ราบก็แตกต่างกัน ดังนั้น การที่ราชการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางของประเทศ แล้วก็จัดการปัญหาทุกอย่างแบบ “คุณพ่อรู้ดี” ไม่สามารถแก้ปัญหาเมืองไทยได้ทุกเรื่องตลอดไปแล้ว ก็จะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยากจนสะสมไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ความเหลื่อมล้ำ เรื่องการถือครองที่ดิน

“เชื่อ หรือไม่ว่า ในกรุงเทพฯ 50 ตระกูลแรกครองที่กรุงเทพฯ 10% หมายความว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,500 ตร.กม. ตีเป็นที่หลวงและถนนหนทางไป 500 ตร.กม. อีก 1,000 ตร.กม. มีเจ้าของไปแล้ว 100 ตร.กม. 1 ตร.กม. 625 ไร่ หมายความว่ามี 50 ตระกูลที่ครอบครองที่กรุงเทพฯ ซึ่งแพงมหาศาลคิดดูว่าคนเหล่านี้จะรวยขนาดไหน” อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าว


มีตัวเลขที่น่าสนใจ พบว่าที่ในประเทศไทย 100% มีคน10% ถือครองที่ดินไป 90% ส่วนคนอีก 90% ถือครองที่ดินเพียง 10% เหล่านี้คือ ความเหลื่อมล้ำในเรื่องการถือครองที่ดินและเรื่องทรัพย์สิน

ในส่วนความเหลื่อมล้ำเรื่องการ ศึกษา อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ก็พบว่า ตกระเนระนาด การประเมินผลนักเรียนนานาชาติ PISA อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า น่าสงสาร ในเอเชียประเทศจีน อินเดียเก่งกันหมด มีแต่ไทยกับอินโดนีเซียที่อยู่ในสถานะน่าสงสาร ยังไม่นับเด็กที่ต้องตกหล่นจากระบบการศึกษา จะเห็นได้ว่า ขณะที่เมืองไทยดูเหมือนจะดี แต่จริงๆ ปัญหาฝังตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ ปัญหาการศึกษา ปัญหาการถือครองที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสาธารณสุข

“ เห็นได้ว่า ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทุกหัวระแหง เกิดขึ้นเพราะความไม่สมดุลเชิงโครงสร้างอำนาจ กล่าวคือ รัฐไปรวมอำนาจไว้หมด ทำให้ประชาชนอ่อนแอลงทุกวัน”

สิ่งที่คณะปฏิรูป เสนอไว้ ได้แก่ 1.ยกเลิกภูมิภาค และโอนอำนาจการจัดการของท้องถิ่นให้ อปท. ประเด็นนี้กระทรวงมหาดไทยตื่นเต้นและวิพากษ์วิจารณ์มาก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีผู้ว่า ราชการจังหวัด ไม่มีนายอำเภอ ไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน ถ้าอยากจะมีก็มีได้ แต่ให้ไปสังกัดส่วนกลางแทน และ .2.ส่วนกลางลดทอนหน้าที่ให้น้อยลง ให้ประชาชนทำด้วยตนเองมากขึ้น

“สิ่งที่ คณะปฏิรูปเสนอ คือ ให้มีภาคประชาสังคมมีบทบาทถ่วงดุลกับสภาท้องถิ่น หากนโยบายที่ท้องถิ่นจะทำแล้วแล้วประชาชนไม่เห็นตัวก็อาจต้องมีกลไกเช่น ลงประชามติ หรือลงประชามติถอดถอนนายกฯ โดยภาคประชาชน และยังเห็นว่า อำนาจบางส่วนให้ตรงไปที่ภาค ประชาสังคมเลย เช่น ประชาชนมีเครือข่ายการศึกษา วัฒนธรรม ให้อำนาจและงบประมาณส่งตรงไปเลย ให้ประชาชนดูแลเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบในบ้านเมืองด้วยตัวเอง”

สุดท้ายแนวความคิดเหล่านี้ นายพงศ์โพยม กล่าวว่า ทางคณะปฏิรูปเห็นว่า สามารถนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ เห็นด้วยในส่วนใดก็ดำเนินตามในส่วนนั้น และไม่กำหนดขอบเขตเวลาในการดำเนินการ อีกทั้งคณะปฏิรูปก็ไม่มีหน้าที่ในการผลักดันแนวนโยบายได้มากนัก ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน หากฟังแล้วก็เห็นด้วยก็ปฏิบัติตาม

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker